Ensemble concert คอนเสิร์ตโรงเรียนนกฮูก


มันน่าจะเป็นวันที่ดีที่สุดของโรงเรียนลูกผมอีกวันหนึ่ง เพราะวันนี้ก่อนที่จะส่งเด็กๆกลับบ้านจากโรงเรียน เขาจัดงานคอนเสิร์ตประจำปี นั่นคือ welcome concert เพื่อต้อนรับการเปิดเทอม

ปีนี้ welcome ช้าไปหน่อย แต่นั่นแหละ มาช้ายังดีกว่าไม่มา

Ensemble concert คือชื่อคอนเสิร์ตที่ว่านี้ "น้องคิน" และ "น้องเพ้นท์" อัจฉริยะผู้เป็นพิธีกรบอกความหมายของคำว่า ensemble คือ การมาแสดงร่วมกันเป็นกลุ่ม ดังนั้นวันนี้จึงไม่มี soloist จะมีเฉพาะทีมเท่านั้น น่าสนใจทีเดียวครับ

เขาเปิดการแสดงด้วยเพลง Toy symphony ซึ่งใช้แปดมือในการเล่นเปียโน ร่วมกับเครื่องดนตรีของเล่นประกอบต่างๆ "มั่น รัน ฟ่าง และจ้า" คือตัวแสดงครั้งนี้

ผมฟังลูกซ้อมก็รู้สึกว่าเพี้ยนๆ แต่เมื่อไปดูใน youtube จึงเข้าใจ ว่า Mozart เขาคงต้องการเช่นนั้น สนุกๆแสบๆ แอบนึกไปว่า นี่ถ้าในวันที่ลูกแสดงจริงๆ พ่อเอาของเล่นไปแจมด้วยได้ก็น่าจะดี

เพลงนี้จบลงด้วยความสนุก คนดูในห้องต่างปรบมือดังลั่นพร้อมเสียงหัวเราะ น้ำหูน้ำตาเล็ด

เพลงที่ ๒ เป็นการเล่นคู่กันของ "หนุนกับเพ้นต์" เขาบอกว่าเป็นเพลงของ Beethoven ที่แสดงถึงความกราดเกรี้ยว ผมจำชื่อเพลงไม่ได้จริงๆ

ต่อด้วยเพลงเมดเลย์ ที่คุณครูมาเล่นกับคินและมิว เขาเล่าว่าเป็นเสียงคนพิมพ์ดีด ดัง กิ๊งๆ เวลาที่แป้นพิมพ์เลื่อนไปจนเกือบสุดแป้น ต่อด้วยเสียงนาฬิกา ดัง ติ๊กตอกๆๆ ดูน่ารัก

จากนั้นก็เป็นเพลงจากป.๕ ที่ใช้เครื่องดนตรี ๔ ชนิด อูเค่ เปียโน ขลุ่ย และเมโลเดี้ยน พร้อมๆไปกับการร้องเพลงที่ผู้ปกครอง ผู้ชม ต่างก็ฮัมไปพร้อมๆกันด้วย มันน่ารักมาก

อีกเพลงที่น่าสนุกก็คือการแสดงจากทีม ม.๒ ที่เล่นเพลง Let it go จาก Frozen

เขาบอกว่า "นี่เป็นการรวมตัวกันจากคนที่มาจากดาวต่างๆ"

"ผม ดาวน์ซินโดรมครับ" แม่นเป็นผู้กล้าตายคนแรก ที่เรียกเสียงโห่จากห้องแสดงได้อย่างล้นหลาม

จากนั้นก็จะมี ดาวน์รถ ดาวน์บ้าน ดาวลูกเป็ด ดาว(เดา)ข้อสอบ และมาจบที่เจ้าบุ๊ค "ดาวมหาลัยค่ะ"

งานแสดงจบลงที่เพลงโรงเรียน ที่ถ้าฟังผ่านๆ มันก็คงเป็นแค่เพลงโรงเรียน แต่ช้าก่อน เพลงนี้มีที่มาที่น่าสนใจที่สุดในโลก

เพลงนี้ นักเรียนชั้นป.๖ เป็นผู้ร่วมประพันธ์ด้วยกัน ย้ำนะครับ เขาช่วยกันแต่งเพลงของธำรงวัฒนา พัฒนาเยาวชน ใช้เวลาแต่งท่อนฮุกนานถึง ๓ สัปดาห์ เขาช่วยกันแต่งทีละท่อนทีละตอนอย่างอุตสาหะ และมีความหวังว่าน้องๆรุ่นต่อๆไปยังคงจะร้องเพลงนี้ได้ (เจ้าจ้าก็เริ่มร้องท่อนฮุกได้แล้วด้วยนะครับ)

เพลงนี้จบลงด้วยผมแอบสังเกตเห็นว่า ผู้ปกครองบางคนน้ำตาซึม

มันก็น่าจะเป็นเช่นนั้นอยู่หรอก ใครจะไปคิดว่า ท่ามกลางการแข่งขันด้านการเรียนอย่างเข้มข้นในปัจจุบันนี้ ยังมีโรงเรียนที่ลูกๆของเราต่างมีความสุขอยู่กับการเล่นดนตรี เล่นกีฬา และแทบจะไม่มีการบ้าน คิดแล้วก็มานึกถึงลูกสาวคนโต ที่ย้ายออกจากโรงเรียนนกฮูกเมื่อขึ้นชั้น ม.๑ ถึงตอนนี้ผมก็ยังไม่ค่อยแน่ใจนักว่าคิดถูกหรือผิด เพราะตอนนี้ โรงเรียนมัธยมที่ใหม่ก็ได้แย่งลูกผมออกจากครอบครัวไปเรียบร้อย ทั้งการบ้านที่เธอต้องทำจนถึงเกือบเที่ยงคืนทุกคืน ผมกลับบ้านก็ไม่พบลูกแล้วเพราะเธอจะอยู่เฉพาะในห้อง "ทำการบ้าน" คือข้ออ้างทุกคืน เมื่อโรงเรียนปิดบ่อยก็จะให้เด็กเรียนเพิ่มในคาบศูนย์ (มันจะคลั่งเรียนกันไปถึงไหนนักหนาวะ) ลูกเริ่มรู้ว่าข้อสอบที่ครูออกมานอกเหนือการสอนเป็นเช่นไร (ย้ำอีกครั้ง ว่าถึงตอนนี้ แม่ลูกสาวของผมก็ยังไม่ได้เรียนพิเศษอื่นใดนอกจากเรียนเปียโนและภาษาอังกฤษ)

แต่ไม่ว่าผมมาถูกหรือผิดทาง ก็คงต้องมาทบทวนอีกครั้งในวันที่ลูกสาวคนเล็กจะต้องสอบเข้าม.๑ ในอีก ๓ ปีข้างหน้านี้

หมายเลขบันทึก: 575157เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2014 23:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2014 23:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจจังแต่ไม่ได้ดู คนแน่นมากๆ เด็กกล้าแสดงออกทั้งนั้นเลย ส่วนพี่ต้นไม้ไม่เอาเลยเรื่องดนตรี

เมื่อวานบ๊ายบายแล้ว เธอไม่เห็นฉัน จันทวรรณ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท