nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

โรงเรียนอะไรกันนี่_7_โต๊ะโตะจังทำกระเป๋าหล่นในส้วม


ครูใหญ่โคบายาชิ โซซาขุ ทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่อื่นๆ ไม่ทำ เพราะครูเข้าใจว่า โต๊ะโตะจัง กำลัง “ทำงานสำคัญ” ต้องปล่อยให้ทำสำเร็จ

        โต๊ะโตะจังทำกระเป๋าสตางค์ใบโปรดหล่นในส้วม แล้วอยากได้คืน!!

         สมัยก่อนโน้นไม่มี “ส้วมซึม” มีแต่ “ส้วมหลุม” แค่ขุดหลุมขนาดใหญ่ ปูหรือวางไม้เว้นช่องให้นั่งถ่ายลงหลุม เต็มก็ตักออก ง่ายๆ แค่นั้น

          ความเสียดาย โต๊ะโตะจังไปเปิดฝาปิดบ่อส้วมที่อยู่ด้านหลังทำไว้สำหรับตักของเสียขนเอาไปทิ้ง แล้วไปลากเอากระบวยรดน้ำผักที่มีด้ามยาวกว่าตัวจากห้องของภารโรงมาตักเอาของเสียออกมากอง หวังว่าจะตักเอากระเป๋าในโปรดออกมาให้ได้ ตักกองสูงขึ้นๆ ระฆังเรียกเข้าห้องเรียนดังแล้ว แต่โต๊ะโตะจังตัดสินใจว่าจะตักไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอกระเป๋า

         แล้วครูใหญ่ก็ผ่านมาเห็น

        “ทำอะไรอยู่น่ะ”

        “หนูทำกระเป๋าสตางค์ตกลงไปในนี้ค่ะ”

        “งั้นเหรอ”   แล้วครูใหญ่ก็เดินเอามือไพล่หลังจากไป

         กองของเสียสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ยังไม่เจอกระเป๋า สักครู่ครูใหญ่กลับมาอีก ถามว่า

         “หาเจอไหม”

         โต๊ะโตะจังยืนอยู่ท่ามกลางสิ่งโสโครก เหงื่อท่วมตัว แก้มแดง ตอบว่า

         “ยังไม่เจอเลยค่ะ”

          ครูใหญ่เดินมาพูดใกล้ๆ ว่า “เสร็จแล้วเก็บทุกอย่างเข้าที่ด้วยนะ”

           สุดท้ายเมื่อโต๊ะโตะจังตักของเสียออกมาจนหมดบ่อก็ยังไม่เจอกระเป๋า เธอทำตามที่รับปากครูใหญ่ไว้คือ ตักทุกอย่างคืนลงบ่อ แล้วน้ำล่ะ มันซึมลงดินหมดแล้ว โต๊ะโตจะจังผู้เฉลียวฉลาด เมื่อรับปากครูใหญ่แล้วว่าให้เก็บทุกอย่าง เธอจึงตักดินที่มีน้ำซึมลงในบ่อด้วย

           โต๊ะโตะจังทำเต็มที่แล้วแม้ไม่พบกระเป๋า แต่เธอก็พอใจ เท็ตสึโกะ (ผู้เขียน) พรรณนาไว้ในหนังสือว่า

           “...แต่โต๊ะโตะจังก็พอใจที่เธอได้พยายามอย่างดีที่สุดแล้ว สิ่งที่ซ่อนอยู่ในความพอใจนั้นก็คือ ความรู้สึกที่ว่า คุณครูใหญ่ไม่โกรธ แต่ยอมรับการกระทำของโต๊ะโตะจัง เหมือนกับเธอเป็นบุคคลที่เชื่อถือได้คนหนึ่งรวมอยู่ด้วย เพียงแต่เธอยังเด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจเท่านั้น(หน้า๔๔-๔๕)

             หลังจากเหตุการณ์วันนั้น โต๊ะโตะจังไม่เคยมองลงไปในส้วมอีกเลย และเธอก็เชื่อถือและรักครูใหญ่ขึ้นอีกมาก

......................

บันทึกเพิ่มเติม(ของฉัน)

          อ่านตอนนี้จบแล้ว ฉันถามตัวเองว่า “ถ้าเราไปเห็นเด็กคนหนึ่งทำแบบโต๊ะโตะจัง_ปฏิกิริยาคืออะไร"  โวยวาย  ร้องกริ๊ด  เข้าไปตีสักป๊าบ  ทำไมเธอซนแบบนี้หา!!  เรียกผู้ปกครองมารับตัวกลับบ้าน  เล่าหน้าเสาธงเป็นตัวอย่างว่า เด็กๆ อย่าได้ทำแบบนี้  มีอะไรให้มาบอกครู ฯลฯ

         ครูใหญ่โคบายาชิ โซซาขุ ทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่อื่นๆ ไม่ทำ เพราะครูเข้าใจว่า โต๊ะโตะจัง กำลัง “ทำงานสำคัญ” ต้องปล่อยให้ทำสำเร็จ

         การส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กๆ ได้  “ทำสำเร็จ”  และ  “ลิ้มรสความสำเร็จ” เป็นแรงผลักดันที่ยิ่งใหญ่ สร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง ความภูมิใจในตัวเอง เป็นขั้นตอนสำคัญของ “การเติบโต”

        วิธีคือ ให้งานเล็กๆ ง่ายๆ เหมาะกับวัย จัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อ (ถ้าจำเป็น) ปล่อยให้เด็ก “ทำงาน” เสร็จแล้วก็ชื่นชม

       ง่ายๆ แค่นี้ เด็กๆ ที่ไม่เคย “ลิ้มรสความสำเร็จ” แม้สักครั้งเดียว เขาจะไม่สามารถทำอะไรได้สำเร็จอีกเลย น่าสงสารมาก.

พุธที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๗

เป็นไข้หวัดใหญ่มากว่าสิบวันแล้ว จนหัวโต ตาบวม ยังไม่บรรเทา

อ้างอิง: คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ. โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง. แปลโดย ผุสดี นาวาวิจิต. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์กะรัต , ๒๕๒๗. หน้า ๔๒-๔๖ ตอน “เก็บเข้าที่เก่าด้วย” 

หมายเลขบันทึก: 576373เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2014 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2014 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ครูใหญ่แสนวิเศษจริง ๆ ครูประถม ครูอนุบาลทุกคนและนักศึกษาครูทุกคน น่าจะได้อ่านเล่มนี้จะได้แบบอย่างดี ๆจากครูใหญ่นะคะ 

จะบอกว่า  หายช้า ๆ เพราะจะได้อ่านอีกหลาย ๆ บันทึก  จากหนังสือในดวงใจเล่มหนึ่ง  ก็กระไรอยู่นะคะ 

พี่ Nui    นอนพักผ่อน (จริง ๆ)  เยอะ ๆ นะคะ   หายไว  แข็งแรง   สดชื่น .... ด่วน  ^_,^

เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของกระทรวงศึกษาด้วยค่ะอาจารย์ GD

เป็นเล่มที่อ่านสนุก ไม่อยากวาง กว่าทุกเล่ม

เป็นเพราะน้องหมอ ธิรัมภา ให้พรพี่นี่เอง ทำให้เช้านี้พี่รู้สึกเหมือนจะหายดีทีเดียว ขอบคุณนะคะ

จะเขียนอีกแค่ ๒ ตอนที่ประทับใจ ก็เลิกแล้วค่ะน้อง

ศธ. ให้อ่านนอกเวลาสำหรับเด็ก คงเป็นเพราะสนุก น่ารัก และอยากให้เด็กเห็นตัวอย่างของโต๊ะโตะจังนะคะ ครูก็คงได้อ่านไปด้วย แต่เด็ก ๆที่อ่านจะคิดถึงครูใหญ่ของตนบ้างมั้ยนะ

จริงๆ คงจะมีครูที่น่ารักแบบครูใหญ่โคบายาชิ โซซาขุ นะคะ  แต่คนไทยเขียนไม่เก่งเลยไม่ค่อยมีใครเขียนเล่า  ดิฉันก็มีครูในดวงใจหลายคนนะคะ แต่ก็มีครูที่สร้างความทรงจำที่เจ็บปวดด้วยค่ะ ขอบคุณนะคะอาจารย์ GD ที่ตามอ่านทุกบันทึก

ขอบคุณอาจารย์ ธนิตย์ สุวรรณเจริญ ค่ะ ป่วยก็ดีทำให้มีเวลาอ่านหนังสือเยอะ

ขอบคุณอาจารย์  ขจิต ฝอยทอง กับ น้องเพชร  เพชรน้ำหนึ่ง ที่แวะมาอ่านนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท