​เรียนรู้พันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมที่ออสเตรเลีย : ๖. CE กับ KT


          การทำงาน “พันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม” (Community – University Engagement หรือเรียกย่อๆ ว่า Community Engagement - CE) ต้องใช้เครื่องมือหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือ Knowledge Translation (KT) เขาให้ความสำคัญต่อ KT มากถึงขนาดตั้งหน่วยงานชื่อ Knowledge Translation Australia (www.ktaustralia.com)

          ผมรู้จักคำว่า Knowledge Translation มานานหลายปี จากวงการสุขภาพ เมื่อไปประชุมเรื่อง University Engagement ที่ออสเตรเลีย และมีการประชุมห้องย่อยเรื่องนี้ก็สนใจ อยากรู้ว่าวงการอื่นเขามอง KT อย่างไร ก็ไปพบว่าวิทยากรเอาความรู้เรื่องนี้มาจากวงการสุขภาพของประเทศแคนาดา ที่เป็นต้นตอของโลก ในเรื่องนี้

          เขาบอกว่ามีคำที่ใช้พ้องกับ KT รวม ๗ คำ คือ Knowledge Mobilization, Knowledge Transfer, Knowledge Exchange, Knowledge Translation, Research Utilization, Research Translation, และ Engaged Scholarship ผมขอเพิ่มเติมว่า ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เรียกว่า Translational Science หรือ Implementation Science

          KT เป็นกิจกรรมที่มีพระเอก (หรือนางเอก) ๒ คน คือนักวิจัย/นักวิชาการ กับผู้ใช้ความรู้ ที่นักวิจัย/ นักวิชาการสร้างขึ้น ดังนิยามของ KT ซึ่งอ่านได้ ที่นี่ โดยที่ทั้งสองฝ่ายต้องทำงาน หรือทำกิจกรรมร่วมกัน อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน และมีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน

          ผมชอบนิยามของกองทุนวิจัยระบบสุขภาพแคนาดา มากกว่านิยามขององค์การอนามัยโลก (ดังรูปที่ ๑) เพราะนิยามของแคนาดา เน้นความร่วมมือสองฝ่ายดังกล่าวในย่อหน้าบน แต่ขององค์การอนามัยโลกดูจะเน้น บทบาทของนักวิชาการมากกว่า

          เหตุที่ต้องมีศาสตร์ว่าด้วยการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ ก็เพราะผลงานวิจัยด้านสุขภาพ ที่เป็นความรู้ใหม่ กว่าจะเข้าไปแทนที่วิธีปฏิบัติเดิม ก็ใช้เวลาถึง ๑๗ ปี (โดยเฉลี่ย) นี่เป็นผลการวิจัยที่ทำให้มีการให้ทุนวิจัย สนับสนุนการวิจัยเพื่อเอาความรู้ หรือผลงานวิจัย ไปใช้ประโยชน์

          สำหรับนักวิชาการแนว CE/KT แล้ว เมื่อมีผลงานวิจัยหรือความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะไม่ทำเฉพาะ knowledge dissemination แต่จะทำ knowledge exchange ด้วย หรือทำเป็นกิจกรรมหลัก

          Knowledge Dissemination เป็นกิจกรรม KT แบบ producer-push ได้แก่การตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร วิชาการ, การนำเสนอในการประชุมวิชาการ, การเผยแพร่ข้อสรุปเป็นภาษาธรรมดาที่ไม่ใช่ภาษาวิชาการ, และ การเผยแพร่ใน โซเชี่ยลมีเดีย

          ตรงกันข้ามกับ KT แบบ producer-push คือ KT แบบ users-pull คือผู้ใช้ความรู้แสวงหาความรู้มาใช้ สำหรับกำหนดนโยบาย หรือใช้ในการดูแลผู้ป่วย

          KT แบบที่มีพลังที่สุดคือแบบ Knowledge Exchange ซึ่งหมายความว่า มีความร่วมมือใกล้ชิดระหว่าง ผู้ผลิตและผู้ใช้ความรู้ ในที่ประชุมจึงมีการย้ำในโอกาสต่างๆ ว่า ต้อง Exchange ไม่ใช่ Disseminate

          พูดง่าย แต่จริงๆ แล้วหากจะให้เกิดผลจริงๆ ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับกระบวนทัศน์ของ นักวิชาการ และต้องมีการเปลี่ยนแปลง (หรือเพิ่มเติม) ในเชิงโครงสร้างของมหาวิทยาลัย และหน่วยงานวิจัย/ วิชาการ เพื่อให้มีกลไกส่งเสริมและช่วยอำนวยความสะดวกแก่กิจกรรม KT โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนด KPI ของผลงาน ทั้งในระดับบุคคล และระดับหน่วยงาน

          กลไกสำคัญคือหน่วยงาน/บุคคล ที่ทำหน้าที่ Knowledge Broker หรือทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างฝ่าย นักวิชาการ/สถาบันวิชาการ กับฝ่ายชุมชน/ผู้ใช้ความรู้เชิงวิชาการ โดยที่ Knowledge Broker ต้องรู้จักและเป็นที่ ไว้วางใจของทั้งสองฝ่าย ช่วยสร้างความสัมพันธ์ และความไว้วางใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งช่วยสร้างสภาพ ความสัมพันธ์ ที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้รับผลประโยชน์


นิยามโดย CHSRF และโดย WHO


KT strategies 3 แบบ

3 KT Plan


4 KT Methods


บรรยากาศในห้องประชุม

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ก.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 575487เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2014 10:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กันยายน 2014 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คำถามใน KT Plan Components เป็นแนวทางที่ดี ที่จะต้องหาคำตอบ เพื่อที่จะให้กิจกรรม KT นั้นมีประโยชน์จริงค่ะ 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท