"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

มาบำเพ็ญทานอุปบารมีด้วยการบริจาคเลือดกันเถอะ


บันทึกการทำความดีหรือการสร้างบุญโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เพื่อเป็นสิ่งให้ตามระลึกถึงด้วยความปีติสุข อิ่มเอิบใจ และสุขใจ ในฐานะของการเป็นผู้ให้จากอดีตถึงปัจจุบัน...

๒/๐๙/๒๕๕๗

*************

มาบำเพ็ญทานอุปบารมีด้วยการบริจาคเลือดกันเถอะ


 ทางพุทธศาสนากล่าวถึงบารมีทานไว้ ๓ ขั้น คือ

          ๑. บารมี ระดับสามัญ เช่น ทานบารมี ได้แก่ ให้ทรัพย์สินเงินทอง สมบัตินอกกาย หรือปัจจัย ๔ ข้าว ผ้า ยา บ้าน 

         ๒. อุปบารมี ระดับรองหรือจวนจะสูงสุด เช่น ทานอุปบารมี ได้แก่ การเสียสละอวัยวะเป็นทาน การบริจาคเลือดก็จัดอยู่ในทานหมวดนี้

         ๓. ปรมัตถบารมี ระดับสูงสุด เช่น ทานปรมัตถบารมี ได้แก่ การสละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น หรือการสละชีวิตเพื่อรักษาธรรมะ บุญสูงสุดครับ

         เมื่อวานนี้ผมได้ขับรถของพี่สาวไปส่งแม่ตัวไปหาหมอที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ หมอนัดให้ไปตรวจภายในเพราะปัสสาวะเป็นเลือด ไปคอยอำนวยความสะดวกถือกระเป๋าให้ ส่งไปแผนกนั้นแผนกนี้ เฝ้าอยู่ตึกผ่าตัด(จนนั่งหลับ) คอยซื้อข้าวมาให้ จนถึงเที่ยงยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี พยาบาลนัดพบหมอตอนบ่ายอีกรอบ

         ผมบอกให้แม่รอหน้าห้องหมอที่นัดตรวจไปก่อน ตนเองถือโอกาสช่วงพักเที่ยง ได้เดินไปที่ตึกอุบัติเหตุหลังใหม่ขึ้นลิฟท์ไปชั้น ๔ เพื่อบริจาคเลือด พอมาถึงห้องบริจาคเห็นไฟปิด มีป้ายประกาศบอกว่าพักเที่ยง ซึ่งเมื่อตอนถามพยาบาลที่ตรวจคัดกรองแม่บอกว่า “เขาไม่พักเที่ยงหรอกค่ะ” ก็เลยต้องเขียนใบสมัครบริจาครอไปก่อน จะลงไปหาอะไรกินข้างล่างก็กลัวจะเสียคิว

         ขณะนั้นมีผู้บริจาคมากันประมาณ ๑๐ คนเห็นจะได้มีทหารมา ๒ นายด้วย ท.ทหารนายหนึ่งทนไม่ไหวจึงถือโอกาสนี้หลับรอเสียเลย ผมก็เดินไปเดินมา สักพักก็มานั่งรอที่ริมหน้าต่าง มองลงไปด้านล่างตึก เห็นถนนหน้าโรงพยาบาลมีรถติดเกิดจากการชนกันอยู่ ๓ คัน กำลังเคลียร์กันอยู่

         พอถึงเวลาก็รีบเข้าห้องยื่นเอกสาร พร้อมบัตรสีชมพูของการบริจาคเลือดให้เจ้าหน้าที่หนุ่ม น้องเขาบอกพี่ผู้หญิงลาหยุดไปหนึ่งคน จึงอาจช้าสักหน่อย ผู้หญิงคนหนึ่งครั้งแรกที่ผมเห็นมารอก่อนหน้านี้ลักษณะท้วมเตี้ย แข็งแรง ตรวจเจาะเลือดไม่ผ่าน เลือดลอย เธอก็ยังสงสัยอยู่ว่า เลือดตนเองทำไมถึงลอย น้องเจ้าหน้าที่บอก “ยังบริจาคไม่ได้นะครับ” เธอยิ้ม ๆ แล้วก็ออกจากห้องไป ถึงคิวผมทีสองบ้าง ตรวจวัดความดัน เจาะเลือดหยดใส่ขวดน้ำยาสีน้ำเงินอ่อน ผ่าน และรับถาดถุงยางเข้าไปรอเจาะเลือดด้านใน รอสักพักก็มีผู้ชายอายุประมาณ ๖๐ ต้น ๆ สองคนมาช่วยแทงเข็มที่ติดกับถุงยางก็ผ่านพ้นไปด้วยดีไม่มีปัญหาอะไร

         มีชายคนหนึ่งที่มาบริจาคด้วยอยู่ใกล้ ๆ กันกับผมพูดว่า “เขาน่าจะมีเจ้าหน้าที่หลาย ๆ คนนะ งานแบบนี้...ท้องถิ่นที่ทำงานผม เดินกันให้ขวั้กไปหมด...แบ่งมาที่นี่ได้น่าจะดีนะ” ผมได้แต่ยิ้ม ๆ เขาถามลักษณะคุยกับคนที่มาช่วยแทงเข็มว่า “บริจาคเลือดแล้วได้อะไรครับ?” เจ้าหน้าที่ตอบทีเล่นทีจริงว่า “ได้ความสบายใจสุขใจไงครับ” เขาพูดต่อว่า “ผมพาลูกชายมารอจนหลับไปแล้วอยู่โซฟาด้านนอกน่ะครับ...คิดว่าตอนพักเที่ยงยังทำงานเหมือนเมื่อก่อน...กลัวเขาจะว่าเอาเวลางานมาใช้ส่วนตัวน่ะครับ” เจ้าหน้าที่บอก “วันเสาร์อาทิตย์ก็รับนะครับ...แต่ตอนนี้เขาให้พักเที่ยงแล้วครับ”

         ตนเองก็ไม่ได้คุยอะไร ได้แต่หลับตาเบา ๆ มือที่กำลูกยางบีบแล้วก็ปล่อย ๆ เป็นระยะ ๆ นึกอธิษฐานในใจว่า “ขอบุญกุศลของการบริจาคเลือดในครั้งนี้ จงเป็นบุญหนุนไปให้พ่อผู้ล่วงลับและแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ และญาติพี่น้องผู้เสียชีวิตไปแล้วได้รับอานิสงส์ด้วยกัน และการบริจาคนี้จงเป็นบุญหนุนให้ตนเองเข้าถึงซึ่งพระนิพพานในอนาคตกาลข้างหน้านี้ด้วยเถิด” ...ทุกครั้งที่ผมบริจาคเลือดที่ผ่านมาก็จะอธิษฐานในใจลักษณะเดียวกันนี้

         ผมเริ่มบริจาคเลือดครั้งแรกเมื่ออายุ ๑๙ ปีที่จังหวัดระยอง ตอนนั้นพักอยู่ที่อำเภอบ้านฉาง มีเพื่อนคนหนึ่งประสบอุบัติเหตุเกี่ยวกับรถเฉี่ยวชนเพื่อนๆ ที่ทำงานจึงได้พากันบริจาคให้ ต่อมาก็มีการบริจาคแบบเจาะจงบ้างไม่เจาะจงบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะไม่เจาะจงผู้รับ บัตรสีชมพูครั้งแรกที่ทางกาชาดออกให้นั้นได้หายไป เจ้าหน้าที่จึงเปลี่ยนให้ใหม่...


          ต่อมาบัตรใบที่สองที่ออกให้ใหม่เริ่มลงรายการตั้งแต่ครั้งที่ ๖ พ.ค.๔๐ ที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ จากนั้นก็จะบริจาคย้ายไปเรื่อย ๆ ตามสถานที่ที่ตนเองไปพักอาศัยหรือไปทำงาน แต่ส่วนใหญ่แล้ว ช่วงที่บริจาคนี้จะเป็นชีวิตในสมณเพศ การให้ทานนั้นมีทั้งแบบทานบารมีและทานอุปบารมี ระดับจวนจะสูงสุด ควบคู่กันไป ที่บริจาคประจำคือโรงพยาบาลแม่และเด็ก หรือศูนย์อนามัยที่ ๘ นครสวรรค์ เพราะอยู่ใกล้วัดที่พัก แต่แปลกตรงเมื่อสอบถามข้อมูลของกาชาด เจ้าหน้าที่กาชาดนครสวรรค์ตอบว่าไม่มีหน่วยรับบริการโลหิตอยู่ในสถานที่แห่งนี้ ซึ่งเป็นที่น่าฉงนฉงายต่อตนเองเป็นยิ่งนัก

          สถานที่รองลงมาคือโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ นอกนั้นก็แล้วแต่ความเหมาะสม ครั้งที่ ๒๐ บริจาคที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และก็มีที่เชียงรายและพิษณุโลกอีกครั้งหรือสองครั้งเมื่อคราวทำงานอยู่ที่นั่น โดยบัตรผู้บริจาคโลหิตใบที่ ๓ ได้หายไป และต่อมาก็มีบัตรผู้บริจาคโลหิตใบที่ ๔ ทำใหม่เมื่อคราวที่มาทำงานอยู่ที่บ้านได้ไม่กี่ปีมานี้เอง...

           บัตรใบที่สองมีสถิติการบริจาคได้ ๒๕ ครั้ง(ภาพแรก) ใบที่ ๓ มีสถิติบริจาคถึง ๓๒ ครั้ง หายที่พิษณุโลกพร้อมกระเป๋าสตางค์ทั้งหมด บัตรใหม่นี้บริจาคถึงครั้งที่ ๒๔ (เมื่อวานนี้) สรุปว่าหายไป ๗ ครั้ง หากรวมกันอยู่ครบทั้งหมดก็จะได้สถิติการบริจาคเลือดที่ ๓๗ ครั้งพอดี...

           ผมแจ้งให้น้องเจ้าหน้าที่คัดกรองเมื่อวานนี้แล้ว น้องเขาบอกว่า “วันนี้ผมยุ่ง คราวหน้าผมจะปรับให้นะครับ” ผมก็บอก “ไม่เป็นไรครับ” เพราะคิดว่า เราก็มาบริจาคประจำอยู่แล้ว หากน้องเขาปรับให้ตามหลักฐานที่มีอยู่ในขณะนี้ จะมีสถิติการบริจาคเลือดทั้งหมด ๒๙ ครั้งพอดี...

          การบริจาคเลือดไม่ใช่ที่ใคร ๆ ก็บริจาคกันหรือให้กันได้ง่าย ๆ เขามีเกณฑ์ให้เราต้องปฏิบัติตามหรือพิจารณาตนเองก่อนการปฏิบัติหลายประการ เช่น...

          ๑.เป็นผู้มีอายุครบ ๑๗ ปีและ ไม่เกิน ๖๐ ปีหรือเปล่า

          ๒.เป็นโรคที่มีความเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไต มะเร็ง ไทรอยด์ โรคเลือดไหลไม่หยุดหรือเปล่า

         ๓.ผ่าตัด รับเลือดมาก่อนหน้านี้ไม่เกิน ๑ ปีหรือเปล่า

         ๔.ก่อนหน้านี้ ๓-๔ วัน ถอนฟันมาหรือช่องปากเป็นแผลหรือเปล่า

         ๕.ก่อนมาบริจาคกินอาหารที่หวานและมีไขมันมาหรือเปล่า

         ๖.น้ำหนักลดผิดปกติหรือเปล่า สัญญาณไม่ดีแล้วขืนให้ไปอันตราย

         ๗.เมื่อคืนพักผ่อนหลับสบายดีเกิน ๖ ชั่วโมงหรือเปล่า หากนอนน้อยเลือดจะลอยครับ

         ๘.ก่อนบริจาคหนึ่งชั่วโมง สูบบุหรี่มาหรือเปล่า ทั้งที่ความจริงก็ไม่น่าจะเกี่ยวกัน รวมทั้งหลังบริจาคหนึ่งชั่วโมงด้วย

         ๙.ก่อนบริจาคหนึ่งวันหรือหนึ่งคืน ดื่มเหล้า เบียร์ กาแฟ เครื่องดื่มบำรุงกำลังยี่ห้อต่าง ๆ มาหรือเปล่า

         ๑๐.ก่อนบริจาค ๑ อาทิตย์ มีการกินยาแก้แพ้ แก้ปวดพารา แอสไพริน มาก่อนหรือเปล่า

         ๑๑.ก่อนบริจาค ๑๔ วัน มีการกินยาแก้แพ้ใด ๆ มาก่อนหรือเปล่า ยานี้แรงนะ สถานะตรวจเจอคล้ายยาบ้า อยู่ได้นานตั้งสิบกว่าวัน

         ๑๒.ภายในปีนี้ เคยเจาะหู เจาะจมูก เจาะสะดือ สักลายจนเลือดซิบ มาก่อนหรือเปล่า

         ๑๓.ภายในปีนี้ มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ใช่คู่ของตนหรือ “กิ๊ก” มาก่อนบ้างหรือเปล่า...ถ้ามีก็ไม่สมควรบริจาคอย่างยิ่ง

         ๑๔.ต้องไม่ออกกำลังกายหรือทำให้เหนื่อยหรือร้อนเพราะความดันจะสูง เช่น เดินขึ้นบันไดหลาย ๆ ชั้น อาจวัดไม่ผ่านและเวลาให้เลือดแล้ว เลือดจะไหลไม่หยุดครับ

         ๑๕.กินอาหารให้อิ่ม ก่อนการบริจาคทุกครั้ง

         ๑๖.ดื่มน้ำสะอาดสัก ๒-๓ แก้วก่อนการบริจาค เพราะจะทำให้ไม่เป็นลมหรือหน้ามืด

         ๑๗.ในส่วนของผู้หญิงมีเพิ่มเติมคือ เวลามีประจำเดือน มีครรภ์ หรือหลังการคลอดบุตร ไม่ควรบริจาคเลือดด้วยประการทั้งปวง

         การบริจาคเลือดจึงไม่ใช่ที่ใคร ๆ ที่ไม่มีความพร้อมจะบริจาคได้ง่ายๆ ดังตัวอย่างเบื้องต้นนี้ นอกจากนี้ ผู้บริจาคเลือดหรือผู้ที่คิดจะบริจาคเลือดก็จะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบด้านร่างกายของตนเองประกอบด้วย เช่น เป็นลมง่าย วูบหรือช๊อคง่าย เวียนศีรษะ โลหิตจาง กลัวเข็มเจาะ เป็นต้น

         ผู้บริจาคเลือดจึงได้ชื่อว่าได้บำเพ็ญ ทานอุปบารมี เพราะไม่ใช่ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศจะทำหรือบริจาคกันได้ง่าย ๆ นี่ไม่รวมถึงปัจจัยด้านอื่นๆ ประกอบอีกนะครับ...

         แต่ใช่ว่า การไม่สามารถบริจาคเลือดได้นั้น จะเป็นอุปสรรคหรือปัญหาปิดกั้นการสร้างมหาทานหรือการทำความดีด้านอื่น ๆ ได้นะครับ ยังมีการทำบุญแบบอุปบารมีด้านอื่นอีก เช่น บริจาคอวัยวะ มี ไต ตา กล้ามเนื้อ ร่างกาย ให้คนที่รักหรือให้โรงพยาบาล เมื่อตนเองเสียชีวิตไปแล้ว ก็ยังได้ อานิสงส์หรือกุศลแรงไม่แพ้กัน...ทานัง สัคคะโสปานัง ทานเป็นบันไดสู่สวรรค์...

         สิ่งที่ผมไม่ทราบและฝากถามท่านผู้รู้คือ ทำไมต้องนำบัตรติดตัวไว้เสมอ?


ขอบคุณทุกท่านที่สนใจ ขอบคุณ GotoKnow


หมายเลขบันทึก: 575574เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2014 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2014 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

การบริจากโลหิต   ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์    ดียิ่งกว่าบริจากใดๆๆ ค่ะ

ขอบคุณคุณหมอ

Dr. Ple

ที่สนใจและแสดงความเห็นเพิ่มมากครับผม


ขอบคุณอาจารย์ 

ณัฐรดา

อีกท่านที่แวะมาอ่านและมอบดอกไม้ให้กำลังใจมากครับผม

โอกาสหน้าจะเข้าไปบริจาคเลือดมั๊ง

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท