เงินอุดหนุน


สรุปการบริหารจัดการใช้จ่ายเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว และเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน การบริหารจัดการใช้จ่ายเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว 1. โรงเรียนต้องจัดทำแผนการปฏิบัติงานประจำปีโดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา การจัดทำแผนปฏิบัติงานประจำปี คณะครูและฝ่ายบริหารของโรงเรียนต้องร่วมกันจัดทำแผนฯ และในการกำหนดกรอบทิศทางการดำเนินงาน โรงเรียนต้องพิจารณาจากกลยุทธ์ของโรงเรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในรอบปีที่ผ่านมา ข้อสังเกตจากผลการประเมินของสมศ. ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสถานศึกษาและชุมชน การวางแผนงบประมาณ โรงเรียนต้องประมาณการรายรับจากงบประมาณเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว ที่คาดว่าจะได้รับโดยใช้ข้อมูลจำนวนนักเรียน ณ วันที่ 10 มิถุนายน เพื่อจัดสรรให้แก่กิจกรรม/โครงการต่าง ๆ ที่จะดำเนินงานตามแผนการปฏิบัติงานประจำปี โดยโรงเรียนจะต้องประมาณการรายรับจากงบเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว และพิจารณาประมาณการรายรับให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงินทั้งเงินงบประมาณหรือเงินสนับสนุนจากแหล่งอื่น ๆ เช่น เงินระดมทรัพยากร เงินบริจาค เงินสนับสนุนจากอบต. เมื่อโรงเรียนจัดทำแผนการปฏิบัติงานประจำปีเสร็จแล้ว ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา ก่อนเปิดภาคเรียน เพราะกรณีโรงเรียนจัดทำแผนการปฏิบัติงานประจำปียังไม่แล้วเสร็จหรือแผนฯ ยังมิได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา ในขณะที่โรงเรียนได้เปิดภาคเรียนแล้วนั้น โรงเรียนจะไม่มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ในช่วงเวลาที่อยู่ระหว่างการจัดทำแผนฯหรือนำเสนอแผนฯต่อคณะกรรมการสถานศึกษา จะทำให้การดำเนินงานบางโครงการอาจต้องล่าช้าออกไป ส่งผลต่อโอกาสของผู้เรียนที่จะได้รับการพัฒนาการเรียนการสอนลดน้อยลงไปด้วย ดังนั้นโรงเรียนจึงต้องจัดทำแผนการปฏิบัติงานประจำปีและนำเสนอให้คณะกรรมการสถานศึกษาพิจารณาให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน 2. โรงเรียนจะต้องมีการควบคุมการใช้จ่ายเงินและกำกับติดตามการดำเนินงาน ตามแผนการปฏิบัติงานประจำปี โดยจะต้องมีการควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายแผนงาน มีการสอบทานจำนวนเงินที่ใช้จ่ายจริง มีการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่เจ้าหน้าที่ควบคุมการใช้จ่ายเงินตามแผนฯ เจ้าหน้าที่พัสดุและเจ้าหน้าที่การเงิน และหลักฐานการจ่ายเงินต้องอ้างอิงแผนงาน/โครงการที่กำหนดไว้ในแผนฯ จึงจะสามารถตรวจสอบได้ว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นการใช้จ่ายเงินตามโครงการใดบ้าง 3. โรงเรียนต้องกำกับติดตามการดำเนินงานตามแผนการปฏิบัติงานประจำปี จะต้องนำแผนการปฏิบัติงานประจำปีมาใช้เป็นเครื่องมือ ควบคุมการใช้จ่ายเงิน ต้องให้ความสำคัญในการนำแผนฯที่กำหนดไว้ ไปใช้ให้เกิดผลในการปฏิบัติงานจริง ต้องมีการกำกับดูแลที่ดี การเบิกจ่ายเงินของโรงเรียน ต้องจัดวางระบบให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบ ควบคุมการใช้จ่ายเงินในแต่ละโครงการให้มีข้อมูลครบถ้วนถูกต้อง ทำให้โรงเรียนสามารถทราบสถานะของการใช้จ่ายงบประมาณในแต่ละโครงการได้จากระบบข้อมูลภายใน เช่น ทะเบียนคุมงบประมาณโครงการที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจัดทำไว้ และจากรายงานสรุปผลการใช้งบประมาณรายโครงการ เพื่อติดตามควบคุมการดำเนินงานและควบคุมการใช้จ่ายเงินตามแผน หรือนำไปใช้ในการวัดประสิทธิภาพของต้นทุนค่าใช้จ่ายในแต่ละโครงการ เปรียบเทียบกับเป้าหมายการดำเนินงานที่กำหนดเพื่อพัฒนาวางแผนฯในปีต่อไป โรงเรียนจะต้องศึกษาหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวที่สพฐ. แจ้งให้ถือปฏิบัติตามหนังสือสพฐ. ที่ ศธ 04006/279 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2548 ซึ่งสพฐ.จัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวให้แก่โรงเรียน มีวัตถุประสงค์ให้โรงเรียนนำไปบริหารจัดการใช้จ่ายเพื่อจัดการเรียนการสอนให้ได้ประโยชน์สูงสุดในการพัฒนานักเรียน โรงเรียนจึงควรนำงบประมาณเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวที่ได้รับไปบริหารใช้จ่ายโดยมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนานักเรียนโดยตรงเป็นสำคัญก่อน เพราะในการใช้จ่ายด้านการบริหารทั่วไป และการใช้จ่ายประเภทงบลงทุน จะต้องใช้วงเงินงบประมาณในการดำเนินการค่อนข้างสูง โรงเรียนควรพิจารณาวางแผนการใช้จ่ายตามลำดับความสำคัญจำเป็นและเหมาะสม เพื่อให้การใช้จ่ายเงินอุดหนนุค่าใช้จ่ายรายหัวในแต่ละปีไม่เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาการเรียนการสอนต่อนักเรียนโดยตรง การบริหารจัดการและการใช้จ่ายเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน โรงเรียนต้องมีการสำรวจข้อมูลนักเรียนยากจนเพื่อรับปัจจัยพื้นฐาน โดยใช้ข้อมูลจากระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และแบบข้อมูลนักเรียนรายบุคคลมาเป็นข้อมูลในการพิจารณาคัดเลือกนักเรียนยากจน ประกอบกับหลักเกณฑ์ของสพฐ.ที่กำหนด คือเป็นนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้ปกครองมีรายได้ต่อครัวไม่เกิน 40,000.-บาทต่อปี และดูสภาพครอบครัวของนักเรียน เช่น บิดา มารดา เสียชีวิต ครอบครัวแตกแยก ในการดำเนินการโรงเรียนควรมอบให้ครูประจำชั้นพิจารณาจัดลำดับนักเรียนยากจน แล้วส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาคัดเลือก ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาจำนวนนักเรียนยากจนที่สมควรจะได้รับปัจจัยพื้นฐานภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร โรงเรียนที่ได้รับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน จะต้องนำเงินอุดหนุนไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดภายในภาคเรียนที่ได้รับจัดสรร ให้ดำเนินการโดยเร็วเมื่อได้รับจัดสรร เพื่อให้นักเรียนได้รับความช่วยเหลือทันต่อความต้องการ ต้องดำเนินการจัดหาปัจจัยพื้นฐานให้นักเรียนยากจนกลุ่มเป้าหมายในแต่ละภาคเรียน โดยมีการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับวงเงินงบประมาณที่ได้รับ การใช้จ่ายเงินจ่ายตามลักษณะการใช้จ่ายใน 4 รายการ ได้แก่ ค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียน ค่าเสื้อผ้าและวัสดุเครื่องแต่งกายนักเรียน ค่าอาหารกลางวันและค่าพาหนะในการเดินทาง โดยมีการแจกจ่ายปัจจัยพื้นฐานให้กับนักเรียนยากจนตามหลักเกณฑ์ที่สพฐ.กำหนด ในการดำเนินการจัดหาปัจจัยให้กับนักเรียน โรงเรียนต้องดำเนินการตามระเบียบการพัสดุ และต้องมีหลักฐานการแจกจ่ายพัสดุดังกล่าวให้กับนักเรียนประกอบการตรวจสอบ รวมทั้งกรณีการจ่ายเงินให้กับนักเรียนโดยตรง เป็นค่าอาหารหรือค่าพาหนะต้องมีใบสำคัญรับเงินของนักเรียนแนบติดไว้กับหลักฐานการจ่ายเสมอเพื่อความครบถ้วนถูกต้องและเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบ นางกัลยาณี รณภูมิ นักวิชาการเงินและบัญชี 7 ปฏิบัติหน้าที่ หัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายใน
คำสำคัญ (Tags): #เงินอุดหนุน
หมายเลขบันทึก: 57307เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2006 21:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ได้อ่านระเบียนแล้วมีความมั่นในในการปฏิบัติมากขึ้น ต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความ

ขอบคุณค่ะที่ให้ความรู้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท