"สร้างคนดี เหนือสิ่งใด"


“สร้างคนดี เหนือสิ่งใด"

วิถีโรงเรียนสัตยาไส

สิริรัตน์ นาคิน*

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ระบบการศึกษาต้องหันกลับมาทบทวนหัวใจสำคัญของการจัดการเรียนการสอน ไม่ว่าจะด้วยวิธีการสอนแบบใดที่มีเทคนิค รูปแบบ กระบวนการ แนวทางที่น่าสนใจ แต่สิ่งอื่นใดก็ไม่สำคัญไปกว่า “สร้างคนดี เหนือสิ่งใด" เป็นวิสัยทัศน์ของโรงเรียนสัตยาไส ที่เรามักรู้จักกันดีว่าโรงเรียนนี้มีชื่อเสียงในจุดเน้นการสร้างเด็กให้เป็นคนดี มีคุณธรรมจริยธรรม ตามแนวคิดของท่านไส บาบาที่ท่านดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ได้นำแนวคิดนี้มายึดถือเป็นแนวปฏิบัติจัดกระบวนการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้ตัวว่าแต่ละวันนั้นเด็กๆ จะต้องเจอกับเรื่องราวอะไรบ้างที่จะต้องรับมือให้ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเขา ใครกันบ้างที่ต้องตระหนักให้ความสำคัญกับภูมิคุ้มกันเหล่านี้ให้กับเด็ก ๆ ใครกันที่ต้องคอยปลูกฝังสิ่งดี ๆ ให้กับพวกเขา เพื่อที่จะได้เติบโตไปไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่ทุจริต ไม่คดโกง อยู่ในสังคมอย่างซื่อสัตย์ มีความสุขก่อนที่จะเป็นคนเก่ง มีความดีเสียก่อนที่จะเป็นคนเก่งและเหนืออื่นใดคือ การสร้างคุณค่าของความเป็นมนุษย์ให้มีศักดิ์ศรี อยู่ในตนเอง มีความรักความเมตตา ความปรารถนาที่จะเห็นผู้อื่นมีความสุข อยู่กันด้วยความรัก ให้อภัยได้แม้กระทั่งศัตรู ไม่เอาเปรียบคนอื่น เบียดเบียนผู้ที่ลำบาก สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าเกิดจากการปลูกฝังอย่างต่อเนื่อง ค่อย ๆ ซึมซับความดี ความงาม เป็นบ่อเกิดความลุ่มลึกทางจิตใจ ผู้ที่ได้อยู่ใกล้ ๆ แล้วก็มีความสุข และรู้สึกมีความสุขมากขึ้นเมื่อได้สัมผัสเข้าไปถึงแนวความคิด จิตใจ ที่แปรผันจากนามธรรมสู่รูปธรรม ทำสิ่งที่เป็นความคิด ออกมาเป็นพฤติกรรมที่สังเกตได้ เห็นได้ชัดเจน เริ่มตั้งแต่ความนอบน้อม ถ่อมตน ความเอื้ออารี มีเมตตากับเพื่อนและพวกพ้องหรือแม้กระทั่งคนอื่นที่เราไม่รู้จักมักคุ้นด้วยสักเท่าใดนัก และเราก็เรียนรู้ถึงกระบวนการที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมน้อมนำลงสู่ใจผ่านกิจกรรมการนั่งสมาธิโดยใช้แสงสว่าง พูดแล้วหลายคนอาจจะคุ้นชินกับคำว่านั่งสมาธิ แต่อยากรู้ลึกต้องลองไปสัมผัสดูว่าเขาทำกันอย่างไร วิธีการง่าย ๆ แต่ใช้ใจใคร่ครวญ มองเห็นตามที่เป็นจริงก็เป็นการบ่มเพราะนิสัยที่ดีงามทีละนิด ๆ ลงสู่จิตใจของผู้เรียนตามปณิธานที่ตั้งไว้แล้วนั้น

หากเราทบทวนดูตนเองว่าอะไรที่เป็นต้นเหตุของการศึกษาในปัจจุบัน อะไรที่เป็นสาเหตุของการทุจริต คดโกง การทำผิดอย่างเคยชินจนเคยตัวจะโทษใครได้ ในเมื่อการศึกษาภาคสมัยใหม่เน้นการสอบ ตรวจวัดคุณค่าจากเกรดเฉลี่ย และคะแนนทุกหนแห่งที่เราต่างก็หยิบยื่นวัดคุณภาพของเด็ก ๆ แต่ละเลยลืมการวัดคุณภาพความเป็นคน ไม่ได้หมายถึงว่าต้องเป็นคนดี แต่หากหมายถึงคุณภาพของคนที่มีจิตใจใฝ่คุณธรรม คิดพูดทำสิ่งใดก็จักไตร่ตรอง ใคร่ครวญ ครุ่นคิดอยู่ว่าสิ่งที่พึงกระทำลงไปนั้นสมควรหรือไม่ เมื่อคิดทุกครั้งกำกับความคิดตนเองได้ก็จะเริ่มย้อนมองถึงความถูกต้องดีงาม ความละอายและพร้อมที่จะนำคุณธรรมลงสู่ใจและแสดงออกมาเป็นพฤติกรรม ค่อย ๆ คิดทบทวนย้อนมองดูตนเอง สังเกตตนเอง เฝ้าพิจารณาความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ความเชื่อ ค่านิยมที่ตนกระทำว่าเป็นความจริงหรือไม่ หรือทำไปเพื่ออะไร ถูกหรือผิด มีศักดิ์ศรีในตนมากน้อยเพียงใดและต้องการจะสร้างคุณค่าของความเป็นมนุษย์อย่างไรบ้างในใจตนเองเพื่อเกิดการหล่อหลอม สิ่งที่เป็นนามธรรมจากภายในสู่ภายนอกออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้อย่างชัดเจน ความดีที่เราสร้างหรือปลูกฝังส่งเสริมให้กับเด็ก ๆก็ไม่ไปไหนเพราะจะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก ๆในภายภาคหน้าได้เป็นอย่างดี เมื่อใดที่เขาประสบพบเจอกับปัญหาเขาสามารถที่จะแก้ไขสถานการณ์นั้น ๆให้ผ่านไปได้และถือว่าเป็นบททดสอบกับตัวเขาเองเสียด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เรียนในโรงเรียนนั้นมีความหมาย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงเมื่อยามคับขันที่จะต้องตัดสินใจเลือกกระทำ หรือไม่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันนำพาให้เขาได้รับความเดือดร้อน แต่จะต้องไม่นึกถึงตนเองก่อน นั่นหมายถึงเด็ก ๆ จะนึกถึงคนอื่นมาก่อนเสมอ อาทิ ถ้าเราจะพูดอะไรที่ทำให้คนอื่นเป็นทุกข์ เขาจะต้องเสียใจ หรือจะต้องเดือดร้อนเราจะไม่ทำ เพราะทำให้ตัวเราเองก็เกิดความไม่สบายใจ เกิดความทุกข์กับสิ่งนั้นด้วยเช่นกัน และแน่นอนว่าการคิด พูด ทำแต่สิ่งดี ๆ ย่อมได้รับความสุขมากกว่า การเห็นคนอื่นมีความสุข เราเองก็พลอยมีความสุขไปด้วย ดังนั้น ความจริงในที่นี้คือการเรียนรู้ใจตนเอง รู้ว่าเรามีหน้าที่อะไร เห็นคุณค่าในตนเองและเห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์เห็นบุคคลอื่นเฉกเช่นเดียวกับเห็นเขาเป็นหนึ่งเดียวกับเรา มีความรักความเมตตาให้แก่กันและกันอยู่บนพื้นฐานของความดีงาม เป็นสิ่งที่เราควรสร้างให้กับเด็ก ๆ ของเรา ซึ่งนับวันจะค่อย ๆ ลางเลือนไปกับการรู้จักตนเอง เห็นคุณค่าในตนเอง ความมีจิตใจที่ใฝ่หาความมีคุณธรรมภายในใจตน น้อมนำมาปฏิบัติ มีค่านิยมที่ควรยึดถือตามแนวคิดของตนเอง ซึ่งล้วนแล้วแต่เด็ก ๆ ทุกคนสามารถรับรู้ได้ จากการสอดแรกกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้ละทิ้งความเป็นวิชาการ เพียงแต่มีจุดเน้นที่ต้องการสร้างคนดีมาก่อนอื่นใดเท่านั้นเอง

เมื่อใดที่เราทบทวนระบบการศึกษาที่ให้น้ำหนักทั้งด้านวิชาการ และคุณธรรมจริยธรรมให้สำคัญอย่างเท่าเทียมกันเป็นตัวชี้วัดที่จะต้องดีจากภายในและเก่งจากภายนอก สามารถสังเกตได้สิ่งเหล่านี้จะเชื่อมโยงสู่เบื้องลึกของจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ที่ในมนุษย์ทุกคนสัมผัสได้ สร้างได้ และมีความต้องการคือเป็นที่ยอมรับในสังคม แล้วเราจะมัวสร้างคนเก่งเพียงด้านเดียวเพื่อมาทำลายล้างกันอย่างเดียวนั้นหรือ หากเราหลงลืมและละเลยไม่ให้ความเท่าเทียมกับการศึกษาวิชาความรู้เนื้อหาในบทเรียน กับการศึกษาโลกภายในใจ ความตระหนักรู้ที่เกิดขึ้นตามปัจเจกบุคคลนั้นแล้ว เราจะหวังพึ่งพิงมนุษย์คนใดในโลกนี้ในวันข้างหน้า หรือในอนาคตอันใกล้ที่ค่อยลบเลือนไปแล้ว ความจริงของเราสร้างโรงเรียนเพื่อปลูกฝังสิ่งใดกัน หลักสูตรที่หนาและเก่าคร่ำครึ หรือหลักสูตรที่ส่งความสวยหรูแต่ไม่สามารถจับต้องสัมผัสได้แต่มีความลงตัวอยู่ในรูปเล่มอันสวยงามกระนั้นหรือ นักวิชาการมากมายที่เก่งแต่ไร้จรรยาบรรณก็ไม่ต่างอะไรกับกระดาษขาวที่ถูกขีดเขียนตามอารมณ์อย่างนั้น หากแต่ขาดความรู้สึก ลุ่มลึกทางจิตใจที่ค่อย ๆ บรรจงสร้างรังสรรค์แต่จะให้เกิดประโยชน์ที่พึงมีพึงได้กับผู้เรียนมากกว่า ปรับเปลี่ยนไปมาแต่ก็ไม่พ้นดึงของเดิมมาใช้...

หากแต่เรามองเห็นหัวใจของความเป็นมนุษย์ในตัวเราและผู้อื่น เราก็คงต้องสร้างเสริมแต่สิ่งดี ๆ ให้กับตัวของเรา เปรียบเหมือนน้ำเลี้ยงที่ต้องการหาความชุ่มชื่นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการสร้างคนที่เราเน้นสร้างคนดี เหนือสิ่งใด เพราะในโลกนี้ปัจจัยหลัก ๆ ที่มีอิทธิพลทุกหนทุกแห่งก็คือมนุษย์ไม่ว่าจะถูกมองว่าเป็นตัวปัญหา ตัวทำลาย แต่ถ้าเราเลือกที่จะเปลี่ยนมุมมอง ปรับทัศนคติ น้อมรับสิ่งดีๆเข้ามาหล่อเลี้ยงจิตใจของเรา เหมือนกับเด็ก ๆที่โรงเรียนสัตยาไสบ้างจะเป็นไรไป เพราะเขาไม่ได้ดีจนตามใครไม่ทันแต่ภูมิคุ้มกันของความดีภายในจิตใจที่มองเห็นคนอื่นด้วยความเมตตา จะเป็นเกราะป้องกันคุ้มภัยความเลวร้ายมาสู่ตัวเขา และความดีนั้นจะสร้างเขาขึ้นมาเป็นคนที่สมบูรณ์ เหนือสิ่งอื่นใดอย่างแน่นอน โลกเราต้องการทั้งคนดีและคนเก่งแต่ความเก่งฝึกกันได้ เป็นทักษะ หากทำซ้ำบ่อยเข้าก็จะชำนาญ แต่ความดีต้องปลูกฝังมิใช่ฝึกได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ หากเราให้ความสำคัญที่มากพอก็จะมีโรงเรียนที่สร้างคนดี เหนือสิ่งใด ภายใต้แนวคิดของผู้นำที่มีจิตวิญญาณของการเปลี่ยนแปลงตามปณิธานของตนเองที่กำหนดเป็นจุดเน้นอย่างเป็นรูปธรรม มิใช่เพียงเขียนไว้เพียงในหน้ากระดาษแผ่นเดียว ก็หลงลืม...

สุดท้าย ต้องขอชื่นชมผู้กล้าทางจิตวิญญาณที่เคยได้สัมผัส และขอนับถือในหัวใจแห่งความมุ่งมั่นที่ต้องการสร้างโรงเรียนดี ๆ มีหลายแนวคิดแตกต่างกันไปตามความสนใจของเด็ก ๆ ที่เขาคงเป็นผู้เลือกที่จะก้าวเข้าไปเรียนด้วยความเห็นดีเห็นงามของครอบครัว ล้วนแล้วแต่เป็นคุณูปการอย่างยิ่งสำหรับคนรุ่นหลังแม้วันหน้าจะไม่มีผู้นำทางจิตวิญญาณเหล่านี้แล้วก็ตาม....ขอน้อมนำสิ่งดี ๆ ที่ได้พบลงสู่ใจผู้อ่านทุกท่านช่วยกันเป็นพลังสร้างความเปลี่ยนแปลงในฐานะมนุษย์ที่เห็นคุณค่าของมนุษย์ด้วยกันก็เท่านั้นเอง.....

หมายเลขบันทึก: 574155เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2014 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2014 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท