บันทึกกิจกรรม "ขุมความรู้ภูมิปัญญา"


เพลงเรือชุมพร

"เพลงเรือ"ชุมพร

          สำนักงานวัฒนธรรมวัฒนธรรมจังหวัดชุมพร  ได้จัดโครงการภูมิบ้านภูมิเมือง  ในปีงบประมาณ 2549  โดยจัดเก็บข้อมูล "เพลงเรือ" ของจังหวัดชุมพร  ซึงในปัจจุบันภูมิปัญญาด้านนี้เหลือน้อยมาก  เกือบสูญหายไปกับคนรุ่นเก่าหมดแล้ว   ทีมงานสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูล นำโดย  นางสาวกัณนิกา  เข็มตรง  นักวิชาการวัฒนธรรม 6 ว และคณะ  ได้จัดเก็บข้อมูล"เพลงเรือ"ที่อำเภอสวี โดยมี  นายวิโรจน์  โรจน์วัฒนกุล  อดีตศึกษาธิการอำเภอ  เป็นครูภูมิปัญญาในการจัดสาธิตการแสดงเพลงเรือ  ซึ่งได้จัดกิจกรรมสาธิตจริง ๆ ณ คลองวัดดอนสะท้อน  ตำบลปากแพรก  อำเภอสวี  จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2549 ดังนี้  
           1. สาธิตการทำพิธีบวงสรวง
           2. สาธิตร้องเพลงเรือ  โดยใช้เรือ 2 ลำ  และผู้แสดงเป็นฝีพาย  จำนวน  16 คน  แบ่ง 2 ลำ เท่า ๆ กัน 
ประวัติความเป็นมา
           เพลงเรือ  เป็นเพลงพื้นบ้านที่มีเกือบทุกภาคในประเทศไทย  การเล่นเพลงเรือมีมานานร่วม  200 ปี  สำหรับจังหวัดชุมพร  การเล่นเพลงเรือเล่นควบคู่กับการชักพระทางน้ำ  ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11  เป็นวันที่พระสงฆ์ออกพรรษา  ในวันดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นวันพระเสด็จ  ขบวนแห่ทางน้ำนั้นได้ตกแต่งเรือพระอย่างสวยงามและ และขบวนเรือพายลากจูงกันยาวเหยียด  ขณะที่พายเรือนั้นได้ร้องรำทำเพลงไปด้วย เรียกว่า  เพลงเรือ  เพลงเรือนั้นนอกจากร้องในวันแห่พระแล้วยังใช้ร้องในวันทอดกฐินทางน้ำอีกด้วย 

เครื่องบวงสรวง 
           อุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีบวงสรวง จำนวน   25   ชนิด
            1.  หัวหมู 1 หัว
            2.  กล้วยน้ำว้า
            3.  ไข่ต้ม
            4.  เป็ดนึ่ง   1  ตัว
            5.  ไก่นึ่ง  1  ตัว
            5.  ปลาแป๊ะซะ
            6.  ปูทะเลต้ม
            7.  กุ้งต้ม
            8.  ผลไม้
            9.  ขนมต้มขาว  ขนมต้มแดง
           10. ยำปลากรอบ
           11. ต้นกล้วย ต้นอ้อย
           12. เงินสด
           13. หมาก พลู
           14. บายศรี 1 คู่
           15. น้ำ
           16. เผือกต้ม
           17. ดอกไม้
           18. มะพร้าวอ่อน
           19. มันต้ม
           20. ข้าวตอก
           21. ขนมถั่ว งา
           22. ขนมหูช้าง
           23. ขนมเล็บมือนาง
           24. ขนมเม็ดขนุน
           25. ขนมทองหยิบ  ทองหยอด  ฝอยทอง
    พิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือ
           สมัยโบราณ  การทำเรือจะใช้ไม้ที่เทพารักษ์ หรือนางไม้สิงสถิตย์อยู่ ส่วนมากนิยมใช้ไม้ตะเคียน  เพราะถือว่านางไม้ที่คุ้มครองมีเดชานุภาพมาก  ก่อนเอาเรือลงน้ำต้องทำพิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือ  เพื่อเชิญแม่ย่านางลงในเรือ  การบวงสรวงนี้ทำให้เชื่อว่าเจ้าของเรือและผู้ที่อยู่ในเรือมีความสุข ความเจริญ มีความปลอดภัยและจะไม่มีอันตรายใด ๆ เกิดขึ้น  ให้พายเรือได้คล่องแคล่ว

 http://gotoknow.org/file/chumphon6/rear.jpg

สาธิตร้องเพลงเรือ 
            โดยใช้ผู้แสดง และเรือ 2 ลำ
จำนวนผู้ขับร้อง 
            เรือลำหนึ่ง ๆ มีผู้ร้องนำและลูกคู่ตั้งแต่ 7 คน  ซึ่งเป็นเรือเล็ก ๆ จนถึง 20-30 คน อยูที่ขนาดของเรือ

http://gotoknow.org/file/chumphon6/rear2.jpg

http://gotoknow.org/file/chumphon6/rear1.jpg

บทเพลง
   
      การร้องเพลงเรือมีหลายบท  จะว่ากันคนละบทก็ได้ตามความพอใจ  มีทั้งแบบชมโฉม ซึ่งเป็นการชมนาง  ชมไม้  ชมความงามอื่น ๆ  และพรรณนาเรื่องราวต่าง ๆ   ส่วนบทร้องแบบชิงชู้ เป็นการร้องว่าแก้กันเป็นคู่ ๆ (คู่ลำเรือ) 
          เพลงเรือแบบตลกขบขัน
                     เรือพี่มันขี่ไม่ได้      น้ำเข้าท้ายอยู่แฉะ แฉะ 
         อย่าพายให้มันแรง แรง      เดี๋ยวมันตะแคงน้ำเข้าเล่าแหละ
         พายไปจากคลองรับร่อ      และพายต่อเข้าคลองท่าแซะ 
         ฯลฯ
***ส่วนบทเพลงจากการบันทึกเทป จะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป

โอกาสที่ใช้ในการขับร้อง
         ใช้ขับร้องขณะพายเรือในขบวนแห่ชักพระทางน้ำ  ในวันพระเสด็จ  คือวันแรม 1 ค่ำ  เดือน 11  หรือในวันทอดกฐิน

ประวัติครูภูมิปัญญา 
โดย  นายวิโรจน์  วิโรจน์วัฒนกุล   ข้าราชการบำนาญ  อดีตศึกษาธิการอำเภอ  และ เป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอสวี
     ที่อยู่  ตำบลนาโพธิ์   อำเภอสวี    จังหวัดชุมพร

 http://gotoknow.org/file/chumphon6/rear3.jpg

หมายเหตุ  หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม  สามารถติดต่อได้ที่ คุณกัณนิกา  เข็มตรง  นักวิชาการวัฒนธรรม 6 ว โทร. 0 7750 7753

คำสำคัญ (Tags): #บันทึกกิจกรรม
หมายเลขบันทึก: 57765เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2006 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท