ปฏิรูปการศึกษาไทยเพื่อใคร (๓)


ปัญหาคุณภาพการศึกษาของไทยที่เป็นวาระสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาไทยรอบใหม่ มีประเด็นมุมมองแตกต่างกันไปบ้าง เหมือนกันบ้าง ระหว่างประชาชนทั่วไป นักวิชาการ ผู้บริหารระดับสูง และผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่

เริ่มด้วยปัญหาเด็กไทยไม่มีคุณภาพจริงหรือ

คำตอบมีทั้งจริงและไม่จริง

ที่จริงเพราะผลการทดสอบทางวิชาการทุกสำนักทุกยุคทุกสมัย เด็กไทยมักมีผลสัมฤทธิ์ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศที่มีการพัฒนากำลังคนได้ดี เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น

ที่ไม่จริงเพราะเด็กไทยที่เก่งระดับโลกก็มีมาก เห็นได้จากการได้รับรางวัลโอลิมปิกวิชาการต่อเนื่อง เด็กไทยและคนไทยที่ได้รับรางวัลการแข่งขันทักษะ หรือผลผลิตก็มีมาก เช่น การแข่งขันทักษะฝีมือแรงงาน การสร้างหุ่นยนต์ การแกะสลักน้ำแข็ง

ที่มีการถกเถียงกันมากคือความเก่งของเด็กไทยวัดที่ความเก่งวิชาการ ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ อะไรพวกนี้ด้านเดียวหรือ แต่เด็กไทยที่เก่งชีวิต เก่งคุณธรรมจริยธรรม ก็มีเยอะ มีการยกตัวอย่างว่าถ้าเด็กออกทะเลหากุ้งหาปลามาเลี้ยงครอบครัวได้ในขณะเรียนหนังสือไม่ถือว่าเก่งหรือ แม้สอบภาษาอังกฤษได้เพียงเกรด ๑ เกรด ๒ ก็ตาม

ข้อความจริงด้านคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยที่พอสรุปได้อย่างเป็นกลาง ๆ คือ
(๑) เด็กไทยกลุ่มเก่งก็เก่งมาก
(๒) แต่เด็กไทยส่วนใหญ่ยังไม่เก่งพอ โดยเฉพาะด้านวิชาการ แม้จะเป็นคนดี มีสุขภาพดีก็ตาม

เด็กไทยที่เก่งมาก เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองดูแลเอาใจใส่ต่อการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการเรียนพิเศษที่ทุ่มเททรัพย์สินเงินทองให้เรียน ทั้งไม่ให้เด็กต้องมีภาระด้านอื่น ๆ เลย นอกจากเรียน เรียน และเรียน ทางด้านสถานศึกษาก็ดูแลประคบประหงมเด็กกลุ่มนี้เป็นพิเศษ จัดการสอนเฉพาะให้โดยครูที่ดีที่สุด ใช้สื่อที่ดีที่สุด เพื่อหวังให้เด็กกลุ่มนี้สร้างชื่อเสียงให้กับสถานศึกษา ทางด้านกระทรวงศึกษาธิการก็ทุ่มเททรัพยากรเป็นพิเศษให้เด็กกลุ่มนี้เช่นกัน เพื่อเป็นหน้าตาของประเทศในเวทีการประกวดแข่งขันระดับโลก หาทุนการศึกษาให้เรียนต่อสถานศึกษาชั้นนำ เพื่อกลับมาเป็นมันสมองของประเทศ

นโยบายส่งเสริมผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษของไทยดำเนินการมาอย่างถูกต้องแล้ว

แต่นโยบายส่งเสริมผู้เรียนทุกคนให้ประสบผลสำเร็จในการเข้ารับการศึกษาเพื่อให้เป็นคน “เก่ง ดี มีสุข” ยังทำได้ไม่ดีพอ

ในระดับสถานศึกษาและชั้นเรียนก็ยังไม่มีแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการศึกษาให้เด็กทุกคนได้ประสบผลสำเร็จในการเรียน

การปฏิรูปการจัดการเรียนรู้เพื่อเด็กไทยจึงควรเริ่มต้นทบทวนที่ตรงนี้ โดยกำหนดเป้าหมายว่าเด็กไทยทุกคนควรได้รับการศึกษาที่ดีมีคุณภาพที่เหมาะสมกับตัวเด็กเอง

เด็กทุกคนต้องมีคุณภาพตามมาตรฐานขั้นต่ำก่อน ส่วนจะถนัดด้านใดเป็นพิเศษก็ควรได้รับการพัฒนาด้านนั้นให้เด็กประสบผลสำเร็จตามความถนัด ความสนใจ และศักยภาพ

มาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดสำหรับเด็กทุกคนไม่ควรเล็งผลเลิศหรูเกินไป เช่น ต้องสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี ถ้าเป็นเช่นนั้นเด็กที่จะต้องหากุ้งหาปลาเลี้ยงชีพก็จะตกมาตรฐานกันเป็นแถว ๆ เพราะไม่มีแรงจูงใจที่จะเรียนภาษาอังกฤษให้ดีเนื่องจากมีโอกาสน้อยหรือไม่มีโอกาสได้ใช้ในชีวิตประจำวันเลย ต่างจากเด็กที่ถนัดและมีทักษะในการติดต่อสื่อสารกับผู้คนที่ต้องมีมาตรฐานการใช้ภาษาอังกฤษที่สูงกว่า เพราะเขาอาจออกไปเป็นไกด์ เป็นล่าม เป็นนักวิเทศสัมพันธ์ ในอนาคต

แนวทางการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนจึงควรมีเหมือนกันสำหรับผู้เรียนทุกคน และมีแตกต่างกันสำหรับผู้เรียนที่แตกต่างหรือมีความต้องการต่างกัน

จะปฏิรูปการจัดการเรียนรู้จุดนี้ คงไม่ยากถ้านโยบายชัดเจนตั้งแต่ระดับกระทรวงถึงระดับสถานศึกษา ปรับหลักสูตรใหม่มิให้มีมาตรฐานการเรียนรู้มากมายหลายพันมาตรฐาน หรือตั้งมาตรฐานสำหรับเด็กกลุ่มทั่วไปสูงเกินไป ส่งเสริมสนับสนุนให้ครูจัดการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๐ ที่ให้สถานศึกษาพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา

ที่สำคัญสถานศึกษาที่จัดการศึกษาระดับสูง สถาบันทดสอบต่าง ๆ กรุณาอย่าตั้งมาตรฐานสูงเกินกว่าหลักสูตรอีก ทำให้ครูต้องงัดเอาวิชาความรู้ปริญญาปีที่ ๑-๒ มาสอนเด็ก ม.ปลาย เพื่อให้สอบเอ็นทรานซ์ได้ และสอนเน้นกันแต่เนื้อหาเป็นหลัก จนทำให้การติวข้อสอบกลายเป็นธุรกิจพันล้านอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

หมายเลขบันทึก: 578952เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2014 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2014 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท