วรรณกรรมชีวิต (Literature of Life)


ทุกสรรพสิ่งมีเหตุผลแต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะชอบเหตุผลที่เกิดขึ้นหรือไม่ จะชอบหรือไม่ชอบ จะทำหรือไม่ทำ สิ่งเหล่านั้นขึ้นอยู่กับวรรณกรรมชีวิตที่ผ่านมา

 

นับตั้งแต่เริ่มสัมผัสกับธุรกิจครอบครัวตั้งแต่สมัยยังเด็ก เริ่มเดินเข้าสู่สายวิชาชีพเมื่อสมัย ปวช. (บัญชี) เดินต่อด้วยปริญญาตรีบริหารธุรกิจ ตามด้วยมหาบัณฑิตทางด้านธุรกิจและการจัดการ ตลอดระยะกว่ายี่สิบปีที่ผ่านมาได้สัมผัสและวนเวียนกับหลากหลายชีวิตและอีกหลายหลากที่ไม่มีชีวิตที่อยู่บนฐานคิดทางด้านดังกล่าว

ในช่วงระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านเมื่อ ครบรอบวันที่เขียนไว้ในลาออกว่าจะขอลาออกจากงานในวันที่ 31 ตุลาคม 2549

1 ปีกว่าที่เริ่มฟังเพื่อนใหม่ พี่ใหม่ น้องใหม่ คุยเรื่องอะไรก็ไม่รู้ที่เราไม่เคยได้ยิน คิดเรื่องอะไรก็ไม่ทราบที่ไม่เข้าใจ และทำในสิ่งที่เราอธิบายไม่ได้

การคิดและการทำของเราทุก ๆ อย่างในชีวิตล้วนแล้วแต่ว่า "วรรณกรรมชีวิต" ของเราได้สัมผัส เรียนรู้ และสร้างฐานคิดด้วยวรรณกรรมประเภทใด

บางครั้งเราคิดว่า ทำไมคนอื่นถึงทำอย่างโน้นไม่ทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ได้อย่างไร ช่างไร้เหตุผลสิ้นดี

ทุกสรรพสิ่งมีเหตุผลแต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะชอบเหตุผลที่เกิดขึ้นหรือไม่

จะชอบหรือไม่ชอบ จะทำหรือไม่ทำ สิ่งเหล่านั้นขึ้นอยู่กับวรรณกรรมชีวิตที่ผ่านมา


วรรณกรรมชีวิต (Literature of Life) เป็นปัจจัยที่ลิขิตการเดินและคิดของแต่ละคน

เมื่อก่อนฐานคิดที่ผ่านมาที่สร้างจากคนที่เรียกว่า บิดาแห่งการจัดการทางวิทยาศาสตร์ F.W.Taylor ผู้คิดค้นทฤษฎีการจัดการศึกษาความเคลื่อนไหว (Time&Motion Study)  Frank & Lilian Gilbreth , Henry Fayol กับ Administrative Principles , หรือ Max Webber บิดาแห่งการทฤษฎีองค์กรอย่างเป็นทางการ (Bureaucratic Organization)

หลายคนอาจจะสับสนว่าคนเหล่านี้คือใคร เช่นเดียวกับผมเอง เริ่มสับสนเมื่อต้องคุยกับน้องสาวเมื่อเขาพูดถึง อัลเบิร์ต ไอน์สไตล์ หรือเมื่อคุยกับพี่สาวถ้าเขาพูดถึงพระบิดาแห่งการกฎหมายไทย เพราะแต่ละคนเรียนรู้วรรณกรรมในชีวิตที่แตกต่างกัน

และมีวรรณกรรมเล่มใดที่เป็นวรรณกรรมร่วมแห่งชีวิต?? (Co-Literature of Life)

"วรรณกรรมแห่งรัก (Literature of Love)"  

ทุกชีวิตที่เกิดมามีความรัก ทั้งเป็นคนที่รักและคนที่เขารัก

วรรณกรรมแห่งรักเล่มแรก ถูกถ่ายทอดโดยสายเลือดเมื่อครั้งที่เราอยู่ในท้องของแม่ ครั้นเมื่อลืมตาดูถูก สองมือที่คอยโอบอุ้มประคับประคอง ซึ่งเป็นเสมือนต้นแบบแห่งการดำเนินชีวิต เรียนรู้ความอ่อนโยนจากแม่ และเรียนรู้ความเข้มแข็งจากพ่อ เป็นความสมดุลแห่งชีวิตที่ทำให้เราเติบโตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งวรรณกรรมเล่มนี้เปรียบเสมือนวรรณกรรมแห่งรักแท้ (Actually Love Literature)

เมื่อครั้นเดินเข้าสู่วัยเรียน เราก็จะได้เจอวรรณกรรมเล่มที่สอง "ครู" ซึ่งเปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สองของเรา ชีวิตในหนึ่งวัน 24 ชั่วโมง เราได้สัมผัสและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากครูร่วม ๆ 8-10 ชั่วโมง ความรู้ในการดำเนินชีวิต ความรู้ทางด้านวิชาการ นับตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงกระทั่งปริญญาตรี หรือบางคนเรียนรู้วรรณกรรมฉบับนี้จนกระทั่งระดับปริญญาเอกหรือมากกว่านั้น

แต่วรรณกรรมชีวิตที่ทรงคุณค่าและทรงพลังที่อาจจะเข้ามาเป็นปัจจัยแทรกซ้อนที่ทำให้หลาย ๆ คนได้สัมผัสตั้งแต่สมัยเรียน หรืออีกหลายคนได้สัมผัสเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน วรรณกรรมรักของหนุ่มสาว ที่เหมือนกับว่าโลกสร้างมาไว้เพื่อเป็นคู่กันก็ได้ถูกสร้างขึ้น

ความสดใสแห่งวรรรมกรรมเล่มแรก (พ่อแม่) และวรรณกรรมเล่มที่สอง (ครูบาอาจารย์) ความสวยงามที่เคยได้สัมผัส ทำให้เกิดฐานคิดที่ว่า วรรณกรรมเล่มต่อมาน่าจะสวยสดและงดงามตามไปด้วย ซึ่งบางคนก็ได้พบกับสิ่งที่สวยงามดังใจที่ได้หวังไว้ แต่อีกหลาย ๆ คนก็ได้พบกับวรรณกรรมเล่มใหม่แห่งความขื่นขมตามมา ซึ่งนั้นก็กลายเป็นวาทกรรมที่แปรเปลี่ยนเป็นฐานคิดในการมองและคิดในการใช้ชีวิตต่อไป

วรรณกรรมแห่งชีวิตที่สำคัญอีกเล่มหนึ่งที่มีความสำคัญ (เสมือนเป็นที่สุด) แห่งชีวิต ที่เปรียบเสมือนพ่อและแม่คนที่สามของเรานั้น ก็คือ "สื่อ"

วรรณกรรมที่ถูกถ่ายทอดผ่านเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ นับตั้งแต่ตื่นลืมตาเห็นแสงพระอาทิตย์ในแต่ละวัน จนกระทั่งหลับตาลงน้อยเมื่อครั้นพระอาทิตย์ตกดิน

วรรณกรรมที่ถูกถ่ายทอดผ่านสิ่งต่าง ๆ ที่สามารถกล่อมให้เราหลับไหลในยามค่ำคืน และสามารถปลุกเราจากเตียงนอนให้ลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่บางครั้งเรายังหาคำตอบไม่ได้ว่า "เราทำไปทำไม"


เวลากับวรรณกรรมเล่มแรก (พ่อแม่)เราใช้ชีวิตกับวรรณกรรมเล่มนี้น้อยลง

เวลากับวรรณกรรมเล่มที่สอง (ครูบาอาจารย์) เริ่มมีแต่การสอนทางด้านวิชาการมากขึ้น เหลือเวลาสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรมน้อยลง

เวลากับวรรณกรรมเล่มที่สาม (แฟน หรือคู่รัก) ที่เปรียบเสมือนโปรโมชั่นโทรศัพท์ที่ใหม่ ๆ แสนงดงามแต่หลัง ๆ เริ่มจืดจางไป

ทำให้เวลากับวรรรณกรรมเล่มที่สี่ (สื่อ) มีบทบาทและทรงพลังมากขึ้นกับการสร้างฐานคิดและตัดสินใจของหลากหลายคนทั่วไปในสังคม ซึ่งกลายเป็นวรรณกรรมเล่มที่สำคัญที่สุด ที่สามารถกำหนดพฤติกรรมหลาย ๆ คนในการดำเนินชีวิตให้เป็นไปตามนัยแห่งการนำเสนอ

บางวันหรือบางเวลาถ้าท่านอยากรู้ว่า ชีวิตเราเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร ลองหลับตาและทบทวนวรรณกรรมชีวิต (Review Literature of Life) แล้วเราจะรู้ว่าสิ่งที่คิดและสิ่งที่ทำนั้นเกิดจากเหตุผลหรือกลใด.......

"เราคิดหรือทำอย่างนี้ได้อย่างไร"

 

หมายเลขบันทึก: 57409เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2006 14:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท