การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี


ทำอย่างไรให้คนต่างๆ สามารถตระหนักถึงการเข้าถึงได้ ทำย่างไรให้เกิดกรณีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของผู้ด้อยโอกาส เป็นต้นว่า ให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถไปเรียน e-Learning หรืออบรมคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต แล้วสามารถเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ทำให้เขารู้สึกว่าคุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น ที่สำคัญคือ "ต้องทำให้เขารู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือและรู้เท่าทัน”
กรุงเทพฯ--17 ต.ค. (สำนักงาน กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ร่วมกับ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีสานเสวนา (Dialogue) การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี --- แนะ กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำการสำรวจ จัดทำฐานข้อมูลผู้ด้อยโอกาส เพื่อจะได้ทราบว่าผู้ด้อยโอกาสแต่ละคนอยู่ที่ใด มีศักยภาพที่จะสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีได้หรือไม่ เช่น ทางวิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน เป็นต้น และ กสทช. ควรมีการสำรวจสถานที่ที่มีกลุ่มผู้ด้อยโอกาสรวมตัวกันอยู่ แล้วจัดตั้งศูนย์บริการอินเทอร์เน็ต โดยมีบริการฝึกอบรมทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต การรู้เท่าทันและใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี แก่บุคคลกลุ่มดังกล่าว

สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยและให้คําปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเวทีสานเสวนา (Dialogue) การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี เมื่อวันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เวลา 09.45 – 14.00 น. ณ ห้องประชุมแวนด้า 2 โรงแรม ที.เค. พาเลซ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

การสานเสวนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปสู่ (1) การกำหนดกรอบแนวทางในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึง ใช้ประโยชน์ รู้เท่าทันสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี รวมทั้งแนวทางการจัดบริการทางโทรคมนาคมที่เหมาะสมและสามารถสนองตอบความต้องการของบุคคลเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน เสนอต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณานำไปสู่การกำหนดเป็นนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งเผยแพร่เป็นการทั่วไป (2) แนวทาง ปัจจัยเอื้ออำนวย และนวัตกรรมที่เหมาะสมในการยกระดับคุณภาพชีวิต รวมทั้งการเรียนรู้ตลอดชีวิต การแบ่งปันภูมิปัญญาและประสบการณ์มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสให้ดีขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และโทรคมนาคม เป็นเครื่องมือ เช่น การจัดให้มีจุดบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสโดยเฉพาะ กำหนดมาตรฐานของสื่อใหม่ที่คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ การกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมให้เอื้ออำนวยต่อการใช้งานของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น และ (3) มีอาสาสมัครแกนนำที่มีทักษะในการสื่อสาร ถ่ายทอดความรู้แก่คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสด้วยกันเอง ให้สามารถเข้าถึง ใช้ประโยชน์ และรู้เท่าทันสื่อใหม่ในยุคการหลอมรวมเทคโนโลยี

ผู้เข้าร่วมสานเสวนาในครั้งนี้ มีจำนวนประมาณ 30 คน ประกอบด้วย ผู้นำหรือผู้แทนองค์กรด้านผู้สูงอายุภาคเอกชน นักวิชาการด้านผู้สูงด้อยโอกาส และนักวิชาการด้านการหลอมรวมเทคโนโลยี ผู้แทนหน่วยราชการที่ปฏิบัติงานด้านผู้ด้อยโอกาส

ศาสตราจารย์ ดร. ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานผู้บริหาร (CEO) สถาบันศรีศักดิ์ จามรมาน การศึกษาทางไกลอินเทอร์เน็ต (Srisakdi Charmonman Institute of eLearning) อธิการบดีกิตติคุณ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม บุรุษคอมพิวเตอร์แห่งเอเชีย บิดาอินเทอร์เน็ตไทย ได้เป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒินำการสานเสวนาในครั้งนี้ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ และ นายแพทย์ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช  อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม คุณธิดา ศรีไพวรรณ ประธานสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นางสาวพรรณราย ขันธกิจ และ นายนุกูล สัญฐิติเสรี นักวิจัยหลักโครงการวิจัยยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี

สำหรับนิยามของ ผู้ด้อยโอกาส หมายถึง ผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนและ ได้รับผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข การเมือง กฎหมาย วัฒนธรรม ภัยธรรมชาติและภัยสงคราม รวมถึงผู้ที่ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ ตลอดจนผู้ประสบปัญหาที่ยังไม่มีองค์กรหลัก รับผิดชอบ อันจะส่งผลให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้เท่าเทียมกับผู้อื่น ดังนั้น สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้ด้อยโอกาส (สทอ.) ได้กำหนดขอบเขตของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเพื่อประโยชน์ ในการดำเนินงานส่งเสริมสวัสดิภาพและคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้ด้อยโอกาส ไว้ 5 กลุ่ม ดังนี้

- คนยากจน หมายถึง บุคคลที่มีรายได้ไม่เพียงพอในการใช้จ่ายเพื่อสนองตอบความต้องการพื้นฐานขั้นต่ำที่ทุกคนในสังคมควรได้รับเพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขตามอัตภาพ โดยปี พ.ศ. 2554 เส้นความยากจนกำหนดไว้ที่ 2,422 บาท/คน/เดือน (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)

- คนเร่ร่อน/ไร้ที่อยู่อาศัย หมายถึง บุคคลที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำ ขาดบริการขั้นพื้นฐานและขาดโอกาสในการได้รับการพัฒนาตนเองในทุกๆ ด้าน

- ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร หมายถึง บุคคลธรรมดาซึ่งไม่ได้รับการยอมรับว่ามีสัญชาติของรัฐใดเลยหรือไม่มีกฎหมายของรัฐใดที่ยอมรับให้สัญชาติแก่บุคคลดังกล่าว มี 2 ประเภท คือ คนไร้สัญชาติซึ่งมีสิทธิอาศัยในประเทศไทย และคนไร้สัญชาติซึ่งไม่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย

- ผู้ติดเชื้อเอชไอวี / ผู้ป่วยเอดส์ / ผู้ได้รับผลกระทบ โดย # ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หมายถึง บุคคลที่มีกลุ่มอาการของโรคที่เกิดขึ้น จากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมหรือบกพร่องที่เกิดขึ้นมาภายหลังซึ่งไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด โดยมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเอชไอวี # ผู้ป่วยเอดส์ หมายถึง ผู้ที่ได้รับเชื้อเอดส์แล้ว และเมื่อร่างกายอ่อนแอ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดการติดเชื้อโรคอื่นๆ ได้ง่าย # ผู้ได้รับผลกระทบ หมายถึง ครอบครัว บิดามารดา บุตร ญาติพี่น้องของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยเอดส์

- ผู้พ้นโทษ หมายถึง ผู้ที่ได้รับการปลดปล่อยจากเรือนจำหรือทัณฑสถาน ได้รับการพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุก อภัยโทษและได้รับการปลดปล่อยเมื่อจำคุกครบกำหนดตามคำพิพากษาของศาลรวมทั้งผู้พ้นจากการคุมประพฤติ ผู้พ้นการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

วงเสวนาได้ให้ความเห็นที่หลากหลายต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี โดยเห็นว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นโอกาสหนึ่งที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยไม่ต้องแยกว่าเป็นผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส และเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคต่อไปจะเป็นยุค Internet of Things หรือยุคที่ทุกสิ่งจะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต นั้นคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ปัญหาสำคัญคือทำอย่างไรทุกคนจึงจะมีโอกาสเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ เช่น ด้านโครงข่าย หรือ Network ในกรุงเทพมหานครปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) มีครอบคลุมไปถึงทุกซอกทุกซอย แต่ทำไมคนบางส่วน จึงยังไม่สามารถเข้าถึงได้ อาจเกิดจากการไม่รู้วิธีการเข้าถึง หรืออาจเป็นเพราะต้องเสียค่าใช้จ่าย แล้วจะทำอย่างไรให้คนต่างๆ สามารถตระหนักถึงการเข้าถึงได้ ทำย่างไรให้เกิดกรณีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของผู้ด้อยโอกาส เป็นต้นว่า ให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถไปเรียน e-Learning หรืออบรมคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต แล้วสามารถเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ทำให้เขารู้สึกว่าคุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น ที่สำคัญคือ "ต้องทำให้เขารู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือและรู้เท่าทัน” สิ่งที่อยากเห็นก็คือทำอย่างไรให้สามารถเข้าถึงทุกๆ คน แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ทุกคน ก็มองเฉพาะกลุ่มซึ่งก็จะไม่ทั่วถึง การใช้จ่ายเงินมาดำเนินงาน ก็จะมีลักษณะเป็นเบี้ยหัวแตก

ผู้เข้าร่วมสานเสวนายังได้ให้ข้อเสนอแนะที่หลากหลายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของผู้ด้อยโอกาสในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี เช่น ควรมีการสำรวจ จัดทำฐานข้อมูลผู้ด้อยโอกาส เพื่อจะได้ทราบว่าผู้ด้อยโอกาสแต่ละคนอยู่ที่ใด มีศักยภาพที่จะสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีได้หรือไม่ เช่น ทางวิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน เป็นต้น

กสทช. ควรมีการสำรวจสถานที่ที่มีกลุ่มผู้ด้อยโอกาสรวมตัวกันอยู่ แล้วจัดตั้งศูนย์บริการอินเทอร์เน็ต โดยมีบริการฝึกอบรมทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต การรู้เท่าทันและใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี แก่บุคคลกลุ่มดังกล่าว การสร้างเครือข่าย กลไกการดำเนิน โดยสนับสนุนเงินทุนแก่ สมาคม, มูลนิธิ, ชมรม, กลุ่ม, อปท., หมู่บ้าน ที่จะจัดทำโครงการด้านการฝึกอบรมทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต การรู้เท่าทันและใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี แก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส

การสนับสนุนให้ผู้ด้อยโอกาสเข้าถึงสื่อผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อที่มีราคาถูกกว่าคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต จากนั้นจึงยกระดับไปสู่การส่งเสริมการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน ต่อไป การพิจารณาติดตั้งจอ LCD ขนาดใหญ่นำเสนอรายการ ข่าวสารต่างๆ ตามสถานที่สาธารณะ สวนสาธารณะที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ด้อยโอกาส เช่น คนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ตามสวนสาธารณะ สามารถเข้าถึงได้สื่อเหล่านี้ได้ เป็นต้น

การทำโครงการแจกสายรัดข้อมือ ที่มี GPS ให้ กับครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต เพื่อป้องกันการพลัดหลง ซึ่งราคาไม่น่าจะสูงเกินกว่า 690 บาท หากพิจารณาจากเทคโนโลยีปัจจุบัน โดยที่ครอบครัวใดสนใจและสมัครใจเข้าร่วมโครงการก็แจกไป จำนวนการผลิต ราวๆ 12 ล้านชิ้น เป็นต้น

นี้อาจเป็นเพียงข้อเสนอแนะบางส่วนจากเวทีสานเสวนาฯ สำหรับท่านที่สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็น "การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี” สามารถแสดงร่วมแสดงความคิดเห็นได้ www.convergencebtfpfund.net

------------------------------

สำนักงานโครงการวิจัยยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี

เลขที่ 23/19-20 ซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 41 ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120

โทร. 08 1933 0388 , 08 1833 7730 โทรสาร 0 2980 9183

Email: [email protected]

สามารถติดตามข่าวสารของโครงการฯ ได้ที่ www.convergencebtfpfund.net

หมายเลขบันทึก: 579036เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2014 17:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2014 17:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นแนวคิดที่ดีมากเลยครับ

ขอบคุณมากๆที่นำมาเขียนให้อ่านครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท