หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : พัฒนาสื่อการสอนแบบมีส่วนร่วม (คณะวิทยาการสารสนเทศ)


การพัฒนาโจทย์ในเวทีถัดมาทำให้รู้ว่าคณะครูในโรงเรียนมีความสนใจ หรือมีความต้องการที่จะพัฒนาทักษะการจัดทำสื่อการเรียนการสอนอยู่ ๒ เรื่องใหญ่ๆ นั่นก็คือการสร้างสื่อการเรียนการสอนในรูปของ “การ์ตูน” และการจัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิคส์ (E-book)

หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน  อาจนิยามความหมายและสถานะได้หมายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนิยามว่าเป็น “งานบริการวิชาการแก่สังคม”  อันเป็นภารกิจอันสำคัญของมหาวิทยาลัยที่มีต่อการรับใช้สังคม 


แต่สำหรับมหาวิทยาลัยมหาสารคามนั้น หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน คือกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง “มหาวิทยาลัยกับชุมชน” เป็นการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ร่วมกันตามหลักคิด “เรียนรู้คู่บริการ”

และหัวใจหลักของการเรียนรู้คู่บริการที่ว่านั้นก็หมายถึง “เรียนรู้บนโจทย์อันเป็นความต้องการของชุมชน” หรือ “เรียนรู้บนโจทย์ที่เป็นความต้องการของมหาวิทยาลัยกับชุมชน” นั่นเอง



กระบวนทัศน์ดังกล่าวปรากฏเด่นชัดในโครงการ “พัฒนาสื่อประกอบการสอนแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนบ้านดอนจำปาดอนสวรรค์” (ตำบลโพนงาม อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม)  ซึ่งขับเคลื่อนโดยหลักสูตรสื่อนฤมิต คณะวิทยาการสารสนเทศ โดยมีอาจารย์อรทัย สุทธิจักษ์ เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินงาน


โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการศึกษาสภาพปัญหาการใช้สื่อประกอบการเรียนการสอนของโรงเรียนและชุมชน รวมถึงการพัฒนาสื่อประกอบการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วมบนฐานของท้องถิ่นและยุคสมัยอันสร้างสรรค์ของการเรียนรู้




ผมทราบว่าทุกหลักสูตรในคณะวิทยาการสารสนเทศได้ขับเคลื่อนโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนในโรงเรียนแห่งนี้ร่วมกันทั้งหมด มีกระบวนการพัฒนาโจทย์ หรือการปรับความคาดหวังร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ค้นหาจุดเด่นและจุดอ่อนร่วมกันอย่างชัดแจ้ง ทำให้มองเห็นองค์รวม หรือภาพรวมว่ากิจกรรมแต่ละหลักสูตรจะผนึกเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างไร และกิจกรรมอะไรจะขยับช่วงไหน เมื่อไหร่ กลุ่มเป้าหมายที่ยึดโยงร่วมกันจะขยับเข้ามาสู่การเรียนรู้และพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยอย่างไร –


สิ่งเหล่านี้คือภาพสะท้อนที่ชัดเจนในมิติของการ “บูรณาการศาสตร์” ที่เหลือต้องมาดูอีกทีว่าในกระบวนการขับเคลื่อนนั้น จะบรรลุเป้าหมายหรือไม่  บรรลุมาก บรรลุน้อยก็ยังต้องติดตามและหนุนเสริมกำลังใจร่วมกันต่อไปเป็นระยะๆ



สำหรับการขับเคลื่อนของหลักสูตรลักสูตรสื่อนฤมิต (สาขาคอมพิวเตอร์เอนิเมชันและเกม)  มีความชัดเจนมากเป็นพิเศษ หลังจากพัฒนาโจทย์ในองค์รวมของคณะแล้ว ทั้งนิสิตและอาจารย์ในหลักสูตร ยังได้สร้างเวทีการพัฒนาโจทย์แยกย่อยออกมาอีกรอบ เพื่อให้เห็นถึงความชัดเจนในเรื่องโจทย์ที่จะทำร่วมกัน

การพัฒนาโจทย์ในเวทีถัดมาทำให้รู้ว่าคณะครูในโรงเรียนมีความสนใจ หรือมีความต้องการที่จะพัฒนาทักษะการจัดทำสื่อการเรียนการสอนอยู่ ๒ เรื่องใหญ่ๆ นั่นก็คือการสร้างสื่อการเรียนการสอนในรูปของ “การ์ตูน” และการจัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิคส์ (E-book)

คณะครูให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในโรงเรียนแทบจะไม่มีครูท่านใดมีความรู้และประสบการณ์ในการจัดทำสื่อเหล่านี้เลย อยากทำสื่อประเภทเหล่านี้ แต่ก็ยังไม่สามารถขยับเข้าสู่ลู่แห่งการเรียนรู้ได้ซักที และสื่อที่มีอยู่ส่วนใหญ่ก็ได้มาจากส่วนกลาง ซึ่งคณะครูยืนยันตรงกันว่าหลายต่อหลายชิ้นไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของโรงเรียน หรือไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของท้องถิ่นเลยก็ว่าได้

และอีกประการหนึ่งก็คือ ทั้งสองประเด็นที่ต้องการเรียนรู้นั้น ครูสามารถนำไปเป็นเครื่องมือ หรือกระบวนการอันสำคัญในการพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการของตนเองได้เป็นอย่างดี -ซึ่งผมก็มองว่ามันใช่จริงๆ 




กรณีบทบาทของนิสิต (ผู้เรียน) นั้น ต้องยอมรับว่า “นิสิตเป็นศูนย์กลาง” ของการเรียนรู้อย่างน่ายกย่อง เพราะทั้งหมดมาจากวิชา “สัมมนาทางคอมพิวเตอร์และแอนิเมชั่น” โดยเน้นกระบวนการทำงานเป็นทีม นิสิตจับกลุ่มตามความสมัครใจ แบ่งกันไปค้นคว้าข้อมูลมาจัดทำเอกสารประกอบการอบรมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งก่อนการปฏิบัติการ  ข้อมูลต่างๆ อาจารย์จะเป็นผู้คัดกรองตรวจทานถึงความถูกต้องและเหมาะสมกับโจทย์การเรียนรู้ที่ถูกกำหนดขึ้นร่วมกับชุมชน

จึงนับได้ว่าในกระบวนการของนิสิตนั้น เกือบทุกอย่างล้วนขับเคลื่อนบนฐานของการมีส่วนร่วมในกลุ่มผู้เรียนเป็นที่ตั้งทั้งในมิติ “วิชาการ” และ “กิจกรรมค่าย”  นับตั้งแต่พิธีการ พิธีกร วิทยากร (ประจำวัน) ปฏิคม ช่างภาพ แม่ครัว ฯลฯ ล้วนแล้วแต่นิสิตเป็นผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้แทบทั้งสิ้น มิหนำซ้ำนิสิตยังได้ทำหน้าที่ฝึกเขียนคำกล่าวรายงานและคำกล่าวเปิดงานด้วยตนเอง  ส่วนอาจารย์ที่ปรึกษาก็ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา หรือพี่เลี้ยงอย่างสมบูรณ์แบบ (Coaching)





ในส่วนกำหนดการหรือรูปแบบการฝึกอบรมนั้น ทั้งอาจารย์ นิสิตและคณะครูในโรงเรียนก็มีส่วนต่อการออกแบบร่วมกันอย่างไม่ต้องกังขา นับตั้งแต่ประเด็นเนื้อหา สถานที่ฝึกอบรม อุปกรณ์ วิธีการฝึกอบรมก็ล้วนแล้วแต่ร่วมคิดร่วมออกแบบร่วมกันอย่างน่าชื่นใจ

แต่ก็มีไฟต์บังคับอยู่บ้างว่าเมื่อฝึกอบรมเสร็จสิ้นแล้ว  ครูแต่ละท่านต้องสามารถผลิตสื่อการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วมได้อย่างน้อยคนละ 1 ชุด... และสื่อที่ได้มานั้น ต้องนำไปใช้ได้จริง ไม่ใช่ทำเสร็จแล้วก็เก็บขึ้นหิ้ง หรือเก็บเข้าลิ้นชักโดยไม่ยินดียินร้ายต่อการนำออกมาให้แต่ละคนได้แตะต้องสัมผัส-

อย่างไรก็ดีผมมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนให้ข้อเสนอแนะแก่ทีมงานที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่หลายประเด็น เป็นต้นว่าการกระตุ้นให้ครูนำเอาต้นทุนในชุมชนมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสื่อ   ครูอาจไม่จำเป็นต้องทำเองในทุกขั้นตอนก็ได้ แต่ครูสามารถออกแบบกระบวนการอย่างมีส่วนร่วมกับนักเรียน ด้วยการมอบหมายให้นักเรียนไปศึกษาค้นคว้าเรื่องใกล้ตัวทั้งในระบบรายบุคคล หรือในระบบกลุ่มทีม จากนั้นก็เอามาแลกเปลี่ยนในชั้นเรียน  และครูก็นำข้อมูลเหล่านั้นไปแปลงเป็นสื่อการเรียนรู้แล้วนำกลับมาใช้อีกครั้งในชั้นเรียน 





ข้อมูลอันเป็นวัตถุดิบในท้องถิ่นที่ผมกล่าวถึงนั้น ในบางเรื่องอาจหมายถึงเรื่องเล่าในชุมชน นิทานคำสอน ประวัติศาสตร์และประเพณีท้องถิ่น บุคคลสำคัญ แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญา สถานที่สำคัญ พันธุ์ไม้ ฯลฯ ซึ่งทุกอย่างล้วนต้องออกแบบให้ชัดเจน เสมือนการทำหลักสูตรท้องถิ่นที่มุ่งให้คนในท้องถิ่นได้สำรวจตนเอง และเชื่อมโยงต้นทุนตนเองไปสู่ภาพกว้างในระดับชาติ หรืออื่นๆ อันเป็นวงจรการเรียนรู้ที่ท้าทายต่อการรังสรรค์ให้เกิดเป็นรูปเป็นอย่าง และมีพลังต่อการเรียนรู้ร่วมกัน

นอกจากนี้ผมยังได้เสนอแนะให้นำข้อมูลหรือชุดความรู้ที่ทางคณะวิทยาการสารสนเทศเคยได้ขับเคลื่อนเรื่อง “หนึ่งคณะหนึ่งศิลปวัฒนธรรม” ในชุมชนแห่งนี้เมื่อปีที่แล้วมาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการทำงานในเวทีดังกล่าว ทั้งเพื่อการเผยแพร่และเพื่อใช้เป็นต้นทุนให้คณะครูและนักเรียนได้มีข้อมูลในการที่จะทำความเข้าใจกับรากฐานของตนเอง รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้ครูและนักเรียน หรือกระทั่งคนในชุมชนได้คิดที่จะบูรณาการ “ต่อยอดงานชุดเก่า” ไปสู่การสร้างสื่อประกอบการเรียนการสอนในวาระใหม่อีกครั้งหนึ่ง





โดยส่วนตัวแล้วผมว่าไม่น่าจะเหลือบ่ากว่าแรง  เพราะอย่างน้อยการงานในครั้งนี้ก็หยัดยืนอยู่บนความต้องการของคณะครูอยู่แล้ว ถ้าครูทำได้ ย่อมหมายถึงการได้สื่อประกอบการเรียนการสอนที่ทันสมัย  ตอบโจทย์การเรียนรู้ความเป็นท้องถิ่นและสากลได้อย่างไม่เคอะเขิน ก่อเกิดพลังของการสร้างจิตสำนึกรักท้องถิ่นไปในตัว 

ขณะที่ครูก็สามารถใช้ความรู้และทักษะเหล่านี้ไปสร้างผลงานวิชาการของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง— มิหนำซ้ำยังสามารถยกระดับตัวเองเป็นวิทยากรสู่โรงเรียนใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี รวมถึงระบบเว็บไซด์ที่มหาวิทยาลัยฯ ได้จัดทำขึ้นให้กับโรงเรียนในโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน  ก็ยังเป็นอีกพื้นที่หนึ่งในการทำหน้าที่รองรับและเผยแพร่ผลงานเหล่านี้ไปสู่สาธารณะ




ส่วนนิสิตและอาจารย์จากหลักสูตรฯ หากจะแปลงกิจกรรมหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนนี้เป็นทั้งวิจัยของนิสิตและเป็นวิจัยของอาจารย์เอง ซึ่งผมว่าทั้งหลายทั้งปวงนั้นสามารถทำได้อย่างไม่ต้องกังขา เพราะบัดนี้อะไรๆ ก็เดินทางมาถูกที่ ถูกทางแล้ว !



หมายเลขบันทึก: 576361เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2014 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กันยายน 2014 06:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ชอบใจการทำงาน

มาช่วยแก้ไขข้อความที่ผิด 555

(ตำบลโพนงาม อำเภอดกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม)

เข้าใจว่ามาถูกทางจริงด้วย

ครูจะได้พัฒนาและช่วยโรงเรียนใกล้เคียงได้

ขอบคุณมากๆครับ

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งนะครับเกี่ยวกับการขับเคลื่อนครูแกนนำการสร้างสื่อในมิติเช่นนี้   ซึ่งหมายถึงสร้างให้ครูได้เกื้อหนุนกันเอง  สร้างเครือข่ายในพื้นที่เรียนรู้กัน  แลกเปลี่ยนความรู้และสื่อการเรียนรู้ร่วมกัน  โดยไม่จำเป็นต้องรอการหนุนเสริมจากส่วนกลางเสมอไป

ในหนังเรื่องคิดถึงวิทยา  น่าจะเป็นต้นแบบที่ดีของการสร้างสื่อการเรียนการสอน-การเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐานได้เป็นอย่างดี  โดยไม่ต้อจ่อมจม จำนนอยู่แต่เฉพาะสื่อจากส่วนกลางซึ่งเน้นภาพรวมกว้างๆ เพื่อให้ใช้ได้กับทุกส่วนทุกท้องที่เป็นหัวใจหลัก

อันที่จริงคนที่จบไปใหม่ๆ  มีไฟกันเยอะมาก  เพราะความเป็นคนหนุ่มสาวที่เป็นรอยต่อจากมหาิทยาลัยยังแจ่มชัด  แต่เสียดายครับ  ไปอยู่ในระบบได้ไม่นานไฟมอดดับหมดเลย  น้องๆ ที่รู้จักกันกับผม  หลายต่อหลายคนมีชะตากรรมเช่นนั้น ครับ

ติดตามเรียนเรียนรู้หลักสูตรชุมชน

-สวัสดีครับอาจารย์

-การลงชุมชนได้อะไรจากชุมชนมากมายครับ

-แต่ละคนมีหน้าที่ละภารกิจที่แตกต่างกันแต่บางครั้งเป้าหมายก็คล้ายๆ กัน

-ชอบบรรยากาศแบบนี้ครับ

-ดูอบอุ่น/ใกล้ชิด/สัมผัสได้..

-ขอบคุณครับ

ครับพี่บังฯ วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

สุขภาพแข็งแรงๆ นะครับ

ฝากความระลึกและอ้อมกอดไปกับอาจารย์ขจิต นะครับ

ครับ คุณเพชรน้ำหนึ่ง

การลงชุมชน  จริงๆ คือการเรียนรู้ชีวิตครับ
สถานการณ์จริง ความเป็นจริงในสภาวะหลายมิติ
และที่สำคัญคือความงามของจิตใจผู้คน
ซึ่งจะเป็นต้นทุนอันดีในการใช้ชีวิตของนิสิต
และกระบวนการลงชุมชน ยังกระตุ้นพลังบางอย่างของชุมชนได้เช่นกัน  ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท