​หนังสือเปลี่ยนชีวิต : สานเสวนา “รักการอ่าน ผ่านดนตรี บทกวี และนิทาน”


หนังสือเปลี่ยนชีวิต : สานเสวนา “รักการอ่าน ผ่านดนตรี บทกวี และนิทาน”

-ครูพีร์-

ชุมชน100เล่มเกวียนเปลี่ยนชีวิต

-------------------------

          ..เรียบร้อยโรงเรียน..วัด (ฮา) ไปแล้วครับสำหรับกิจกรรมสานเสวนา “รักการอ่าน ผ่านดนตรี บทกวี และนิทาน” ที่ทางชุมชน100เล่มเกวียนเปลี่ยนชีวิต ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2557 ณ ห้องอาศรมสุขภาวะ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพมหานคร แต่กว่า –ครูพีร์- จะได้สรุปเรื่องราวมาบอกเล่า แบ่งปัน รวมถึงนำคลิปการเสวนามาให้พี่น้องผองเพื่อนในชุมชน GotoKnow ได้ร่วมเรียนรู้ รับฟัง รับทราบด้วยกันก็ปาเข้าไปเกือบเดือน กว่าจะบุกน้ำลุยไฟฝ่าฟันสู่กับภารหน้าที่และการงานที่รับผิดชอบกว่า100เล่มเกวียนมาได้...(ว่าไป..มุกเดิมครับ..งานเยอะ)...ขอใช้คำคมแบบไทยๆ ที่ว่า..มาช้าดี..กว่าไม่มาดี..นะครับ...

       สำหรับรายละเอียดการเสวนามีทั้งเรื่องเล่า เรื่องฮาแต่ทว่าเป็นประโยชน์อย่างมากกับสมาชิกที่เข้าร่วมและมีความสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านสำหรับเด็กๆ ลูกๆ หนูๆ หลานๆ ที่บ้าน –ครูพี่ร์- บันทึกเป็นไฟล์เสียงเต็มๆ มาฝากดังคลิปข้างต้น จะสนุกสนานได้ประโยชน์ขไหนหนาด เพื่อนๆ สมาชิกต้องรับฟังกันเองครับ ขอแนะนำว่าเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีลูกเล็กๆ กำลังจะมีลูก หรือกำลังจะทำลูก(ฮา) แล้วอยากจะเป็นคนอ่าน คนเล่านิทานให้ลูกฟังเพื่อปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดีให้ลูก เพื่อลูกที่โตขึ้นจะได้เป็นนักอ่าน นักเขียน นักเรียน พลเมืองที่มีคุณภาพ ครูชีวัน และพี่กุดจี่ มีคำแนะนำในคลิปครับ

     ...แต่สำหรับเพื่อนที่ไม่มีเวลาฟัง แต่อยากรู้เรื่องของชาวบ้าน(..ฮา..ล้อเล่นนะครับ) ว่าเขาคุยอะไร –ครูพีร์- สรุปประเด็นหลักมาให้เพื่อนๆ ได้อ่านพอหอมปากคอ (..หรือจะหอมต่ำกว่านั้นตัวใครตัวมันนะครับ.....อิอิ) แต่ไม่สนุกเท่ากับนั่งฟังคลิปชาวบ้านโดยเฉพาะชาวบ้านที่เป็นนักอ่าน นักกวี นักเล่านิทาน ว่าเขาคุยอะไรกัน

      ...เชิญ..สุตํ...ครับ

      สำหรับกิจกรรมสานเสวนา “รักการอ่าน ผ่านดนตรี บทกวี และนิทาน” เป็นกิจกรรมที่ชุมชน100เล่มเกวียนเปลี่ยนชีวิตจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ แบ่งปันระหว่างมิตรรักแฟนนักอ่านทั้งหลายในชุมชนออนไลน์ GotoKnow ที่รักการเรียนรู้ พูดคุย สนทนา สานเสวนาเกี่ยวกับหนังสือหรือการอ่านโดยวิทยากรที่สำคัญได้แก่นักเขียนและนักเล่านิทานชื่อดัง ครับคือ.. คุณพรชัย แสนยะมูล หรือพี่กุดจี่ นักเขียนกวี นักดนตรีทั้งทำงานเขียน งานกวี รวมถึงมีสำนักพิมพ์ของตัวเอง มีผลงานเป็นที่รู้จักเช่น “อยากให้เธออารมณ์ดีตลอดปีตลอดชาติ” และครูชีวัน วิสาสะ นักเล่านิทานผู้มีชื่อเสียงระดับประเทศ มีความเชี่ยวชาญในการสร้างกระบวนการ การสร้างเทคนิค การปลูกฝังการอ่านให้เด็กสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครองที่สนใจ มีผลงานชื่อดังที่รู้จักกันดี คือ “อีเล้งเค้งโค้ง” โดยภายในกิจกรรม มีผู้เข้าร่วมเสวนาประมาณ 20 คน โดยมีสมาชิกในชุมชนปฏิบัติการออนไลน์ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้แก่

เกศินี จุพาวิจิตร ( http://www.gotoknow.org/user/kkesinee/profile)

–ครูพีร์- http://www.gotoknow.org/user/pheerathano/profile

มะตะอ๊อด ( http://www.gotoknow.org/user/mataaod/profile)

Metta ( http://www.gotoknow.org/user/jubnannapat/profile)

พ.แจ่มจำรัส( http://www.gotoknow.org/user/pichaic/profile)

     สำหรับประเด็นการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และแบ่งปัน ...ครูชีวันได้เปิดประเด็นชวนเสวนาโดยเล่าถึงอดีตบรรยากาศแห่งการสร้างสังคมแห่งนักอ่านนักเขียนในสมัยก่อนว่ามีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับ สีสันวรรณกรรม โดยการนำวรรณกรรมดีๆ มีนำเสนอในรูปแบบการแสดงเป็นละครเวทีที่ศูนย์วัฒนธรรม โดยมีการสนับสนุนจากหน่วยงานเอกชนอย่างจริงจัง ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าเป็นงานมหกรรมสีสันวรรณกรรมที่ได้ความนิยมเป็นอย่ามากในสมัยนั้น ซึ่งครูชีวันได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเขียนบท เขียนตัวละครให้ด้วย

     สำหรับพี่กุดจี่ได้แนะนำตัวเองและเล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองที่เป็นตัวเองมาจนถึงปัจจุบันนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจังหวะโอกาสที่ได้อ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก โดยเริ่มจากการอ่านหนังสือการ์ตูนก่อน และได้แรงบันดาลใจมากจากการดูการ์ตูนในทีวีส่วนหนึ่ง แล้วนำมาฝึกเขียนภาพ วาดภาพการ์ตูนตั้งแต่เด็กทำให้เกิดทักษะการวาดรูปจนนำไปสู่การวาดรูปอวดเพื่อนๆ ในชั้นเรียน เมื่อยิ่งวาดยิ่งทำให้คุ้นเคยกับหนังสือมากขึ้น จนทำให้มีแรงบันดาลใจสอบเข้าเรียนที่เอกภาษาไทย ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ ซึ่งทำให้ได้อ่านหนังสือมากขึ้น แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เป็นนักอ่าน และนักเขียนจริงๆ ในปัจจุบันเกิดมาจากการอ่านงานวรรณกรรมที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมคลาสสิค วรรณกรรมร่วมสมัย และวรรณกรรมสมัยใหม่ เช่น เฮอร์มาน เฮสเส, คาลิล ยิบราน รวมถึงงานของเสกสรร ประเสริฐกุลด้วย

     นอกจากนี้การทำกิจกรรมเกี่ยวกับหนังสือก็ถือว่ามีส่วนสำคัญเพราะพี่กุดจี่ชอบทำกิจกรรมโดยเฉพาะกิจกรรมเกี่ยวกับการอ่าน การเขียน โดยเฉพาะในสมัยที่เรียนก็ได้มีส่วนร่วมทั้งร่วมซื้อ ร่วมเขียนงานเขียน รวมถึงการทำนิตยสารขณะเป็นนักศึกษาอีกด้วย จึงทำให้เกิดการสะสมและเกิดแรงบันดาลใจในการเขียนและเริ่มเขียนจริงจังในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการที่คนๆ หนึ่งจะชอบรัก และทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งชอบเลี้ยงชีพโดยเฉพาะงานประเภทเกี่ยวกับหนังสือ เกี่ยวกับการอ่านคนๆ นั้นต้องสะสม ต้องพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ไม่น้อยที่เดียว


     จะปลูกฝังให้เด็กอ่าน...หนังสือภาพนั้นสำคัญ...

     ...ครูชีวันได้เล่าให้เห็นถึงความสำคัญของหนังสือภาพสำหรับเด็กว่า หนังสือภาพสำหรับเด็กไม่ใช่แค่เพียงเป็นมีภาพที่สวยงามกับตัวหนังสือเพื่อให้เด็กอ่านเท่านั้น แต่หนังสือภาพยังมีกลไกทางความคิดสำหรับเด็กอีกด้วยซึ่งเป็นกลไกสำหรับการสื่อสารเพื่อปลูกฝังเด็กๆ ในหนังสือภาพมีสิ่งสำคัญๆ ที่เป็นกลไกที่เหมาะสมสำหรับเด็กซ้อนอยู่เสมอ

     อย่างไรก็ตามครูชีวันเล่าว่าในอดีตการทำหนังสือภาพเพื่อให้คนเข้าใจว่ามีความสำคัญและจำเป็นสำหรับเด็กยากมากเพราะคนไม่เข้า เมื่อครูชีวันได้นำหนังสือภาพชั้นดีสำหรับเด็กจากต่างประเทศเข้าแปลและพิมพ์ขายในยุคแรกๆ ปรากฏว่า ขายไม่ได้เลย เพราะพ่อแม่ยังไม่เข้าใจและเห็นถึงความสำคัญ จึงเริ่มต้นด้วยการขอเข้าไปเล่านิทานให้เด็กฟังตามโรงเรียนต่างๆ แทนจนผู้คนเริ่มเข้าใจ และที่สำคัญได้ทำการทดลองใช้หนังสือภาพเพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านกับลูกๆ ของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งตอนนั้นลูกชายของครูชีวันอายุประมาณ 3 ขอบจึงได้ทอดลองกับลูกชายของตัวเอง ซึ่งถือว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของการปลูกฝังอย่างหนึ่ง ทำให้ลูกๆ ได้อ่านหนังสือภาพที่ดีๆ ตั้งแต่เด็กๆ ทำให้ลูกชายชอบอ่านหนังสือและนำไปสู่การอ่านหนังสืออื่นๆ อีกด้วย แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นคือการปลูกฝังการอ่านผ่านหนังสือภาพ ผ่านการเล่านิทาน ผ่านกระบวนการศิลปะ และกระบวนการต่างๆ เล่านี้นำไปสู่ศาสตร์อื่นๆ

     ส่วนลูกสาวคนเล็ก(ปัจจุบันเป็นนักแปลหนังสือญี่ปุ่น) ครูชีวันเล่าว่า “ เริ่มต้นการทดลองด้วยหนังสือญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มต้นจากการวาด เนื่องจากตอนเป็นเด็กยังเขียนไม่ได้ก็วาดภาษาญี่ปุ่น วาดไปเรื่อยจนถึง ป. 3 ป.4 ก็อยากเขียนได้ อยากอ่านภาษาญี่ปุ่น อยากเรียนภาษาญี่ปุ่น จึงส่งไปเรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ ป.4 ป.5 ก็เริ่มต้นตั้งแต่นั้นมา ซึ่งเราสามารถมองได้ว่านี้เป็นการสร้างนิสัยการรักการอ่าน ซึ่งมันเป็นคำกลางๆ ที่พูดออกไปคนเข้าใจตรงกัน”

     อย่างไรก็ตามครูชีวิตมองว่า คำว่าการรักการอ่านสำหรับเด็ก น่าเป็นเปลี่ยนเป็นคำว่า จะทำอย่างไรให้เด็กรักหนังสือมากกว่า ซึ่งถ้าใช้คำว่าการรักหนังสือจะง่ายขึ้นเพราะเด็กเล็กอ่านไม่ได้ การอ่านของเด็กกับของผู้ใหญ่ก็แตกต่างกัน สำหรับผู้ใหญ่การอ่านหนังสือคือการอ่านตัวหนังสือแล้วคิดวิเคราะห์ แต่สำหรับเด็กไม่ใช่ ไม่เหมือนกัน อ่านในความหมายของเด็กกับของผู้ใหญ่ไม่เหมือนกัน จะอ่านจะจินตนาตามแบบฉบับของเด็ก แม้แต่ตัวหนังสือที่อ่านไม่ได้เขาก็จะจินตนาการเป็นภาพ ฉะนั้นจึงควรทำให้เด็กรักหนังสือก่อน ดังนั้นเมื่อเขารักหนังสือแล้วเขาก็จะตีความในแบบเด็กๆ และการอ่านออกเขียนได้นี้ก็จะพัฒนาขึ้นมาในตอนหลัง...

     นอกจากนี้ครูชีวิตยังได้แนะนำเทคนิคการเล่านิทานสำหรับเด็ก โดยได้เล่านิทานเป็นตัวอย่างให้ผู้ที่เข้าร่วมเสวนาได้รับฟังอีกด้วย

     จากการได้สานเสวนาการเล่านิทานสำหรับเด็กกับครูชีวันทำให้ผู้ที่เข้าร่วมเสวนาได้รับรู้เลยว่า การจะเลือกหนังสือภาพสำหรับเด็ก การจะเล่านิทานสำหรับเด็ก และให้เด็กสนใจและเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มีเรื่องที่พ่อแม่ควรรู้ ควรทำความเข้าในเบื้องต้นอยู่หลายประการด้วยกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคนิคการเล่าเรื่อง เทคนิคการทำเด็กสนใจ รวมถึงการเลือกหนังสือภาพสำหรับเด็กอีกด้วย

     สำหรับพี่กุดจี่ เห็นด้วยว่าหนังสือภาพสำหรับเด็ก การที่พ่อแม่จะเลือกหนังสือหนังสือให้เด็กต้องพิจารณาให้ดีก่อนเพราะอารมณ์ของคนเขียนหนังสือไม่เหมือนกันโดยเฉพาะยิ่งแล้วคนเขียนหนังสือภาพสำหรับเด็กที่ไม่มีครอบครัว ไม่ได้เลี้ยงลูกมุมมองการเขียนก็จะแตกต่างจากคนที่เขียนหนังสือภาพที่มีครอบครัว หรือที่ต้องเลือกลูกซึ่งจะให้อารมณ์แตกต่างกัน

     นอกจากนี้พี่กุดจี่มองว่าเด็กควรที่จะเรียนรู้จากหนังสือทุกแนว ซึ่งก็ได้ทดลองใช้กับลูกของตัวเองเหมือนปรากฏว่าลูกชอบอ่านหนังสือทุกแนว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เด็กได้เรียนรู้ อย่างไรก็พี่กุดจี่มองว่า ไม่ว่าผู้ปกครองจะเลือกหนังสือใดๆ สำหรับเด็กก็ตามแต่การอ่าน การเล่าให้ฟังควรเป็นกระบวนการร่วมกันของครอบครัว คือผู้ปกครองต้องใช้เวลาในการอ่านให้ลูกฟัง หรือเล่าให้ฟังเพื่อให้ลูกเกิดความสนใจและความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย


     หนังสือภาพแบบไหนเหมาะกับเด็กมีตัวหนังสือเยอะมีภาพน้อย หรือ มีตัวหนังสือน้อยมีภาพเยอะ

     จากการแลกเปลี่ยนประเด็นดังกล่าวในวงสานเสวนาพบว่า หนังสือทั้งสองประเภทต่างมีความเหมาะสมสำหรับเด็กทั้งสิ้นแต่ทั้งนี้มีปัจจัยเรื่องของวัยของเด็กเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยซึ่งเด็กเล็กจะชอบหนังสือที่มีภาพเยอะๆ เมื่อโตขึ้นมาหน่อยก็จะค่อยๆ มีพัฒนาการขึ้นตามลำดับ

     ประเด็นดังกล่าวนี้สมาชิกผู้ร่วมเสวนาท่านหนึ่งเห็นด้วยอย่างยิ่ง และได้ทดลองกับลูกของตัวเองแล้วเห็นว่าโดยที่สุดแล้วการให้เด็กได้เรียนรู้เยอะๆ จากหนังสือหลายๆ ประเภทจะเป็นผลดีกับเด็กมากกว่าการจำกัดหรือการคัดเลือกหนังสือประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป

     นอกจากนี้สมาชิกยังมองว่าหนังสือบางเล่มสำหรับเด็กแล้วเป็นมากกว่าหนังสือภาพเฉยๆ เพราะเป็นการฝึกทักษะด้านสติ ด้านปัญญาและด้านอื่นๆ ด้วย เช่นหนังสือที่เกี่ยวกับตัวเลข หรือหนังสือที่เกี่ยวกับการเสียสละ เป็นต้น

     ข้อเสนอสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองคือ อย่าฝากความหวังไว้กับครูอย่างเดียว พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเอาใจใสร่วมเรียนรู้ไปกับลูกๆ ของต้นเองด้วยควรเติบโตไปด้วยกันลูกๆ ด้วยกระบวนการพัฒนาที่ถูกต้อง ด้วยกระบวนการการปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่าน หรือรักหนังสืออย่างเป็นระบบ

     สาระดีๆ จากกิจกรรมสานเสวนา

     -ครูชีวัน ได้สอนการเล่านิทานสำหรับเด็กโดยการเล่าเป็นตัวอย่างให้สมาชิกได้เห็นกระบวนการวิธีการเล่านิทานสำหรับเด็ก เทคนิคการทำให้เด็กสนใจเมื่อผู้ปกครองหรือครูต้องเล่านิทานให้เด็กฟัง

นอกจากเทคนิคการเล่านิทานแล้ว ครูชีวันยังได้สอนเทคนิคการเล่านิทานด้วยการเล่านิทานเรื่องอีเล้ง เคล้งโค้ง เยี่ยมเยียนยโสธร ให้เพื่อนๆ สมาชิกฟังอีกด้วย ซึ่งเป็นที่สนุกสนานและชอบใจของสมาชิกที่เข้าร่วมเป็นอย่างมาก

      -ส่วนพี่กุดจี่ได้สอนร้องเพลงสำหรับเด็ก โดยร้องเพลงลูกโปงสวรรค์ได้เพื่อนๆ สมาชิกได้รับฟัง...อีกด้วย

     นอกจากนี้ยังมีประเด็นหลักๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามาและพ่อแม่ผู้ปกครองคนจะเอาใจใส่และให้ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปลูกฝังเด็กในปัจจุบัน คือ เรื่องเพลงสำหรับเด็กซึ่งในวงสานเสวนาเห็นว่า สื่ออีกอย่างหนึ่งที่สามารถปลูกฝังให้เด็กๆ ได้เป็นอย่างดี คือเพลงสำหรับเด็ก ซึ่งในปัจจุบันหาเพลงดีๆ ที่เหมาะสมสำหรับเด็กยากยิ่งดังนั้นหากมีโอกาสชุมชนปฏิบัติการออนไลน์(GotoKnow) ควรมีการพูด แบ่งปัน แลกเปลี่ยนในประเด็นดังกล่าวอย่างจริงจังอีกด้วย

-----------------------------

หมายเลขบันทึก: 572539เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2014 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2017 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

มาช้า ยังดีกว่าไม่มา ครับครูพีร์

555

อยากจะมามีส่วนร่วมกิจกรรมดี ๆ แบบนี้  แต่ภารกิจมากมาย  ไม่เอื้ออำนวยจ้ะ

ขอบคุณครับ คุณมะเดือ...ไว้มีโอกาส..ครับผม ของคุณที่เข้ามาติดตามครับ

ขอบคุณบันทึกดีๆ

หนังสือเหมาะกับเด็กบ้านเราราคาสูง

ที่ย่อมเยาหน่อย บางทีมีเนื้อหา ไม่เหมาะรวมมาด้วย (ผู้สร้างสรรค์งานอาจไม่ทันระวัง)

พ่อแม่ต้องมีบทบาทเป็นผู้เลือกให้

แต่ที่เห็นแม่เด็กซื้อให้ลูกอ่านในเตียงเด็กป่วยเห็นแล้วจะป่วยตามครับ

นึกถึง " อีเล้ง เคล้งโค้ง " แล้ว ทำให้ยิ้มได้ซะทุกที

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท