หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : การต่อยอดสู่เวทีโครงการรากแก้ว


ถือเป็นปรากฎการณ์ความสำเร็จเล็กๆ ที่ชี้ชัดว่าการทำงานโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน มิได้เกิดดอกผลแต่เฉพาะมิติทางการศึกษาที่ผู้เรียนและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้รับประโยชน์เท่านั้น หากแต่ท้องถิ่นและชุมชนยังได้รับประโยชน์ร่วมอย่างไม่ต้องสงสัย -ประโยชน์ที่ว่าด้วยความรู้ ประโยชน์ที่ว่าด้วยงบประมาณ ประโยชน์ที่ว่าด้วยศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของชุมชน

ทำงานบริการวิชาการในชื่อโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนมาร่วม ๓ ปี มีคำถามมากมายอยู่ไม่น้อยว่าทำแล้วได้อะไร และสิ่งที่ทำก่อเกิดเป็นมรรคผลอย่างไร-


โดยส่วนตัวผมก็ตอบง่ายๆ ไปประมาณว่า “...ได้เรียนรู้...ได้เรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเอง และได้เรียนรู้วิธีอันเป็นระบบและกลในการบูรณาการความรู้จากมหาวิทยาลัยให้เข้ากับความรู้ของชาวบ้าน เพื่อพัฒนาชุมชนและปฏิรูปการเรียนรู้บนฐานคิดของการมีส่วนร่วม...”

หรือถ้าไม่นับว่าโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนมีผลกระทบต่อผู้เรียน อาจารย์และชุมชนอย่างไร ผมก็พอที่จะบอกกล่าวได้ว่าในแง่มุมของโครงการฯ นั้น ได้รับการพัฒนาต่อยอดไปสู่การเรียนรู้อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง มิใช่ทำเสร็จสิ้นปีงบประมาณแล้ว ก็เงียบหาย หรือยุติบทบาทลง ทิ้งการเรียนรู้ให้เป็นประหนึ่งสายลมแสงแดด หรือสุญญากาศ -




ในรอบเกือบๆ จะ ๓ ปีมานี้ ผมและทีมงาน ซึ่งหมายถึงคณะกรรมการในระดับมหาวิทยาลัย ได้ประเมินผลการดำเนินงานของแต่ละโครงการ หรือแต่ละหลักสูตร เพื่อนำไปสู่การขยายผลอย่างสร้างสรรค์ในมิติต่างๆ เป็นต้นว่า

  • คัดเลือกโครงการจากงานบริการวิชาการไปสู่การเป็นงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น)
  • คัดเลือกไปสู่การเป็นงานวิจัยเพื่อชุมชน (งบประมาณจากมหาวิทยาลัยฯ)
  • ผลักดันเข้าสู่แผนพัฒนาจังหวัด
  • หนุนเสริมเข้าสู่โครงการของภาครัฐและเอกชนอื่นๆ
  • ฯลฯ



ทั้งปวงนั้นล้วนแล้วแต่เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการเรียนรู้ไม่เคยหยุดนิ่ง มีการกระทำซ้ำต่อเนื่องทั้งในพื้นที่เดิมและพื้นที่ใหม่ มีการขับเคลื่อนในมิติเชิงลึกมากขึ้น พร้อมๆ กับการขยับตัวเป็น "โมเดล" (ต้นแบบ) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสาธารณะ และนั่นยังรวมถึงการขยับเข้าสู่การได้รับงบประมาณสนับสนุนให้กลับมาทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนอีกครรรบหนึ่ง

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปรากฎการณ์ความสำเร็จเล็กๆ ที่ชี้ชัดว่าการทำงานโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน มิได้เกิดดอกผลแต่เฉพาะมิติทางการศึกษาที่ผู้เรียนและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้รับประโยชน์เท่านั้น  หากแต่ท้องถิ่นและชุมชนยังได้รับประโยชน์ร่วมอย่างไม่ต้องสงสัย -ประโยชน์ที่ว่าด้วยความรู้  ประโยชน์ที่ว่าด้วยงบประมาณ  ประโยชน์ที่ว่าด้วยศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของชุมชน ฯลฯ



เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ทั้งผมและทีมงานได้พิจารณาคัดกรองโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน จำนวน ๓ โครงการเข้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับมูลนิธิรากแก้ว (โครงการรากแก้ว) ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งเสริมโครงการ หรือกิจกรรมของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศไทยที่มีปณิธานต่อการรับใช้สังคม (จิตอาสา) บนฐานของนิสิตร่วมคิดร่วมทำกับชาวบ้าน และเห็นผลการเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ในมิติต่างๆ ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

ผลของการพิจารณาจากเวทีดังกล่าว โครงการจากมหาวิทยาลัยฯ ผ่านคัดเลือกเข้าสู่ทำเนียบ ๒ โครงการ นั่นก็คือโครงการศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะ (คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์) และโครงการทำนาแบบโยนกล้า (นาโยน) ของคณะวิทยาศาสตร์


กรณีโครงการศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการขยะ ซึ่งดำเนินการโดย ผศ.ดร.สุนันทา เลาวัณย์ศิริและคณะจากหลักสูตรการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร (คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์) ณ ชุมชนบ้านส่องเหนือ ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 8 โครงการรากแก้ว ประจำปี 2556 และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน): East Water จำนวน 50,000 บาทเพื่อสมทบกระบวนการเรียนรู้คู่บริการระหว่างนิสิตกับชุมชนต่อไป



ส่วนโครงการ "โยนกล้า" (นาโยน) ของสาขาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ที่ดำเนินการ ณ ชุมชนบ้านห้วยชัน ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ได้รับพิจารณาเป็นหนึ่งในทำเนียบโครงการรากแก้ว (Project Directory 2014) ในกลุ่มสังคม เกษตร และเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมี ผศ.ดร.มัณฑนา นครเรียบเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ

ครับ-นี่คือความสำเร็จเล็กๆ ของโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนที่เป็นเสมือนการผลิบานของดอกไม้ และเป็นการผลิบานเพื่อสาธารณะ หาใช่ผลิบานเพื่อคนใดคนหนึ่ง

ไม่ใช่ความสำเร็จที่วัดค่าด้วยรางวัลอันเป็นเงินทอง หากแต่เป็นความสำเร็จที่ทำให้เรามีพื้นที่ในการสื่อสารพลังทางความคิดอย่างกว้างไกล ขณะเดียวกันก็ได้ร่วมเรียนรู้กับกัลยาณมิตรอื่นๆ ก่อเกิดเป็นโครงข่ายพลังแห่งการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันอย่างมหัศจรรย์

ไว้ในโอกาสหน้าจะมาเหล่าถึงความสำเร็จของโครงการฯ อื่นๆ อีกนะครับ เพราะยังมีอีกหลายโครงการที่ถูกนำไปขยายผลต่อสังคมอย่างน่าชื่นใจ ซึ่งล้วนแล้วแต่สามารถตอบโจทย์ของ "การศึกษาเพื่อการรับใช้สังคม" ได้อย่างไม่กังขาเลยทีเดียว




หมายเลขบันทึก: 576441เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2014 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2014 16:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ครับ พี่ แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

หนังสือที่ว่านี้ เล่มนี้คือจดหมายข่าวของมูลนิธิรากแก้ว ครับ
ผมไม่แน่ใจว่ามีระบบ e-book  ให้ดาวน์โหลดได้หรือเปล่า
แต่ถ้าเป็นจดหมายข่าวที่ผมและน้องๆ ทำ สามารถดาวน์โหลดได้ตามลิงก์ข้างล่างครับ
http://www.sa.msu.ac.th/onecommunitymsuE-books/NEWS-1/JOD-004.html

จากกระบวนการ  ผลลัพธ์  พัฒนาต่ออีก  ๑ , ๒ , ๓ , ...

คน คือ รากแก้ว   สำคัญ  ทั้งนิสิต  และ คนในชุมชนนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ

.ใช่ครับ พี่หมอ ธิรัมภา

เราพูดกันชัดมากในเวทีล่าสุดว่า คนคือรากแก้ว...
และกิจกรรมที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์  ต้องอยู่บนบริบทของชุมชน หรือการผสมผสานกับศาสตร์ของสถานศึกษา...

การทำกิจกรรมเหล่านี้ คือการเพาะเมล็ดพันธุ์ให้เติบโตโดยหยั่งรากลงสู่ผืนดิน...ครับ

ต่อยอดไปได้ไกล

เห้นความชัดเจนจนมูลนิธิรากแก้วสนใจ

ขอบคุณมากๆครับ

ครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

ค่อยเป็นค่อยไปครับ
ในบางโครงการของปีนี้
ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ด้วยนะครับ
ผลิตหนังสั้น 6 เรื่องโดยนักเรียน ซึ่งพี่ๆ นิสิต เป็นพี่เลี้ยง.....

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท