มนุษย์ปรัชญา จับต้องได้


สุธรรม ปิ่นจริญ

ปรัชญาที่จับต้องได้

นี่ผมเดินมาไกลเท่าไหร่แล้ว หากจะนับก้าวแรกที่ออกจากบ้านเพื่อมาเรียนวิชาแพทยศาสตร์ นั่นมันก็ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นนักเรียนรุ่นที่ 18 ของสงขลานครินทร์ จวบจนวันนี้ก็ปาเข้าไป 24 ปี เรียกว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิต ความฝันที่จะเป็นหมอเมื่อสอบเอ็นทรานซ์ติด สน.2 ผมจะไปเป็นหมอในชนบท ผมจะกินข้าวกับชาวบ้าน ผมจะเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และอีกตั้งหลายอยากที่จะทำเมื่อเรียนจบไป แต่ชีวิตก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ต่างๆเสมอ ทั้งที่ควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้เสียเป็นส่วนใหญ่

ผมไม่ได้เลือกเรียนเป็นหมอสูติฯเพราะมีอาจารย์สุธรรมเป็นไอดอลเหมือนนักเรียนแพทย์รุ่นหลังๆ นั่นคงจะเป็นเพราะว่าในช่วงที่ผมกำลังเติบโต กำลังถูกบ่มเพาะความคิดขณะเรียนอยู่นั้น อาจารย์กำลังใช้เวลาส่วนหนึ่งในการเป็นผู้บริหารของคณะแพทย์และโรงพยาบาล ซึ่งผมก็คิดว่า ชีวิตเฉกเช่นอาจารย์มันไม่ใช่วิถีชีวิตของผมหรือกระทั่งของหมอที่ทำงานในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยทั่วๆไป จนกระทั่งวันหนึ่ง ก่อนที่ผมจะเดินขึ้นเวทีไปบรรยายเรื่องทำแท้ง สายวิชาที่กำลังดึงผมขึ้นไปโลดแล่นสู่เวทีระดับชาติ ท่านก็โทรศัพท์มาถามผมว่า "แป๊ะมาช่วยงานผมหน่อยได้ไหม มาเป็นรองหัวหน้าภาควิชาฯให้ผมหน่อย" และด้วยความรีบเร่ง ผสมกับความตื่นเต้นที่จะต้องขึ้นเวที ผมจึงตอบตกลงไปโดยที่ไม่มีโอกาสได้คิดเลยว่าชีวิตผมจะเปลี่ยนไปขนาดไหน นับตั้งแต่วันนั้น

คุณชายสะอาด

นั่นคงเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินเลยจากความจริงนัก เพราะเป็นที่รู้กันว่าท่านคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเสมอ "สะอาด ดุ และเนี๊ยบ" เป็นคำที่รุ่นพี่มักจะขู่ผมเวลาที่จะต้องเข้าช่วยอาจารย์ทำคลอดหรือผ่าตัด

ครั้งหนึ่งขณะที่ผมกำลังเป็นแพทย์ฝึกหัด อยู่เวรพร้อมกับพี่ๆ และมีคนไข้ส่วนตัวของอาจารย์กำลังเบ่งคลอด เราทราบมาว่าคนท้องรายนี้มีทารกนอนอยู่ในท่าก้น และอาจารย์กำลังเดินทางมาทำคลอดให้ พี่ๆจึงสั่งการมาว่า "แป๊ะ เธอไปช่วยอาจารย์สุธรรมทำคลอดนะ แกทำคลอดท่าก้นเก่ง" ผมก็ตอบรับด้วยความตื่นเต้น เพราะนานๆจะได้มีโอกาสเจออาจารย์สักครั้ง และทุกคนก็บอกเหมือนๆกัน ว่าอาจารย์ทำคลอดได้เก่งและเนี๊ยบ คงเป็นบุญของผม แต่พี่ๆไม่ได้บอกอะไรเพิ่มเติมอีกเลยนอกจากสบตากับผมเล็กน้อยแล้วจากไปพร้อมกับคำว่า "โชคดีนะน้อง"

และผมก็โชคดีจริงๆ

ผมเริ่มจากทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศของคนท้อง ปูผ้าปราศจากเชื้อ และรออาจารย์ ครั้นเมื่อท่านมาถึง ประโยคแรกที่ได้รับการทักทายมาก็คือ "ปูผ้ายังไง สกปรก ถ้าแผลคนไข้ติดเชื้อขึ้นมาจะว่ายังไง" ด้วยความตกใจ เถียงไม่ทันและไม่ทันจะได้เถียง "ยูน่ะโชคร้ายแล้ว คราวนี้รู้หรือยังว่าทำไมพี่ๆจึงให้มาช่วยผมทำคลอด" "ครับ" ผมก็ได้แต่ครับไปเรื่อยๆ "เอ้า ไหนๆก็โชคร้ายแล้ว ทำคลอดไปเลย" และอาจารย์ก็ให้ผมทำคลอดท่าก้น เฮ้ย! ผมต้องทำคลอดท่าก้นโดยมีอาจารย์คอยยืนคุมอยู่ชิดตัว มันสุดยอดมาก

นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้ใกล้ชิดอาจารย์ ซึ่งเป็นที่ร่ำลือถึงความสะอาด เนี๊ยบ และดุ แต่จะไปสนใจอะไรอีก ก็ในเมื่อผมผ่านการเป็นผู้ทำคลอดท่าก้นโดยอาจารย์แทบจะจับมือสอน ทั้งๆที่เป็นคนไข้พิเศษของอาจารย์เอง และเมื่อผ่านด่านนี้ไปได้ พี่ๆก็ส่งผมเข้าช่วยอาจารย์ผ่าท้องคลอดตลอดมานับตั้งแต่นั้น

อาจารย์เป็นหมอผ่าตัดที่ไม่ยอมใช้เครื่องมือจี้ไฟฟ้า ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไม เวลามีจุดไหนเลือดออก ท่านจะให้หมอผู้ช่วยกดหยุดเลือดเอาไว้มือหนึ่ง มือที่เหลือก็ช่วยทำอย่างอื่นไป ผมเคยถามว่าทำไมอาจารย์ไม่ใช้เครื่องจี้ "ใช้ทำไม" เป็นคำถามย้อนกลับมาในทันทีที่ถูกถาม "ก็ไม่ให้เลือดออก เลือดมันจะมาบัง field ผ่าตัดน่ะสิครับ" ผมตอบตามตรรกะของตน "แล้วนี่ล่ะ สกปรกมั้ย" อาจารย์หมายถึงการผ่าท้องคลอดในรายนั้น "สกปรกครับ" ผมหมายถึง เลือดเปื้อนที่บาดแผลมากกว่าการหยุดเลือดโดยใช้เครื่องจี้ไฟฟ้า ในใจก็กลัวว่าคำตอบแบบนี้ จะทำให้ถูกเคาะมือด้วย forceps หรือ needle holder แต่อาจารย์กลับหัวเราะดังลั่น แล้วให้ผมกดห้ามเลือดต่อไป

ยังครับยัง การช่วยผ่าตัดกับอาจารย์ยังมีเรื่องสนุกอีกเรื่องที่หากไม่กล่าวถึงก็คงขาดอรรถรส นั่นก็คือหน้าที่ผูกไหม ซึ่งเป็นเรื่องที่หน้าสะพรึงกลัวมาก เพราะในช่วงที่ต้องเข้าช่วยอาจารย์นั้น ผมยังผูกไหมไม่คล่อง ยิ่งถ้าอาจารย์ใช้ไหมชนิด catgut ผูกทีไรก็เครียดจนขี้แทบจะขึ้นหัว เพราะมันขาดง่าย ผูกผิดทิศทางเข้าให้มันก็ขาดเมื่อนั้น และเจ้ากรรม ยิ่งเครียดยิ่งกลัวก็ยิ่งขาด แม่เจ้า!

ครั้นเมื่อเติบใหญ่ขึ้น ความกลัวเริ่มลดลง ผูกไหมเก่งแล้ว แต่ก็ยังไม่วายขาดง่ายทุกทีเมื่อเข้าช่วยอาจารย์ผ่าตัด จึงเริ่มบ่นว่าทำไมจึงใช้แต่ catgut ไปใช้ vicryl ดีกว่า ผูกก็ง่าย ขาดก็ยาก อาจารย์ก็ถามว่า "ราคามันต่างกันเท่าไหร่" มาถึงตรงนี้ผมก็ตันไปต่อไม่ถูก รู้แต่ว่าอย่างแรกถูกกว่าอย่างหลัง แต่ส่วนต่างนั้นไม่เคยอยู่ในหัว เพราะไม่ต้องจ่ายเงินค่าไหมเอง "อ๋อ อาจารย์ต้องการประหยัด นอกจากจะเป็นคุณชายสะอาดแล้ว ยังเป็นนายประหยัดอีกด้วย" ผมคิดในใจนะครับ ไม่กล้าวิจารณ์ดังๆ ว่าแล้วไหมที่ผมกำลังผูกก็ขาดดังผึง!

เวลาผ่านไปไวครับ มารู้ตัวอีกทีตัวเองก็เรียนจบบอร์ดสูติฯแล้ว และนึกไปนึกมา ผมเข้าช่วยอาจารย์ผ่าท้องคลอดไปมากมาย ตั้งแต่ถูกพี่ๆใช้มาจนเป็นหัวหน้าแพทย์ใช้ทุน ผมก็ยังเข้าช่วยอาจารย์ผ่าตัด จึงไม่แปลกใจเลยที่ผมจะบอกว่า ครูที่เป็นต้นแบบในการผ่าท้องคลอดของผม คืออาจารย์สุธรรม

"คนท้องที่ตายในภาคใต้ เป็นความรับผิดชอบของเราไหม"

ประโยคนี้หากเมื่อฟังผ่านๆ บางคนอาจจะไม่ได้คิดอะไร แต่ก็ประโยคนี้เองนี่แหละ ที่ทำให้มุมมองชีวิตของผมเปลี่ยนแปลงไปมากเลยทีเดียว

หลังจากที่อาจารย์หมดวาระและภาระจากการเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ท่านก็กลับมาเป็นอาจารย์ธรรมดาในภาควิชา สอนหนังสือ ตรวจคนไข้ ผ่าตัด และทำคลอด นัยว่าเป็นการได้พักสมองหลังจากทำงานบริหารมานานนับสิบปี แต่นั่นก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวของการพักงานบริหาร เพราะอาจารย์ถูกคัดเลือกแกมขอร้องให้เป็นหัวหน้าภาควิชาสูติฯ เนื่องจากท่านอาจารย์วีระพลซึ่งกำลังเป็นหัวหน้าภาควิชาในสมัยนั้น ถูกเรียกตัวให้ไปช่วยเป็นรองคณบดีฝ่ายวิจัยของคณะแพทย์ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานของผมร่วมกับอาจารย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ผมเข้ามารับตำแหน่งรองหัวหน้าภาควิชาในตำแหน่งรองด้านบริการ ซึ่งตัวเองก็ไม่เข้าใจหรอก ว่ามันต้องทำงานอะไร มากแค่ไหน รู้แต่ว่าคงทำได้หากมีอาจารย์เป็นครู เพราะเรารู้กันว่า อาจารย์เก่ง สามารถทำให้โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้รับการประเมินผ่าน HA ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของประเทศไทยที่ผ่านการประเมินนี้ ผมคิดแค่นี้จริงๆครับ

“แป๊ะ ไปพบอาจารย์ธาดากับผม” อาจารย์เรียกผมเพื่อจะไปคุยกับอาจารย์ธาดา ยิบอินซอย อดีตคณบดีซึ่งยังคงทำงานอยู่ที่คณะแพทย์ของเราในขณะนั้น ในห้องทำงานศึ่งเต็มไปด้วยเอกสารต่างๆมากมาย ท่านอาจารย์ธาดาได้มานั่งคุยด้วยและถามอาจารย์สุธรรมว่า “คนท้องที่ตายในพื้นที่ภาคใต้นั้น เป็นความรับผิดชอบของเราไหม” คำถามนี้เกิดขึ้นในราวช่วงปี พ.ศ. 2552 (อาจจะคลาดเคลื่อนได้นะครับ กรุณาอย่าเอาไปอ้างอิงเชียว) ซึ่งปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญขณะนั้นคือ การตายของสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะเขตสงขลาและใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ที่มีการตายเพราะการตั้งครรภ์สูงที่สุด ไม่ว่าจะเกิดจากการตกเลือด ครรภ์เป็นพิษ ตายจากโรคหัวใจ หรือกระทั่งการตายจากโรคแปลกๆที่มากำเริบในช่วงตั้งครรภ์เราก็มาต้องมาเจอกับคนใต้ตั้งครรภ์ของเรา น่าสนใจนะครับ แต่พวกเราคงทำงานกันจนเพลิน เมื่อมีคนท้องเสียชีวิตสักรายหนึ่งก็มานั่งประชุมเรียนรู้กัน ว่าตายเพราะสาเหตุใด ป้องกันได้ไหม โดยที่ไม่ได้คิดเลยไปกว่าการเป็นหมออยู่ในโรงเรียนแพทย์แห่งสงขลานครินทร์ที่ว่าเราเป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อ การรับผู้ป่วยที่อาการหนักมากๆมารักษาเป็นหน้าที่หลักของเรา และไม่น่าแปลกใจที่การตายจะเกิดขึ้นที่เรามากกว่าที่อื่นๆ

เมื่ออาจารย์ธาดาถามว่าเราต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบนั้นหรือไม่ อาจารย์สุธรรมจึงเข้าใจในทันที (ซึ่งต่างจากผม ที่มาเริ่มเข้าใจก็เมื่ออาจารย์ธาดาท่านจากไปแล้ว)

งานใหญ่อยู่ข้างหน้า ก็คือการลดการตายในหญิงตั้งครรภ์ของคนใต้เรา คนท้องที่นราธิวาส ปัตตานี ยะลา หรือกระทั่งในจังหวัดสงขลาตาย ก็เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ถึงแม้มาตายที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ เราก็จะร่วมรับผิดชอบไปด้วยกัน เมื่อคิดได้เช่นนั้นอาจารย์สุธรรมจึงนำเรื่องนี้ไปร่วมประชุมในกรรมการแม่และเด็กของจังหวัด หรือที่เรียกกันติดปากว่า MCH board และตกลงกันในหลักการว่า ม.อ. หาดใหญ่ และโรงพยาบาลสงขลา จะร่วมมือกันดูแลผู้ป่วยตั้งครรภ์ในจังหวัดให้เป็นเครือข่ายเดียวกัน ม.อ.จะรับดูแลผู้ป่วยที่มาจากอำเภอจะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย โรงพยาบาลหาดใหญ่รับดูแลในเขตที่วิ่งไปตามถนนเพชรเกษมและสะเดา ส่วนโรงพยาบาลสงขลาดูแลเขตที่วิ่งไปทางชายทะเล แล้วเราก็เร่งพัฒนาโรงพยาบาลลูกข่ายโดยการจัดประชุม อบรมวิชาการ และมาคุยกันใน MCH board และนำมาคุยกันในภาควิชา เราทำความเข้าใจกันว่า “เราจำทำงานนี้เพื่ออะไร เพื่อใคร และเราอาจจะต้องเหนื่อยกันมากกว่าเดิม” เมื่ออาจารย์ในภาควิชาเห็นด้วย งานจึงเริ่มเดินหน้า โดยมีหลักยืนเพียงไม่กี่ข้อ นั่นคือ โรคที่ไม่ควรตายต้องไม่ตาย ใครเป็นโรคที่ไม่ควรท้องต้องไม่ท้อง และการส่งต่อต้องเกิดขึ้นเร็วที่สุด

ผมจำได้ว่า ในการประชุมครั้งหนึ่ง อาจารย์สุธรรมบอกว่า เครื่องตรวจอัลตร้าซาวนด์ที่มีอยู่ทุกโรงพยาบาลควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางสูติกรรมให้มากๆ เราจะสอนหมอทุกโรงพยาบาลชุมชนให้ใช้เครื่องมือนี้ตรวจคนท้องให้เป็น ตอนนั้นก็มีพยาบาลท่านหนึ่งเสนอว่า ทำไมไม่สอนพยาบาลล่ะ เพราะหมอย้ายบ่อย เริ่มทำเป็นก็ไปเสียแล้ว พยาบาลเสียอีกที่อยู่แล้วอยู่เลย และคนทำงานด้านการฝากครรภ์หลักๆในโณงพยาบาลชุมชนก็คือพยาบาลนั่นแหละ เพียงเท่านี้ก็เข้าใจกัน สานต่อแนวความคิดจากพยาบาลท่านนั้น อาจารย์สุธรรมจึงตกลงกับในที่ประชุมว่า “เราจะสอนพยาบาลทำอัลตราซาวนด์คนท้อง โดยทำเรื่องพื้นฐานให้ดี คือ ตรวจอายุครรภ์ ดูว่าทารกนอนอยู่ในท่าอะไร และรกอยู่ตรงไหน”

การตรวจอายุครรภ์มีความสำคัญ เพราะการดูแลคนท้องนั้น อายุครรภ์ที่แน่นอนมีความสำคัญมาก จะส่งไปนัดผ่าท้องคลอดก็จะไม่เครียด แม่เกิดโรครุนแรง เราก็สามารถเตรียมรับมือกับทารกแรกเกิดที่ทราบอายุครรภ์ที่แน่นอนได้ดีกว่า เรื่องการนอนของเด็กก็สำคัญและตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ได้ง่ายมาก ทารกท่าก้น ท่าขวางก็จะได้รีบส่งต่อก่อนที่จะเจ็บครรภ์จริง ไม่ใช่ส่งมาตอนที่ก้นกำลังผลุบๆโผล่ๆ ซึ่งแบบนั้นทำให้เครียดกันทั้งคนไข้ คนส่ง และคนรับดูแล ส่วนเรื่องตำแหน่งของรกก็เช่นเดียวกัน หากคนท้องมีเลือดออกก็จะได้รีบดูว่ามีรกเกาะต่ำหรือไม่ จะได้ไม่ต้องตรวจภายในและรีบส่งต่อเช่นเดียวกัน

เพียงเรื่องการส่งต่อในจังหวัดสงขลา ก็ทำให้เราทำงานเพิ่มขึ้นและหนักขึ้นอย่างมาก แต่สิ่งที่ปรากฏก็คือ ความร่วมมือร่วมใจของคนทำงานในเครือข่าย และประโยชน์ที่ตกกับคนไข้ ตอนนั้นมันสนุกมาก สนุกจริงๆ ใครมาเรียนสาขาสูติศาสตร์ที่นี่รับรองว่าเก่ง และผมจึงได้เรียนรู้ว่า เราต้องทำงานร่วมกัน เราต้องเป็นเครือข่าย เป็นเพื่อนกัน การพัฒนาไปด้วยกันเรียนรู้ร่วมกัน เก่งไปด้วยกัน คือหลักในการทำงานอันหนึ่งของอาจารย์สุธรรม

การทำงานที่คำนึงถึงเครือข่ายมีความเด่นชัดขึ้นมากเมื่ออาจารย์ขึ้นมาเป็นคณบดี นั่นไม่ใช่อาจารย์มีความเด่นชัด แต่ผมต่างหากที่เข้าใจได้เด่นชัด

อาจารย์พูดเสมอว่า “เราอยู่เพียงลำพังไม่ได้” การมีเพื่อนมีประโยชน์หลายอย่าง เพื่อนที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อนที่คอยสนับสนุนกัน งานชิ้นแรกๆที่คณบดีสุธรรมมีดำริให้ทำเป็นเรื่องเร่งด่วนก็คือการจัดให้มีสิทธิในการเข้ารับการลงทะเบียนเพื่อการรักษาพยาบาลสำหรับบุคลากรทุกคนที่ทำงานในมหาวิทยาลัยรวมถึงญาติสายตรง อาจารย์พูดเสมอว่า “คนในมหาวิทยาลัย เมื่อมีอาการเจ็บป่วย ต้องมารับการรักษาที่เรา” นอกจากนั้นอาจารย์ยังสนับสนุนการสร้างเครือข่ายกับชุมชนโดยรอบวิทยาเขต นั่นคือชุมชนคอหงส์ ครั้งหนึ่งในการประชุมร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลกับเทศบาลคอหงส์ อาจารย์ได้กล่าวในที่ประชุมว่า “หากเราร่วมมือกันทำงาน จุดมุ่งหมายที่สำคัญคือประชาชนในชุมชนคอหงส์ หากเจ็บป่วย ต้องได้รับการรักษา ต้องไม่ป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ และร่วมกันส่งเสริมสุขภาพ” งานที่เกิดเป็นรูปธรรมก็คือ แผนงานในการร่วมกับทางเทศบาลเพื่อพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขในชุมชนบ้านปลักธง การออกตรวจของแพทย์และการเตรียมการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาแพทย์เพื่อเรียนรู้ระบบสุขภาพชุมชน อาจารย์ยังย้ำเสมอว่า การทำงานเช่นนี้ หากจะให้เกิดความยั่งยืนจะต้องยึดหลักการ “work with ไม่ใช่ work for” งานลักษณะนี้เมื่อเจ้าของพื้นที่เขาร่วมมือกันพัฒนา ประโยชน์ก็จะเกิดทั้งคนทำงานและประชาชน คนทำงานได้ทำในสิ่งที่อยากทำ เทศบาลได้ทำประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ของเขา โรงพยาบาลได้สถานที่เปิดบริการ นักเรียนได้เรียน ได้ทำงานวิจัยชุมชน ได้ร่วมกันออกแบบรูปแบบบริการ และที่สำคัญ ประชาชนได้รับการบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานอย่างดีด้วยระบบของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ที่ถูกปรับแต่งให้เข้ากับบริบทของชุมชน

อาจารย์ขยายใจความเรื่องชุมชนของเราให้ผมฟังหลังเลิกจากงานบายศรีสู่ขวัญในปีหนึ่งว่า ชุมชนกับเรา (หมายถึงมหาวิทยาลัย) แยกกันไม่ออก มันเป็นสัมพันธภาพที่บรรพบุรุษเราโปรยทางเอาไว้เป็นอย่างดีแล้ว เพราะมีชุมชน วิทยาเขตจึงถูกจัดตั้งขึ้นมาได้ และเพราะมีวิทยาเขต ชุมชนจึงเจริญได้อย่างรวดเร็ว มันเกื้อหนุนซึ่งกันและกันอยู่ในที ดังนั้น เราต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ชี้นำสังคม เพราะนี่เป็นชุมชนของเรา เป็นบ้านของเรานั่นเอง

“เคร่งครัดที่ตน ผ่อนปรนที่คนอื่น”

อาจารย์พูดวลีนี้ให้ฟังตั้งแต่เมื่อครั้งผมเป็นรองหัวหน้าภาควิชาฯ อาจารย์ถามว่า “เข้าใจไหม” ผมยิ้มแทนการตอบคำถามออกมาเป็นคำพูด และพยายามจะเข้าใจว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น

ความเคร่งครัดที่ตน คือการยึดมั่นในกฏระเบียบ การเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติที่ดี สิ่งนี้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดตั้งแต่อาจารย์เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล นั่นคือ “ความซื่อสัตย์” อาจารย์ขึ้นชื่อเรื่องความซื่อสัตย์ ตรงเผง เราจะไม่เคยได้ยินเรื่องเสื่อมเสียประเภทนี้เลย ว่ากันว่าในสมัยนั้น อาจารย์จะไม่เปิดโอกาสให้ผู้แทนยาหรือร้านค้าต่างๆเข้าพบเป็นการส่วนตัว การเข้าพบอาจารย์ทุกครั้งจะต้องมีบุคคลที่สามของโรงพยาบาลมาร่วมนั่งฟังการสนทนาด้วยเสมอ เพื่อไม่เปิดโอกาสให้คู่ค้าของโรงพยาบาลเสนอสิ่งตอบแทนเข้ามา และหากได้มาก็ต้องเป็นของส่วนกลาง

เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าภาควิชาฯโดยมีผมเป็นรองด้านบริการ วันหนึ่งผมได้มีนัดทานข้าวเที่ยงกับผู้แทนยาที่รู้จักสนิทสนมกันมานาน ทันที่ที่อาจารย์ทราบ ท่านก็โทรศัพท์เรียกผมให้ไปทานข้าวกับท่านแทนโดยไม่อนุญาตให้ผมปฏิเสธ “เป็นผู้บริหารแล้ว ไม่ควรไปกินข้าวกับผู้แทนยา” ผมก็แย้งไปว่า “ผมกับพี่เขาสนิทกันมาก และเราก็ผลัดกันเลี้ยง ผมไม่เคยให้ผู้แทนยาเลี้ยงทุกมื้อหรอกครับ” อาจารย์ก็พูดต่อว่า “คนอื่นเขาไม่รู้หรอกว่าใครจ่ายใครเลี้ยง เขามีสิทธิที่จะมองว่าแป๊ะได้ประโยชน์จากการไปกินข้าวกับเขา แล้วในฐานะผู้บริหาร แป๊ะต้องใส่ใจและคิดให้มากในเรื่องแบบนี้ เวลาเกิดเรื่องครหานินทา เราอาจจะไม่มีโอกาสพูดเลย เพราะคนอื่นจะหาว่าเราแก้ตัว” และตั้งแต่นั้นมา ผมก็ไม่เคยได้ไปทานอาหารกับผู้แทนยากันสองต่อสองอีกเลย

ความเคร่งครัดของหัวหน้าภาควิชาชื่อสุธรรมอีกเรื่องก็คือ การที่อาจารย์ต้องพาเหล่าบรรดาแพทย์ใช้ทุนและแพทย์ประจำบ้านไปทานอาหารเย็นในช่วงที่ไปร่วมงานประชุมประจำปีของราชวิทยาลัยสูติฯที่จัดนอกกรุงเทพฯในวันที่ที่ประชุมไม่ได้จัดเลี้ยงมื้อเย็น ซึ่งโดยปกติแล้ว บริษัทยาค่ายต่างๆจะพาผู้ร่วมประชุมไปทานอาหารเย็นนอกโรงแรม เรื่องนี้อาจารย์ก็คงรู้สึกไม่เห็นด้วยนัก จึงพาลูกศิษย์ไปกินกันเอง ครั้งไหนที่อาจารย์ไม่ได้ไปด้วยก็จะมีเสียงสั่งการ “จิน พาเด็กๆไปกินข้าวมื้อเย็น อย่าให้เด็กๆต้องไปกินกับผู้แทนยา” เอาเข้าไปนั่น

นอกจากเรื่องการเลี้ยงข้าว ความเคร่งครัดอีกประการก็คือความซื่อสัตย์

ครั้งหนึ่ง ในฐานะของการเป็นคณบดี ตำแหน่งหัวโต๊ะที่คุมการประชุมระหว่างคณะแพทย์ที่ว่าจ้างสร้างอาคารศูนย์การศึกษาและบริการวิชาการ ในงบประมาณกว่า 500 ล้านบาท ผมได้มีโอกาสนั่งสังเกตการณ์อยู่ที่ประชุมนั้นด้วย คณบดีสุธรรมได้กล่าวว่า “ภายใต้ร่มพระนาม สงขลานครินทร์ เรามีความโปร่งใส ตรงไปตรงมาและสุจริต มิให้มีการกระทำใดๆที่จะก่อให้เกิดการทุจริตขึ้น หากคนของคณะแพทย์มีพฤติกรรมที่จะเรียกสินบน หรือจงใจดึงเรื่องไว้ให้ล่าช้าด้วย้จตนาไม่ดี ให้รีบแจ้งคณบดี และคนของทีมก่อสร้างเองก็ห้ามมาชักชวนให้คนของคณะแพทย์มีเจตนาไม่ดีด้วยเช่นกัน” และท้ายที่สุกของการประชุมในวันนั้น ท่านได้กล่าวปิดท้ายโดยมีสาระที่สำคัญคือ “อยากให้ทุกคนในที่ประชุมได้ตระหนักว่า สิ่งก่อสร้างที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เป็นอาคารสาธารณะ ใช้รักษาคนไข้ ใช้เป็นสถานที่เรียน เป็นสถานที่ที่จะสร้างให้คนมาเป็นหมอเพื่อออกมาสร้างประโยชน์ให้สังคมอีกต่อหนึ่ง คนรุ่นต่อไปจะเป็นผู้มาดูแลสุขภาพของพวกเราและสังคม ดังนั้นการก่อสร้างนี้เป็นงานกุศล ขอให้เรามาร่วมกันสร้างกุศล ผ่านไป 20 ปี 50 ปี (เอ่อ..ถ้าหากพูดกันถึงอีก 50 ปีข้างหน้านี้ ธนพันธ์คงตายไปแล้ว) เราจะมีความภูมิใจกับสิ่งที่เราทำ

ความผ่อนปรนที่คนอื่น มิได้หมายถึงไม่ได้ใส่ใจในกฎระเบียบ แต่อาจารย์สอนผมว่า หากเราประพฤติตนเช่นใดที่คิดว่าดี ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปบังคับหรือคาดหวังให้คนอื่นทำตามเรา การเป็นแบบอย่างไม่จำเป็นต้องลงท้ายด้วยการที่จะมีคนทำตามเราทั้งหมด คณบดีนั่งเครื่องบิน low cost ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่า คนทั้งคณะต้องมานั่งสายการบินต้นทุนต่ำ คณบดีประหยัดก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องประหยัดตาม แต่การไม่ต้องทำตามก็ไม่ได้หมายถึงการหย่อนหรือกระทำผิดระเบียบและไม่ทุจริต

อาจารย์สุธรรมทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไปมาก

ผมต้องรีบหาซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้าน เพราะในช่วงปีใหม่ปีหนึ่ง เราไปฉลองกันที่บ้านอาจารย์ บ้านหลังใหญ่โต แต่สร้างเพื่ออยู่คนเดียว เพราะตัดสินใจสร้างบ้านเมื่อลูกๆเริ่มโต ครั้นเมื่อย้ายออกมาจากบ้านพักหลวง ลูกๆก็ย้ายไปเรียนที่กรุงเทพฯกันจนหมดสิ้น ครั้งนั้นผมก็มองหน้าเมียแล้วถามว่า เราอยากให้ลูกเป็นเจ้าของบ้านหลวงซึ่งต้องให้คนอื่นอยู่ต่อเมื่อพ่อเกษียณ หรือให้มันมีบ้านของตัวเอง มีบ้านให้กลับมาเยี่ยมตายายเมื่อถึงคราวเทศกาลหยุดยาว คิดได้ดั่งนั้นจึงรีบสร้างบ้านและย้ายตัวเองออกมาจากบ้านหลวงทันที

ผมต้องมาเป็นรองหัวหน้าภาควิชา ชีวิตเปลี่ยนไปจากที่ทำแต่งานรักษาคนไข้และสอนหนังสือนักเรียนแพทย์ เป็นต้องทำงานประสานงานกับคนอื่นมากมาย พยาบาลทั้งตึก หมอภาควิชาอื่น หมอโรงพยาบาลอื่นๆ ซ้ำยังต้องมานั่งเป็นประธานการประชุมของภาควิชาฯสลับกับรองจินและรองดิ๊ก นัยว่าเป็นการฝึกไว้เพื่อที่จะนำประชุมแทนกันได้ งานนี้ทำเอาเครียดเพราะคนนั่งประชุมเกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นอาจารย์ของผมเอง

ผมต้องมาเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาล งานที่คิดเอาไว้ตลอดว่า อย่างไรเสียจะไม่ยอมมาทำงานในตำแหน่งบริหารเฉกเช่นนี้เป็นอันขาด แต่ก็คงเป็นอย่างที่โบราณว่าไว้ อย่าไม่อยาก อย่าไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ผมก็มาเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจนได้ งานนี้คงไม่ต้องขยายเพิ่มเติมว่าชีวิตผมเปลี่ยนไปมากขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครบอกว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งไม่ดี เพราะอย่างน้อยขณะนี้ผมก็ยังผ่าท้องคลอดและเย็บมดลูกโดยใช้ไหมเพียงเส้นเดียว ผมใช้กรรไกรผ่าตัดมากกว่าใช้จี้ไฟฟ้า ผมปิดแอร์ปิดไฟก่อนออกจากห้องทำงาน ผมดื่มชาจีนร้อนๆขณะนั่งทำงาน และในทางกลับกัน สิ่งที่ผมยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางที่อาจารย์ต้องการได้ก็คือ การคิดอย่างเป็นระบบ มองอนาคตให้เป็น เห็นทุกอย่างเป็นงานคุณภาพ

นี่ผมเดินมาไกลเท่าไหร่แล้ว หากจะนับตั้งแต่ก้าวแรกที่ออกมาจากบ้าน เรียนมาจนจบเป็นสูตินรีแพทย์ เลือกที่จะเป็นอาจารย์ต่อในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ คงจะปฏิเสธไม่ได้เลย ว่าเบ้าพิมพ์ที่หล่อหลอมผมมานั้น ส่วนหนึ่งได้มาจาก “สุธรรม ปิ่นเจริญ”

หมายเลขบันทึก: 577587เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2014 19:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2014 19:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท