มีปกติเห็นภัยแม้ในโทษเพียงเล็กน้อย


เมื่อมีความขัดใจเกิดขึ้นเพียงเล็กๆน้อยๆ บ่อยครั้งที่เรามองข้าม แถมพอหายขุ่นก็ยังไม่ได้หยิบมาพิจารณาเพราะความที่เห็นว่า “ก็แค่เรื่องเล็กๆน้อยๆ” หรือ “อย่าคิดมากน่า”

อันที่จริง เราไม่ควรละเลยแม้แต่เรื่องที่เห็นว่าเล็กน้อยนะคะ เพราะว่าเหตุที่ทำให้เราขุ่นได้นั้นมาจากหลายเหตุ หากไม่ได้รับการขัดเกลา ก็จะพัฒนากลายเป็นกิเลสกองใหญ่ กลายเป็นเครื่องติดใหญ่อยู่ในโลก

บางเรื่อง เรามองข้ามไปอย่างคาดไม่ถึงค่ะ และอาจถึงกับทำเป็นปกติด้วยเห็นว่าเป็นความสนุกสนาน เช่น การที่ใครสักคนแซวเราด้วยความสนุกสนานแต่บังเอิญเราไม่ชอบคำแซวนั้น จึงจำคำเขาไว้แล้วคอยหาโอกาสแซวเขาคืนด้วยคำคำเดียวกันเพื่อให้เขาได้อึดอัดเหมือนที่เราเคยรู้สึกบ้าง และหากยิ่งสวนถ้อยคำได้ในทันทีทันควันด้วยแล้ว ความอึดอัดจะแปรไป กลายเป็นความสนุกสนานไปเลยค่ะ ด้วยเห็นว่า “ทันกัน”

จึงกลายเป็นว่ากิเลสประเภทโทสะถูกดับด้วยโมหะ

การ “เอาคืน” อย่างนี้ เราคงไม่นึกว่าเป็นการ “พยาบาท” ใช่ไหมคะ

เพราะเมื่อพูดถึงพยาบาท เรามักนึกไปถึงการไปทำร้ายผู้อื่นเป็นการตอบแทน เช่น ไปทุบตีเขาบ้าง ไปฆ่าเขาบ้าง แต่อันที่จริง “การทำความสุขให้ย่อยยับ” แม้เพียงเล็กน้อยๆก็จัดเข้าในพยาบาทด้วย ดังนั้นการ “เอาคืน” บ้างนิดๆหน่อยๆทางวาจา แต่หากประสงค์ให้อีกฝ่ายเกิดความไม่สบายใจ สูญเสียความสุข การกระทำอย่างนั้นก็คือพยาบาทแล้วค่ะ

แต่เพราะเรารู้ไม่เท่าทันสภาวะ จึงเห็นเป็นเรื่องสนุก จึงพากันขบขัน กลายเป็นได้ความสุขจากการหัวเราะ

สุขอย่างนี้ คือ สุขในปัจจุบันแต่มีทุกข์เป็นวิบาก ไม่ใช่สุขคือความสงบอันเป็นสุขอย่างแท้จริงในพุทธศาสนา

ทำไมจึงกล่าวว่าไม่ใช่สุขแท้ล่ะคะ ??ก็เพราะผู้ที่เอาคืนกำลังถูกอกุศลธรรมทั้งหลายเช่น โมหะ (ความหลง), โกธะ(ความโกรธ), อุปนาหะ(ความผูกโกรธ), พยาบาท, จองเวร, อโยนิโสมนสิการ (การไม่คิดอย่างแยบคาย) เป็นต้น ครอบงำจิตอยู่ จึงทำให้

-การเห็นผิดไปจากความเป็นจริง มีมิจฉาทิฏฐิ คือ เห็นทุกข์เป็นสุข

-การไม่ทำหน้าที่ต่ออริยสัจ คือ ไม่ได้กำหนดรู้ทุกข์ ไม่ได้ประหารสมุทัย ไม่ได้ทำนิโรธให้เกิด ไม่ปฏิบัติตามหนทางที่จะไม่ให้เกิดพยาบาทขึ้นอีกในครั้งต่อๆไป เพราะ

ความรู้สึกร้อนรนเพราะการถูกแซวบ้าง ความร้อนรุ่มเพราะการอยากเอาคืนบ้าง ความกระวนกระวายจากการจ้องหาช่องทางเอาคืนบ้าง ความสุขที่เกิดจากการสามารถเอาคืนได้ เป็นทุกข์ ซึ่งทุกข์นั้น เราทั้งหลายมีหน้าที่ต้องทำคือ กำหนดเพื่อรู้สภาวะ

การมีความเห็นว่าเป็นตน การเห็นว่าคุณสมบัติที่ดีของตนถูกลดทอนลง การจ้องหาช่องทางที่จะเอาคืน การกระทำทางวาจาเพื่อเอาคืน เหล่านั้นเป็นต้น เป็นสมุทัย ซึ่งเรามีหน้าที่ต้องประหาร คือละ บรรเทา ทำให้ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป

ภาวะที่เป็นกลางต่อคำแซว ด้วยเห็นว่าเป็นเพียงคำพูดที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เห็นว่าสักแต่ว่าเป็นเสียง จึงไม่คิดเอาคืน เป็นนิโรธ ที่เรามีหน้าที่ต้องทำให้เกิดขึ้น

การนำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อให้มองเห็นด้วยความเป็นกลางหรือก็คือมรรค มาปฏิบัติ เป็นสิ่งที่เรามีหน้าที่ต้องทำอย่างจริงๆจังๆ เพื่อให้สมุทัยค่อยๆลดน้อยลง จนถึงกับไม่มีในที่สุด

และเพราะไม่ได้ทำหน้าที่ต่ออริยสัจ เราจึงมัวเมาค่ะ ทำอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้เราทำในสิ่งเล็กน้อยนั้นคล่องแคล่วขึ้นเรื่อยๆ แล้วทำในสิ่งที่เป็นกิเลสประเภทเดียวกันได้ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ 

-การปล่อยให้อกุศลธรรมตั้งอยู่ จนกระทั่งซ่านออกมาย้อมจิตจนก้าวล่วงออกทางวาจา แล้วไหลกลับไปนอนจมอยู่ในจิต กลายเป็นกองกิเลสที่ใหญ่โตขึ้น พร้อมที่จะก้าวล่วงออกมาได้เร็วขึ้น มากขึ้น ในโอกาสต่อๆไป

เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ควรต่อการสิ้นทุกข์

ดังนั้น การที่เกิดอะไร “นิดๆหน่อยๆ” อย่างนี้ อย่าเห็นว่าไม่สำคัญนะคะ เพราะเมื่อนิดๆหน่อยๆ หากรวมกันเข้าบ่อยๆ ก็เป็นปริมาณไม่น้อยแล้ว

เคยไหมคะ ที่เห็นบางคนทำอะไรตามหน้าที่ของเขาไป แต่เรากลับหงุดหงิดที่เห็นเขาทำอย่างนั้น ทั้งๆที่เขาและเราไม่ได้เกี่ยวข้องกัน สิ่งที่เขาทำก็ไม่เกี่ยวกับเรา แต่เราเห็นแล้วกลับรู้สึก “ขวางหูขวางตา” ขัดอกขัดใจ หงุดหงิดโดยไม่มีสาเหตุจนบางทีแอบค่อนว่าเขาในใจ

เราปล่อยให้กิเลสประเภทโทสะครอบงำตัวเองโดยไม่จำเป็นทำไม ปล่อยให้กิเลสประเภทโทสะขยายตัวเป็นกองใหญ่ขึ้นโดยไม่จำเป็นทำไมกันคะ

การมองอย่างนี้อย่าเห็นว่าเป็นการคิดมากนะคะ เพราะการคิดมากอย่างฟุ้งซ่านนั้นนำไปสู่ความเห็นว่าเป็นตนอันทำให้ยิ่งคิดมากๆขึ้น ยิ่งเกิดความขุ่นใจมากๆยิ่งขึ้นในครั้งต่อๆไป แต่การมองเห็นว่าเป็นภัยอย่างนี้ เรามองเพื่อที่จะกำจัดอกุศลธรรม เพื่อวางใจจากสิ่งที่ทำให้จิตเราหวั่นไหว เป็นการคิดเพื่อประหารสิ่งที่ไม่ควรคิด ไม่ควรยึด จึงไม่ใช่ฟุ้งซ่าน แต่ เป็นโยนิโสมนสิการ

สมดังพระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้เรา

มีปกติเห็นภัยแม้ในโทษเพียงเล็กน้อย

นั่นเองค่ะ

แต่ ....

ถึงแม้จะเพียรกำจัดอกุศลธรรม ทำตนให้เป็นตนที่รักษาดีแล้ว หากมัวเมาในความไม่มีใครดูหมิ่น ก็เกิดเรื่องอีกเหมือนกันค่ะ เช่น เราอาจไม่เคยถูกใครดูหมิ่นเลย พอมีใครมาติเราสักนิดเดียว ก็กลายเป็นทุกข์ใหญ่ไปได้ ซึ่งอาจจะทุกข์มากกว่าคนที่รู้ตัวเองว่ามีหลายๆอย่างที่ไม่ดีอีกค่ะ

ดังนั้น จึงต้องคอยตักเตือนตนไม่ให้มัวเมาในด้านต่างๆ (เช่น ไม่มัวเมาในชาติตระกูล ในความเคารพที่ผู้อื่นมีให้ ในการศึกษา ในความสามารถในการงาน ในความเป็นผู้มีอวัยวะสมบูรณ์ เป็นต้น)  เตือนตนให้เห็นคุณค่าของการติ บ่มเพาะความเห็นที่จะทำให้ไม่ติใครที่ว่า บุคคลมีศีล สมาธิ ปัญญา อย่างไร เขาก็แสดงออกทางกาย วาจา ด้วยจิตที่ประกอบด้วยศีลสมาธิและปัญญาอย่างนั้น อบรมเมตตา เพื่อให้คลายจากพยาบาทและเป็นพื้นฐานของธรรมอื่นๆ เช่น เพราะเมตตาจึงไม่ล่วงเกินเขาไม่ว่าจะทางร่างกาย ทรัพย์สิน วาจา คนรัก หรือ เปิดโอกาสให้ตนประมาทด้วยสิ่งมึนเมาจนล่วงเกินเขาในทางต่างๆ ฯลฯ

ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสามารถทำดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ความว่า

ให้ใส่ใจในกิจอันตนพึงทำ

ที่ตนทำแล้วหรือยังไม่ทำเท่านั้น

ไงคะ

คำสำคัญ (Tags): #ภัย#พยาบาท#วาจา
หมายเลขบันทึก: 575268เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2014 05:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2014 05:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรื่องเล็ก..กลายเป็นเรื่องใหญ่...เหมือน..สายน้ำ..ในธรรมชาติ(จากจุดเล็กๆกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ไหลสู่ทะเล..)เหมือนเมตตาธรรม..นะเจ้าคะ..

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท