อย่าบอก ว่ารักกันเสมอ


พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตนั้น เกิด ดับ ติดต่อ ต่อเนื่องกันไป เหมือนมือลิงจับกิ่งไม้ที่พอมือหนึ่งจับกิ่งหนึ่ง อีกมือก็คว้าอีกกิ่งหนึ่ง พอคว้ากิ่งใหม่ได้มือแรกที่คว้ากิ่งเดิมไว้ก็ปล่อยไปจับกิ่งใหม่ จับ ปล่อย จับ ปล่อย อย่างนี้เรื่อยไป และเพราะการจับๆปล่อยๆอย่างนี้ ลิงจึงเดินทางในอากาศจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งได้

เรามักมองระยะทางที่ลิงเดินทางไปด้วยผลรวมของการจับกิ่งไม้ไปทีละมือ แต่มักไม่ได้มองระยะทางสั้นๆที่อยู่ระหว่างมือทั้งสองที่ทยอยเกิดขึ้นทีละมือ เกิดขึ้น - สิ้นสุด สืบทอดกันไปเรื่อยๆจนได้ผลรวมเป็นระยะทางยาวๆ

เหมือนกับที่เราไม่เห็นการเกิด ดับ ของจิตค่ะ

การเกิดดับนั้นค่อนข้างเห็นยาก หมายถึงเห็นด้วยจิตจริงๆนะคะ ไม่ใช่เห็นคล้อยตามตัวอักษรที่ได้ศึกษา เมื่อจิตเกิดขึ้น ธรรมต่างๆที่เรียกว่า เจตสิก ก็เกิดขึ้นพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต และส่งคุณลักษณะที่เกิดขึ้นแล้วต่อไปให้จิตดวงใหม่ที่จะเกิดขึ้นต่อๆไป

หากจะพิจารณาการเกิดดับ มองว่าเรื่องของความรักที่เรามีให้ใครสักคน เห็นได้ค่อนข้างง่ายจึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

ความรักในโลก นำความสุขในโลกมาให้ ความรักที่เกิดร่วมกับจิต เกิดจากเหตุปัจจัย เกิดแล้ว พอดับแล้ว ก็ดับลับ ไม่กลับมาอีก แต่เพราะเหตุปัจจัยเอื้อให้ได้เกิดอยู่เรื่อยๆ เราจึงประสบเวทนาเฉพาะหน้าเกี่ยวกับความรักได้เรื่อยๆ ประกอบกับการไม่เห็นการดับ เราจึงรู้สึกราวกับว่าในขณะที่ยังมีเหตุปัจจัยให้เกิดสุขเวทนาเพราะรักอยู่นั้น ความรักไม่เคยเลือนหายไปจากใจเราเลย ความรักตั้งอยู่ในใจเราเสมอ อยู่ยั้งยืนยาว จนถึงกับกล่าวว่า

ฉันรักเธอมาตั้งนานแล้ว

ฉันรักเธอเสมอ

ฯลฯ

ความรัก ... ดำรงอยู่เสมอ ... จริงหรือ ??

อยากให้ลองพิจารณาตัวอย่างนี้ดูค่ะ

คุณตากำลังขับรถไปหาคุณตุ๊ก ขณะที่ขับรถไปก็คิดถึงคุณตุ๊กผู้เป็นที่รักไป หัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความรักทำให้อดคิดถึงเรื่องราวเก่าๆไม่ได้

ทันใด

คุณตาก็ต้องอุทานด้วยความตกใจที่ถูกรถอีกคันขับปาดหน้า ความกรุ่นที่ก่อตัวขึ้นมาเล็กน้อยด้วยเห็นว่าตนเองก็ขับรถอยู่ในเลนของตนอยู่ดีๆ รถคันนี้มาปาดหน้าตนทำไม

ครั้นพอนึกขึ้นมาได้ ว่าจะไปเอาเรื่องราวอะไรกับคนไม่รู้จัก ความกรุ่นก็ดับ แล้วดวงหน้าคุณตุ๊กก็กลับผุดขึ้นมาใหม่ในความคำนึง

จึงเริ่มคิดถึงสิ่งดีๆที่คุณตุ๊กทำให้ขึ้นมาใหม่ นึกถึงว่าจะทำอะไรตอบแทนความรู้สึกดีๆที่ได้ และ รู้สึกถึงความรักท่วมท้นหัวใจ ... ขึ้นมาใหม่


เพียงเหตุการณ์ช่วงสั้นๆ ก็คงบอกได้นะคะ ความรักของคุณตาที่มีต่อคุณตุ๊กนั้น เกิดแล้วดับ ดับแล้วก็เกิดขึ้นใหม่ ไม่ได้ดำรงอยู่ตลอดไป ที่ดับไปก็เพราะ

-ปฏิฆะ ความขัดใจที่ความคิดเพลินถึงคนที่ตนรักถูกขัด

-ความรู้สึกหวงกั้นในสิ่งที่เห็นว่าเป็นของตน ซึ่งในขณะนั้นก็คือพื้นที่ถนนที่ตนใช้อยู่ ถูกกระทบ

แปลกนะคะ ถนนก็เป็นถนนสาธารณะ แต่พอเราไปใช้เข้า เราขับอยู่ในเลนหรือช่องทางหนึ่งช่องทางใด ช่องทางนั้นก็เป็น "ของเรา" เป็น "ทางเรา" ขึ้นมาทันที พอเราเปลี่ยนช่องทาง เลนนั้นก็ไม่ใช่ช่องทางของเราแล้ว เราปล่อยการยึดจากที่หนึ่งไปเป็นอีกที่หนึ่งอย่างง่ายๆ แต่ในขณะที่เรายึดถือว่าเป็นของเราอยู่นั้น เราแทบไม่ยอมให้ใครมาแตะต้องของที่ยึดว่าเป็นของเรา มาขัดขวางการเดินทางไปอย่างสะดวกในช่องทางนั้นของเรา

การพิจารณาละภาวะอันเป็นอกุศลของคุณตา ก็พิจารณาอย่างง่ายๆ แต่ ... แม้จะเป็นความคิดที่เป็นกุศลคือสามารถหยุดภาวะไม่ดี ทำให้ความคิดไม่ดีอันเป็นบาปอกุศลธรรมไม่ให้ตั้งอยู่จนทำความขัดใจ ความโกรธ ให้ดับลงได้ อันทำให้ไม่คิดปรุงแต่งด้วยความคิดอันเป็นอกุศลต่อๆไปทั้งๆที่การถูกปาดหน้าจบไปแล้ว แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้กุศลธรรมอื่นๆเช่น เมตตาเจริญขึ้น เพราะยังไม่มีการอบรมจิตด้วยความคิดที่พยายามเข้าใจการกระทำของผู้อื่น การให้อภัยผู้อื่น ขึ้นมาเพื่อที่จะคลายความขัดใจในเรื่องเดียวกันนี้ลงได้เรื่อยๆตามมา ดังนั้น เมื่อมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นอีก คุณตาก็พร้อมจะขัดใจได้อีก เพียงแต่ขัดใจแล้ววางได้ ไม่ปล่อยใจจนเกินไปเท่านั้น

มีพระคาถาหนึ่งขุททกนิกาย ธรรมบท ปาปวรรค ความว่า

ปุญฺญญฺเจ ปุริโส กยิรา

กยิราเถนํ ปุนปฺปุนํ

ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถ

สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย ฯ

ขุ.ธ.๒๕/๑๙/๓๐

ถ้าบุรุษพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญนั้นบ่อยๆ

พึงทำความพอใจในบุญนั้น

เพราะว่าการสั่งสมขึ้นซึ่งบุญนำมาซึ่งสุข.

การห้ามจิตไม่ให้คิดปรุงแต่งต่อไปในทางที่ไม่ดีของคุณตาเป็นบุญเพราะเป็นการห้ามจิตจากบาป เพียงแต่เมื่อมีการกระทำอันเป็นบุญแล้ว ก็ควรทำความพอใจในการกระทำนั้นๆด้วย เพราะเมื่อพอใจ ก็จะหาทางที่จะเจริญในบุญนั้นๆต่อไป หาทางที่จะทำบุญนั้นๆให้เจริญขึ้นจนเต็มความหมายของบุญ นั่นคือ นอกจากจะทำบุญที่เป็นอุปธิคือหวังผลให้เกิดแก่ตน นำตนไปสู่สุคติแล้ว ยังเป็นการชำระจิตจากบาป สู่การละความเห็นว่าเป็นตน ด้วย

(คำว่าบุญที่เราใช้ๆกันอยู่โดยทั่วไปนี้ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) อธิบายไว้ในหนังสือพุทธธรรมว่า แม้จะพูดกันว่า "บุญ" เฉยๆ ก็ควรเข้าใจว่ามีคำว่า"โอปธิก" กำกับอยู่ด้วยเสมอ คือ เรามักทำบุญโดยหวังผลตอบแทนแก่ตนอันเป็นบุญที่เป็นโลกิยะ ท่านว่า เมื่อมีคำว่าโอปธิกบุญ ก็น่าจะมีคำว่า อโนปธิกบุญ หรือ นิรูปธิกบุญ อันหมายถึงบุญที่ไม่ประกอบด้วยอุปธิใช้ด้วย แต่ปรากฏว่าไม่มีค่ะ ส่วนบุญในระดับโลกุตระนั้น มีคำว่าโลกุตรกำกับ เป็น โลกุตรบุญ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมใช้)

อ้าว เล่าถึงความรักอยู่ดีๆ ไปเกี่ยวกับถนนเสียแถมโยงไปถึงบุญได้ยังไง

แต่จะว่าไป ก็เกี่ยวโยงกันได้นะคะ ความรักก็มีส่วนของถนนที่ถูกนำมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวด้วยอยู่เหมือนกัน อย่างที่เรามักได้ยินคำกล่าว "ถนนสายความรัก" , "ทางเดินแห่งรัก" เป็นต้น

ภาวะที่เป็นความรักของคุณตาที่เกิดขึ้นในขณะหนึ่งจึงดับเพราะถูกภาวะอื่นๆแทรกเข้ามาแทนที่ ครั้นพอภาวะอื่นดับ ภาวะของความรักจึงได้เกิดขึ้นใหม่ เพราะในขณะที่คุณตาโกรธคนขับรถคนนั้น คุณตาไม่ได้นึกถึงคุณตุ๊ก หรือนึกรักคุณตุ๊กไปด้วย คุณตานึกแต่ค่อนคนที่คิดว่านำความขัดใจมาให้

แต่ ... เพราะไม่เห็นความเกิดดับของจิตที่เห็นว่าเป็นความรัก จึงเห็นความรักเป็นตัวตนถาวรตั้งอยู่ คุณตาจึงเห็นความรักที่มีให้คุณตุ๊กที่เกิดขึ้น - ตั้งอยู่ – ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ – ดับไป เป็นช่วงๆนั้น ตั้งมั่น ไม่เคยเลือนหายไปจากใจเลย คงเห็นเพียงการตั้งอยู่ และนำการตั้งอยู่เป็นช่วงๆนั้นมาสืบทอดรวมเป็นเนื้อเดียวกัน

และ เพราะเห็นเป็นเนื้อเดียวกัน คำพูดที่ว่า "รักเธอเสมอ" จึงเกิดขึ้นได้

และที่ความรักสามารถเกิดขึ้นได้ในแต่ละช่วง ก็พราะเหตุปัจจัยต่างๆรวมๆกันเข้าค่ะ

เช่น

ความกำหนด (ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่รัก,น่ารัก,น่าปรารถนา ฯลฯ)

ความทรงจำ (ว่าคนใด สิ่งใด เป็นสิ่งที่ตนรัก เป็นสิ่งที่นำความสุขมาให้ ฯลฯ)

ความดำริถึง (วิตก)

ความตามระลึกถึง (วิจาร)

ความปรารถนา (ตัณหา)

ความสุขที่ได้เสพสภาพน่ารื่นรมย์ทางตา หู เป็นต้น (โสมนัสอันเป็นสามิสสุข)

ความจำนงเสพสุขเวทนาจากการคิดถึง (เจตนา)

การคิดปรุงแต่งถึง (สังขาร)

การเสพความสุขจากการคิดปรุง (เสวยเวทนา)

การยึดมั่นในความเห็นว่าเป็นตน (อัตตวาทุปาทาน)

เหล่านี้เป็นต้น

คุณตารวมภาวะหลายๆอย่างนั้นเข้าด้วยกันแล้วปรุงแต่ง (สังขาร) ว่าเป็นความรัก ที่มีให้ต่อคุณตุ๊ก

และ ... เพราะสามารถเสพเวทนาอันเกิดจากความรักได้อยู่เรื่อยๆ คุณตาจึงรู้สึกราวกับว่า ความรักที่มีให้คุณตุ๊กนั้น ยืนยาวมาตั้งแต่วันแรกที่ได้พบเจอ ไม่เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ที่ปรากฏขึ้นเป็นช่วงๆ

การที่เรายังมีความเห็นว่าเป็นตนอยู่ จึงยากที่จะไม่รักใครสักคน เพียงแต่เมื่อรักแล้ว นอกจากจะมีศีล มีความพึงพอใจแต่ในคู่ของตน ยังต้องยึดหลักที่สมเด็จพระสังฆราชทรงประทานให้ คือ ให้มีสติอยู่เหนือความรักอีกด้วยค่ะ


เพื่อให้วิถีชีวิตเป็นปกติ ไม่ร้อนใจไปกับความเห็นที่ไม่สอดคล้องกับสมมติที่ยอมรับกันในสังคม และใช้ความเป็นปกตินี้ เป็นปัจจัยให้จิตตั้งมั่นจนพิจารณาถึงความว่าง อันเป็นปัจจัยในการเดินทางออกจากโลกต่อไป

การเพ่งพินิจเพื่อให้เห็นความเกิดดับนี้เป็นสิ่งประเสริฐค่ะ เพราะเมื่อเห็นว่าเป็นเพียงสภาพเกิดดับ ก็จะช่วยคลายการยึดถือมั่นในทุกๆอย่าง ทั้งที่ยึดว่าเป็น "ตัวเรา" เป็น "ของเรา" อันนำไปสู่การหลงในความเป็นตัวเรา ของเรา กระทั่งถือตัวว่า "นี่เรานะ" ลงทีละน้อยๆ

สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า

โย จ วสฺสสตํ ชีเว

อปสฺสํ อุทยพฺพยํ

เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย

ปสฺสโต อุทยพฺพยํ ฯ

ขุ.ธ. ๒๕/๑๘/๓๑

ก็บุคคลผู้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและการเสื่อมลง มีชีวิตอยู่วันเดียว

ยังประเสริฐกว่า ผู้มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ที่ไม่พิจารณาเห็นความเกิดและความเสื่อม.

หมายเลขบันทึก: 578615เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2014 11:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ตุลาคม 2014 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะ คุณ ณัฐรดา มาอ่านธรรมะดีค่ะ

ชอบตรงนี้ค่ะ

แปลกนะคะ ถนนก็เป็นถนนสาธารณะ แต่พอเราไปใช้เข้า เราขับอยู่ในเลนหรือช่องทางหนึ่งช่องทางใด ช่องทางนั้นก็เป็น "ของเรา" เป็น "ทางเรา" ขึ้นมาทันที พอเราเปลี่ยนช่องทาง เลนนั้นก็ไม่ใช่ช่องทางของเราแล้ว เราปล่อยการยึดจากที่หนึ่งไปเป็นอีกที่หนึ่งอย่างง่ายๆ แต่ในขณะที่เรายึดถือว่าเป็นของเราอยู่นั้น เราแทบไม่ยอมให้ใครมาแตะต้องของที่ยึดว่าเป็นของเรา มาขัดขวางการเดินทางไปอย่างสะดวกในช่องทางนั้นของเรา

บ่งขี้ถึง มนุษย์จริง ๆ ขอบคุณบทความดี ๆ ค่ะ

ความรัก...เป็นพลังขับเคลื่อน..ภายใน..ของมนุษย์..ถือว่า..เป็นพลังบริสุทธิ์..ดังประจุไฟฟ้า..ขั้วบวกลบ..ที่มาประสพสัมพันธุ์กัน..เมื่อพลังนี้ไม่สมดุลย์..เกินหรือขาด..นั้น...การเยี่ยวยา..คือ..ปลดขั้วนั้น...ความว่างที่เกิดขึ้นได้ในขณะนั้น..คือรักที่เป็นอมตะ..ในนามธรรม

สุขใจที่ได้เห็นอุบาสิกามีภูมิรู้ ภูมิธรรมสูงส่ง สามารถอรรถาธิบายหลักธรรมอันสูงส่งทางพุทธศาสนาให้สามารถเข้าใจและนำไปปฏิบัติตามได้...

เห็นด้วยที่ว่าไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน...แม้กระทั่งความรัก...ทุกสิ่งอย่างเกิดตามเหตุปัจจัย...อย่างที่อาจารย์อธิบายหรือยกตัวอย่างมาทำให้นึกถึงเรื่องสุวรรณสาม...ที่มีการสอบถามกันในมิลินทปัญหา ว่า ทำไมผู้เจริญเมตตาโดยตลอดถึงถูกธนูต้องกายเอาได้?...คำตอบก็คล้ายกัน คือ...สุวรรณสามไม่ได้เจริญเมตตาพรหมวิหารอยู่ตลอดเวลา เพราะคำนึงถึงภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบที่จะต้องมีต่อบุพพการี การตักน้ำ การหาอาหาร นั่นเอง...

มาช่วยเสริมนะครับอาจารย์...ขอบคุณความรู้ดีๆ บันทึกอันงดงามทุกบันทึกที่แอบเข้าไปอ่านมาด้วยครับผม...สาธุ ๆ ๆ

แวะมาอ่านธรรมะเตือนใจก่อนนอน ขอบคุณมากค่ะ


โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ อุทยพฺพยํ

เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต อุทยพฺพยํ ฯ

ขุ.ธ. ๒๕/๑๘/๓๑

ก็บุคคลผู้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและการเสื่อมลง มีชีวิตอยู่วันเดียว

ยังประเสริฐกว่า ผู้มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ที่ไม่พิจารณาเห็นความเกิดและความเสื่อม

จดลงสมุดบันทึกตัวเองแล้ว

ขอบคุณค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท