การศึกษาเพื่ออะไรหรือเพื่อใคร ? ในแนวคิดของพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)


การศึกษาเพื่ออะไรหรือเพื่อใคร

การศึกษาเพื่ออะไรหรือเพื่อใคร ?

ในแนวคิดของพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)

...........................................

๑. บทนำ


ปัจจุบันการศึกษามีจุดหมายที่แตกต่างกันออกไปมากมายซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมที่แปรเปลี่ยนไปสังคม(ซึ่งก็หมายถึงคน) เป็นตัวกำหนดทิศทางของการศึกษาว่าเป็นอย่างไร? การศึกษาเพื่ออะไร? โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัยที่การศึกษาออกนอกระบบ ก็ยิ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามมากมายในเชิงการศึกษาว่าเพื่ออะไรหรือว่าเพื่อการค้าหรือไม่? ....หวังเพื่อเป็นการร่วมกันคิด เล่าสู่กันฟัง จากแนวคิดของพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)..ตามความเข้าใจของผู้เขียนและท่านผู้อ่านก็ร่วมกันคิดว่าเป็นอย่างที่เขียนมานี้หรือไม่? หรือหากว่าไม่เป็นไปอย่างที่กล่าวมานี้.. ที่จริงหรือที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร? และขณะนี้การศึกษาในทัศนะหรือแนวคิดของตัวเราเองนั้นมองว่าการศึกษานั้นคืออะไรและเพื่ออะไรหรือเพื่อใคร?


๒. ความหมายของการศึกษา

พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)ได้ให้ความหมายของที่มาของคำว่า “การศึกษา” ไว้ว่า มาจากภาษาบาลีว่า สิกฺขา คำว่า สิกฺขา มีรากศัพท์ว่า สิกฺข หมายถึง วิชฺโชปาทาน แปลว่า การแสวงหาวิชชา ส่วนคำว่า วิชฺชา หมายถึงความรู้สภาวะแท้จริงของสิ่งทั้งหลาย ดังนั้นสิกขา หรือศึกษาจึงหมายถึงการแสวงหาวิชชาหรือความรู้แจ้ง ซึ่งก็คือปัญญา คือการศึกษาเป็นกระบวนการแสวงหาปัญญา และกำจัดอวิชชาไปพร้อมกัน เมื่อปัญญามา อวิชชาก็หายไป เหมือนแสงสว่างเกิดขึ้นมา ก็ขับไล่ความมืดไปด้วย การศึกษาจึงเป็นไปเพื่อการเข้าถึงปัญญาอันเป็นเครื่องมือที่ขจัดเสียซึ่งอวิชชาคือความไม่รู้ จึงได้ชื่อว่าเป็นการศึกษาอันจะนำไปสู่การศึกษาที่เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์


กล่าวได้ว่า การศึกษาต้องการเน้นเรื่องหลักไตรสิกขา เพื่อเข้าถึงปัญญาอันแท้จริง ซึ่งปัญญาอันแท้จริงในที่นี้ก็คือ พระนิพพาน อันเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิตในสังคมพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมที่มีคติความเชื่อมาตั้งแต่อดีต ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ความสำคัญของการศึกษาที่มีความสัมพันธ์กันเชิงวัตถุกับเชิงจิตนิยม(จิตใจ) ซึ่งทั้งสองส่วนนี้คือท่านคงเห็นว่าไม่สามารถแยกออกจากกันได้ การให้ความสำคัญก็ควรให้ความสำคัญควบคู่กันเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุล


๓. จุดมุ่งหมายของการศึกษา


พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)กล่าวว่า การศึกษาที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จเพราะนโยบายของการศึกษาไทยถูกครอบงำด้วยเป้าหมายทางเศรษฐกิจ มุ่งผลิตบุคคลากรทางการศึกษาออกไปเพื่อเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจ การศึกษาจึงไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและแก้ไขปัญหาอื่นๆ ได้ การศึกษาที่เหมาะสมต้องเป็นไปเพื่อการสร้างคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เข้าใจถึงความเป็นจริงของชีวิต อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ทำประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น มีการพัฒนาที่สมดุลทางร่างกาย สังคม จิตใจและปัญญา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตตนให้สูงและการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาศักยภาพ (Learning to Know) สมรรถภาพ(Learning to do) คุณภาพ(Learning to live together) มนุษยภาพ (Learning to be) จึงจะทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งเก่งดี และมีความสุข


จากที่ได้กล่าวมานี้ชี้ให้เห็นว่าการศึกษามีความสำคัญและสามารถพัฒนาผู้เรียนให้เจริญทั้งทางร่างกาย จิตใจและสังคมสามารถบรรลุประโยชน์สุขจากการศึกษาเป็นทั้งคนเก่งดีและมีความสุข มีความเป็นอิสระทางด้านร่างกายและจิตใจไม่ตกเป็นทาสของวัตถุ


ดังนั้นกล่าวได้ว่า การศึกษาต้องเป็นการศึกษาที่สามารถช่วยยกระดับจิตใจและความรู้ทั้งผู้เรียนและผู้สอน ให้เป็นคนเก่งดีมีความสุขสามารถพัฒนาตนได้สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจแม้แต่ในขณะที่เรียนหรือกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่และออกไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคม และท่านเห็นว่าการศึกษานั้นสามารถช่วยได้โดยให้ผู้เรียนมีการศึกษาด้านศีลธรรมควบคู่กับการศึกษาด้านต่างๆ โดยการศึกษานั้นต้องมีเป้าหมายสามารถให้ผู้เรียนที่จบออกมาสามารถแยกแยะดีชั่วได้ด้วยตนเอง เมื่อรู้จักแยกแยะแล้วก็สามารถละชั่วแล้วหันมาทำความดีต่อไป ส่วนผู้สอน(ครู)นั้นต้องมีความรู้ดีและความประพฤติดีด้วย วิชาที่สอนนั้นต้องมีความสอดคล้องกับบริบทสังคมไทยและสอนให้คนรู้จักตรวจสอบตนเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะมีความรู้และความประพฤติดี


พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการศึกษาว่า การศึกษาไทยอยู่ที่การพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ การสร้างระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ควรถือเป็นเป้าหมายรองของการศึกษา การศึกษาที่พึงประสงค์ของสังคมไทยต้องนำหน้าเศรษฐกิจ นั่นคือการศึกษามีไว้เพื่อพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ การพัฒนาคนเป็นเป้าหมายหลักของการศึกษาไทย การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายรอง ทั้งนี้เพราะถ้าคนได้รับการพัฒนาดีแล้ว การพัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้ก็จะตามมาเอง


จุดมุ่งหมายของการศึกษา จึงเป็นการสร้างปัญญาหรือวิชชา ซึ่งหมายถึงความรู้ตามสภาวะแท้จริงของสรรพสิ่ง รู้จริงให้ถึงแก่นแท้ ของสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเรียนเรื่องอะไรก็ตาม ความรู้อย่างนี้ ท่านเรียกว่า ยถาภูตญาณทัศนะ คือความรู้เห็นตามความเป็นจริงเป็นการแสวงหาปัญญา คือความรู้เห็นตามความเป็นจริงนั่นคือภารกิจสำคัญของการศึกษา การศึกษาเน้นเรื่องพัฒนาปัญญามากกว่าเรื่องอื่น เพราะปัญญาเป็นคุณธรรมสำคัญที่สุด ปัญญาเป็นประธานแห่งคุณธรรมทั้งหลาย อีกข้อหนึ่งคือการกำจัดอวิชชาอวิชชาคือความไม่รู้ ความหมายที่ครบถ้วนของอวิชชาคือ ความไม่รู้สิ่งที่ควรรู้ และความรู้สิ่งที่ไม่ควรรู้  การศึกษาต้องนำไปสู่การคิด คือการมีอนุสติคิดทบทวนตรวจสอบว่า เราจะทำหรือไม่ทำอะไรในอนาคต สามารถบอกตัวเองว่า เราจะทำอย่างไรถ้าเราไปเจอสถานการณ์อย่างนั้นอีกปฏิกิริยาของเราจะออกมาตามนั้น เมื่อรับข้อมูลมาแล้ว จิตจะกระทำตอบคือมีปฏิกิริยาต่อเรื่องนั้นแล้วคิดย้อยกลับมาหาตัวเรา อีกทีหนึ่ง คือเห็นแล้วไม่ใช่คิดเป็นเรื่องทางวิชาการ แต่คิดว่าเราควรจะทำหรือไม่ทำแบบนั้น นี่คือการศึกษาที่ประทับตราลงในใจของแต่ละคน ถ้าเด็กเรียนวิชาใดวิชาหนึ่งแล้วเข้าใจวิชานั้นดี นั้นเป็นขั้นต้น ขั้นต่อไปคือเด็กจะเริ่มคิดว่า การเรียนวิชานี้ในวันนี้ทำให้เราได้ความรู้เพิ่มและมีความสุข เราอยากเข้าเรียนวิชานี้ในครั้งต่อไป นี้คือการคิดย้อนกลับที่เรียกว่าฉันทะ เพราะฉะนั้น สุตมยปัญญา คือการรับรู้ข้อมูลอย่างเดียวยังไม่พอ เราต้องมีจินตามยปัญญา คือการคิดย่อยข้อมูลนั้นกำกับอยู่ด้วย


การศึกษาต้องสามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่ได้รับในปัจจุบันโยงไปข้างหน้าว่า ถ้าพบสถานการณ์เดียวกันในอนาคตจะทำอย่างไรการศึกษาจึงต้องสอนให้คนรู้ตน คือ อ่านตนออก บอกตนได้ ใช้ตนเป็น เห็นตนชัด เมื่อรู้ตนแล้วก็รู้สิ่งที่เกี่ยวข้อง ใกล้ชิดกับตนเองตามลำดับของการรู้ตน รู้คน รู้งาน รู้วิชาการ นั่นคือ รู้รอบและรู้กว้างขยายไปครอบคลุมโลกภายนอก การศึกษาตามหลักไตรสิกขาในพระพุทธศาสนาเริ่มด้วยการศึกษาตน เราต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเองให้ดี การศึกษาคือกระบวนการขยายขอบฟ้าแห่งความรู้ การขยายขอบฟ้าแห่งความรู้เป็นภารกิจไม่รู้จบ เหมือนจบมัธยมศึกษาแล้วก็ไม่เรียนปริญญาตรี โท เอกต่อไปแล้ว จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ท่านเป็นพระอเสขะที่ไม่ต้องอีกศึกษาแล้ว การศึกษาจึงสร้างคนให้เป็นคนเก่ง ดีและมีความสุข คือคนมีการศึกษาต้องมี ภาพ ๓ ภาพได้แก่ สมรรถภาพ คุณภาพ และสุขภาพโดยการเรียนรู้ตลอดชีวิตแม้ว่าจะจบจากการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วก็ตาม ซึ่งจะนำไปสู่การศึกษาที่สอนให้คนคิดเชื่อมโยงจนเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเกิดดับตามเหตุปัจจัย รู้แล้วละ รู้แล้ววางการรู้จักใช้เหตุผลอย่างมีเสรีภาพ โดยไม่ถือการให้เหตุผลแบบที่เรียกกันว่า fallacy หรือเหตุผลวิบัติ จุดมุ่งหมายการศึกษาในทรรศนะของพระธรรมโกศาจารย์ เป็นการศึกษาที่มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ไม่ใช่การเอาเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายจนกลายเป็น การศึกษาเป็นสาวใช้ของเศรษฐกิจ จุดมุ่งหมายของการศึกษาจึงต้องมีเป้าหมาย ในการส่งเสริมการพัฒนาคนให้ครบสมบูรณ์ ในเรื่องของความเก่ง ความดี และมีความสุข ซึ่ง ทั้ง ๓ ประการนี้ ด้วยวิธีการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต คือการรู้จักคัดสรรเลือกกรองเอาแต่สิ่งที่ดี จากข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่มีอยู่นั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น


พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)ได้กล่าวถึงการศึกษาไว้ทั้งในเชิงพุทธปรัชญา และในเชิงการสังเคราะห์กับแนวคิดขององค์กรรับโลกอย่างยูเนสโกไว้เป็น ๒ ประการคือ ๑) การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่สมดุล และ๒) การศึกษาที่พึงประสงค์ (จตุสดมภ์) ดังนี้คือ


๑) การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่สมดุล (ภาวนา ๔)


การพัฒนาเพื่อการพัฒนาที่สมดุลเป็นการพัฒนาที่อาศัยหลักในพระพุทธศาสนาซึ่งมาจากคำบาลีว่า “ภาวนา” โดยทั่วไปแปลว่า “การพัฒนา” ซึ่งมี ๔ ประการที่รวมการพัฒนาทางเทคโนโลยีและการพัฒนาทางจิตเข้าไว้ด้วย การพัฒนาทั้ง ๔ ประการคือ


๑. การพัฒนาทางกาย(กายภาวนา) เป็นการพัฒนากายพร้อมกับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุหรือทางร่างกาย


๒. การพัฒนาสังคม (สีลภาวนา) เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีและเป็นมิตรกับคนอื่น เพื่อที่ว่า จะได้ก่อตั้งสังคมที่น่าปรารถนาโดยมีสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดีในโลกนี้


๓. การพัฒนาจิต (จิตตภาวนา) เป็นการพัฒนาสภาวะทางจิต เช่น เมตตา มุทิตา กรุณา อุเบกขา สติและสมาธิ


๔. การพัฒนาปัญญา (ปัญญาภาวนา) เป็นการพัฒนาความรู้รอบ


ภาวนาทั้ง ๔ ประการนี้เป็นเครื่องชี้ว่า บุคคลต้องได้รับการพัฒนาทางกาย สังคม จิต และปัญญา อีกนัยหนึ่ง มนุษย์ต้องมีการพัฒนากายและจิตให้มีความสมดุลกัน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าการพัฒนา ๒ ประการเบื้องต้น คือการพัฒนากายและสังคมเกี่ยวกับร่างกาย ในขณะ ที่การพัฒนาประการที่สามและสี่ คือการพัฒนาจิตและปัญญามีความเกี่ยวข้องกับจิตซึ่งเป็นส่วนภายในของมนุษย์ พระพุทธศาสนาสนับสนุนให้มีการพัฒนาจิตและปัญญาตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา การให้ความสำคัญแก่การพัฒนากายมากเกินไปโดยไม่มีการพัฒนาจิตเท่ากับเป็นถือข้างที่สุดโต่งด้านหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเป็นการหมกมุ่นต่อความสุขทางกามคุณ และการให้ความสำคัญแก่การพัฒนาจิตมากเกินไป โดยไม่มีการพัฒนากายเท่ากับเป็นถือข้างที่สุดโต่งอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเป็นการทรมานตนเอง พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้เราหลีกเว้นที่สุดโต่งทั้ง ๒ นี้และปฏิบัติเสมอภาคกันในการพัฒนาให้เกิดความสมดุล เพื่อให้บรรลุผลถึงการพัฒนาที่สมดุลระหว่างกายกับจิต บุคคลต้องได้รับการศึกษา ๓ ประการ (ไตรสิกขา) ในพระพุทธศาสนา คือ


๑. อธิศีลสิกขา มุ่งให้เกิดการพัฒนากายและสังคม

๒.อธิจิตตสิกขา มุ่งให้เกิดการพัฒนาจิต

และ๓.อธิปัญญาสิกขา มุ่งให้เกิดการพัฒนาปัญญา


๒) การศึกษาที่พึงประสงค์(จตุสดมภ์)

แนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาที่พึงประสงค์หรือที่เรียกว่า จตุสดมภ์ซึ่ง พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)อ้างรายงานขององค์การยูเนสโกเรื่อง การศึกษาคือขุมทรัพย์ภายใน (Learning: The Treasure Within) จัดพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๙๙๖ (พ.ศ. ๒๕๓๙) รายงานนี้มุ่งแสวงหาแนวทางจัดการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับคริสศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งเริ่มต้นในปี ค.ศ. ๒๐๐๐ (พ.ศ. ๒๕๔๓ ) รายงานนี้ระบุว่า การศึกษาที่พึงประสงค์ต้องมีองค์ประกอบ ๔ ประการ เรียกว่า จตุสดมภ์ของการศึกษา (Four Pillars of Education) หมายถึงเสาหลักของการศึกษาทั้งสี่เสาที่ช่วยค้ำยันกันไว้จะขาดเสาใดเสาหนึ่งไม่ได้ ถ้าขาดเสาใดเสาหนึ่ง การศึกษานั้นก็จะไม่สมบูรณ์ ในทำนองเดียวกัน การศึกษาเพื่อสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์เปรียบเหมือนเก้าอี้ที่มีครบทั้ง ๔ ขา จึงจะใช้งานได้ การศึกษาที่แท้จริงต้องมีครบทั้ง ๔ สดมภ์ ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่ง การศึกษานั้นก็บกพร่องและไม่สามารถสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้นมาได้ สดมภ์ ทั้ง ๔ ประการดังนี้


๒.๑) การศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพ(Learning to know)

สดมภ์แรกของการศึกษาคือ แปลว่าเรียนเพื่อรู้ หมายถึงการเรียนเพื่อเตรียมเครื่องมือสำหรับการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต สดมภ์นี้ยังหมายถึงการเตรียมจิตใจของผู้เรียนให้มีความพร้อมที่จะศึกษาต่อไป คือ สอนให้เด็กเรียนสนุก มีความสุขในการเรียน ทั้งยังมีความจำดี มีสมาธิดี และคิดเป็น รายงานของยูเนสโกระบุว่าการฝึกให้เด็กท่องจำยังจำเป็น ระบบความจำของคอมพิวเตอร์ยังมาทดแทนความจำของมนุษย์ไม่ได้ เพราะสิ่งที่คอมพิวเตอร์จะจำได้ต้องเป็นระบบและมีเหตุผลแบบตรรก แต่มนุษย์สามารถจะจำเรื่องที่ไร้เหตุผลและไม่มีระบบได้


๒.๒) การศึกษาเพื่อพัฒนาสมรรถภาพ (Learning to do)

สมรรถภาพคือความสามารถในการนำความรู้มาปฏิบัติให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ สำหรับสดมภ์ที่สองนี้เขาใช้คำว่า Learning to do เรียนเพื่อใช้ทำงาน มุ่งปฏิบัติ การเรียนสายอาชีวศึกษาก็ดี การเรียนวิชาเอกในมหาวิทยาลัยก็ดีต่างมุ่งให้ผู้เรียนทำงานได้จึงจัดอยู่ในข้อนี้ สถาบันการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องผลิตคนให้มีความสามารถหลากหลาย (personal competence) สามารถทำงานสารพัด โดยอาศัยเครื่องจักรทุ่นแรงกาย และคอมพิวเตอร์ทุ่นแรงสมอง สิ่งสำคัญคือมีความสามารถในการทำงานร่วมกับคนอื่นได้เพื่อให้ทีมงานแข็งแกร่ง ทักษะที่พึงประสงค์คือทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์ หรือ people skills และความสามารถในด้านการบริหารจัดการ คุณธรรมภายในจิตใจก็สำคัญไม่น้อยกว่ากัน เช่น ความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลา


๒.๓) การศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพ(Learning to live together) สดมภ์ที่สามนี้มุ่งสอนเด็กให้เป็นคนดีที่ใช้ความรู้สามารถทำคุณประโยชน์แก่ผู้อื่น นั่นคือสอนให้อยู่อย่างมีคุณภาพด้วยการกระทำคุณประโยชน์แก่สังคม ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Learning to live together แปลว่า เรียนรู้ที่จะอยู่กันฉันญาติมิตร


๒.๔) การศึกษาเพื่อพัฒนามนุษยภาพ (Learning to be)

สดมภ์นี้ของการศึกษา คือพัฒนาคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ คือเด็กที่จบการศึกษาไปแล้วต้องเป็นอะไรมากกว่าเครื่องจักรในโรงงาน หรือแรงงานราคาถูกตามท้องไร่ท้องนา ผู้จบการศึกษาต้องเป็นอะไรมากกว่าทรัพยากรมนุษย์หรือสัตว์เศรษฐกิจ การทำคนให้เป็นเพียงทรัพยากรหรือเครื่องจักรชิ้นหนึ่ง เท่ากับกำลังลดฐานะของมนุษย์ให้ต่ำลง การศึกษาต้องพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เต็มตามศักยภาพทั้งทางกาย ทางสังคม ทางอารมณ์ และทางปัญญา


จากการศึกษาว่า การศึกษาเพื่ออะไร ? อาจตอบได้ว่า การศึกษาเป็นไปเพื่อ “ปัญญา” เป็นกระบวนการแสวงหาปัญญา และเพื่อกำจัดอวิชชาให้หมดสิ้นไปพร้อมกับทำให้ได้มนุษย์ที่สมบูรณ์พร้อมทั้งทางร่างกายจิตใจ โดยเป็นจุดมุ่งหมายของการศึกษาที่เน้นการพัฒนาหรือสร้างความสมดุลในทางร่างกายและจิตใจของผู้ที่ได้รับการศึกษา และการศึกษาก็มุ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีในเรื่องด้านจิตใจควบคู่กับวิชาการที่จะได้จากการศึกษา โดยการที่การศึกษาต้องไม่เพียงแต่เป็นการสอนเรื่องวิชาการที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพแต่ต้องมีการเน้นการพัฒนาคุณสมบัติของผู้เรียนในเรื่องจิตใจหรืออารมณ์ของผู้เรียนพร้อมกันไปได้ด้วย



.......................

เอกสารอ้างอิง


พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). ขอบฟ้าแห่งความรู้. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๗.

____________. ทิศทางการศึกษาไทย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๔๖.

____________. โลกทัศน์ของชาวพุทธ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๔๓.

พระธรรมโกศาจารย์(ประยูร ธมฺมจิตฺโต). สัมโมทนียกถา ในงานวันจำนงค์ ทองประเสริฐ ครั้งที่ ๕

๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๑.

พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมมจิตโต). พระพุทธศาสนากับความสมานฉันท์แห่งชาติ. ดูเพิ่มเติมที่,

http://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php?...

หมายเลขบันทึก: 573681เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2014 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2014 13:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการ

In the think fog '21C skills', it is good to see a clearer vision of education that would continue beyond this century and more.

I support education in Buddhistic sense: 'Rights & Wrongs' actions; ability to focus and persevere; and learning to know or understand correctly

The venerable พระธรรมโกศาจารย์(ประยูร ธมฺมจิตฺโต) puts the purpose of education in the terms that we can follow and measure:

๑. การพัฒนาทางกาย(กายภาวนา)
๒. การพัฒนาสังคม (สีลภาวนา)
๓. การพัฒนาจิต (จิตตภาวนา)
๔. การพัฒนาปัญญา (ปัญญาภาวนา)

Perhaps MOE/สมศ (which sets education standards and measurement) should consider the venerable's advice.

These steps of educational process come from Phrapromkunaporn's idea that Phraprombandit took to be applied as oneself.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท