“แม่...แม่...แม่....แม่ไม่รักหนู”


  •          บางครั้งสิ่งที่ดูเหมือนว่า  ผู้ป่วยปฏิเสธแสดงออกมาว่า  ไม่สนใจ  ไม่ต้องการ  กลับเป็นจิตวิญญาณที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน  และทำให้ผู้ป่วยไม่สงบสุขแสดงออกในสภาพของคนก้าวร้าว  เรียกร้องตลอดเวลา
  •          หลังจากการ  conference case  ของทีมการดูแลที่เป็นสหสาขาวิชาชีพ  อาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งหันไปบอกกับฉันว่า   “ขอช่วยไปดูผู้ป่วยรายนี้ด้วยนะ”
  •          ผู้ป่วยหญิงอายุ 30 ปี   ศาสนาพุทธ  อาชีพนักวิจัยการตลาด  ป่วยเป็นเนื้องงอกที่คอ (ขนาดเท่ากับลูกมะพร้าว)  หายใจเองไม่ได้ต้องเจาะคอต่อด้วยเครื่องช่วยหายใจ  มีสายให้อาหารทางหน้าท้อง  สายน้ำเกลือ  และสายปัสสาวะ  ตั้งแต่คอลงมาถึงเท้าเป็นอัมพาตผู้ป่วยสามารถพูดโดยไม่มีเสียง (ต้องอ่านจากปาก)
  •         ประเด็นปัญหา
  •        1.ผู้ป่วยมีอาการกระสับกระส่ายเรียกร้องให้พยาบาล/เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลทุก10นาทีและถ้าใครพูดถึงเรื่องแม่ผู้ป่วยจะโกรธไม่ยอมพูดด้วย (ผู้ป่วยเป็นลูกสาวคนเดียวพ่อกับแม่อยู่กรุงเทพฯพ่อกับแม่ไม่เคยมาเยี่ยมผู้ป่วย)
  •          2.บุคลากรทีมที่ดูแลรู้สึกBurnout
  •          วันแรกที่ฉันไปเยี่ยมคุณนัท (นามสมมติผู้ป่วย)  น้องพยาบาลหอผู้ป่วยพาฉันไปแนะนำผู้ป่วย  “น้องนัทค่ะนี่พี่ฟ่งเป็นพยาบาลห้องฉายแสง  มาเยี่ยมและให้กำลังใจ”
  • “สวัสดีค่ะน้องนัท  ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างค่ะ”  ฉันทักทายและเปิดการสนทนา
  • “อยากตาย....”  น้องนัทพูดไม่มีเสียง   สายตาบ่งบอกว่าท้อแท้ไม่มีกำลังใจ
  • “บอกพี่ได้ไหมค่ะ   ว่ามีอะไรที่ทำให้น้องนัท  รู้สึกอยากตาย”  ฉันถาม
  • “ทรมาน.....”  น้องนัทพูดไม่มีเสียงสีหน้าแสดงถึงความเจ็บปวดทรมาน
  • “เข้าใจค่ะ  พี่เองเคยใส่ท่อช่วยหายใจเมื่อประมาณ 20 ปีกว่า   รู้สึกทรมานนอนอยู่ใน  ICU 7 วัน 7 คืน”   ฉันแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกร่วมโดยแชร์ประสบการณ์
  • “.........”  น้องนัทพยักหน้าสายตาที่มองมาเป็นมิตร
  • “แต่...เอ...เมื่อกี้เห็นน้องๆพยาบาลมารุมมะตุ้มกัน  4-5 คนเพื่อจะให้อาหารทางสายหน้าท้อง  มีอะไรหรือค่ะ”  ฉันถามเพื่อหาสาเหตุการไม่รับอาหาร
  • “แน่น....แน่น...”  น้องนัทตอบ
  • “แต่พี..ก็ห่วงว่าน้ำย่อยจะกัดกระเพาะ  เมื่อกี้ทราบข่าวจากน้องพยาบาลว่า  น้องนัทไม่รับอาหารมา  2 วัน”   ฉันชวนสนทนาต่อ
  • “ค่ะ...”   น้องนัทตอบ
  • แบบนี้ดีไหมค่ะลองให้ช้าๆ  แค่เศษหนึ่งส่วนสี่ของขวดก่อน  ถ้าแน่นหยุดทันที”  ฉันเสนอความคิดเห็น
  • “ค่ะ”  น้องนัทพูดพร้อมพยักหน้า
  •            หลังจากนั้นน้องนัทสามารถรับอาหารได้หมดขวด และได้รับครบทุกมื้อ  ฉันไปเยี่ยมน้องนัททุกวัน   สัมพันธภาพที่ดีทำให้น้องนัทเกิดความไว้วางใจ   จนกระทั่งวันที่ 4 ของการเยี่ยม  อาจารย์พยาบาลและน้องพยาบาลอยากไปเรียนรู้  ว่าทำอย่างไรผู้ป่วยดูสดชื่นขึ้น   ลดความก้าวร้าว  และเรียกร้องหาบุคลากรน้อยลง
  • “สวัสดีค่ะ น้องนัท  วันนี้อาจารย์พยาบาลและน้องพยาบาลอยากมาเยี่ยมให้กำลังใจด้วย”  ฉันทักทายและแนะนำอาจารย์พยาบาลและน้องพยาบาล
  • เดี๋ยวพี่อยู่ต่อนะ”  น้องนัทพูดเหมือนมีอะไรที่จะบอก
  • “ค่ะ”  ฉันตอบและสังเกตเห็นว่ามีอะไรบางอย่างที่น้องนัทต้องการจะบอกกับฉัน   อาจารย์พยาบาลและน้องพยาบาลรับรู้ถึงความรู้สึกอันนี้ได้  จึงขอตัวกลับหลังได้สนทนากับผู้ป่วยเล็กน้อย
  • “แม่...แม่...แม่... แม่ไม่รักหนู”  น้องนัทพูดเสร็จร้องไห้
  • “อะไรนะแม่..แม่...”  ฉันทวนคำพูดเพื่อต้องการให้น้องนัทพูดต่อ
  • “แม่  แม่ไม่รักหนู   ทอดทิ้งหนู  ไม่เลี้ยงหนู”  น้องนัทร้องไห้น้ำตาคลอเป้า   ฉันเข้าไปโอบกอดและเอากระดาษทิชชูซับน้ำตาให้  
  • “พี่เข้าใจนะว่า  น้องนัทไม่สบายใจ   แล้วทราบมาก่อนว่าถ้าใครเอ่ยถึงแม่  น้องนัทจะโกรธและไม่พูดด้วย  จะให้พี่ฟ่งช่วยอะไรบอกมาได้เลยนะ”  ฉันเสนอตัว
  • ไม่..ไม่..ไม่สำเร็จ”  น้องนัทพูดพร้อมส่ายหน้า
  • “ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้  จะลองให้พี่โทรคุยกับแม่ไหมค่ะ”  ฉันลองเสนอความคิดเห็น
  • “......”   น้องนัทเงียบและพยักหน้าพร้อมเรียกให้คนดูแลที่เธอจ้างมา  ยื่นโทรศัพท์และกดคำว่าม่ามี้แล้วให้ฉันโทรคุยกับคุณแม่
  • “สวัสดีค่ะ  ฉันชื่อ กานดาวศรี  ตุลาธรรมกิจ  เป็นพยาบาลผู้ดูแลน้องนัทค่ะ”   ฉันแนะนำตัวเอง
  • “ลูกคนนี้ทำให้ฉันเจ็บช้ำน้ำใจ ๆๆๆๆๆๆๆ”   แม่น้องนัทเธอคร่ำครวญประโยคนี้หลายครั้งด้วยอารมณ์โกรธประมาณ10นาที
  • “ค่ะ  พยาบาลไม่ทราบว่ามีอะไรกัน   แต่จะบอกกับคุณแม่ว่าขณะนี้น้องนัทหายใจเองไม่ได้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ  ตั้งแต่คอจนถึงเท้าเป็นอัมพาตหมดแล้วค่ะ”   ฉันพูดให้ข้อมูล
  • ค่ะ  ยังไม่แน่ใจว่าจะมาได้ไหม”  แม่น้องนัท
  • “ถ้ามีอะไรก็ให้โทรเบอร์โทรศัพท์ของพยาบาลนะ.........อภัยทานเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่โดยเฉพาะกับลูกของเรา”
  • ปรากฏว่าคืนนั้นแม่น้องนัทนอนไม่หลับกับคำพูดที่ฉันได้เตือนสติ   รุ่งเช้าเธอโทรมา
  • “ใครเป็นคนให้โทร”  แม่น้องนัทถามเสียงดุๆ
  • “ก็น้องนัทค่ะ  เพราะพยาบาลไม่มีเบอร์โทรค่ะ  และโทรศัพท์ของนัทด้วย   แต่ก่อนอื่นพยาบาลจะบอกว่า  ก่อนที่จะโทรนัทร้องไห้เรียกแม่..แม่..แม่...แสดงว่านัทคิดถึงแม่มาก”  ฉันถือโอกาสให้ข้อมูล
  • “ฉันรอคำนี้มาหลายปีแล้วๆๆๆๆๆๆๆๆ...เดี๋ยวฉันจะไปหานัท”   แม่น้องนัทร้องไห้คร่ำครวญ
  • “ค่ะ  แต่ถ้าจะมา  ต้องขออโหสิกรรมกัน  น้องนัทคงเหลือเวลาไม่นาน”  ฉันเสนอความคิด
  • “ได้ค่ะ...ได้ค่ะ  พรุ่งนี้ฉันจะไปหาดใหญ่”   แม่น้องนัทตอบด้วยความดีใจ
  •  หลังจากคุยโทรศัพท์เสร็จฉันขึ้นไปหาน้องนัทและบอกว่า   “แม่นัทจะมาพรุ่งนี้นะ  แต่พี่ต้องการให้นัทขอขมาขออโหสิกรรมกับแม่  ในฐานะที่เป็นลูก  แม่ให้ชีวิตเรามา  พี่ไม่รู้หรอกนะว่ามีอะไรเกิดขึ้นระหว่างนัทกับแม่”
  • “ได้ค่ะ  นัทจะขอขมาและขออโหสิกรรม”  นัทตอบด้วยรอยยิ้มทั้งน้ำตา
  •            วันที่สองแม่ลูกได้พบกันขอขมาขออโหสิกรรม  เป็นภาพที่ฉันประทับใจ  แม่เข้าไปกอดลูก  หอมแก้ม  กระซิบบอกความในใจ    หลังจากนั้น  5 วัน  น้องนัทก็จากโลกนี้ไปอย่างสงบ
หมายเลขบันทึก: 574578เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2014 18:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 สิงหาคม 2014 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

 ติดตามอ่านบันทึกที่เกี่ยวข้องกับ pal care มาหลายบันทึกด้วยความสนใจ . มีการดูแลแบบนี้กับคนไข้ระยะสุดท้ายในทุก รพ. หรือเปล่าคะ ทำไมคนไข้หนักที่หมดหวังแล้วจึงยังร้องกลับบ้าน อ่านแล้วส่วนตัวคิดว่าถ้าตนเองเจ็บหนักใกล้ตาย คงอยากนอนตายที่ รพ. มากกว่าเพราะมี แพทย์ พยาบาลที่เข้าใจ และสามารถช่วยจัดการอะไรให้ได้หลายอย่างนะคะ ขอบคุณนะคะ ความจริงกลัวมากที่จะนอน รพ. อ่านแล้วลดความกลัวลงได้ค่ะ

พี่ไม่ได้เป็นฝ่ายตั้งคำถามเพื่อประเมิน แต่ดูแลเรื่องทั่วไปก่อนจน...น้องนัทไว้วางใจ แล้วเปิดใจเรื่องจิตวิญญาณเอง

ค่ะ  ก่อนเข้าไปเยี่ยมน้องนัท  พี่ได้ข้อมูลว่าน้องนัทมีลักษณะวาดระแวงไม่ไว้ใจกับผู้ที่เข้าไปดูแลสูง  ไม่ว่าจะเป็นหมอ  พยาบาล  ฉะนั้นเราต้องสร้างความไว้วางใจจะไม่รีบเปิดใจประเด็นเรื่องแม่

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท