บันทึกอนุทินครั้งที่ 2 เรื่อง หลักสูตรและการสอนในกลุ่มประเทศอาเซียน


บันทึกอนุทินครั้งที่ 2

เรื่อง หลักสูตรและการสอนในกลุ่มประเทศอาเซียน

วันที่บันทึก วันอาทิตย์ ที่ 3 สิงหาคม 2557

รายวิชา การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้   รหัส 102611                อาจารย์ผู้สอน ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์

ผู้บันทึก นางสาวรดาการ ปรางสุข                                                             รหัส 57D0103204

ป. โท หลักสูตรและการสอน  ภาคพิเศษ                                                   รุ่นที่ 13    หมู่ที่ 1

..............................................................................................................................................................................

1. การเตรียมตัวล่วงหน้าในการเรียน

การเตรียมตัวในการเรียนในครั้งนี้ ได้ไปศึกษาค้นคว้าความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการความรู้

หรือ เคเอ็ม :K.M (Knowledge Management) การจัดการความรู้ คือการรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กร ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคลมาพัฒนาให้เป็นระบบ นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร โดยผ่านกระบวนการต่าง ๆ

2. ความรู้ความเข้าใจที่ได้รับ

    การเรียนในวันนี้อาจารย์ได้ให้นักศึกษาเข้ารับฟังการบรรยายเกี่ยวกับหลักสูตรและการสอนในกลุ่มประเทศอาเซียน (Educational 

in Asean) ณ หอประชุมอนุสรณ์ 70 ปี ซึ่งความรู้ความเข้าใจที่ได้รับสรุปพอเป็นสังเขป ดังนี้ คือ

การจัดการศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และกัมพูชา สรุปโดยภาพรวมการจัดการศึกษาในขั้นพื้นฐานของทุก ๆ ประเทศส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกัน คือจัดเป็นระยะเวลา 12 ปี รวมถึงประเทศไทยด้วยแต่ละประเทศจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในประเทศฟิลิปปินส์ จะสอนภาษาฟิลิปปินส์ (ภาษาแม่) ควบคู่ไปกับการเรียนภาษาอังกฤษ การเรียนภาษาฟิลิปปินส์จะจัดให้เรียนตั้งแต่ในระดับอนุบาล ในระดับประถมศึกษาจะมีการเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นมา เพื่อให้ผู้เรียนมีทัก?ในการพูด – สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษไปจนถึงระดับ ม. ต้น และ ม. ปลาย ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียน จะใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนทุกประเทศ เพราะมีความจำเป็นในการติดต่อสื่อสาร นอกจากนี้ก็ยังมีการเรียนภาษาอื่น ๆ เช่น ในประเทศเวียดนาม จะเรียนภาษาจีน ภาษารัสเซีย และภาษาฝรั่งเศส เป็นต้น

      การศึกษาในแต่ละประเทศจะเน้นเพื่อการประกอบอาชีพและเพื่อการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป การสอบและประเมินผลแต่ละช่วงชั้นจะมีความเข้มข้นแตกต่างกันออกไป เช่น ในประเทศฟิลิปปิสน์จะให้ความสำคัญในการสอบมากพ่อแม่ผู้ปกครองจะมีความเครียดและวิตกกังวลใจและให้ความสำคัญในการเรียนของบุตรหลานเป็นอย่างมาก

3. ความคิดเห็นประเด็นที่เรียน

             ความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียนโดยภาพรวมแล้ว การจัดการศึกษาในแต่ละประเทศจะมีการแข่งขันกันสูงมากทำให้เกิดความเครียดต่อผู้เรียน และผู้ปกครองเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการศึกษาของประเทศไทยจะเห็นได้ว่า กิจกรรมการเรียนการสอนของนักเรียนไทยจะมีจำนวนมากกว่าประเทศอื่น ในประเทศเวียดนาม ในเวลาว่างจะเน้นให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าเรียนรู้ด้วยตนเอง ในประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา และสิงคโปร์ นักเรียนจะมีระเบียบวินัยมาก มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเรียนสูงมาก เปรียบเทียบความมีระเบียบวินัยในวงเสวนาของวิทยากรในการอบรมในครั้งนี้ ได้ให้ทัศนะและมุมมองเกี่ยวกับนักเรียนไทยว่า นักเรียนไทยยังขาดระเบียบวินัยในตนเอง ไม่ค่อยตั้งใจเรียน ไม่ตรงต่อเวลา ไม่ตั้งใจฟังครูเวลาสอน และชอบเล่นโทรศัพท์ในห้องเรียน ดังนั้นเราจึงควรปลูกฝังค่านิยม ความมีระเบียบวินัยของผู้เรียนให้มากยิ่งขึ้นพ่อ – แม่ หรือผู้ปกครองจะต้องมีส่วนร่วมในการผลักดัน หรือเป็นกำลังใจให้บุตรหลานในการเรียน อย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครูเพียงอย่างเดียว และนักเรียนไทยจะมีจุดเด่นในการเคารพและปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมได้ดีมาก เช่น การมีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่และครูอาจารย์ การจบหลักสูตรนักเรียนไทยหรือการเรียนการสอนของไทยจะจบการศึกษาง่ายกว่าหลาย ๆ ประเทศในกลุ่มอาเซียน มีความยืดหยุ่นสูง

4. การนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาตน/และการปฏิบัติงาน

          การนำความรู้ที่ได้รับในครั้งนี้ไปใช้โดยจะนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของตนเอง โดยลดการสอนด้วยการบรรยายลง เน้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายให้กับผู้เรียน ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ครูควรเป็นผู้แนะนำผู้เรียนในการเรียนรู้ และที่สำคัญที่เป็นปัญหาสำหรับการศึกษาของประเทศไทย คือ ผู้เรียนยังขาดความมีระเบียบวินัย จึงจะพยายามปลูกฝังคุณธรรม – จริยธรรมในเรื่องนี้ให้เกิดกับผู้เรียนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

          ในการจัดการศึกษาของแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันออกไป หลักสูตร เทคนิคการถ่ายทอดความรู้ของครูผู้สอนก็จะแตกต่างกันไปตามบริบทของการจัดการศึกษาของประเทศนั้น ๆ ไม่ตายตัว

5. บรรยากาศในการเรียน

          บรรยากาศในการรับฟังคำบรรยายในวันนี้ จะเห็นได้ว่าวิทยากรที่รับเชิญมาทุกท่านจะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ผู้รับฟังจึงได้ตระหนักถึงการเรียนรู้ภาษาอังกฤษว่ามีความสำคัญและจำเป็นมากในยุคปัจจุบันนี้ การเรียนการสอนของประเทศอื่น ๆ กับประเทศไทย เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ จะใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนทุกวิชา แต่ประเทศไทยใช้ภาษาอังกฤษสอนเฉพาะในรายวิชาภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่ประเทศไทยจะใช้ภาษาไทยในการเรียนการสอน ทำให้ทั้งครูและผู้เรียนมีทักษะ ความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษน้อย

          วิทยากรผู้ที่แปลภาษาอังกฤษท่านมีความรู้ความสามารถในการแปล ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยให้นักศึกษาที่เข้าร่วมฟังการบรรยายในครั้งนี้ ได้รับทราบข้อมูลในด้านต่าง ๆ ได้ดีมาก ในการเข้ารับฟังการบรรยายในวันนี้ได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับฟังได้ซักถามปัญหาข้อสงสัยต่าง ๆ พร้อมทั้งมีการแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของวิทยากรแต่ละท่าน นักศึกษาและผู้เข้ารับฟังการอภิปรายให้ความสนใจมาก เพราะเป็นเรื่องที่ดีมีประโยชน์ ทั้งยังได้สะท้อนความคิดเห็น – มุมมอง ของครูชาวต่างชาติถึงระบบการศึกษาในแต่ละประเทศไทย ซึ่งนับได้ว่าเป็นข้อมูลสำคัญในการนำไปปรับปรุงพัฒนาการศึกษา รวมถึงการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ดี มีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต (เสียดายที่ฟังการบรรยายไม่จบ เพราะต้องรีบไปเตรียมตัวเรียนในวิชาต่อไปในช่วงบ่าย)  

หมายเลขบันทึก: 578502เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2014 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2014 13:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท