ฉบับที่ ๓๘ “จากโซ่ตรวนของความรัก สู่อ้อมกอดของชุมชน”


          ผู้เขียนแนะนำเรื่องเล่าที่ชนะการประกวด ในโครงการประกวดเรื่องเล่าช่วยคนเลิกสุรา ยาสูบ และยาเสพติด ครั้งที่ 3 เป็นเรื่องเล่าของ คุณ พนิตตา เส็งทอง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ป่วยจากยาเสพติด เรื่องเล่าของคุณพนิตตา จะช่วยเป็นกำลังใจส่งต่อถึงความรักความห่วงใยที่พ่อแม่มีต่อลูกได้อย่างน่าประทับใจ

โดย พนิตตา เส็งทอง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลกโดย พนิตตา เส็งทอง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก

เรื่อง “จากโซ่ตรวนของความรัก สู่อ้อมกอดของชุมชน”

 

“ใครหนอ…รักเราเท่าชีวี…คุณพ่อคุณแม่

ใครหนอ…ปราณีไม่มีเสื่อมคลาย…คุณพ่อคุณแม่

ใครหนอ…รักเราใช่เพียงรูปกายรักเขาไม่หน่ายไม่คิดทำลายใครหนอ”……

โบราณกล่าวไว้ว่า พ่อ แม่เปรียบเหมือนร่มโพธิ์ ร่มไทร เปรียบดั่งพระในบ้าน ที่คอยให้ที่พักพิง ให้ความอบอุ่น ความปลอดภัยกับลูกๆทุกคนเมื่อลูกยังเล็ก พ่อ แม่คอยดูแล ทะนุถนอม โอบอุ้มประคอง ดูแลให้ความรัก ความอบอุ่นจนลูกเติบใหญ่กระทั่ง เมื่อพ่อแม่ล่วงเข้าสู่วัยชราจึงหวังพึงพาให้ลูกคอยช่วยทำหน้าที่ดูแลเฉกเช่นที่เคยปกป้องคุ้มครองดูแลลูกมาเช่นเดียวกันสวัสดีค่ะ… คุณลุงจำลอง ใช่มั๊ยคะ” ฉันส่งเสียงกล่าวทักทายสวัสดีไปตามสายโทรศัพท์ในเวลาสายของวันหนึ่งเป็นอีกวันที่ฉันนำแฟ้มเวชระเบียนผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่มารับบริการตามนัดของสัปดาห์ที่แล้วออกมาติดตามอาการ และโทรศัพท์ติดต่อสอบถามอาการของผู้ป่วย พร้อมทั้งสอบถามสาเหตุของการไม่มารับบริการต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาต่อเนื่องตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยจิตเวช และหนึ่งในจำนวนนั้นมีคนไข้ชื่อ “จเร” อยู่ด้วย

 ครับ ครับใช่ครับ ได้ครับสวัสดีครับ ”เสียงจากปลายสายโทรศัพท์ กระตือรือร้น กล่าวตอบรับด้วยความสุภาพนอบน้อม ลุงจำลองเป็นพ่อของลูกที่ป่วยเป็นคนไข้จิตเวชของคลินิกจิตเวชโรงพยาบาลพรหมพิราม ลุงจำลองเป็นชายชราอายุราวหกสิบรูปร่างเล็ก ผอม เวลาใส่เสื้อยืดคอกลมจะมองเห็นเบ้ากระดูกไหปลาร้าทั้งสองข้างชัดเจน แก้มตอบ ตาดำฝ้าฟางเห็นเป็นสีเทาอยู่ในเบ้าตาลึกทั้งสองข้างผมเส้นบางเป็นสีเงินตัดสั้นแนบหนังศรีษะ มองเห็นเส้นเอ็นปูดโปนอยู่ทั่วไปที่แขนทั้งสองข้างทุกครั้งที่หมอนัด “จเร” รับยาต่อเนื่อง ลุงจำลองจะมารับยาให้ลูกชายเสมอ ถ้าดูตามอายุของลูกชายลุงแล้ว ก็กำลังอยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ ที่มีร่างกายแข็งแรง ฉันมักจะเห็นว่าคนไข้จิตเวชส่วนใหญ่ที่อยู่ในวัยเดียวกันนี้ จะมารับยาที่คลินิกจิตเวชด้วยตนเองกันทั้งนั้น ยกเว้นแต่มีบางรายที่ไปทำงานต่างจังหวัดญาติจึงจะมารับยาแทน ฉันไม่เคยนึกเฉลียวใจเลยว่าเพราะอะไรคนไข้รายนี้จึงเป็นข้อยกเว้น ถ้าหากวันนั้นฉันไม่ได้ไปเยี่ยมบ้านคนไข้ วันอังคารนี้จะไปเยี่ยมบ้านคนไข้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พี่อยากให้พยาบาลจิตเวชออกไปประเมินสุขภาพจิตคนไข้และผู้ดูแลคนไข้ด้วย ไปด้วยกันนะ” พี่ณาพยาบาลศูนย์ดูแลต่อเนื่องงานเยี่ยมบ้านเอ่ยชวนฉันในวันหนึ่ง เมื่อฉันทราบข้อมูลว่าจะออกเยี่ยมบ้านคนไข้พื้นที่ไหน ฉันก็นึกถึงลุงจำลองขึ้นมาได้ “ถ้างั้นขอแจมไปเยี่ยมบ้านจเรด้วยนะคะ ยังไม่เคยเห็นคนไข้เลย ไหนๆก็ไปแถวนั้นอยู่แล้ว” ฉันจึงเล่าให้พี่ณาฟังว่ามีบ้านคนไข้จิตเวชอยู่ละแวกนั้นพอดีขอแวะดูคนไข้ด้วย เป็นอันตกลงตามนัดหมาย ถนนเส้นทางในหมู่บ้านที่คดเคี้ยว ลัดเลาะไปตามหมู่บ้านของชาวบ้านในชนบท “ถึงแล้วถึงแล้ว เลี้ยวตรงทางแยกเข้าบ้านข้างหน้านี่แหละ” เสียงของพี่เงิน อาสาสมัครสาธารณสุขที่พ่วงตำแหน่งผู้ช่วยเหลือคนไข้อีกหนึ่งตำแหน่งของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ดังแทรกขึ้นมารวดเร็ว

“สงสัยไม่มีคนอยู่บ้าน ลุงจำลองคงออกไปรับหลานที่โรงเรียน” เสียงพี่เงิน อาสาสมัครสาธารณสุขเจ้าของพื้นที่ตั้งข้อสงสัยดังขึ้นมา พวกเราจึงพากันเดินเข้าไปใกล้ตัวบ้าน พร้อมกับกวาดสายตามองไปรอบๆบริเวณใต้ถุนของตัวบ้านแล้วสายตาของทุกคู่ก็ได้เห็น……… ที่เสาปูนกลางใต้ถุนบ้านต้นหนึ่งมีเตียงไม้สูงประมาณ 80 เซนติเมตร ตั้งอยู่ชิดโคนเสาบ้าน มุมเตียงด้านหนึ่งมีถ้วยใส่อาหาร และถังใส่น้ำพร้อมกับขันน้ำใบเล็กลอยอยู่ในนั้น บนเตียงมีหมอนเปรอะไปด้วยคราบสีน้ำตาลเข้มแทนลวดลายสีเดิม ผ้าห่มสีหม่นทึมขอบผ้าขาดหลุดลุ่ยเสื่อพลาสติกสำหรับรองพื้นเตียงผุกร่อน หักเป็นท่อนเล็กๆเกลื่อนอยู่ทั่วบริเวณ มุ้งที่เคยเป็นสีขาวบัดนี้กลายเป็นสีเทาดำคล้ำถูกตลบขึ้นไว้ด้านบนอย่างลวกๆปลายมุมเตียงด้านตรงกันข้ามมีถังพลาสติกสีดำวางตั้งอยู่ที่พื้น บริเวณใกล้กับถังพลาสติกใบนั้นมองเห็นรอยเปียกชื้นบนพื้นดินแผ่ขยายเป็นวงกว้าง คล้ายกับว่าทุกๆวันมีใครเทราดน้ำลงมายังบริเวณนี้ และเช่นกันมุมเตียงด้านนี้หันมุมชนเข้ากับเสาบ้าน รอบเสาถูกพันด้วยโซ่เหล็กขนาดประมาณนิ้วก้อยมือเด็กเล็ก ปลายห่วงโซ่ด้านหนึ่งเสียบคล้องด้วยแม่กุญแจสีเหลืองดูแข็งแรง สายโซ่และแม่กุญแจมีคราบสนิมเกาะคลุมอยู่ทั่วไป บ่งบอกให้รู้อายุการใช้งานที่ผ่านกาลเวลามามิใช่น้อย เมื่อมองไล่สายตาไปตามสายโซ่ที่ทอดยาวจากเสาบ้านต้นนั้น ก็พบปลายด้านหนึ่งถูกพันรอบเข้ากับข้อเท้าขวาของชายคนหนึ่งพร้อมล็อคกุญแจแน่นหนาอีกเช่นกัน เงียบงันไปชั่วอึดใจ……..เสียงพูดคุยจ๊อกแจ๊กที่ดังมาตลอดระยะเวลาของการเดินทางมาที่นี่เงียบลงทันที ราวกับนัดหมาย

ชายหนุ่มที่นั่งอยู่บนเตียงตรงหน้ารูปร่างผอม แขนขายาวมองดูเก้งก้าง ถ้าหากลุกขึ้นยืนเขาคงเป็นผู้ชายที่ตัวสูงมากทีเดียว สวมเสื้อสีซีดและกางเกงขาสั้นเก่ามอม ผมยาวระต้นคอแห้งกระด้าง ผิวคล้ำ คราบไคลแผ่กระจายอยู่ทั่วไปตามร่างกาย เล็บมือ เล็บเท้ายาวมองเห็นเศษสีดำติดฝังแน่นอยู่ใต้เล็บชัดเจน ชายผู้นั้นส่งสายตาฉงนมองมาที่พวกเราสายตาพวกเรามองที่เขา…ชายผู้นั้นและแล้วเมื่อชายผู้นั้นส่งยิ้มให้พวกเราก็สัมผัสได้ถึงไมตรีจิต สดใสในรอยยิ้มนั้น “เข้าโซ่ไว้ตั้งแต่ปี 2538 ปีที่น้ำท่วมใหญ่ กลัวเขาเดินออกไปจากบ้านแล้วไม่กลับ เขาเคยพูดให้ฟังว่าจะไปถือธงวิ่งนำหน้ารถไฟ กลัวเขาเป็นอะไรไป เราดูแลเขาไม่ทัน ตามเขาไม่ทัน ให้นอนด้วยบนบ้านก็ทำเลอะเทอะ ขี้ เยี่ยวไม่รู้ที่ทาง ก็เลยให้อยู่อย่างนี้มาเรื่อยๆ บางครั้งไม่พอใจก็หงุดหงิด กลัวเขาทำร้ายหลาน เอาเขาไม่อยู่ ถ้าเขาโมโหขึ้นมา” ลุงจำลองเล่าให้ฟังในวันหนึ่งหลังจากได้มีการติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยต่อเนื่องเป็นระยะ

ลุงจำลองเล่าให้ฟังอีกว่า “จเร” เรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 3 หลังจากเรียนจบ ก็ติดตามเพื่อนๆในหมู่บ้านเดียวกันไปทำงานรับจ้างก่อสร้างที่กรุงเทพ ขณะทำงานครอบครัวทราบมาบ้างว่า จเร ยุ่งเกี่ยวกับยาบ้า เสพยาบ้าตามเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน เพราะความสนุกสนานตามวัย เพราะเชื่อในทางที่ผิดว่าจะทำให้ทำงานได้มากขึ้นโดยไม่อ่อนเพลียครอบครัวทำได้เพียงแนะนำ ตักเตือนบอกถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา จากการเสพยาบ้าเวลาผ่านไปประมาณ 3 ปีอยู่มาวันหนึ่ง จเรก็ได้โดยสารรถไฟมาจากกรุงเทพกลับมาบ้าน กลับมาอยู่กับครอบครัว พ่อแม่แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมคือ จเรมีพฤติกรรม พูดสับสน วกวน ไม่เป็นเรื่องปัจจุบันบางครั้งพูดหัวเราะคนเดียวไม่สมเหตุผล เมื่อสอบถามเพื่อนที่ไปทำงานด้วยกัน ก็เล่าให้ฟังว่าจเรมีอาการหวาดระแวง กลัวคนอื่นทำร้าย จึงหนีออกจากที่พักจนกระทั่งกลับมอยู่ที่บ้าน“พาไปหาหมอ ไปรักษา หลายที่ โรงพยาบาลพุทธชินราชก็เคยไป มีคนบอกว่า ที่ศรีธัญญาดีก็พาไปเชียงใหม่สวนปรุงก็ไปมาแล้วกลับมาอยู่บ้านเหมือนเดิม อยู่อย่างนี้ ไม่หายได้”

จิตแพทย์บอกว่า จเรป่วยเป็นโรคจิตที่มีพยาธิสภาพที่สมอง ซึ่งส่วนหนึ่งคงเป็นจากการใช้ยาบ้านั่นเอง ที่ทำให้สารเคมีในสมองของเขาเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรสิบกว่าปีแล้วซินะ ที่คนไข้ไม่เคยออกไปพบปะเพื่อนฝูงเก่าๆ หรือก้าวเท้าออกจากบริเวณบ้านอย่าว่าแต่บริเวณบ้านหลังนี้เลย แค่ก้าวเดินออกจากบริเวณใต้ถุนบ้าน เขาเคยได้มีโอกาสหรือเปล่าหนอเขาทำได้เพียง นั่ง กิน นอน ขับถ่ายอยู่บนแคร่ไม้ตัวนั้น ทุกๆวันคืนของชีวิตทีผ่านไป เขาปลอดภัยอยู่บนเตียงไม้แคบๆภายในใต้ถุนบ้านพ่อแม่ครอบครัวสบายใจ ไร้กังวลว่าลูกรักจะหนีหายไปจากบ้านอีกอยู่ให้สบาย นี่คือวิธีที่จะทำให้ลูกปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายทั้งกับตัวเองและกับคนอื่นอีกต่อไป หาใช่การทรมานหรือลงโทษลูก แต่อย่างใด หมอเขามาเยี่ยม จเร เขาปรึกษา จะหาทางช่วยคนไข้ได้อย่างไรบ้าง ”

“ล่ามไว้แบบนี้ไม่ดีแน่ สงสารคนไข้ พ่อแม่เขาก็อายุมากแล้ว พวกเราคนบ้านเดียวกัน คงต้องช่วยกัน”ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ได้กล่าวหารือกับผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัครสาธรณสุขในพื้นที่ เพื่อร่วมหารือ หาแนวทางพลังจากชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือผู้ป่วย พลังความปรารถนาดี จากหลายๆฝ่ายที่แสดงออกถึงความหวังดี อยากช่วยเหลือ ต่างแบ่งหน้าที่การช่วยเหลือต่างกันไป  พลังจากชุมชนสนับสนุนสิ่งแวดล้อม ปรับพื้นที่บริเวณใต้ถุนบ้าน ต่อเติมห้องพักให้

“เคยนอนใต้ถุนบ้านมาสิบกว่าปีแล้ว จะให้ขึ้นไปนอนบนบ้าน ก็คงนอนไม่หลับ” เป็นข้อสังเกตของพี่อาสาสมัครสาธารณสุขคนหนึ่งกล่าวถึงแนวคิดการสร้างห้องพักให้จเรที่ใต้ถุนบ้านเช่นเดิม ทีมสาธารณสุขติดตามเยี่ยมบ้านสม่ำเสมอ ปรับแผนการรักษา ประเมินอาการผู้ป่วย ให้กำลัง คำแนะนำการดูแลคนไข้ สร้างความมั่นใจกับครอบครัวและชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียงถึงอาการของคนไข้ที่ปลอดภัย ไม่เป็นอันตราย สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัว และคนอื่นๆในชุมชนได้

10 เดือนผ่านไป นับจากวันแรก วันแห่งอิสรภาพก็มาถึง วันที่ทุกคนรอคอย จิตแพทย์ แพทย์ประจำคลินิกจิตเวช พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข ผู้นำชุมชน เพื่อนบ้าน หลายๆคนที่ทราบข่าวที่คอยเอาใจช่วยที่สำคัญ คือวันที่พ่อแม่ของจเรเฝ้ารอคอยด้วยใจจดจ่อที่จะไม่ต้องสับแม่กุญแจคล้องโซ่แห่งความรักให้กับลูกชายอีกต่อไป ทุกครั้งที่ได้เจอ จเร หรือในความคิดคำนึงที่มีถึง จเร ฉันจะสัมผัสได้ถึง ความซื่อตรง จิตใจที่ใสสะอาด ไร้มารยา สัมผัสได้ว่าชายคนนี้เปี่ยมไปด้วยมิตรไมตรีกับทุกคนที่ได้พบเจอ สิ่งเหล่านี้คงพอจะเป็นแง่มุมดีๆที่ยากจะค้นหาได้จากสารเสพติดที่ชื่อว่า “ยาบ้า” กระมัง ?????หน้าที่ของพ่อแม่ ไม่มีวันจบลง ตราบที่ลูกยังมีชีวิตอยู่ค่ะ เป็นความรักอันยิ่งใหญ่

25/8/57

ศจย. www.trc.or.th

หมายเลขบันทึก: 575123เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2014 13:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2014 13:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าประทับใจมากเลยค่ะ  ขอให้กำลังอีก 1 แรง

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท