​เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม


          บ่ายวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๗ ผมไปทำหน้าที่ประธานเปิดเวทีเสนอผลงาน เครือข่าย มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม ซึ่งทำความเข้าใจเครือข่ายนี้ได้จาก วีดิทัศน์นี้ และมีกำหนดการของเวที ดังนี้

          สำหรับผม นี่คือตัวอย่างของกระสุนนัดเดียว ยิงนกได้ ๓ ตัว น่าชื่นชมคุณเปา (ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร) ผู้คิดริเริ่มโครงการนี้เป็นอย่างยิ่ง

          นก ๓ ตัวที่ได้ คือ

  • ๑.เกิดการเชื่อมโยงร่วมมือกันระหว่างภาคประชาสังคม กับภาคอุดมศึกษา นักศึกษาด้านศิลปะสร้างสรรค์ (creative arts) ได้เรียนรู้ปัญหาของสังคม และนำมาสื่อสารกับสังคมใน ในรูปของการพัฒนาชิ้นงานศิลปะ ออกสื่อสารสังคม
  • ๒.นักศึกษาได้ฝึกฝนการเรียนรู้จากการทำงาน ที่เป็นงานจริง เป็น Authentic Learning
  • ๓.นักศึกษาได้ฝึกฝนเรียนรู้จากการทำงานรับใช้สังคม (Service Learning) เกิดจิตสาธารณะขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีคนสอน (ซึ่งการสอนมักไม่ได้ผล) ในวีดิทัศน์ นักศึกษาคนหนึ่งกล่าวขึ้นเองว่า ได้ตระหนักว่างานสื่อสารประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่ทำได้เพียงโฆษณาสินค้า แต่ยังทำหน้าที่สื่อสารเรื่องสำคัญๆ ที่กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในบ้านเมืองได้ด้วย

          ผมได้นกตัวที่ ๔ ด้วย คือได้ตัวอย่างการปฏิรูปการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ที่นักศึกษาไม่ใช่ผู้มุ่งรับถ่ายทอดหรือดูดซับความรู้ แต่เป็นผู้เรียนรู้จากการสร้างความรู้ด้วยตนเอง คือเป็น “ผู้สร้าง” มากกว่าเป็น “ผู้เสพ” ได้รูปธรรมของการเรียนรู้แบบ activity-based ที่ทำให้นักศึกษาได้เรียนมิติด้านความเป็นมนุษย์ ด้านการทำเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น

          เมื่อไปร่วมงานจริง และได้ฟังทั้งอาจารย์และนักศึกษาในโครงการเล่าประสบการณ์ ผมจึงทราบว่า “นกตัวที่ ๕” คือการที่นักศึกษาและอาจารย์ได้ออกไปรับรู้ปัญหาสังคม ที่เกิดขึ้นจริง ที่ตามปกติอาจารย์และ นักศึกษาไม่มีโอกาสสัมผัสชีวิตและเรื่องราวของคนยากไร้ หรือเรื่องราวความไม่เป็นธรรมในสังคม การได้ลงพื้นที่ สัมผัสกับผู้ถูกกระทำตัวเป็นๆ ช่วยปลุกจิตวิญญาณการทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ขึ้นมาในหมู่นักศึกษา ซึ่งอาจารย์จะต้องมีทักษะในการ design และ facilitate กระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ จิตวิญญาณ “การทำประโยชน์แก่ผู้อื่น” ของนักศึกษางอกงาม

          เรื่องราวของกิจกรรมในวันนี้ อยู่ในหนังสือ ศิลปะสบตาสังคม

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.ย. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 579054เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2014 08:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2014 08:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากเห็นมหาวิทยาลัย อาจารย์ นิสิตและนักศึกษา

ทำงานเพื่อสังคมมากขึ้นครับ เป็นการเรียนรู้ที่รับใช้สังคมและมีความสุข

ขอบคุณมากๆครับ

เข้าไปดู วิดีทัศน์เพิ่มเติม

เลยมีโอกาสได้เห็น โครงการ คัดผักของ ม ศิลปากร 

มีประโยชน์มากๆ

อยากเห็นอาจารย์ มหาวิทยาลัย และนิสิต นักศึกษา ลงมาเรียนรู้เรื่องของการบริการสังคมแบบนี้ครับ

ขอบคุณมากครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท