วิถีคนชายน้ำชายเล


ชีวิตคนชายน้ำชานกรุงจาการ์ต้า

สังคมดั้งเดิมของชาวอินโดฯนั้นคุ้นเคยกับวิถีแม่น้ำและฝั่งทะเลเป็นอย่างยิ่ง หมู่บ้านมากมายมักก่อตั้งรวบรวมชุมชนกันตรงริมตลิ่งสันโคกติดชายน้ำเรียงรายจนถึงสันดอนทรายและปลักตมป่าชายเลน พึ่งพากระแสน้ำในเกือบทุกมิติของการดำรงชีวิต ตั้งแต่ตื่นเช้าออกเดินทางทำมาหากินจนกลับเข้านอน เหมือนนกที่อาศัยท้องฟ้าและปลาที่อาศัยท้องน้ำ

ภาษาแม่น้ำลำคลองเขาเรียกกันอยู่คำเดียวว่า “sungai สุไหง” คำนี้ไม่มีในภาษาสันสกฤตเข้าใจว่าเป็นภาษาชาวเกาะคาบสมุทร เรียกตลิ่งคล้ายคำไทยว่า “tebing เตอบิง” และเรียกที่ลุ่มต่ำหลังตลิ่งว่า “rawa ราว่า” ซึ่งถ้าน้ำไม่ท่วมขังจนกลายเป็นหนองน้ำ “danau ดาเนา” ก็จะใช้ทำนา “sawah ซาว่า” ปลูกข้าวเจ้าเมล็ดสั้น “padi ปาดี้” เรียกเรือหางยาวที่ใช้แล่นในแม่น้ำว่า “ketinting เกอตินติง” หรือ “kelotok เกอโลต๊ก” ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดีเซลวิ่งแต็กๆๆไปเรื่อยเปื่อย ทางต้นน้ำเรียก “hulu ฮูลู” ทางปลายน้ำเรียก “hilir ฮิลิลร์” ถึงปากแม่น้ำก็ “muara มัวรา”

และเรียกขานท้องทะเลว่า “laut หลาอุ๊ด” ซึ่งคำนี้ก็ไม่มีในภาษาสันสกฤตเป็นของชาวเลแท้ น้ำขึ้น-น้ำลงก็ “pasang ปาซาง – surut ซูรุต” วันไหนมีคลื่น “ombak อมบัค” และลมรุนแรง “angin อังงิน” ก็จะงดออกจากฝั่งที่เรียก “pantai ปันไต” ภาษาเรือออกทะเลคือ “perahu เปอราฮู่” หรืออีกคำว่า “kapal กาป้าล” ออกเรือรอนแรมไปเจอเกาะเล็กเกาะน้อย “pulau ปุเหลา” ก็ตั้งชื่อจับจองเป็นของส่วนตัว คำ “pulau” น่าจะมาจากสองคำสมาสกัน “ampu+laut” โดยอำปุแปลว่ายกขึ้นซึ่งดันมาคล้ายกับคำไทย “พุ”

ชาวหมู่เกาะแห่งนี้มีฝีมือในการเดินเรือมาตั้งแต่พันปีแรกของพุทธศตวรรษ สามารถต่อเรือเดินทะเลใช้เองก่อนสุโขทัยปรากฏนามหลายร้อยปี มีอาณาจักรกว้างใหญ่ที่ชื่อ “ศรีวิจาย่า หรือ ศรีวิชัย” ร่วมสมัยศรีทวารวดี กินเขตปกครองตั้งแต่ชวาจนถึงเมืองไชยา ครองน่านน้ำทะเลช่องแคบมะละกา ร่ำรวยจากการค้าขายทางทะเลและเก็บค่าต๋งเรือทุกสัญชาติที่ทำมาค้าขายเดินทางผ่านไปมาระหว่างจีน อินเดียใต้ อาหรับจนถึงกรุงไบแซนไทน์ สั่งสมความมั่งคั่งอยู่นานเป็นคู่แข่งศัตรูคนสำคัญของพวกจามปา เจนละ และโชละแห่งอินเดียใต้ ไม่นับศรีทวารวดี-สุธัมมาวดีซึ่งเน้นพื้นที่การค้ากับอินเดียเหนือเพียงเท่านั้น

เขาเรียกน้ำว่า “air แอรึ” ซึ่งมาจากสันสกฤตว่า “ira” กระหายดื่มน้ำเปล่า “minum air putih มินุมแอรึปูติห์” คำว่า “น้ำ” นั้นภาษาชนเผ่าดายัคบางพวก เรียก “danam ดานัม” หรือ “ranam รานัม” ช่างคล้ายคลึงทั้งมินุมและดานัม ส่วนคำ “putih” โดดๆแปลว่าขาว และเรียกปลาว่า “ikan อิกัน” ซึ่งชาวแม่น้ำมักต้องล่องเรือมาหาซื้อเกลือ “garam การัม” ไว้หมักปลากันเป็นประจำ

ดำเนินชีวิตเรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบันหากยังรักษาประเพณีในแบบบรรพบุรุษไว้อย่างค่อนข้างเข้มแข็งโดยเฉพาะชุมชนริมแม่น้ำ เช่นการกินอยู่ซักล้างและขับถ่าย บ้านปลูกกันเป็นแถวเรียงยาวบนสันตลิ่งวางบันไดไม้พาดลงผืนน้ำเบื้องล่าง....ของใครของมัน เหวี่ยงจับวางอวนตกเบ็ดใส่เหยื่อหลอกล่อบรรดาปลาจากริมแพไม้ไผ่ข้างตลิ่ง เป็นแพที่ใช้ประโยชน์สารพัดตั้งแต่ซักเสื้อผ้า บ้วนปากแปรงฟันอาบน้ำ ตักน้ำขึ้นไปใช้บนบ้าน...และห้องสุขาสุดโปร่งสัมผัสธรรมชาติ ณ ท้ายลำ ส่งต่อถ่ายทอดความสัมพันธ์ไปยังบ้านปลายน้ำและเผื่อแผ่ถึงฝูงปลาที่ว่ายวนรอรับอาหารมื้อหรูเลิศ จนต่อยอดถึงบนสุดแห่งห่วงโซ่อาหาร

เป็นวิถียิ่งกว่าวิถีที่เห็นได้ทั่วไปแม้แต่เมืองกรุงแห่งจาการ์ต้า

จันทบุรี 22 สิงหาคม 2557

คำสำคัญ (Tags): #คนชายน้ำ
หมายเลขบันทึก: 575154เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2014 22:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2017 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สมัยเด็ก ๆ คุณมะเดื่อก็อยู่บ้านชายน้ำ  ยังเป็นภาพที่อยู่ในจิตสำนึกตลอดเวลาจ้ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท