คณะเกษตรฯ มข. อบรมนักวิจัยอ้อยทั้งภาครัฐและเอกชนสู่นักวิจัยมืออาชีพ


ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว จะมีความสามารถในการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยที่ได้มาตรฐาน มีความสามารถในการดำเนินงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาในสภาพพื้นที่จริงและมีความสามารถในการจัดทำรายงานผลการวิจัยที่ได้มาตรฐาน

           เนื่องจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสถาบันการศึกษาหลักที่ตั้งอยู่ใจกลางแหล่งผลิตอ้อยและโรงงานน้ำตาลของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของประเทศ ดังนั้นมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้จัดตั้งศูนย์วิจัยอ้อยและน้ำตาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและของประเทศ โดยศูนย์วิจัยอ้อยและน้ำตาลฯ มีพันธกิจหลายด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิต การสร้างองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพันธุ์และการผลิตอ้อย การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ใช้ประโยชน์ การพัฒนาบุคลากรและสร้างนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านอ้อย และสร้างเครือข่ายการวิจัย ซึ่งตามพันธกิจของศูนย์วิจัยอ้อยและน้ำตาลฯ ในด้านการพัฒนาบุคลากรและสร้างนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านอ้อยนั้น จำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพในการวิจัยการวิเคราะห์ปัญหาและพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อแก้ปัญหาการผลิตอ้อยและน้ำตาลในพื้นที่ และเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตอ้อยและน้ำตาล ดังนั้นคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ศูนย์วิจัยอ้อยและน้ำตาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้ร่วมกันจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนานักวิจัยด้านอ้อย ให้เป็นนักวิจัยมืออาชีพต่อไป
           เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2557 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ ศูนย์วิจัยอ้อยและน้ำตาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับทุนสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง เปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนานักวิจัยด้านอ้อย ประจำปี 2557 ระยะที่ 1 เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยด้านอ้อยและยกระดับคุณภาพของงานวิจัยให้ได้มาตรฐาน โดยทีมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะเกษตรศาสตร์และหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุพิน ผาสุข รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะเกษตรศาสตร์ เป็นประธานพิธี มีอาจารย์ นักวิจัย พนักงานบริษัทด้านอ้อยและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 25 คน เข้าร่วมอบรม ณ ห้องประชุมศูนย์ศึกษาค้นคว้าและพัฒนาเกษตรกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-19 กรกฎาคม พ.ศ.2557
           รองศาสตราจารย์ ดร.สนั่น จอกลอย ผู้รับผิชอบโครงการอบรม กล่าวว่า กรอบเนื้อหาของการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนานักวิจัยด้านอ้อย แบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 จุดประกาย ขยายความคิด ทฤษฏีและหลักดำเนินการวิจัยที่ได้มาตรฐานและพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยโดยอาศัยโจทย์วิจัยในพื้นที่ ดำเนินการระหว่างเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2557 ระยะที่ 2 ปฏิบัติงานวิจัยโดยอาศัยโจทย์วิจัยในพื้นที่ ดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคม 2557- ธันวาคม 2558 และระยะที่ 3 การเตรียมต้นฉบับบทความวิจัย การนำเสนอบทความวิจัย และการสะท้อนผลการฝึกอบรมดำเนินการในเดือนมกราคม พ.ศ.2559
           รองศาสตราจารย์ ดร.สนั่น กล่าวต่อว่า ซึ่งรูปแบบของการอบรมเชิงปฏิบัติการประกอบด้วย การบรรยายและอภิปรายโดยผู้ทรงคุณวุฒิ การฝึกปฏิบัติการเพื่อฝึกวิเคราะห์ปัญหา กำหนดโจทย์วิจัย วิเคราะห์ตัวอย่างข้อเสนอโครงการวิจัยและการวิจัยที่ได้มาตรฐาน จัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ นำเสนอข้อเสนอโครงการวิจัย แลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาโครงการ ดำเนินการวิจัยตามโครงการที่พัฒนาได้จากหลักสูตร การเขียนรายงานผลการวิจัย การนำเสนอผลและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
           “ผู้เข้าอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ประกอบด้วย พนักงานประจำในกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง มีคุณวุฒิอย่างต่ำในระดับปริญญาตรี และนักวิจัยในหน่วยงานราชการหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งคาดว่า ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว จะมีความสามารถในการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยที่ได้มาตรฐาน มีความสามารถในการดำเนินงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาในสภาพพื้นที่จริง และสุดท้าย มีความสามารถในการจัดทำรายงานผลการวิจัยที่ได้มาตรฐาน โดยจะมีการประเมินผลจากการมีส่วนร่วมในขณะอบรมเชิงปฏิบัติการ ผลงานการปฏิบัติในการเขียนข้อเสนอโครงการ การทำงานวิจัย และแบบทดสอบ ซึ่งต้องผ่านเกณฑ์ที่ค่าคะแนนร้อยละ 80 และจะได้รับใบประกาศนีบัตรรับรองผลสำเร็จของการเข้าอบรมตลอดทั้ง 3 ระยะ รองศาสตราจารย์ ดร.สนั่น จอกลอย กล่าวในที่สุด

            กิตติศักดิ์ สิงหา วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่

หมายเลขบันทึก: 572586เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2014 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2014 11:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท