Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ตอบคำถามเรื่องการเลือกใช้กฎหมายสัญชาติในการขัดกันแห่งกฎหมายว่าด้วยบุคคลและการกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยของน้องหม่อง


ตอบคำถามเรื่องการเลือกใช้กฎหมายสัญชาติในการขัดกันแห่งกฎหมายว่าด้วยบุคคลและการกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยของน้องหม่อง

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๒

------------------------------------------------------

อาจารย์ค่ะรบกวนถามคำถามหน่อยค่ะ‏

จาก: warangkhana yanphaisan

ส่งเมื่อ: 13 ตุลาคม 2552 5:03:16

ถึง: archanwell

อาจารย์ค่ะ

หนูขอรบกวนถามส่วนของอาจารย์ประสิทธิ์หน่อยค่ะ คำว่า กฎหมายสัญชาติของบุคคลในพรบ.กฎหมายขัดกัน หมายถึงกฎหมายขัดกันหรือกฎหมายสารบัญญัติค่ะ เพราะในหนังสือของอาจารย์ประสิทธิ์บอกว่าหมายถึงกฎหมายขัดกัน แต่ตอน lecture อาจารย์ประสิทธิ์บอกว่าเป็นได้ทั้งกฎหมายขัดกันและกฎหมายสารบัญญัติ ตัวอย่างเช่น เรื่องการหย่าโดยความยินยอมที่ให้ดูกฎหมายสัญชาติของทั้งสองฝ่ายว่ายอมให้กระทำได้หรือไม่ ซึ่งกฎหมายที่จะบอกว่ายอมให้กระทำหรือไม่ก็คือกฎหมายสารบัญญัติ ดังนั้นกรณีนี้คือใช้กฎหมายสารบัญญัติของคู่สมรสเลยโดยไม่ต้องผ่านกฎหมายขัดกันของคู่สมรสก่อนหรอค่ะ

ขอรบกวนอาจารย์อีกคำถามนะค่ะ เรื่องน้องหม่องอ่ะค่ะ หนูสงสัยว่าน้องหม่องมีสิทธิอาศัยในประเทศไทยตามที่รัฐมนตรีอนุญาตตาม ม.17 สิทธิอาศัยตาม ม.17 ของน้องหม่อง หมายถึงสิทธิอาศัยชั่วคราวตาม ทร.13 ใช่ไหมค่ะ ดังนั้นน้องหม่องก็ต้องมีชื่อในทร.13 หนูเลยสงสัยว่าคนคนหนึ่งจะมีชื่ออยู่ทั้งในทะเบียนประวัติและทะเบียนบ้านพร้อมกันได้หรอค่ะ

ขอร้องอาจารย์ช่วยตอบหน่อยนะค่ะ หนูสงสัยจริงๆ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

---------

คำตอบ

---------

  • 1.ปัญหาแรกที่ถาม เป็นปัญหาการขัดกันแห่งกฎหมายเอกชน อันนำไปสู่การเลือกกฎหมาย (Choice of Laws) ในสถานการณ์การขัดกันแห่งกฎหมายเอกชน (Conflict of private laws)

ผู้ถามยกประเด็น “กฎหมายสัญชาติของบุคคล” ในพรบ.กฎหมายขัดกันมาพิจารณากัน กรณีจึงเป็นการกำหนดการเลือกกฎหมายเพื่อบังคับใช้ต่อปัญหาการขัดกันแห่งกฎหมายว่าด้วยบุคคล ซึ่งในความเป็นไปได้ การเลือกกฎหมายอาจเกิดขึ้นในหลายลักษณะ อาทิ (๑) กฎหมายภูมิลำเนา (๒) กฎหมายแห่งถิ่นที่ทำสัญญา (๓) กฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์ตั้งอยู่ ฯลฯ

ย้อนมาพิจารณาตัวอย่างของผู้ถามยกขึ้นมา อาทิ มาตรา ๑๐ วรรค ๑ กำหนดว่า “ความสามารถของบุคคลเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติหรือกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติของบุคคล” ขอให้สังเกตว่า ข้อกฎหมายนี้ชี้ว่า หากบุคคลตกอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐสองรัฐขึ้นไป ลงไปที่กรณีศึกษาลึกลงไปว่า “ศาลไทยจะต้องกำหนดความสามารถของนายสมิทซึ่งมีสัญชาติอังกฤษและมีภูมิลำเนาอยู่ในจีนแดง” มาตรา ๑๐ วรรค ๑ จึงชี้ให้เราใช้กฎหมายอังกฤษ ไม่ใช่กฎหมายจีน

จะเห็นว่า คำว่า “กฎหมายอังกฤษ” ในที่นี้ หมายถึง “กฎหมายขัดกันอังกฤษ” มิใช่กฎหมายสารบัญญัติอังกฤษว่าด้วยบุคคล แต่ด้วยกฎหมายขัดกันอังกฤษเป็นกฎหมายขัดกันในระบบกฎหมายแบบ Common Law กฎหมายในตระกูลนี้กลับชี้ให้ใช้ “กฎหมายภูมิลำเนาหรือกฎหมายของรัฐเจ้าของภูมิลำเนา” ประเทศในตระกูลกฎหมายนี้ไม่ใช้กฎหมายสัญชาติเหมือนดัง กฎหมายขัดกันในระบบกฎหมายแบบ Civil Law อย่างประเทศไทย ดังนั้น ในกรณีการกำหนดกฎหมายเพื่อบังคับปัญหาความสามารถของนายสมิทนั้น เราจึงต้องไปดูกฎหมายขัดกันจีนต่อไป ......

แต่หากเราเปลี่ยนข้อเท็จจริงเป็นว่า “ศาลไทยจะต้องกำหนดความสามารถของนายสมิทเป็นคนสัญชาติจีนและภูมิลำเนาจีน” ข้อวินิจฉัยก็จะเป็นว่า ศาลไทยก็ต้องใช้มาตรา ๑๐ วรรค ๑ และมาตรานี้ก็จะชี้ให้ใช้กฎหมายขัดกันจีน และเมื่อกฎหมายขัดกันอยู่ในระบบกฎหมายแบบ Civil Law อย่างประเทศไทย ดังนั้น กฎหมายขัดกันย่อมกำหนดให้ใช้กฎหมายสัญชาติบังคับปัญหาความสามารถของนายสมิทนั้น กฎหมายต่อไปจึงเป็นกฎหมายสาระบัญญัติจีนว่าด้วยบุคคล

กรณีการขัดกันแห่งกฎหมายสัญญาก็เป็นอีกกรณีที่ฟันธงได้ว่า ใช้กฎหมายสารบัญญัติที่คู่สัญญาเลือกใช้ได้เลย เพราะทุกประเทศบนโลกยอมรับหลักเสรีภาพในการแสดงเจตนา

  • 2.ส่วนเรื่องน้องหม่องที่คุณถามมา

น้องหม่องมีสิทธิอาศัยในประเทศไทยตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ สิทธิอาศัยชั่วคราวไม่ได้เกิดจากการที่มีชื่อใน ทร.๑๓ แต่การมีสิทธิอาศัยจะทำให้เกิดสิทธิที่จะร้องขอมีชื่อในทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) เป็นเรื่องโดยหลักกฎหมาย กล่าวคือ มาตรา ๓๘ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ แก้ไข ๒๕๕๑

แต่ในทางปฏิบัติ กระทรวงมหาดไทยไปตั้งเงื่อนไขในกฎกระทรวง (?) ว่า จะเพิ่มชื่อน้องหม่องใน ท.ร.๑๓ ก็ต่อเมื่อสิทธิอาศัยต้องมีระยะเวลาเกินกว่า ๕ ปี ดังนั้น น้องหม่องจึงมิได้รับการยอมรับให้มีชื่อในทร.๑๓ คงต้องรอคนมาโต้แย้งกระทรวงมหาดไทยในการกำหนดนโยบายขัดพระราชบัญญัติ

โดยหลัก คนๆ หนึ่งไม่ควรมีชื่ออยู่ทั้งในทะเบียนประวัติและทะเบียนบ้านหากเป็นคนมีรัฐ แต่หากเป็นคนไร้รัฐ เขาจะมีทะเบียนประวัติก่อน เพื่อขจัดปัญหาความไร้รัฐ และเมื่อถูกบันทึกในทะเบียนบ้าน เขาก็จะได้รับการยอมรับว่า มีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนในรัฐเจ้าของดินแดน การมีชื่อในทั้งสองเอกสารจึงเป็นไปได้สำหรับคนไร้รัฐโดยสิ้นเชิงที่ผันเปลี่ยนมาเป็นคนไร้สัญชาติเท่านั้น

กรณีที่เถียงกันในกรณีน้องหม่อง ก็คือ น้องหม่องมีชื่อใน ๒ ทะเบียนประวัติ ซึ่งไม่ควรจะเป็น แต่ก็เกิดขึ้น เพราะน้องมี ๒ สถานะ กล่าวคือ (๑) ผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว และ (๒) เด็กในสถาบันการศึกษาไทย ในทางนิติศาสตร์ เราจึงต้องใช้สถานะที่ได้มาทีหลัง และเป็นสถานะที่เป็นคุณค่อบุคคล

ไม่ทราบจะตอบทันความสงสัยไหมคะ อย่าลงลึกมากเกินไปนะคะ การสอบในระดับปริญญาตรีต้องการตรวจสอบความรู้พื้นฐานค่ะ

หมายเลขบันทึก: 575122เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2014 13:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2015 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท