​ค่ายครูละคร ปีที่2 อีกก้าวของละครสร้างปัญญา


ค่ายครูละคร ปีที่2

อีกก้าวของละครสร้างปัญญา

ห่างหายกันไปไม่นาน...เมื่อวันที่10-14ตุลาคมที่ผ่านมา บรรดาสมาชิกชุมชนละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้ฤกษ์คืนความสุขกันถ้วนหน้าแบบไม่ต้องรอใคร ด้วยมีโอกาสได้พบปะกันอีกครั้งกับ “ค่ายต่อยอดครูละครสร้างปัญญา ครั้งที่ 2” ที่มะขามป้อม อาร์ต สเปซ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

กิจกรรมหนนี้มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ตั้งใจให้เป็นการต่อยอดจากค่ายเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งค่ายที่ผ่านมาได้ช่วยพัฒนาความสามารถ ยกระดับศักยภาพครูให้สามารถนำแนวทางละครสร้างสุขภาวะทางปัญญาไปใช้ในห้องเรียน

กิจกรรมครั้งล่าสุดจึงไม่ต่างอะไรจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ใช้ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงและแสวงหาแนวทางการทำงานเพื่อผลักดันหลักสูตรละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สถานศึกษา

สำหรับกิจกรรมตลอด 3 คืน 4 วัน นั้นเริ่มตั้งแต่การเพิ่มทักษะ “3 ART FORMS” ซึ่งเป็นการติดตั้งวิธีคิดและทักษะการแสดงจาก 3 แขนงศิลปะที่มาพร้อมกระบวนการละคร ตั้งแต่สาย “ลิเก เพื่อการเรียนการสอน” โดยมี “ครูตรี นางเอกชโลมจิต ชนะใจ” รวมไปถึงทักษะเรื่อง “ครูสรรค์สร้าง หุ่นสร้างสรรค์” และ “หุ่นเงามหาสนุก” โดย ครูแจ๋ มะขามป้อม เป็นผู้บรรยายและสาธิตวิธีการ

จากนั้นกิจกรรมได้เน้นการสร้างและซ้อมละครชุมชน เตรียมกระบวนการในชุมชนเพื่อให้บรรดานักละครสมัครเล่นแต่หัวใจจริงจังได้ประสบการณ์สมจริง ด้วยการขึ้นดอยไปหมู่บ้านปกาเกอญอ เพื่อฝึกประสบการณ์แสดงละครในชุมชนและทิ้งท้ายวันจากลาด้วยล้อมวงเล่าประสบการณ์”ละครในห้องเรียน” เสวนา “กระบวนการละคร กับการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ปัญญา หารือแนวทางการนำละครเข้าสู่หลักสูตรสถาบันการศึกษา อันเป็นการเสร็จกิจกรรม

แนวทางผนวกทักษะการละครกับกลุ่มครูนี้ พี่ก๋วย-พฤหัส พหลกุลบุตร ผู้จัดการโครงการละครสะท้อนปัญญา ออกตัวว่า ไม่ได้มีความมุ่งหวังจะให้ครู หรือบุคลากรทางการศึกษาต้องเปลี่ยนเป็นศิลปิน แต่การขยายขอบเขตทำกิจกรรม จากกลุ่มเยาวชนสู่กลุ่มครูเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกันในเรื่องความสร้างสรรค์ เพราะทุกคนรู้ดีว่าการเรียนไม่ได้มีแค่การบอกและจดจำ แนวคิดของศิลปะที่แทรกในกระบวนการละครจึงเปิดโอกาสให้ผู้เรียน-ผู้สอน สื่อสารระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา เกิดวิธีการใหม่ๆ เพราะละครหนึ่งเรื่องล้วนผ่านการคิด วิเคราะห์ และวางแผนก่อน

“นอกจากนี้การชักชวนครูมาร่วมกิจกรรมที่เยาวชนสนใจช่วยเปลี่ยนทัศนคติ โดยเฉพาะความคิดที่ว่าทุกคนล้วนมีศักยภาพ มีลักษณะความชอบ มีความสนใจที่จะแตกต่าง วิธีการของครูจึงต้องเปลี่ยน ไม่ใช่การสั่งให้ทำอีกต่อไป แต่ต้องกระตุ้นให้คิดและค้นหาความถนัดร่วมกัน” ใครจะรู้ว่ากิจกรรมเล็กๆ ตลอด4 วัน ได้สร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใคร

เราได้คุยกับ “อาจารย์ยุพา แสนวงศ์คำ” อาจารย์โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง จ.ลำปาง ที่เล่าให้ฟังว่า เข้าร่วมกิจกรรมนี้เป็นครั้งที่2 และทักษะละครที่ได้มานี้ช่วยเปิดทัศนคติที่จะ “สื่อสาร” กับนักเรียน ได้วิธีการสร้างสรรค์ที่นำไปเติมเต็มในการสอนได้

“ละครไม่ใช่แค่ความบันเทิง หรือบทบาทสมมติ ยกตัวอย่างเรียนเรื่องประวัติศาสตร์พระนเรศวร ซึ่งครูให้เล่นละครกันหน้าชั้นเรียน แต่ละบทบาทก็ต้องมีการศึกษา เข้าใจภูมิหลังของตัวละครนั้นๆ แม้กระทั่งนักเรียนที่เล่นเป็นช่างทรงพระนเรศวรก็ต้องรู้ถึงความสำคัญ เมื่อเขาได้รับประวัติก็ต้องไปค้นคว้า มองให้ลึกไปถึงข้างในของความเป็นช้างทรง รู้ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม จากนั้นก็จะมีข้อมูลมาแลกเปลี่ยน พูดคุยกับเพื่อนๆว่าแต่ล่ะคนมองอย่างไรกับเรื่องนี้”

“กระบวนการละคร ช่วยสร้างทัศนคติให้ครูในเรื่องที่ว่า ต่อไปเราไม่ใช่แค่คนออกคำสั่งให้เด็กทำตาม ไม่ใช่แค่การให้คะแนนหรือทำโทษ แต่เป้นการกระตุ้นให้เขาไปค้นคว้าด้วยตัวเอง ให้รู้จักคิดและมีทักษะใฝ่หาความรู้ในเรื่องที่เขาต้องการและสนใจ”อาจารย์ยุพาว่าประสบการณ์การสอนราว 30 ปีของครูจึงเติมเต็มในมิติของความสร้างสรรค์จากกระบวนการละคร และย้ำความเชื่อของครูอีกครั้งว่า ละครไม่ใช่แค่ความบันเทิงอย่างแน่นอน

ลองไปฟังประสบการณ์ของ หมอน้อย- พญ.ปาริชาต วงศ์เสนา ประธานหลักสูตรแพทย์ศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ใช้กระบวนการละครกับนักศึกษาแพทย์ ในกิจกรรมลงเยี่ยมชุมชนกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)

เธอ เล่าว่า ละครช่วยสร้างจินตนาการให้นักศึกษาแพทย์ได้ใคร่ครวญตัวเองเพื่อตระหนักรู้ว่า สิ่งต่างๆ รอบตัวล้วนมีชีวิต มองคนไข้
ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีชีวิตจิตใจทำให้นักศึกษาแพทย์เข้าใจ ”โลก”ของคนไข้ มากกว่าแค่เข้าใจ ”โรค” ที่ต้องรักษาเพียงอย่างเดียว เปลี่ยนมุมมองของว่าที่หมอให้กว้างและไกลมากขึ้น

“ละครช่วยเปลี่ยนภาษายากๆทางการแพทย์ไปสู่ชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านกล้าซักถามอาการของโรค ได้เล่าภูมิหลังของตัวเองที่ส่งผลต่อสุขภาพ ซึ่งการสื่อสารที่ว่านี้ได้ช่วยให้แพทย์ทำงานง่ายขึ้นและตรงเป้าปัญหามากขึ้น เช่น จะเล่นเป็นคนมีโรคมะเร็ง ต้องเข้าใจความทุกข์ของคนที่เป็นโรคจริงๆให้ได้ก่อน ต้องเข้าใจความกลัวที่เขามี สิ่งเหล่านี้ได้จากการซักถาม การสังเกต แพทย์เองก็ใช้เวลานี้สื่อสารในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น การกินอาหาร สุขลักษณะ สำรวจไปในตัวว่ามีอะไรที่เป็นปัจจัยต่อสุขภาพ” หมอน้อยของเหล่าสมาชิกชุมชนละครสะท้อนอีกตัวอย่างหนึ่ง

“ค่ายต่อยอดครูละครสร้างปัญญา ครั้งที่ 2” ที่มะขามป้อม อาร์ต สเปซ อ.เชียงดาว เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จึงเป็นระหว่างทางอีกก้าวของชาวละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อเขยิบใกล้เป้าหมายใหญ่อีกขั้นและพวกเราก็พร้อมจะให้กำลังใจใกล้ๆ อยู่เสมอ

หมายเลขบันทึก: 579055เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2014 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2014 09:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท