ปฏิรูปการศึกษาไทยเพื่อใคร (๑)


เริ่มแล้ว “มหกรรมการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย”

พาดหัวข่าวการศึกษาแทบไม่เว้นแต่ละฉบับ มหกรรมการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยกำลังจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีสภาปฏิรูปแห่งชาติเกิดขึ้นแล้ว กระทรวงศึกษาธิการก็เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมเสนอให้สภาปฏิรูปพิจารณาข้อเสนอของส่วนราชการต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ

น่าสนใจมากนะครับว่าส่วนราชการของกระทรวงศึกษาธิการเขาเริ่มต้นเสนอให้ปฏิรูปอะไรกันบ้าง

ปรับโครงสร้าง ศธ. แยก อาชีวะ-สกอ.-อุดมฯ พาดหัวข่าวเดลินิวส์ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๗ (http://www.dailynews.co.th/…/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0…)

ข่าวกล่าวถึงผลการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ไปวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของการแยกออกมาเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานไม่รวมกับกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจาก ศธ.ในปัจจุบันเป็นกระทรวงขนาดใหญ่ และอาจเกิดปัญหาจากความไม่คล่องตัวในการทำงาน จนทำให้เกิดผลกระทบกับการเรียนการสอนหรือบุคลากร จนทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ดังนั้นหาก ๓ หน่วยงานนี้แยกออกไปก็อาจทำให้การทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้น

สั่งศึกษา แยก สอศ. ออกจากศธ. คาดเห็นทิศทางปลาย ต.ค.นี้ (อ้างจากมติชน http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1412856601) ข่าวกล่าวถึงนโยบายที่จะให้ขยาย สอศ.ให้มีหน่วยงานระดับกรมภายใน สอศ.รองรับภาระงานต่างๆ และการแยกออกไปตั้งเป็นกระทรวง ดูภาระงานด้วยว่า มีภาระงานมากพอตั้งเป็นกระทรวงหรือไม่

สพฐ.ขอปรับโครงสร้าง ๓ รูปแบบ แยก ๓ กรม-ตั้งทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ข่าวจาก สพฐ. ที่เผยแพร่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ (อ้างจากhttp://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx…) กล่าวถึงข้อเสนอจากองค์กรครูและองค์กรบริหารงานด้านการศึกษา ที่ได้เสนอขอให้ปรับโครงสร้างของ สพฐ. โดยมีข้อเสนอ ๓ รูปแบบ ได้แก่

๑. เสนอให้ สพฐ. แยกออกเป็น ๓ กรม คือ กรมประถมศึกษา กรมมัธยมศึกษา และกรมวิชาการ ภายใต้การกำกับของ ศธ.แต่ไม่ต้องมีผู้บริหารระดับ ๑๑ กำกับดูแล

๒. เสนอตั้งทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีระดับ ๑๑ กำกับและมีกรมประถมศึกษา กรมมัธยม และกรมวิชาการ มีผู้บริหารระดับอธิบดี ๓ คน และ

๓. ขอให้ตั้งเป็น ทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน แยกออกมาและกำหนดโครงสร้างบริหารจัดการภายในใหม่

อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอให้ขยายสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ครบทั้ง ๗๗ จังหวัดด้วย

หากการเสนอปรับโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการสำเร็จตามเสนอ ก็น่าดีใจที่ประเทศไทยเราจะมีกระทรวงทางการศึกษาเกิดขึ้นมากมาย อย่างน้อยก็ ๕ กระทรวง ได้แก่

(๑) กระทรวงศึกษาธิการซึ่งคงมีกรมในสังกัดคือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กรมการศึกษาเอกชน และสำนักงาน ก.ค.ศ. (แต่คงต้องดูกันต่อไปนะครับว่าการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย รวมทั้งการศึกษาเอกชน ซึ่งมีพาวเวอร์สูงอาจแยกไปตั้งเป็นกระทรวงต่างหากก็ได้)
(๒) กระทรวงการอุดมศึกษาและวิจัย
(๓) กระทรวงอาชีวศึกษา
(๔) กระทรวงการศึกษาแห่งชาติ (มาจาก สกศ.เดิม)
(๕) กระทรวงการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (หรืออาจเรียกว่าทบวง) ซึ่งก็คงมีกรมอนุบาล กรมประถมศึกษา กรมสามัญศึกษา กรมวิชาการ กรมการศึกษาเพื่อคนพิการ กรมการศึกษาสงเคราะห์ เป็นต้น

เราคงมีรัฐมนตรีทางการศึกษาไม่น้อยกว่า ๕ คน มีผู้บริหารระดับสูงระดับปลัดกระทรวงอีกมากกว่า ๕ คน มีอธิบดีอีกหลายสิบคน ทำให้ข้าราชการเราได้ก้าวหน้าในชีวิตราชการกันมากมาย น่าชื่นชมยินดีมากนะครับ

การตั้งส่วนราชการระดับกรมก็คงต้องมีอัตรากำลังข้าราชการตั้งแต่ระดับสูงลงไปจนถึงระดับล่าง มีลูกจ้าง มีพนักงานราชการ ต่อไปก็คงตั้งส่วนราชการระดับจังหวัด ระดับ อำเภอ คงต้องใช้งบประมาณกันพอสมควร แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะการปรับโครงสร้างกระทรวงเหมือนกับการสร้างบ้าน วางแปลนบ้านให้ใหญ่ มีห้องหับมากมายพอที่จะรองรับผู้อยู่อาศัยได้เพียงพอ ก่อสร้างแล้วต้องตกแต่งภายในให้สวยงามสมฐานะ ซื้อหาเฟอร์นิเจอร์มาให้สะดวกแก่การอยู่อาศัย

ท่านผู้อ่านอย่าถามนะครับว่า แล้วจะปฏิรูปการศึกษาอย่างไรให้ผู้เรียนมีคุณภาพ เรื่องนี้แม้มีความสำคัญแต่ใจเย็น ๆ ครับ ทำแน่ แต่ขอเวลาศึกษาหน่อย หากไม่ทัน ๑ ปีก็ไม่เป็นไร เพราะหากรากฐานตึกรามบ้านช่องมั่นคงแข็งแรงแล้ว บุคลากรทางการศึกษามีกำลังใจกันดีแล้ว เรื่องการเรียนการสอนให้มีคุณภาพก็คง (ค่อย ๆ) ตามมาเองแหละ

ปล.ผมเขียนเรื่องราวตามข่าวที่เกิดขึ้นให้อ่านกันเล่น ๆ กรุณาอย่างนำไปอ้างอิง โดยเฉพาะการอ้างอิงในดุษฎีนิพนธ์ ปริญญานิพนธ์ ข้อเขียนหรือบทความทางวิชาการ นะครับ เพราะมีโอกาสฮาสูงมาก

คริ คริ คริ

หมายเลขบันทึก: 578808เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2014 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2014 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตอนนี้... ผมมีความเห็นว่า "การศึกษา" เป็นเรื่อง "เชิงพื้นที่" ต้องปฏิรูปการศึกษาแบบ "ระเบิดจากภายใน" พื้นที่ ....  สิ่งที่ท่านผู้ใหญ่ในประเทศจะปรับเปลี่ยน หากไม่ได้หนุนแนวนี้ ...ครูและนักเรียนคงจะทุกข์กันต่อไปอีกนาน...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท