ไปวัดกันมา...ได้อะไรกันบ้าง


หยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เทศกาลเข้าพรรษาเป็นหยุดยาวสี่วันที่หลายคนหลายท่านก็ใช้เวลานี้กลับถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอนหาพ่อหาแม่ ไปทำบุญกันตามวัดบ้านเกิด บางคนก็พาครอบครัวไปเที่ยวตามธรรมชาติชายทะเล น้ำตกภูเขา บางคนก็พาครอบครัวไปไหว้พระเก้าวัด สิบหกวัด บางคนก็ไปเข้าวัดบวชชีพราหมณ์นุ่งขาวห่มขาว หลายหน่วยงานทั้งรัฐเอกชน อบต. เทศบาล ดรงเรียนวิทยาลัยมหาวิทยาลัยก็พากันจัดแต่งเทียนเป็นขบวนแห่ไปถวายแด่พระภิกษุตามวัดต่าง ๆ ผมเองได้ไปทำหลายกิจกรรมทั้งไปไหว้พระให้อาหารปลา ไปทำบุญกับครอบครัวที่วัดบ้านเกิด กระทั่งไปร่วมตักบาตรดอกไม้ที่วัดพระพุทธบาท สระบุรี กระทั่งก่อนหน้านั้นได้ร่วมขบวนแห่เทียนไปถวายวัดใกล้ที่ทำงาน อันว่าสิ่งที่ศาสนาเรียกว่าบุญคือความสบายใจอิ่มจิต เอมใจ ก้เป็นสิ่งที่ยอมรับว่าได้รับมาพอสมควร แต่สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามค้นหา ค้นหาในวัด ค้นหาจากพระคุณเจ้า ค้นหาจากมรรคนายก พยายามค้นหาจากสื่อมวลชนที่ประโคมข่าวความสำคัญของวันที่เราได้หยุดยาวกันนี้ ผมกลับไม่เจอ

สิ่งที่ผมบอกว่าไม่เจอหาไม่ได้ หรือถ้ามีก็คงหายากน่าดูก็คือสัจธรรมความรู้ที่จะได้รับจากวันอาสาฬหบูชา และเข้าพรรษา จริงอยู่ที่พระคุณเจ้าส่วนใหญ่มักจะเทศนาสั่งสอนพวกเราตอนพระฉันภัตตาหาร ก็คือ วันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทะเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา เป็นเทศนาครั้งแรกแก่ปัญจวคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน จนอัญญาโกณทัญญะเกิดดวงตาเห็นธรรมขอบวชเป็นพระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนาทำให้พุทธศาสนามีรัตนคือแก้วครบสามประการ ผมได้ยินเรื่องราวเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก จากหลวงตาจุงเจ้าอาวาสวัดบ้านเกิด หลวงตาจ่อยเจ้าอาวาสวัดบ้านพ่อ และสื่อมวลชนก็บอกอย่างนี้พูดอย่างนี้สอนอย่างนี้ ตำราในหนังสือก็สอนอย่างนี้พูดอย่างนี้ คำถามโง่ ๆ ของผมที่อยากให้มีใครมาตอบก็คือ พระธรรมที่ว่าแสดงนั้นคืออะไร ส่วนใหญ่ก็มักได้รับคำตอบแบบนกแก้วนกขุนทองว่า ธัมมจักรกัปปวัตนสูตร ผมก้อยากรู้ต่อไปว่าในพระธรรมที่ว่านี้ มีเรื่องราวอะไรทำไมถึงทำให้อัญญาโกณฑัญญะเกิดปิ๊งแว๊บเข้าใจแล้วขอบวชเลย ตำรับตำราหรือพระที่สอนก็มักจะบอกแต่เพียงว่า คืออริยสัจสี่ ที่ว่าด้วยทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งคำอธิบายที่พิสดารก็มักจะจบลงที่ ทุกข์คืออะไร สมุทัยแปลว่าอะไร มรรคมีองค์แปด คือ....สัมมาทิฏฐิ ....สัมมาสมาธิ แล้วถ้าพิสดารลงลึกไปอีก็จะอธิบายว่า สัมมาทิฐิ แปลว่าความเห็นชอบ ไปจนถึงการมีสมาธิชอบ แล้วก็ไม่ค่อยลงรายละเอียดกัน ผมฟังอ่านดูจากหลายแหล่งหลายที่หลายวัด ก็พบแค่นี้ สรุปผมอายุ 36 ปีอยู่กับพระพุทธศาสนามาก็นานเลยไม่รู้ว่าอะไรที่ทำให้โกณฑัญญะออกบวช เข้าวัดฟังเทศน์ ในวันอาสาฬหบูชามาหลายสิบหนเลยไม่รู้ว่าคอนเซ็ปป์หลักของอริยสัจจ์สี่อยู่ตรงไหน กระทั้่งไม่รู้จะเอาไปประยุกต์ใช้ยังไง เพราะมีแต่คำกับความหมาย ไม่มีคำอธิบาย ไม่มีวิธีปฏิบัติและไม่มีตัวอย่างประกอบ สรุปว่า หายากครับ หายากมากสำหรับหนังสือ คำเทศน์ คำสอน ที่จะอธิบายลงลึกไปในรายละเอียดที่ทำให้เกิดข้อคิด เตือนใจ แนวทางปฏิบัติอันจะทำให้ได้ประโยชน์จากธรรมจักรกัปปวัตนสูตรอย่างแท้จริงหือถึงแก่น อีกจำพวกก็เชื่อในความมีมงคลศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังของการสาธยายมนต์บท "ธรรมจักรฯ"นี้ ทั้งสวด ทั้งแปล แต่สรุปสุดท้ายก็ไม่ได้อะไรอยู่ดี

พูดก็พูดเถอะในขณะที่อีกหลายวัด ใช้โอกาสนี้กอบโกยเงินเข้าวัดด้วยการรับบริจาคและเรี่ยไรกันเป็นล่ำเป็นสันนี่กระมังครับที่ทำให้สังคมไทเราเป็นพุทธกันแต่เปลือก ศรัทธาขั้นพื้น ๆ ก็ไม่สอนเพราะไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ครั้นจะเป้นวิทยาศาสตร์ก้เป็นไม่ได้ เลยกลายเป้นศรัทธางมงายทรงเจ้าเข้าผี พระธรรมที่จะเอาไปประพฤติปฏิบัติได้ก็หาคนหาพระสอนได้น้อย พระอภิธรรมที่พูดถึงสภาวะจิตขั้นสูงก็ไม่พูดไม่สอนหรือมีก็น้อยมากที่จะหยั่งรู้อย่างถ่องแท้ แม้ว่าผมจะเปลี่ยนใจไปติดตามพระเจ้าคือพระเยซูคริสต์ (เพราะผมอ่อนแอ พึ่งตนเองไม่ได้) แต่ผมเองก็เสียดายในพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้ไม่น้อย เสียดายที่วัดซึ่งควรทำหน้าที่ตรงนี้กลับไม่ทำ ด้วยความที่ได้รับผิดชอบในวิชาด้านศีลธรรมอยู่ด้วย ผมจึงตัดสินใจค้นหาคำตอบข้อคลางแคลงใจด้วยตนเอง จึงได้พบว่าเรื่องใหญ่ใจความของพระธรรมคำสอนแรกของพระพุทธเจ้า ก็คือทางสายกลางที่จะไม่ทำให้ต้องทุกข์ และพบว่าในทางสายกลางที่มีแบบแผนซึ่งพระพุทธเจ้าแนะนำให้ปฏิบัติแปดอย่างนั้น แต่ละอย่างล้วนมีรายละเอียดที่บอกได้เลยว่าจะทำอย่างไรถึงจะเรียกว่าเป็นคนมีสัมมาทิฏฐิ อาทิ ความเชื่อในผลของการให้ทาน ความเชื่อว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ความเชื่อว่าสรรพสิ่งมีการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเป็นแน่แท้ อย่างนี้เรียกว่า "สัมมาทิฏฐิ" 

เอาละครับความสนใจของผมได้เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นพร้อมกับการตั้งใจว่าจะอ่านและนำเอาพุทธธรรม มาอธิบายให้เข้าใจง่ายมากขึ้น ผมจะลองดูครับ แล้วผมจะนำเสนอตอนแรกในเรื่อง สัมมาทิฏฐิ หรือความเข้าใจที่ถูกต้อง(Right Understanding) ไล่เรียงไปทีละตอนโดยอาศัยประสบการณ์การอ่านจากหนังสือพุทธธรรมของ พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตโต เป็นที่อ้างอิง โปรดติดตามครับ

หมายเลขบันทึก: 572542เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2014 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2014 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รออ่านครับ  ขอให้บันทึกเชิงวิเคราะห์สอดคล้องกับชีวิตตามโลกวิถีนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท