หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : จากห้องเรียนมหาวิทยาลัยสู่ห้องเรียนชุมชน (สาขาการจัดการ)


พอทำข้อสอบชุดเล็กๆ เสร็จสิ้น ยังสั่งงานให้นิสิตกลับไปเขียนบันทึกการเรียนรู้มาส่งในสัปดาห์ถัดไปด้วยอีกต่างหาก พร้อมๆ กับการมอบหมายให้มีการเตรียมสะท้อนผลการเรียนรู้อย่างเป็นทางการร่วมกันในชั้นเรียนของมหาวิทยาลัยอีกรอบ - เป็นการโยงห้องเรียนชุมชนกลับสู่ห้องเรียนในมหาวิทยาลัยในอีกมิติหนึ่ง



หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ชุมชน คือ ห้องเรียน


การเรียนรู้โดยใช้ “ชุมชน” เป็น “ห้องเรียน” ถือเป็นจุดเด่นอันสำคัญของการทำงานด้านการบริการวิชาการแก่สังคมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งขับเคลื่อนภายใต้นโยบายเชิงรุกด้วยชื่อโครงการ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน”

การเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน (ฐานการเรียนรู้) ในมิติโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน มิใช่เพียงแค่การส่งนิสิต “ลงชุมชน” ไปเก็บข้อมูลแล้วมาเขียนรายงาน หรือสรุปงานในชั้นเรียนว่า “ได้เรียนรู้อะไร” จากการลงชุมชนเท่านั้น หากแต่หมายถึงการสร้างกระบวนการ “เรียนรู้แบบมีส่วนร่วม” ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน (นิสิต,อาจารย์,ชาวบ้าน ฯลฯ) ไม่ใช่การลงชุมชนแบบ “มือเปล่า” 


แต่มีสิ่งที่นำไปแลกเปลี่ยนร่วมกับชุมชน โดยการ “แลกเปลี่ยน” ที่ว่านั้นก็คือการ “เรียนรู้ร่วมกัน”  ซึ่งสิ่งที่แลกเปลี่ยนนั้นอาจมีหลายรูปลักษณ์ แต่ที่แน่ๆ ก็คือการแลกเปลี่ยนซึ่ง “ความรู้” และ “ประสบการณ์ชีวิต” ต่อกันและกันเป็นสำคัญ



ด้วยเหตุนี้โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน จึงสะท้อนให้เห็นว่า ทั้งมหาวิทยาลัยกับชุมชนต่างมีสถานะที่เป็นทั้ง “ผู้ให้-ผู้รับ” ไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ ภายใต้หลักคิดหรือปรัชญาการทำงาน คือ “เรียนรู้คู่บริการ”

แนวคิดดังกล่าวเช่นนี้ปรากฏชัดในโครงการ “พัฒนาศักยภาพแกนนำและเครือข่ายการเกษตรพอเพียงจังหวัดมหาสารคาม” ของหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ คณะการบัญชีและการจัดการ ซึ่งมี ดร.นวลละออง อรรถรังสรรค์ เป็นผู้รับผิดชอบหลัก โดยมีชุมชนบ้านหินปูน ต.เขวาใหญ่ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม เป็นพื้นที่ในการดำเนินงานฯ






พัฒนาทักษะการสื่อสาร : วิทยากรชุมชนและผู้นำแถวสอง

โครงการดังกล่าวมีภาพแห่งการเรียนรู้บนฐานคิดการ “เรียนรู้คู่บริการ” และการใช้ “ชุมชนเป็นห้องเรียน” อย่างน่าสนใจ

กล่าวคือในระยะเริ่มต้นของการขับเคลื่อนโครงการฯ จะเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับหลักการพูดต่อที่สาธารณะให้กับชาวบ้าน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ชาวบ้าน หรือแกนนำชุมชนมีทักษะ หรือสมรรถนะ (performance) ในการสื่อสารที่ดี เพื่อรองรับการเป็น “วิทยากรชุมชน” ในการที่จะต้องบรรยายให้ความรู้ต่อผู้มาศึกษาดูงานในชุมชน ซึ่งนับวันดูเหมือนจะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหมู่บ้านเริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากยิ่งขึ้นในฐานะของชุมชนเข้มแข็งที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เช่นเดียวกับการพัฒนาทักษะการสื่อสารให้กับแกนนำคนอื่นๆ โดยไม่ฝากภาระไว้กับผู้ใหญ่บ้านและแกนนำเพียงไม่กี่คน เสมือนการสร้าง “ผู้นำแถวสอง” ขึ้นมารองรับสภาวะที่ชุมชนกำลังเติบโตดีๆ นั่นเอง





ในกระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการนั้น ประกอบด้วยการบรรยายให้ความรู้และฝึกพูดเป็นรายบุคคล ทั้งการแนะนำองค์รวมของหมู่บ้าน การแนะนำฐานการเรียนรู้ในชุมชน การแนะนำกระบวนการทำงานของแต่ละฐาน หรือแต่ละกลุ่มอาชีพ ฯลฯ โดยขณะที่ฝึกพูดอยู่นั้นจะมีการบันทึกภาพวีดีโอไปด้วย ครั้นเสร็จการฝึกพูดก็จะนำเอาภาพวีดีโอกลับมาฉายให้ดูร่วมกัน เพื่อให้วิทยากรและชาวบ้านได้ร่วมวิพากษ์ร่วมกันถึง “จุดแข็งจุดอ่อน” ในการพูดของแต่ละคน

เสร็จจากนั้นก็มอบสื่อวีดีโอชุดดังกล่าวให้ชาวบ้านเก็บไว้เปิดดูและฝึกฝนด้วยตนเอง พร้อมๆ กับการเน้นย้ำให้มีการฝึกฝนเป็นระยะๆ ทั้งในระดับส่วนบุคคลที่อาจมีขึ้นภายในครัวเรือน และการกลับมารวมกลุ่มฝึกฝนร่วมกันเป็นระยะๆ
 




โดยส่วนตัวผมมองว่ากระบวนการขับเคลื่อนเช่นนี้ได้อรรถรสเป็นที่สุด เป็นการเรียนรู้คู่บริการในแบบฉบับ “บันเทิงเริงปัญญา” และ “ติดดิน” เอามากๆ วิทยากรที่บรรยายให้ความรู้ (อาจารย์ศักดิ์เจริญ ภวภูตานนท์) ก็มากด้วยประสบการณ์อย่างเห็นได้ชัด แทนที่จะบรรยายแบบ “นักวิชาการ” ที่แกร่งกล้า “ทฤษฎี” และป้อนทฤษฎีให้กับชาวบ้านโดยไม่สนใจว่าชาวบ้านจะ “เข้าใจ-เข้าถึง” ได้สักกี่มากน้อย  แต่ท่านกลับบรรยายให้ความรู้ในแบบ “นักปฏิบัติ” เน้นการ “บอกเล่า” แบบพื้นๆ ฟังง่าย เข้าใจง่าย ใช้ภาษาถิ่นและภาษากลางผสมปนเปกันไป  เน้นการสื่อสารสองทาง ชวนคิด ชวนคุย โต้-ตอบเป็นระยะๆ  รวมถึงการสอดแทรกอารมณ์ขันไว้เป็นห้วงๆ  ช่วยเสริมบรรยากาศในเวทีให้ดูเหมือนเรียบง่ายแต่กลับมีเสน่ห์และน่าติดตามเป็นที่สุด





การมาของนิสิต : กระตุ้นและประเมินทักษะการสื่อสารชุมชนแบบมีส่วนร่วม


ไม่เพียงเฉพาะแค่นี้เท่านั้น ทีมทำงานโครงการดังกล่าวยัง “ออกแบบกิจกรรม” อื่นๆ มารองรับเป็นห้วงๆ เพื่อให้ชาวบ้านได้ฝึกฝนและเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง  ด้วยการนำนิสิตลงพื้นที่เรียนรู้วิถีชีวิตและภูมิปัญญาในท้องถิ่นผ่านฐานการเรียนรู้ที่สำคัญๆ ของชาวบ้านหินปูน  โดยให้แกนนำชาวบ้านที่เข้าอบรมได้ “ทดลอง” ทำหน้าที่เป็นวิทยากรชุมชน  ถ่ายทอดความรู้ให้กับนิสิต  หรือกระทั่งการร่วมเรียนรู้ไปกับนิสิตในเรืองทักษะของการสื่อสาร

การลงพื้นที่ของนิสิต ถูกออกแบบผ่านรายวิชา “การสัมมนาการจัดการ” ที่สอนโดยอาจารย์ศักดิ์เจริญ ภวภูตานนท์ ซึ่งถึงแม้นิสิตกลุ่มนี้จะไม่ใช่กลุ่มที่ลงทะเบียนเรียนโดยตรงกับ ดร.นวลละออง อรรถรังสรรค์ (ผู้รับผิดชอบหลักโครงการฯ) แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบใดๆ ต่อการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนในบ้านหินปูน  เพราะได้ออกแบบร่วมกันระหว่างอาจารย์กับชุมชนเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า  นิสิตกลุ่มนี้จะเป็นเสมือนระบบและกลไกหนึ่งในการทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นและประเมินผลการพัฒนาทักษะการสื่อสารของชาวบ้านดีๆ นั่นเอง




ครับ-เป็นการกระตุ้นและประเมินผลไปพร้อมๆ กัน จะได้รู้ว่าชาวบ้านมีพัฒนาการที่ดีขึ้นแค่ไหน มีอะไรที่ต้องปรับแต่งให้คมชัด และเป็นรูปธรรมมากขึ้น


และเท่าที่สังเกตการณ์นั้นเห็นได้ชัดว่าแกนนำชาวบ้านวางระบบขั้นตอนการนำเสนอเรื่องราวของชุมชนได้ดีพอสมควร มีพิธีกร  มีการกล่าวต้อนรับและทักทายปราศรัยแบบเป็นกันเองๆ จากผู้นำชุมชน  จากนั้นก็มีการบรรยายภาพรวมชุมชน เช่น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  จำนวนประชากร  ลักษณะเด่น  สภาพปัญหาในชุมชน  รวมถึงการแนะนำแกนนำที่ทำหน้าที่หลักในแต่ละฐานการเรียนรู้ ก่อนจะเชิญแกนนำดังกล่าวขึ้นมาบอกเล่าถึงฐานการเรียนรู้  หรือการรวมกลุ่มของแต่ละกลุ่ม เป็นการบอกเล่าพร้อมๆ กับเปิดโอกาสให้นิสิตได้ซักถาม - จากนั้นจึงพานิสิตเข้าเรียนรู้ผ่านสถานการณ์จริงในแต่ละฐานการเรียนรู้





เมื่อเข้าฐานการเรียนรู้เสร็จสิ้นแล้ว  ทั้งนิสิตและชาวบ้าน หรือกระทั่งอาจารย์ก็กลับเข้าสู่เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอีกรอบ หากแต่ครั้งนี้มุ่งเน้นประเด็นการวิพากษ์อย่างสร้างสรรค์ถึง “ทักษะ” หรือ”สมรรถนะ” การสื่อสารของชาวบ้านผ่านมุมมองของนิสิต อาจารย์และชาวบ้านว่า ”อะไรดี อะไรไม่ดี” (ต่อยอดจุดแข็ง เติมเต็มจุดอ่อน) ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น เฮฮา และเป็นกันเอง ส่งผลให้ห้องเรียนในชุมชนเป็นห้องเรียนที่มีชีวิตและเป็นห้องเรียนที่มีความเป็นกัลยาณมิตรอย่างน่ายกย่อง  มีบรรยากาศที่กลมกลืน-นุ่มเนียน  แทบไม่เห็นช่องว่างระหว่างความเป็นมหาวิทยาลัยกับชุมชนเลยก็ว่าได้






ประเมินผลทันที : ตีเหล็กตอนร้อน..กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ (ตลอดเวลา)


และที่น่าสนใจไม่แพ้กระบวนการกระตุ้นและประเมินทักษะการสื่อสารของชาวบ้านก็คือพอเสร็จสิ้นกระบวนการทุกขั้นตอนแล้ว  นิสิตที่ลงพื้นที่ในวันนั้นจะถูกประเมินผลการเรียนรู้จากผู้สอนไปด้วยเหมือนกัน ซึ่งเป็นการประเมินการเรียนรู้ในชุมชนนั้นๆ ไม่ใช่กลับมาประเมินที่มหาวิทยาลัยฯ

เรียกได้ว่า “เรียนจบก็ประเมินแบบสดๆ ร้อนๆ ตรงนั้นเลย” เสมือนการ “ตีเหล็กในขณะที่กำลังร้อนๆ” หรือมองในอีกมุมคือการกระตุ้นให้เกิดการ “เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา” นั่นเอง ซึ่งโดยหลักๆ แล้วผู้สอนจะให้นิสิตได้ทำข้อสอบชุดเล็กๆ และข้อสอบที่ว่านั้นผู้สอนก็ออกข้อสอบจากสถานการณ์จริง (ห้องเรียนชุมชน) ที่นิสิตและชาวบ้านได้เรียนรู้ร่วมกัน

มิหนำซ้ำ พอทำข้อสอบชุดเล็กๆ เสร็จสิ้น ยังสั่งงานให้นิสิตกลับไปเขียนบันทึกการเรียนรู้มาส่งในสัปดาห์ถัดไปด้วยอีกต่างหาก  พร้อมๆ กับการมอบหมายให้มีการเตรียมสะท้อนผลการเรียนรู้อย่างเป็นทางการร่วมกันในชั้นเรียนของมหาวิทยาลัยอีกรอบ - เป็นการโยงห้องเรียนชุมชนกลับสู่ห้องเรียนในมหาวิทยาลัยในอีกมิติหนึ่ง  ซึ่งถือว่า “น่าสนใจมาก”





ครับ-นี่คือกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นห้องเรียนที่น่าสนใจ เป็นการบูรณาการโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน (งานบริการวิชาการ) สู่การเรียนการสอนในชั้นเรียนและบูรณาการการเรียนรู้จากชั้นเรียนออกสู่ชุมชน เสร็จแล้วก็กลับสู่ชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยอีกรอบ สะท้อนถึงภาพแห่งการเรียนรู้แบบมี “วงจร” มีการ “ทำซ้ำ-ผลิตซ้ำ” หมุนวน (Loop) เพื่อก่อให้เกิดการ “ตกผลึก” (ความรู้-ปัญญา)


ผมถือว่านี่เป็นอีกแบบจำลอง (model) การเรียนรู้ที่น่าสนใจในการขับเคลื่อนหนึ่งหลักสูตรนึ่งชุมชนที่ใช้ชุมชนเป็นห้องเรียนได้อย่างมีพลัง เพราะเกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน อย่างน้อยนิสิตก็ได้สัมผัสห้องเรียนที่มากกว่าหนึ่งห้องเรียนอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนนิสิตได้อะไรบ้าง ทั้งวิชาการและวิชาคน หรือวิชาการและวิชาชุมชน - โปรดติดตามตอนต่อไป



...
๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๗
บ้านหินปูน ต.เขวาใหญ่
อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม



หมายเลขบันทึก: 575642เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2014 08:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2014 09:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

มาชื่มชม งานสหายชาว g2k ครับ

กระบวนการเรียนรู้น่าสนใจ น่าชื่นชม ชื่นใจ เป็นที่สุดค่ะอาจารย์

แอบหวัง อย่างแรง ว่า...ไม่นาน ต้นแบบการศึกษานี้ คงขยายผลไปทั่วทุกสถานศึกษา...

ขอขอบคุณอย่างยิ่ง ที่มีบันทึกมาถ่ายทอดสื่อสาร แบ่งปัน ให้ได้อ่านอย่างทั่วถึงค่ะ

 

              (ขอแอบเรียนนอกฤดู... เรียนรู้ วิชาผู้นำแถวสองด้วยคนนะคะ อิอิ สาธุ)

-สวัสดีครับอาจารย์

-ชอบการเรียนรู้นอกห้องเรียนเป็นทุนเดิม

-เห็นกิจกรรมแบบนี้แล้วยิ่่งชอบใจ

-การเรียนรู้นอกห้องเรียนสัมผัสได้ถึงมุมมองของชีวิต

-ขอบคุณครับ

ชอบการขับเคลื่อนอย่างมีส่วนร่วมเช่นนี้ค่ะ...

"ชื่นชม"..เจ้าค่ะ..ชอบคำว่า ตีเหล็กในขณะที่กำลังร้อนๆ..เจ้าค่ะ...(ถ้า..นักศึกษา..จะมีโอกาศ..ตีเหล็กร้อน..และ..ทำเหล็กให้กล้าแกล่ง..นั้นเป็นอย่างไร..)..ภูมิปัญญาประเภทนี้..กำลังสูญสิ้นไป..จากบ้านเรา.(.ญี่ปุ่น..ยังมีอยู่ให้เรียนให้เห็นบ้าง..)...ขอบพระคุณ..กับบันทึกดีๆ..ค่ะ  

เชื่ิอมโยง  ชัดเจน   จากชุมชน - ห้องเรียน - ชุมชน - ชีวิตจริง  นะคะ

นี่แหละ  ห้องเรียนชีวิตละจ้ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท