ปฏิรูปการศึกษาไทยเพื่อใคร (๒)


การปฏิรูปการศึกษาของไทยที่ควรทำอย่างยิ่งในห้วงเวลา ๑ ปี ควรปฏิรูปด้านไหนก่อน

ผมเห็นว่าควรทำตามลำดับดังต่อไปนี้
(๑) ปฏิรูปการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียน
(๒) ปฏิรูปครู
(๓) ปฏิรูปการบริหารจัดการสถานศึกษา
(๔) ปฏิรูปอำนาจของกระทรวงศึกษาธิการ

ทำไมต้องปฏิรูปตามลำดับละครับ

(๑) การจัดการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นจุดแตกหักในการปฏิรูปการศึกษา คุณภาพการศึกษาจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นอยู่กับการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ อย่างอื่น ๆ เช่น โครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการไม่เกี่ยวกับคุณภาพของผู้เรียนเลย กลับจะสร้างปัญหาเสียด้วยซ้ำ หากโครงสร้างรวบอำนาจการบริหารจัดการไว้ที่กระทรวงหรือกรมแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
การปฏิรูปการศึกษาเพื่อการสร้างศักยภาพการแข่งขันของคนไทยในอนาคตต้องเล็งไปที่การทำให้การจัดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด แบบที่เขาเรียกกันว่า “เรียนน้อยแต่รู้มาก” นั่นเอง รวมทั้งการเรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกกับการเรียน

(๒) เมื่อการศึกษาเป็นหน้าที่ของคนไทยที่จะต้องเข้าเรียนกันจนจบการศึกษาภาคบังคับ หรือสูงสุดตามศักยภาพ เราจึงเลือกผู้เรียนไม่ได้ จำต้องรับทุกคนให้เข้าเรียน จึงต้องมาปรับปรุงที่คุณภาพของครู ผู้มีหน้าที่หลักในการจัดการเรียนรู้ ให้มีคุณครูที่เก่งในการจัดการเรียนรู้ สามารถจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนที่มีความแตกต่างกันสุดขั้ว ให้สามารถเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพ เรียนรู้ด้วยความสุข และมีความหมายต่ออนาคตของผู้เรียนทุกคน จึงต้องมีการปฏิรูประบบครู โดยการคัดสรรครูรุ่นใหม่ที่เป็นคนเก่งในการจัดการเรียนรู้ ส่วนครูที่มีอยู่แล้วต้องพัฒนาให้จัดการเรียนรู้ได้ตามหลักการที่กล่าวแล้วข้างต้น งานนี้ต้องทำโดยเร่งด่วน รวมทั้งต้องวางระบบจูงใจให้คนเก่งมาเป็นครูกันให้มากแทนที่จะไปประกอบอาชีพอย่างอื่นกันเสียหมด โดยไม่สนใจมาเป็นครูกันสักเท่าใดเลย

๓. การปฏิรูปการบริหารจัดการสถานศึกษาเป็นเรื่องจำเป็นต่อมาเพราะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้ครูจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพแท้จริง คงต้องทบทวนระบบการบริหารจัดการสถานศึกษาที่มุ่งแต่สร้างความสำเร็จในการบริหารงานทุกด้าน ยกเว้นการบริหารงานวิชาการอย่างที่เป็นอยู่กันมากในปัจจุบัน คงต้องปรับกระบวนการบริหารจัดการและสร้างปัจจัยสนับสนุนให้สถานศึกษาจัดการศึกษาได้ทั่วถึงและมีคุณภาพด้วยตัวเอง

๔. แทนที่จะขยายอำนาจของกระทรวงศึกษาธิการออกไป ควรกลับด้านโดยปฏิรูปอำนาจของกระทรวงศึกษาธิการให้ลดลงเหลือน้อยที่สุด แบบว่าถึงไม่มีกระทรวงศึกษาธิการเลย สถานศึกษาก็ยังสามารถบริหารจัดการศึกษาให้ทั่วถึงและมีคุณภาพได้ แต่เอาเถอะ มีกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ แต่ต้องบริหารจัดการในทางส่งเสริมให้สถานศึกษาสามหมื่นแห่งสามารถบริหารจัดการศึกษาได้อย่างสะดวก คล่องตัว มีความสำเร็จในการยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยตัวเอง ที่สำคัญต้องปฏิรูปอย่าให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจล้นฟ้าล้นดิน แบบว่าพอมาเป็นรัฐมนตรีก็คิดนโยบายให้สถานศึกษาปฏิบัติในเรื่องหนึ่ง อีก ๖ เดือนเปลี่ยนรัฐมนตรีใหม่ รัฐมนตรีคนใหม่กลับเฉยเมยต่อนโยบายของคนเก่า แต่กลับไปออกนโยบายใหม่ให้สถานศึกษาปฏิบัติ ทั้ง ๆ ที่มาจากพรรคเดียวกัน อยู่ในรัฐบาลเดียวกันแท้ ๆ สถานศึกษาก็ต้องทิ้งเรื่องเก่าหันมาระดมสรรพกำลังตอบสนองนโยบายใหม่ ไม่เช่นนั้นอธิบดีซึ่งเป็นเจ้านายเก้าอี้จะหลุดเอาง่าย ๆ จึงต้องขอร้องแกมบังคับให้สถานศึกษาตอบสนอง นับเป็นเวรกรรมของประเทศไทยที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการปีละคนสองคน มีนโยบายคนละอย่างสองอย่าง การศึกษาไทยจึงล้าหลัง ต่างจากประเทศอื่นที่รัฐมนตรีไม่มีนโยบายอื่น นอกจากคุณภาพการศึกษา คุณภาพของผู้เรียน 3R’s (อ่าน เขียน คิดคำนวณ) และกระจายอำนาจให้สถานศึกษา ไม่ว่ามาจากพรรคไหน ฝ่ายไหนก็ตาม

แบบนี้พอจะทำสำเร็จใน ๑ ปีไหมครับ ท่านผู้อ่าน

หมายเลขบันทึก: 578809เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2014 16:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2014 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท