"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

ถึงเวลาคืนคนมีคุณภาพสู่ชุมชน?


๒๔/๑๐/๒๕๕๗

***************

ถึงเวลาคืนคนมีคุณภาพสู่ชุมชน?

ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมกับกำนันผู้ใหญ่บ้านในบางครั้ง ประเด็นสำคัญที่พูดถึงก็ไม่พ้น เรื่องการบ้านที่ทางการได้มอบหมายให้ผู้นำชุมชนนำมาบอกกล่าว ขยายต่อชาวบ้าน หัวหน้าคุ้ม ผู้ช่วย กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ คือ นโยบายหรือแนวทางการบริหารของรัฐ ที่หวังให้ชาวบ้านปฏิบัติตาม ไม่ขัดขืน ให้เชื่อฟัง การประชุมเป็นแบบรับสนองคำสั่งมากกว่าการถกเถียงแสดงความคิดเห็น ปรึกษาหารือเพื่อการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน


มีครั้งหนึ่งที่ได้เห็นภาพการประชุมของผู้ใหญ่บ้าน ที่เปิดโอกาสให้คนมีความรู้หรือผู้ขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่ยังหนุ่ม น่าจะพึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยกันมาใหม่ ๆ แต่ละคนพูดจาฉะฉาน อธิบายขยายความถึงวัสดุ เมล็ดพันธุ์ที่ตนเอง นำมาแสดงหรือนำมาโชว์ว่า มีคุณสมบัติมากมายอย่างไร...สิ่งที่สะท้อนเข้าไปในความคิดหรือความรู้สึกลึกๆ ของผมคือ ทำไมวัยรุ่นน้อง ๆ วัยนี้ ถึงออกจากชุมชนไปแสวงหานายทุน ไปเป็นลูกจ้างของบริษัทเขานอกบ้านของตนเองเมื่อเรียนจบแล้ว ทำไมไม่กลับมาช่วยกันพัฒนาชนบท พัฒนาหมู่บ้านของตนเอง หรือว่ากำลังหาประสบการณ์กันอยู่

แทนที่บุคคลกลุ่มวัยนี้ น่าจะมาเป็นผู้นำ มาเป็นผู้อธิบาย ขยายความเรื่องราวในหมู่บ้านของตน มาทำงานที่สำคัญต่าง ๆ ให้กับหมู่บ้าน งานที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านการประชาสัมพันธ์ ประชามติ ประสานงานระหว่างชุมชนกับภายนอก งานกองทุนหมู่บ้าน กองทุนปุ๋ย กองทุนกขคจ.หมอดิน พืชไม้สวนเป็นต้น มองเห็นผู้ที่ทำงานในปัจจุบัน มีอายุล่วง ๔๐ กันแทบจะทุกคน แต่ละคนแต่ละท่านควบหลายตำแหน่ง เป็นทั้ง อสม. เป็น ส.อบต. เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นเจ้าหน้าที่กองทุนหมู่บ้าน เป็นคณะกรรมการอะไรต่าง ๆ (เบื้องต้น) ล้วนแล้วแต่หน้าเดิม ๆ หาคนทำงานที่เป็นกำลังมันสมองและกำลังร่างกายรุ่นใหม่ยากถึงยากมาก กลุ่มคนวัยเหล่านี้ เรียนจบสูง มีวุฒิการศึกษาเท่าที่สังเกตคือ ระดับ ปวช. ปวส. เทคนิคเทคโน และปริญญาตรีกันมาก

กลุ่มนักเรียนนักศึกษาต่าง ๆ ดังกล่าวมากลับถูกหน่วยงาน องค์กรเอกชน หรือบริษัทฯ ดึงไปทำงานกันหมด เป็นภาวะสมองไหลจากชุมชนอย่างน่าเป็นห่วง รัฐหรือระบบการศึกษาของไทย ควรจะหันกลับมามองและพิจารณากันอย่างจริงจังได้หรือยัง การศึกษาที่ส่งให้คนออกไปไกลหรือออกไปนอกชุมชนจึงน่าเป็นห่วง

การพัฒนาท้องถิ่นจึงควรส่งเสริมให้มีบุคลากรเพื่อท้องถิ่นที่ไม่ใช่ อบต. อปท. เมืองพัทยาหรือกรุงเทพฯบ้างอย่างน้อยปัญหาการทิ้งขยะอย่างไม่เป็นที่เป็นทาง การตัดไม้ทำลายป่าทำลายต้นน้ำ การขุดลอกคลองถมที่สาธารณะ ก็น่าจะหมดไปได้บ้าง และยังได้ผู้นำรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษามาอย่างถูกต้อง มาสืบสานต่อยอดสิ่งที่ดีงามต่อไปในอนาคต...ผมคิดและหวังอย่างนั้นนะ

...

ขอบคุณทุกท่านที่สนใจ ขอบคุณ GotoKnow.

หมายเลขบันทึก: 579263เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2014 20:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2015 14:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบพระคุณ..ที่นำคำถามนี้..มาถามกัน..แต่คงไม่มีคำตอบ..จากสวรรค์..และสังคมก้มหน้า..(หาเงิน)...ให้ได้ยิน.อย่างที่อยากได้ยิน...อ้ะะๆ

ขอร่วมวงด้วยคนนะคะ

ดิฉันเพิ่งจะบ่นกับคนใกล้ตัวว่า หมู่บ้านที่ดิฉันไปผูกญาติด้วยนั้นมีค่านิยมมาแต่โบราณว่าต้อง 'ออกไปหาประสบการณ์ลูกผู้ชาย' ต่างพื้นที่ คนรุ่นเก่าจะบอกเล่าให้คนรุ่นใหม่ฟังด้วยสายตาเป็นประกายอย่างภาคภูมิใจว่าตนไปเผชิญอะไรมาบ้าง เด็กหนุ่มรุ่นหลังก็จะฟังด้วยสายตาฝันหวาน .. 

แม้แต่ลูกชายผู้ใหญ่บ้าน 2 คน ที่ปลุกปั้นจนเป็นผู้นำกลุ่มจิตอาสากลุ่มแรกของชุมชนนี้ ได้รับการยอมรับมากจากทั้งภายในและภายนอกชุมชน จนเป็นความใฝ่ฝันของผู้ปกครองเด็กอื่นว่าจะผลักดันให้บุตรหลานตนเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มนี้ให้ได้ .. สุดท้ายก็หลุดออกนอกระบบของชุมชนอยู่ดี ตอนนี้สองหนุ่มไปหัวหกก้นขวิดอยู่ต่างเมือง น่าเห็นใจนะคะ รู้สึกกังวลเหมือนกันว่าเขาทั้งสองจะกลับชุมชนเมื่อแก่แล้วและหมดกำลัง เหมือนคนรุ่นเก่า

คิดว่าทุก ๆ คน  ( รุ่นเรา ๆ ) ก็คงคิดเช่นเดียวกับพี่หนานนี่แหละจ้ะ

ขอบคุณ คุณยายธี ที่ติดตามอ่าน ให้ความคิดเห็น ให้กำลังใจด้วยดีตลอดมา คงจะเป็นการยากหาก "คนเราไม่มีความพอเพียงในหัวใจ" เมื่อไม่พอเพียงก็จะแสวงหาและดิ้นรน เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนเองคิดหวังนั่นก็คือ "เงิน" ในหมู่บ้านไม่มีเงิน ก็ต้องออกไปแสวงหานอกหมู่บ้านนอกชุมชน ด้วยตั้งใจว่าจะหามันมาอุดหนุนจุนเจือครอบครัว ซึ่งก็คือ "พ่อ แม่ ภรรยาและลูก" บางท่านไปถึงต่างประเทศก็มี...นะครับผม

ขอบคุณคุณพยาบาล ดารนี ชัยอิทธิพร

ที่เข้ามาร่วมแสดงความเห็นในมุมมองที่น่าจะหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน หากชุมชนมีแนวคิดแบบนี้ อนาคตของเยาวชนก็มีแต่จะหลงทาง ทำอย่างไร จะหางาน สร้างงาน สร้างความคิดให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์และที่สำคัญมีเงินใช้ อยู่ในชุมชน ท้องถิ่นของตนเองได้ ไม่ต้องออกไปหาประสบการณ์อย่างที่กล่าวถึงได้ ต่อไปนะครับ

ขอบคุณคุณครูคุณมะเดื่อ ที่ให้ความเห็นอย่างลงตัว ให้ดอกไม้ ติดตามอ่านด้วยดีมาตลอด เป็นกัลยาณมิตรที่น่ารักมาก ขอบคุณมากๆ ครับผม

ขอบคุณมาลัยน้ำใจจากกัลยาณมิตรดังต่อไปนี้ทุกท่านมากครับ...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท