ปิรามิดแห่ง “Gunung Padang”


"Gunung Padang" ที่มา: wikipedia

ปิรามิดของอินโดนีเซียอาจเก่าแก่ถึง 20,000 ปี การค้นพบที่จะทำให้มีการเขียนประวัติศาสตร์อารยธรรมมนุษย์ใหม่ทั้งหมด

ปิรามิดแห่ง “Gunung Padang” ซึ่งคาดว่ามีอายุมากที่สุดในโลกอยู่ที่อินโดนีเซีย เป็นสิ่งก่อสร้างด้วยหินขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านการ์ยามุขติ จิอันจู้ร ชวาตะวันตก

สถานที่นี้ถูกค้นพบตั้งแต่สมัยดัชท์ในปี 1914 สร้างอยู่บนความสูง 885 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เป็นเนินเขาในแบบขั้นบันไดผนังขั้นบันไดกรุด้วยแท่งหินภูเขาไฟแอนดีไซต์นับได้ถึง 400 ขั้นความสูงรวม 95 เมตร ผู้คนในย่านนั้นเชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งราชาศรีวังงี่พยายามจะสร้างวังให้เสร็จในชั่วข้ามคืน

ทางขึ้นปิรามิดพุ่งไปทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ชี้ไปหาภูเขาไฟใหญ่ “Gunung Gede” ซึ่งหมายถึงเป็นสิ่งก่อสร้างสำหรับการกราบไหว้ทำพิธีกรรม และตั้งข้อสังเกตว่ามีการนำความรู้เรื่องชัยภูมิและดวงดาวมาใช้ในการก่อสร้างด้วย ถ้าว่าตามลักษณะรูปร่างของปิรามิดคาดว่าน่าจะมีอายุราว 1500 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ

ทีมสำรวจจากศูนย์วิจัยทางธรณีเทคนิคของอินโดนีเซียได้โน้มน้าวการสนับสนุนจากประธานาธิบดีซูซิโลบัมบัง ตั้งทฤษฎีที่คาดว่าปิรามิดแห่งนี้มีโครงสร้างที่เก่าแก่กว่า 9,000 ปี และอาจขึ้นไปถึง 20,000 ปี จากผลการวัดอายุโดยเรดิโอคาร์บอน นักโบราณคดีหลายคนถึงกับไม่ยอมรับผลการวัดอายุเพราะหากเป็นจริงก็เท่ากับปิรามิดมีอายุเก่าแก่กว่าอารยธรรมใดๆที่สร้างกันบนผืนโลกนี้เป็นพันๆปี และมันต้องสร้างความสั่นสะเทือนให้กับประวัติศาสตร์มนุษยชาติอย่างมหาศาลเลยทีเดียว จนอาจต้องมีการฉีกทิ้งของเดิมและลงมือเขียนใหม่ทั้งหมด

ตามที่ Sydney Morning Herald ได้รายงาน คนตั้งทฤษฎี Dr.Hilman คาดว่าปิรามิดถูกสร้างถึงสามเฟสในช่วงพันปีโดยอารยธรรมที่แตกต่างกัน ด้วยอุปกรณ์สมัยใหม่ทำให้สามารถตรวจวัดสิ่งก่อสร้างเช่นห้องโถง บันไดและลานโล่งใต้พื้นดินซึ่งเป็นหลักฐานที่ชี้ชัดถึงการออกแบบและสร้างสรรค์โดยผู้คนที่มีความรู้

อย่างไรยังมีข้อถกเถียงมากมายเช่นเดียวกับการค้นพบปิรามิดในบอสเนีย “Visoko” นักโบราณคดีและนักธรณีวิทยาถึง 34 คน ได้ตั้งคำถามและถามหาหลักฐานวิธีการทางวิทยาศาสตร์ บางคนกล่าวว่าพื้นที่นี้เป็นเพียงส่วนหลงเหลือของภูเขาไฟแถวนั้น บางคนว่าไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีรองรับ และอายุคงไม่เก่าแก่เหมือนที่อ้าง

เช่นในจุดหนึ่งมีการพบเครื่องมือที่ทำด้วยกระดูกในบริเวณใกล้ๆ ซึ่งหาอายุได้ประมาณ 9,500 ปี คำถามคือผู้คนสมัยนั้นพึ่งจะรู้จักการสร้างเครื่องมือด้วยกระดูก แล้วอารยธรรม 20,000 ปีที่ไหนจะสามารถสร้างปิรามิดแบบนี้ได้

ทีมงานสำรวจพบว่าโครงสร้างข้างใต้นั้นมีอายุมากกว่าข้างบน ในความลึก 1-4.5 เมตร โครงสร้างข้างล่างมีอายุราว 6,500 ปี ในขณะที่ข้างบนมีอายุราว 2,500 ปี จากการวัดด้วยเบต้าอะนาไลติกเรดิโอคาร์บอน ที่ความลึก 4.5 เมตร พบหินที่มีโครงสร้างแร่เหล็ก 45% ซิลิกา 41% และดิน 14%

ทีมสำรวจอิสระซึ่งเข้ามาร่วมงานในโครงการตรวจพบโครงสร้างหินที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ในพื้นที่ขุดค้นช่วงเดือนมีนาคมปี 2013 เป็นแท่งของแอนดีไซต์ซึ่งปกติจะแตกแบบ “colum” ถูกจัดวางในแนวนอนทิศทางตะวันออก-ตะวันตก ทีมนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย (UI) ได้พบหลักฐานที่ยืนยันทฤษฎีคือโครงสร้างที่เกิดจากมนุษย์ตรงฐานของภูเขาปิรามิด เป็นโครงสร้างที่เหมือนกับโครงสร้างลานหินด้านบน

การขุดค้นยังพบวัสดุที่ใช้เติมลงในช่องว่างของเสาหินให้เชื่อมติดกัน เป็นปูนซีเมนต์แบบโบราณ ซึ่งตรงกับตัวอย่างที่เก็บจากหลุมเจาะในความลึก 1-15 เมตร เมื่อปี 2012 ทีมนักธรณีวิทยาได้พบข้อเท็จจริงจากส่วนประกอบของซีเมนต์นั้นว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของซีเมนต์ชนิดแรงดึงสูง การมีซิลิกาสูงชี้ให้เห็นว่าไม่ได้มาจากการผุพังของแท่งแอนดีไซต์ ซึ่งโดยปกติจะมีปริมาณซิลิกาต่ำ ระดับเหล็กออกไซต์ในธรรมชาติก็ไม่มากกว่า 5% แสดงว่าตัวซีเมนต์ในช่องว่างระหว่างแท่งแอนดีไซต์ก็คือตัวเกร้าติ้ง (grout) ที่ผลิตโดยมนุษย์

ดังนั้นระดับเทคโนโลยี่ที่ใช้สร้างนี้เชื่อว่าต้องมีความรู้เรื่องเหล็กเป็นอย่างดี หนึ่งในวิธีการสามัญในการให้ได้มาซึ่งเหล็กเข้มข้นคือขบวนการเผาแร่ที่ความร้อนสูง เช่นเดียวกับการเผาอิฐ และยังพบก้อนวัสดุเหล็กขนาด 10 นิ้วที่ความลึก 1 เมตรอีกด้วย ซึ่งเข้าใจว่าเป็นขี้ตะกรัน

ผลการวิเคราะห์หาอายุจากธาตุคาร์บอนของตัวอย่างซีเมนต์ที่เจาะเก็บในความลึก 5-15 เมตร ซึ่งทำในปี 2012 ในห้องแล็ป BETALAB ไมอามี่ อเมริกา ชี้ว่ามีอายุระหว่าง 13,000 - 23,000 ปี ก่อนหน้านั้นผลวิเคราะห์ของห้องแล็ปในประเทศ BATAN จากตัวอย่างที่เก็บในความลึก 8-10 เมตรใต้ลานหินก็แสดงอายุที่ 13,000 ปี

ข้อมูลจากการเจาะสำรวจทางธรณีวิทยาและการวิเคราะห์ไมโครสโคปิกของแผ่นหินบาง (thin section) พบว่าชุดหินลาวาแอนดีไซต์เป็นพวกเดียวกับแท่งหินที่ใช้สร้าง และยังพบรอยแตกมากมายซึ่งน่าสงสัยว่าจะไม่เป็นรอยแตกตามธรรมชาติ

ทีมงานกล่าวว่าการค้นพบครั้งนี้มีความหมายอย่างมากถ้าทุกอย่างเป็นไปตามสมมุติฐาน มันจะส่งผลให้เกิดการถล่มทลายทางความรู้ที่เคยยึดถือกันมาครั้งใหญ่เกี่ยวกับต้นกำเนิดของอารยธรรมมนุษย์.....ปัจจุบันการขุดค้นและวิจัยยังดำเนินต่อไป (Sydney Morning Herald รายงานข่าววันที่ 1 สิงหาคม 2013)

จันทบุรี 01 กันยายน 2557

หมายเลขบันทึก: 575758เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2014 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2014 10:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท