LOR นิเทศแบบลงแขก


การพัฒนาผลสัมฤทธิ์โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาโดยใช้เครือข่ายการนิเทศ ด้วยรูปแบบ LOR (การนิเทศแบบลงแขก) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 มีโรงเรียนในสังกัด จำนวน 128 โรงเรียน เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 14 โรงเรียน จากผลการทดสอบการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับชาติระดับมัธยมศึกษาตอนต้น พบว่า ผลสัมฤทธิ์ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ปีการศึกษา 2555 มีค่าเฉลี่ยร้อย 38.18 และปีการศึกษา 2556 ลดลงมีค่าเฉลี่ยร้อยละ 36.03 ทุกรายวิชามีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 40 ยกเว้นวิชาสุขศึกษาพลศึกษาที่สูงกว่าร้อยละ 50 ซึ่งอยู่ในระดับที่ไม่น่าพึงพอใจ และศึกษานิเทศก์ที่ทำการนิเทศมีเพียง 14 ที่ต้องนิเทศครูทั้งระดับปฐมวัย ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ทำให้การนิเทศไม่ทั่วถึงไม่ต่อเนื่อง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 จึงได้ประกาศให้ “ปี 2556-2557 เป็นปีแห่งการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเพื่อสร้างและเตรียมอนาคตผู้เรียน” โดยเน้น 3 คุณภาพ คือ ครูคุณภาพ ชั่วโมงคุณภาพ และนักเรียนคุณภาพ การขับเคลื่อนให้เกิดทั้งสามคุณภาพจะใช้กระบวนการ 3 ห่วงคุณภาพ คือ กระบวนการเรียนการสอน กระบวนการบริหารและกระบวนการนิเทศ สำหรับกระบวนการนิเทศ เน้นการที่เทศโดยใช้เครือข่ายจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 และ 2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอ่างทอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 1 ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกษียณอายุราชการ มาเป็นเครือข่ายการนิเทศให้ทั่วถึง เพื่อให้เกิดครูคุณภาพ ชั่วโมงคุณภาพ ที่จะส่งผลต่อนักเรียนคุณภาพต่อไป จึงได้กำหนดครูเป้าหมายในการนิเทศครั้งนี้ 109 คน แบ่งสายการนิเทศจำนวน 14 คน สายเท่ากับจำนวนโรงเรียน โดยผู้นิเทศ 1 คน จะรับผิดชอบครูผู้รับการนิเทศ 2-3 คน ดำเนินการนิเทศวันที่ 22-23 กันยายน 2557 โดยใช้รูปแบบ LOR (L: Lesson Study O:Open Approach R:Reflective Coaching) ที่เน้นการสังเกตการสอนในห้องเรียนเป็นหลัก

1. วัตถุประสงค์การนิเทศเพื่อ

1. พัฒนาการจัดการเรียนรู้ของครู ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยใช้รูปแบบ LOR

(L: Lesson Study O:Open Approach R:Reflective Coaching)

2. สะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ของครู ที่ผลส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียน

2. เป้าหมายการนิเทศ

1. ครูระดับมัธยมศึกษาตอนต้นทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ จำนวน 109 คน

2. เครือข่ายการนิเทศ ประกอบด้วย

2.1 รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 จำนวน 2 คน

2.2 ศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 จำนวน 14 คน

2.3 ศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 จำนวน 3 คน

2.4 ศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 2 จำนวน 2 คน

2.5 ศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอ่างทอง จำนวน 3 คน

2.6 ศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 1 จำนวน 1 คน

2.7 ข้าราชการบำนาญ จำนวน 16 คน

3. วิธีดำเนินการ

1. กำหนดรูปแบบการนิเทศ LOR (L: Lesson Study O: Open Approach R:Reflective Coaching)

2. ประชุมปฏิบัติการนิเทศเครือข่ายการนิเทศ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในรูปแบบ และวิธีการนิเทศ และเครื่องมือการนิเทศ

3. ปฏิบัติการนิเทศ ตามรูปแบบการนิเทศ 3 ขั้น ดังนี้

ขั้นที่ 1 การนิเทศก่อนการจัดการเรียนรู้

1.1 ผู้นิเทศพบผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้รับการนิเทศทุกคน แนะนำผู้นิเทศทุกคนและชี้แจงให้ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้รับการนิเทศเข้าใจถึงวัตถุประสงค์การนิเทศครั้งนี้ว่า เพื่อช่วยเหลือการปรับปรุงการเรียนการสอนที่ส่งผลต่อคุณภาพนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่เน้น จุดประกายขายความคิด ขยาย/ต่อยอดความคิด กระตุ้น ถามหา ยั่วยุ ท้าทาย ยกย่อง ชมเชย ให้กำลังใจ/สร้างแรงบันดาลใจ ตอบด้วยคำถาม เพื่อให้สามารถคิดเองได้ ไม่สั่ง ไม่สอนและใช่เป็นการจับผิด

1.2 ครูผู้รับการนิเทศและผู้นิเทศ ศึกษาและสนทนาเกี่ยวกับแผนการจัดการเรียนรู้ที่จะให้สังเกตการจัดการเรียนรู้ครั้งนี้ ร่วมกัน

ขั้นที่ 2 การนิเทศระหว่างการจัดการเรียนรู้ ที่ใช้วิธีแบบเปิด (O:Open Approach)

ผู้นิเทศ สังเกตการจัดการเรียนรู้ของครูผู้รับการนิเทศ ตามแผนฯที่กำหนด ที่เน้นการจัดการเรียนรู้ โดยใช้วิธีแบบเปิด (O:Open Approach) ตามขั้นตอน 4 ขั้น ต่อไปนี้

2.1 ขั้นนำเสนอสถานการณ์/คำถาม/ปัญหาปลายเปิด

2.2 ขั้นการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียน

2.3 ขั้นอภิปรายและเปรียบเทียบแนวคิดของนักเรียน

2.4 ขั้นสรุปโดยเชื่อมโยงแนวคิดของนักเรียน

ขั้นที่ 3 การนิเทศหลังการจัดการเรียนรู้ เน้นการสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ (Reflective Coaching)

3.1 ครูผู้รับการนิเทศสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ (Reflective Coaching) เป็นผู้สะท้อนคนแรก โดยสะท้อนตามประเด็น ต่อไปนี้

3.1.1 วิเคราะห์การจัดการเรียนการสอนครั้งนี้ว่าบรรลุตามจุดประสงค์การเรียนรู้หรือไม่ เพราะเหตุใด

3.1.2 พฤติกรรมการเรียนรู้หรือแนวคิดของนักเรียนที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน มีแนวคิดใดบ้าง และได้รับการบริหารจัดการจากครูอย่างทั่วถึงหรือไม่ อย่างไร

3.1.3 พฤติกรรมการสอนของครู การใช้สื่อการสอน และการวัดและประเมินผลเป็นอย่างไร

3.1.4 จุดเด่นของการจัดการเรียนการสอนครั้งนี้ มีหรือไม่ อย่างไร

3.1.5 ระบุประเด็นปัญหา ที่เป็นจุดควรพัฒนาการจัดการเรียนการสอนครั้งนี้ มีหรือไม่ พร้อมเสนอแนะแนวทางต่อยอดการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ในครั้งต่อไป

3.2 ผู้นิเทศเป็นผู้สะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ (Reflective Coaching) โดยเน้นการเสริมแรงเชิงบวกและต่อยอดจากการสะท้อนของครูผู้รับการนิเทศ ตามประเด็นการสะท้อน ดังนี้

3.2.1 วิเคราะห์การจัดการเรียนการสอนครั้งนี้ว่าบรรลุตามจุดประสงค์การเรียนรู้หรือไม่ เพราะเหตุใด

3.2.2 พฤติกรรมการเรียนรู้หรือแนวคิดของนักเรียนที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน มีแนวคิดใดบ้าง และได้รับการบริหารจัดการจากครูอย่างทั่วถึงหรือไม่ อย่างไร

3.2.3 พฤติกรรมการสอนของครู การใช้สื่อการสอน และการวัดและประเมินผลเป็นอย่างไร

3.2.4 จุดเด่นของการจัดการเรียนการสอนครั้งนี้ มีหรือไม่ อย่างไร

3.2.5 ระบุประเด็นปัญหา ที่เป็นจุดควรพัฒนาการจัดการเรียนการสอนครั้งนี้ มีหรือไม่ พร้อมเสนอแนะแนวทางต่อยอดการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ในครั้งต่อไป

3.3 ผู้นิเทศบันทึกผล ตามแบบบันทึกการนิเทศ

3.4 ผู้นิเทศบันทึกสมุดนิเทศของโรงเรียนที่รับการนิเทศ

4. ประชุมปฏิบัติการสรุปผลการนิเทศ

หมายเลขบันทึก: 576649เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2014 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2014 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท