​นิยายเล่าจากประสบการณ์ฝึกงาน.....“ หนูควรพูดอย่างไรดีนะ ”


นิยายเล่าจากประสบการณ์ฝึกงาน.....“ หนูควรพูดอย่างไรดีนะ ”


สวัสดีค่ะ เนื่องจากวันนี้เป็นวันกิจกรรมบำบัดสากล ดิฉันนางสาวพรประพิมพ์ โปธา จึงอยากแบ่งปันเรื่องราวจากการที่ได้เคยไปฝึกงานและเคยเจอกรณีศึกษาโดยแบ่งปันผ่านเนื้อเรื่องนิยายสั้นอยากให้ได้ลองอ่านและตะชมกันดูนะคะ

กรณีศึกษาที่ว่านี้ เป็นเด็กสาววัยรุ่นชื่อ น้อง ม. (นามสมมติ) อายุประมาณ 16 ปี ซึ่งโตมาพร้อมกับการวินิจฉัยทางการแพทย์ว่าอยู่ในกลุ่ม เด็ก ออทีสติก (Autism spectrum disorders) โดยถูกวินิจฉัยตั้งแต่ตอนน้อง ม. อายุได้ 3 ปี โดยน้อง ม. มีลักษณะอาการ ไม่พูด ชอบเล่นคนเดียว เล่นเหมือนเดิมซ้ำๆ และตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัยโรคมา น้อง ม. ก็ได้รับการฝึก โดยนักฝึกพูด มาตลอด แต่ไม่ได้รับการฝึกทางกิจกรรมบำบัดมาเลย จนอายุได้ประมาณ 14 ปีจึงเริ่มเข้ารับการฝึกบำบัดโดยนักกิจกรรมบำบัด

วันหนึ่ง ดิฉันที่กำลังฝึกงานในโรงพยาบาลที่น้องม.ได้รับการฝึกกิจกรรมบำบัดอยู่ โดยปกติแล้วน้องม.จะมาทุกๆวันจันทร์ และน้องม. เป็นเคสนอกเวลา จะมาตอนประมาณ 17.00-18.00 น. ดิฉันที่เป็นนักศึกษาฝึกงานรู้สึกสนใจ อยากจะลองเข้าช่วยพี่ๆนักกิจกรรมบำบัดฝึกเด็กๆกลุ่มนี้ดู ซึ่งน้องม. ที่มาฝึกกับนักกิจกรรมบำบัดที่โรงพยาบาลนั้นจะเน้นฝึกเด็กเป็นกลุ่มเล็กๆ ซึ่งจะเน้นการฝึกเกี่ยวกับการเข้าสังคม การเล่นร่วมกันกับเพื่อนๆ วันนั้นก่อนเข้าห้องกิจกรรมบำบัด พี่นักกิจกรรมบำบัดได้เล่าให้ดิฉันฟังเกี่ยวกับเด็กกลุ่มนี้คร่าวๆ จนเมื่อถึงเวลานัด มีเด็กคนที่หนึ่งเดินเข้ามา คือน้อง ฟ.(นามสมมติ) ซึ่งได้รับการวินิจฉัยแบบเดียวกับน้องม. แต่อาการที่แสดงออกแตกต่างมาก น้องฟ. จะร่าเริงมากกว่าปกติ ชอบเสียงดัง พูดเยอะ ชอบกระโดดและเล่นผาดโผนมากๆ และคนที่2 น้องบ. คนนี้ได้รับการวินิจฉัยแบบเดียวกัน พูดคุยได้คล่อง เหมาะสม และจะมีติดอาการพูดซ้ำๆเกี่ยวกับความคิดออกตนเอง ชอบเตือนตัวเองด้วยคำพูด และคนที่3 ที่เดินเข้ามา เมื่อดิฉันเห็นครั้งแรก เธอมีลักษณะ เชื่องช้า หน้าเฉย รูปร่างผอม หน้าตาน่ารัก เสื้อผ้า หน้า ผม เรียบร้อยดูสะอาดตา และเมื่อเธอได้ขึ้นกระแทมโพลีน เท่านั้น เธอก้ดูเปลี่ยนไป เธอกระโดดอย่างสนุกสนาน แกว่งแขนไกวไปมา ร้องเสียงดัง แต่ยังไม่แสดงสีหน้าใดใดเช่นเดิม และเมื่อเธอลงจากแทมโพลีนมา ดิฉันได้มีโอกาสเข้าไปคุยกับเธอ แนะนำตัวกับเธอและเพื่อนๆ น้องม. และเพื่อนสามารถจดจำชื่อได้เร็ว

เมื่อดิฉันชี้ที่ตนเองแล้วถาม “คนนี้ใครค่ะ” น้องม.ได้ตอบกลับมาว่า “พี่..ชล(ชื่อเล่นของดิฉันเองค่ะ)”

จากนั้นเราได้ทำกิจกรรมกันไปเรื่อยๆ ตลอดการทำกิจกรรมดิฉันมักสังเกตที่น้องม. น้องม.มักจะขาดสมาธิจดจ่อกับการทำกิจกรรม และหลุดไปอยู่ในโลกส่วนตัว

มีอาการพูดคนเดียวเป็นคำเหมือนตัวการ์ตูน“ปี๊ ป่อ ปี๊ ป่อ ปี๊ปปี๊ป”พร้อมกับทำโบกมือไปด้วย ดิฉันและพี่นักกิจกรรมบำบัดต้องพยายามกระตุ้นให้น้องม.กลับเข้าสู่กิจกรรมบ่อยครั้ง

ครั้งหนึ่งที่ดิฉันและเด็กๆทุกคนกำลังทำกิจกรรมกันอยู่นั้น ดิฉันได้เข้าไปทำทีเล่นกับน้องม. ลูบแขนน้องม.เล่นเบาเบาเพื่อทดสอบลักษณะของการรับความรู้สึกสัมผัสทางผิวหนัง พบว่าน้องม.แสดงท่าทีไม่ชอบแล้วเอามือปัดๆเกาๆบริเวณที่ถูกลูบ ดิฉันจึงได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าน้องม. อาจจะมีอาการหลีกหนีต่อความรู้สึกสัมผัส(Tactile defensiveness) และดิฉันก็ยังสงสัยและทดสอบน้องม.อีก นั้นก็คือ ลองล็อคแขนน้องม.เอาไว้ เพื่อดูว่าน้องม. สามารถสื่อสารบอกความต้องการของตนว่าอยากให้ปล่อยได้ไหม พบว่าในครั้งแรกน้องจะทำเสียงไม่เป็นคำ “อะ อะ อื้อออ ”ด้วยความไม่พึงพอใจเท่านั้น ดิฉันจึงพยายามสอนน้องม.ไปด้วยว่า “บอกว่า ไม่เอา ปล่อย แบบนี้สิค่ะ ไม่อย่างนั้นพี่ไม่ปล่อยน้า” พูดกระตุ้นประมาณ 3-4 ครั้งได้ น้องม.จึงหลุดพูดออกมา “ปล่อยยย ปล่อยยย” ดิฉันจึงปล่อยแขนน้องม.ออก แล้วเราก็ทำกิจกรรมกันไปเรื่อยๆ จนจบ เป็นแบบนี้ ทุกครั้ง ที่เวลาเจอดิฉันมักจะทดสอบเด็กและสอนไป โดยที่ไม่มีแบบแผนอะไร เป็นการหยอกเล่นซึ่งสอกแทรกไปในการทำกิจกรรมกลุ่มเสียมากกว่า

ดิฉันกับน้องม.เจอกันทุกวันจันทร์ น้องม.มากับคุณแม่ เหมือนเดิมทุกวัน มีอยู่วันหนึ่ง น้องม. ได้แสดงมีพฤติกรรมใหม่ วันนั้นพี่นักกิจกรรมบำบัด ให้เด็กเล่นเป็นเกมส์ช่วยกันขนท่อนนวมแล้วเดินผ่านฐานต่างๆที่ถูกเตรียมเอาไว้ระหว่างดำเนินกิจกรรมไปอยู่นั้น น้องฟ.ซึ่งเป็นเพื่อนในกลุ่มอยู่ด้านหลังของน้องม. มีการหยอกแกล้งน้องม.เล็กน้อย เมื่อเด็กพากันขนท่อนนวมมาถึงที่พี่นักกิจกรรมบำบัด และดิฉันอยู่นั้น จู่ๆ น้องม.ก็เดินเข้า โดยไม่พูดอะไร สีหน้าเฉย แล้วโผกอดดิฉัน ดิฉันงงและแปลกใจมาก ว่าเกิดอะไรขึ้น น้องม.มีน้ำตาไหลออกมาเล็กน้อย และเงียบ และไม่แสดงสีหน้าเลย ดิฉันพยายามถาม แต่น้องม.ก็ไม่พูดอะไร ดิฉันจึงทำได้แต่กอดและปลอบน้องม. ไปในวันนั้น

                                                  

หลังจากวันนั้นอีก น้องม. มีแสดงท่าทางอีกครั้ง แต่น้องม.ยังไม่พูดเล่า อะไรอย่างเคย

น้องม.เดินเข้ามาหาดิฉัน แล้วยื่นมือมาให้ พร้อมพูดว่า “เป่า เป่า”

ดิฉันงง จึงถามออกไปมา “เพราะอะไรถึงให้เป่าคะ?”

น้องฟ.ที่อยู่ใกล้ๆ กำลังเล่นกระโดดอยู่นั้นก็เดินเข้ามา แล้วบอกว่า

“พี่ม. เจ็บ เวลาพี่ม.เจ็บจะชอบให้เป่าให้” แล้วน้องฟ.ก็หันไปหาน้องม.แล้วพูดว่า “มามาพี่ม. น้องฟ.เป่าให้นะ ฟู่ว ฟู่ว” น้องม.ได้ยินดังนั้นก็ยื่นมือไปให้น้องฟ. ด้วยสีหน้าเฉย พร้อมกับพูดซ้ำๆว่า “เป่า เป่า”

เป็นแบบวนๆ ซ้ำๆ ในลักษณะเดิมๆ ที่น้องม. จะยังไม่พูดสื่อสารมาเป็นประโยค แต่ถ้าชี้อะไรที่เป็นรูปธรรมน้องม.จะสามารถตอบได้ออกมาเป็นคำสั้นๆ แต่หากเป็นคำถามที่ถามว่า เพราะอะไร ทำไม อย่างไร น้องม. จะยังแสดงท่าทาง มึนงง และตอบไม่ได้ ในระหว่างทำกิจกรรม น้องม.มักจะขาดสมาธิอยู่บ่อยครั้ง ประมาณ 2 ใน 4 ของเวลา 1 ชั่วโมง ต้องคอยกระตุ้นตลอด

จนวันหนึ่งที่ดิฉันฝึกงานจบ ดิฉันต้องกลับมาที่มหาลัย กลับมาเรียน และไม่ได้เจอน้องม.อีก ดิฉันรู้สึกเสียดายที่ขณะที่ดิฉันฝึกงานไม่ได้มีโอกาส ฝึกน้องม.เท่าไหร่ ได้เพียงแค่เข้าไปช่วยพี่นักกิจกรรมบำบัดเท่านั้นเนื่องจากเป็นเคสนอกเวลา แต่ดิฉันก็ยังสนใจ กรณีศึกษาแบบน้องม. อยู่ เพราะดิฉันคิดอยู่เสมอว่า ทำอย่างไร จึงจะฝึกเด็กโตได้นะ เพราะโดยปกติแล้ว ที่เรียนมาจะเน้นเทคนิกเกี่ยวกับเด็กเล็กซะส่วนใหญ่ และดิฉันก็ได้ค้นคว้า หาคำตอบ จากที่ต่างๆ ถามอาจารย์บ้าง พี่นักกิจกรรมบำบัดบ้าง แต่ก็ไม่ได้คิกว่าจะได้เจอหรือติดต่อกับน้องม.อีกครั้ง

อยู่มาวันหนึ่ง ดิฉันได้มีโอกาส ติดต่อพูดคุยกับทางคุณแม่ของน้องม. ท่านเล่าให้ฟังว่า “น้องม. ดีขึ้นมาแล้วค่ะ เริ่มพูดเป็นประโยคมากขึ้นแล้ว จากที่คุณแม่ให้ทำกิจกรรมที่น้องม.ชอบนั่นก็คือวาดรูป แล้วคุณแม่ก็ให้น้องม.อธิบายรูปออกมาเป็นประโยค ตอนแรกก็ยังไม่ได้หรอกนะคะยังขาดคำเชื่อม คำกริยา คุณแม่ก็พยายามให้ตัวอย่างประโยคที่สมบูรณ์ ไปซ้ำๆ น้องม.จะยังคิดช้า รับรู้ช้านิดหน่อยค่ะ”

ดีฉันรู้สึกดีใจที่น้องม. มีการพัฒนาด้านการพูดมากขึ้นแล้ว ดิฉันจึงถามออกไป“ดีจังเลยนะคะ น้องม.เริ่มพูดประโยคได้เยอะขึ้นแล้ว แล้วเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมกระตุ้นตนเองล่ะค่ะ น้องม.เป็นอย่างไรบ้าง?”

คุณแม่ก็เล่าด้วยน้ำเสียงสดใส “ลดลงแล้วนะคะ ที่คุณแม่จะพยายามกระตุ้นเขาบ่อยๆ ใช้เสียงแข็ง เสียงดุบ้าง บ้างครั้งพยายามดึงให้เขามาทำกิจกรรม สนใจกิจกรรม”

“ดีจังเลยค่ะ แล้วที่โรงเรียนล่ะค่ะ” ดิฉันสงสัยและถามต่อไป

“อ่อ ที่โรงเรียนได้ขอความร่วมมือกับทางคุณครู ให้ช่วยทำและกระตุ้นน้องม. อีกแรงค่ะ แต่น้องม. ยังไม่เล่นกับเพื่อนค่ะ จะชอบเล่นคนเดียว นั่งคนเดียวอยู่” คุณแม่ตอบ

“น้องม. อาจจะยังขาดแรงจูงใจในการเข้าไปพูดไปเล่นกับเพื่อนคนอื่นนะคะ เช่น ตอนที่คุณแม่ให้น้องม.เล่าเรื่อง นั้นเป็นเพราะเกิดจากการกระตุ้นของคุณแม่ น้องม. ไม่ได้พยายามที่จะเริ่มพูดเองอืม.. คุณเคยแม่ลอง เวลาน้องม.ต้องการอะไร ไม่พยายามหยิบให้หรือตอบสนองเลย แต่พยายามให้น้องม. สื่อสารออกมาเป็นประโยคให้ได้มากที่สุด อาจจะเริ่มจากความต้องการพื้นฐาน เช่นตอนน้องม.หิว แบบนี้บ้างหรือยังคะ”ดิฉันแลกเปลี่ยนวิธีการกับคุณแม่

“ค่ะ พยายามทำอยู่ค่ะ เวลาน้องม. อยากได้อะไร น้องม.จะพูดเป็นแค่คำนั้นซ้ำค่ะ เช่น อยากไปโลตัส ก็จะพูดว่า “น้องม. โลตัส โลตัส” แบบนี้ค่ะ คุณแม่ก็พยายามถามต่อว่า โลตัสทำไม น้องม. ทำอะไรที่โลตัส และพยายามให้ประโยคตัวอย่างค่ะ เช่น น้องม.อยากไปซื้อของที่โลตัส ใช่ไหม แล้วถามย้ำอีกว่า น้องม. ทำอะไรที่โลตัสให้น้องม.ตอบค่ะ ”คุณแม่ตอบ

“ดีแล้วค่ะ ที่คุณแม่พยายามทำอยู่ ให้พยายามแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆเลยนะคะ” ดิฉันรู้สึกชื่อนชมในความพยายามของคุณแม่

“อ่อ ตอนนี้คุณแม่กำลังฝึกน้องม.ออกไปจับจ่ายซื้อขนมเองแล้วนะคะ น้องม. สามารถชี้บอกได้ว่าต้องการอะไรค่ะ และจ่ายเงินได้ตามจำนวนที่บอก แต่ยังมีปัญหาในการบวกลบเงิน ทอนเงินซับซ้อนอยู่ แต่น้องบวกลบเลขในชั้นเรียนได้นะคะ”

“ดีแล้วค่ะคุณแม่ที่ฝึกน้องแบบนี้ ให้น้องได้ไปทำกิจกรรมด้วยตนเอง เรียนรู้โดยกิจกรรมจริงๆ สถานที่จริงๆ เราอาจจะลองเพิ่มการฝึกคิดเงินทอนเงิน ด้วยกันที่บ้านกับน้องก่อนก็ได้ค่ะคุณแม่ ให้ลองเล่นบทบาทสมมติ ใช้เงินจริงๆกันที่บ้านก่อน ให้น้องม. ได้เรียนรู้กับคุณแม่ก่อนแล้วค่อยลองฝึกในสถานที่จริงใหม่ก็ได้ค่ะ”

“ค่ะ คุณแม่จะนำไปฝึกนะคะ เด๋ววันนี้คุณแม่ต้องขอตัวไปทำธุระต่อแล้ว”

“อ่อ ค่ะ แล้วพบปะพูดคุยกันใหม่นะค่ะ ขอบคุณคุณแม่มากนะคะที่มาแลกเปลี่ยนกันวันนี้ ขอบคุณมากมากค่ะ”

แล้วคุณแม่ของน้องม. ก็จากไปและหลังจากวันนั้นเราก็ไม่ได้พูดคุยแบบนั้นอีก แต่ดิฉันกลับรู้สึกดีใจ โล่งใจ ที่อย่างน้อยคุณแม่ได้ฝึกน้องม. จนดีขึ้นมาในระดับหนึ่งแว และดิฉันคิดว่าความพยายามของคุณแม่ จะส่งผลให้น้องม. ดีขึ้นเรื่อย เรื่อย ได้เอง

การฝึกเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สิ่งที่จำเป็นและสำคัญที่สุด นั่นก็คือ การดูแลอย่างถูกวิธี อาจจะได้รับการปรึกษาจากนักกิจกรรมบำบัด เพื่อการพัฒนาเด็กที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม เด็ก ควรได้รับโอกาสในการฝึกกับสถานที่จริง สถานการณ์จริง ได้มีโอกาสเผชิญโลกด้วยตนเอง เรียนรู้ด้วยตนเองให้มากที่สุด สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่ขาดไปไม่ได้นั่นก็คือ ความเอาใจใส่ ดูแล และฝึกฝนโดยบุคคลใกล้ชิดของเด็กนั่นเอง

บทความเรื่องนี้ อาจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อง ดิฉันอยากขอเป็นกำลังใจให้ผู้ปกครองของเด็กที่มีความต้องการพิเศษทุกท่าน ให้พยายามและสู้ต่อไป นะคะ

สำหรับวันนี้ขอบคุณทุกคนที่อ่านมาจนถึงบรรทัดสุดท้ายนี้นะค่ะ ขอบคุณค่ะ

นางสาว พรประพิมพ์ โปธา นักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยมหิดล

หมายเลขบันทึก: 579351เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2014 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2014 21:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท