E-learning กับการเรียนการสอน


e-learning กับการจัดการเรียนการสอน : ตอนที่ 1

โดย ผกาวรรณ จันทร์เพิ่ม และ พณาพรรณ พาณิชย์

การศึกษาไทยในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศมีวิวัฒนาการอย่างก้าวกระโดดเป็นการเปลี่ยนในเรื่องสื่อที่ใช้ประกอบการเรียนการสอน ดังเช่นการนำหนังสือ ตำรา เอกสารมาทำให้อยู่ในรูปดิจิตัล มีการใฃ้ e-Book และ e-Document ในช่วงแรกต่อมาเมื่อมีการใช้งานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แทปเลตสมาร์ทโฟนกันอย่างแพร่หลาย การใช้งานเริ่มง่ายขึ้น เสมือนเป็นปัจจัยที่ 5 ก็ว่าได้ ในวงการศึกษาจึงได้มีแนวคิดจัดการเรียนการสอนให้ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ให้สามารถขยายวงกว้าง น่าสนใจ สะดวกต่อการเรียน สนับสนุนการเรียนรู้ในลักษณะที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (learning-centered) และการเรียนในลักษณะตลอดชีวิต (life-long learning) โดยใช้สื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยในรูปแบบที่เรารู้จักกันในชื่อว่า อีเลินนิ่ง (e-Learning) การเปลี่ยนแปลงหนีไม่พ้นกระแสการต่อต้านโดยเฉพาะในประเด็นอุปกรณ์แพง ค่าใช้จ่ายสูง ผลิตเนื้อหาลำบาก และเรียนแล้วได้ผลดีเหมือนการสอนในชั้นเรียนจริงหรือ จากความสงสัย ข้อคำถามมากมายนำไปสู่การศึกษาค้นคว้า จากการอบรมในหลักสูตร e-Learning and IT in Teaching Process ณ Waikato Institute of Technology ประเทศนิวซีแลนด์ ทำให้ได้ความรู้ที่ถูกต้องในความหมาย องค์ประกอบที่ดี ประโยชน์ และแนวคิดสู่การปฏิบัติ

ลักษณะสำคัญของ e-Learning

จำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า e-Learning ไม่ใช่เพียงแค่การสอนในลักษณะเดิมๆและนำเอกสารการสอนมาแปลงให้อยู่ในรูปดิจิตัลเพื่อนำไปวางไว้บนเว็บหรือระบบบริหารจัดการการเรียนรู้เท่านั้น แต่ครอบคลุมถึง กระบวนการในการเรียนการสอนหรือการอบรมที่ใช้เครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นทางการเรียนรู้ (flexible learning) สนับสนุนการเรียนรู้ในลักษณะที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (learning-centered) และการเรียนในลักษณะตลอดชีวิต (life-long learning)ซึ่งอาศัยการเปลี่ยนแปลงด้านกระบวนทัศน์(paradigm shift) ลักษณะสำคัญของ e-Learning ที่ดีประกอบด้วย

1.

ทุกเวลาทุกสถานที่ (Anywhere, Anytime) หมายถึง e-Learningต้องช่วยขยายโอกาสในการเข้าถึงเนื้อหาการเรียนรู้ของผู้เรียนได้จริง สามารถเรียกดูเนื้อหาตามความสะดวกของผู้เรียน

2.

มัลติมีเดีย (Multimedia) หมายถึง e-Learning ควรต้องมีการนำเสนอเนื้อหาโดยใช้ประโยชน์จากสื่อประสมเพื่อช่วยในการประมวลผลให้เกิดความคงทนในการจดจำและเรียนรู้ได้ดีขึ้น

3.

การเชื่อมโยง (Non-linear) หมายถึง e-Learning ควรต้องมีการนำเสนอเนื้อหาในลักษณะที่ไม่เป็นเชิงเส้นตรง กล่าวคือ ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาตามความต้องการ นอกจากนี้ยังหมายถึงการออกแบบให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามจังหวะ(pace) การเรียนของตนเองด้วย เช่น ผู้เรียนที่เรียนช้าสามารถเลือกเนื้อหาที่ต้องการเรียนซ้ำได้บ่อยครั้ง ผู้เรียนที่เรียนดีสามารถเลือกที่จะข้ามไปเรียนในเนื้อหาที่ต้องการได้โดยสะดวก

4.

การโต้ตอบ (Interaction) หมายถึง e-Learning ควรต้องมีการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนโต้ตอบ (มีปฏิสัมพันธ์) กับเนื้อหา หรือกับผู้อื่นได้

ประโยชน์ที่ได้รับในการเรียนการสอน

1.

e-Learning ช่วยให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในเวลาที่เร็วกว่า เพราะการถ่ายทอดเนื้อหาผ่านทางมัลติมีเดียสามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่าการเรียนจากสื่อข้อความการบรรยายในลักษณะ Chalk and Talk หรือจากการสอนภายในห้องเรียนนอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง (autonomous learning)

2.

e-Learning ช่วยให้ผู้สอนสามารถตรวจสอบความก้าวหน้าพฤติกรรมการเรียนของผู้เรียนได้อย่างละเอียดและตลอดเวลา

3.

e-Learning ช่วยให้ผู้เรียนสามารถควบคุมการเรียนของตนเองได้เพราะมีการสร้างHypermedia นำเสนอเนื้อหาในรูปแบบใยแมงมุมได้ ดังนั้นผู้เรียนจึงสามารถเข้าถึงข้อมูลใดก่อนหรือหลังก็ได้ โดยไม่ต้องเรียงตามลำดับ

4.

e-Learning ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามจังหวะของตน(Self-paced Learning) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถควบคุมการเรียนรู้ของตนในลำดับการเรียนได้ตามพื้นฐานความรู้ และความสนใจของตน สามารถทดสอบทักษะตนเองชี้ชัดจุดอ่อนของตน และเลือกเนื้อหาเหมาะสม โดยไม่ต้องเรียนในส่วนที่เข้าใจแล้วผู้เรียนได้รับอิสระในการควบคุมการเรียนของตนเอง จึงทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามจังหวะของตนเอง

5.

e-Learning ช่วยให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับครูผู้สอน และกับเพื่อน โดยผ่านเครื่องมือต่างๆมากมาย เช่น Chat Room, Web Board, E-mail เป็นต้น

6.

e-Learning ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ รวมทั้งเนื้อหาที่มีความทันสมัย และตอบสนองต่อเรื่องราวต่างๆในปัจจุบันได้อย่างทันที

7.

e-Learning ทำให้เกิดรูปแบบการเรียนที่สามารถจัดการเรียนการสอนให้แก่ผู้เรียนในวงกว้างขึ้น ไม่มีข้อจำกัดในด้านการเดินทางเวลาและสถานที่

ความคุ้มค่าคุ้มทุน

การนำ e-Learning มาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน นอกจากประโยชน์ที่ได้รับโดยตรงต่อผู้เรียนแล้วยังเกิดประโยชน์ต่อผู้สอน และองค์กรในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาในด้านความคุ้มค่าคุมทุน พบว่าเมื่อผู้เรียนมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นหรือขยายวงกว้างเท่ากับเป็นการลดต้นทุนของการศึกษานั่นเอง ดังรูปด้านล่างซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมื่อจำนวนของผู้เรียนที่เข้ามาเรียนด้วย e-Learning มีจำนวนมากขึ้นๆ อัตราการลงทุนของการศึกษาจะมากขึ้นไม่มากนักและเป็นอัตราที่น้อยกว่าอัตราการลงทุนเมื่อจัดการเรียนการสอนแบบปรกติ

หมายเลขบันทึก: 576150เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2014 08:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2014 08:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ความจริงประเทศไทยก็ส่งเสริมการนำ ไอซีทีมาใช้ในการเรียนการสอนมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งอี เลินนิ่ง แต่อุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่งคือการขาดเครื่องมือทีสำคัญคือคอมพิวเตอร์ จนกระทั่งรัฐบาลมีนโยบายจัดหาให้ด็กทุกคน นั่นคือให้เด็กมีแท็บเล็ต แต่ปัจจุบันก็ยกเลิกไปแล้วแทนการอุดช่องโหว่ ปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหาและอุปสรรค...กลับไปส่งเสริมการสอนผ่านดาวเทียมเพิ่มขึ้นซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีเหมือนกัน สำหรับโรงเรียนเล็กที่มีครูน้อย ไม่ครบชั้น  แต่ก็ขาดโอกาสที่จะใช้อีเลินนิงอย่างจริงจัง เพราะเด็กส่วนหนึ่งไม่สามารถจัดหาใช้ได้เพราะฐานะไม่เอื้ออำนวย การใช้ของโรงเรียนก็มีไม่พอเพียงต้องหมุนเวียนการใช้ ดูไปแล้วเหมือนถอยหลังกลับมาหลายก้าวในเรื่องการใช้ไอซีทีในการศึกษา

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท