บันทึกดูงานประเทศอังกฤษ ดร.สุชิน ลิขิต ดิศกุล อยู่ในทีม


วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๙ National Extension College และ ห้องสมุดชุมชนในเขต Camden
วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๙            วันนี้นับเป็นวันแรกของการศึกษาดูงาน คุณ David มารับจากโรงแรมในยามเช้า พาคณะนั่งรถไปราว ๒ ชั่วโมงสู่ Michael Young Center, National Extension College ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในบริเวณเดียวกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อออกนอกเมืองแล้วก็ได้เห็นพื้นที่ทำการเกษตรที่กว้างขวาง มีทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงวัว ม้า และแกะอยู่ทั่วไป เกษตรกรใช้เครื่องจักรกลและสารเคมีกันเต็มที่คงจะเนื่องจากมีพื้นที่กว้างและมีแรงงานจำกัด            คุณ Alison West แนะนำหน่วยงานแห่งนี้ว่าเป็นองค์กรการกุศล (charity organization) มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถเข้าโรงเรียนตามปกติด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น นักโทษ เรียนระบบทางไกลปกติ ไม่มี ICT เนื่องจากมีข้อกำหนดของเรือนจำ ตัวนักโทษเองก็ต้องย้ายที่คุมขังเป็นประจำ ดังนั้นจึงต้องเก็บระเบียนผลการเรียนไว้และส่งเสริมให้เรียนต่อเนื่องไปจนจบหลักสูตรหรือพ้นโทษไปแล้ว ลักษณะการทำงานเป็นการร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น ๆ ที่รับผิดชอบดูแลนักโทษอยู่แล้ว ส่วนองค์กรนี้เข้าไปร่วมสนับสนุนทางด้านการศึกษาโดยเฉพาะ นอกจากนั้นก็มีกลุ่มเป้าหมายผู้ดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในครอบครัวของตนเอง คนกลุ่มนี้มีอยู่ทั่วประเทศราว ๕ ล้านคนทีเดียว การศึกษาทางไกลจึงช่วยให้สามารถเรียนต่อได้ในขณะที่รับผิดชอบงานที่บ้าน และมีความสุขในชีวิต กลุ่มเป้าหมายอีกกลุ่มหนึ่งคือเด็กและเยาวชนที่มีปัญหากับการเรียนในโรงเรียน เช่น ไม่ชอบครู หรืออยากเรียนอยู่กับบ้าน องค์กรทำงานร่วมกับองค์กรอื่น ๆ ที่รับผิดชอบดูแลเยาวชนที่ถูกทอดทิ้งเหล่านี้ด้วย อีกกลุ่มหนึ่งคือคนพิการโดยเฉพาะทางด้านสมองหรือมีปัญหาเจ็บป่วยเรื้อรัง ใช้วิธีการที่ยืดหยุ่นคือเมื่อเจ็บป่วยหรือต้องบำบัดรักษาก็พักการเรียนไว้ก่อน พออยู่ในสภาพที่ดีขึ้นแล้วก็สามารถเรียนต่อไปได้ การเก็บระเบียบผลการเรียนจึงต้องใช้ระยะเวลายาวนาน นอกจากนั้นยังมีส่วนร่วมรับผิดชอบให้บริการนักเรียนบางคนที่ก้าวหน้าไปได้ไกลกว่าคนอื่น แต่พ่อแม่ไม่อยากให้ขึ้นไปเรียนในชั้นสูงขึ้นโดยเร็ว จึงเข้าไปช่วยจัดการเรียนด้วยตนเองให้และเก็บผลการเรียนไว้ บางโรงเรียนไม่มีครูสอนบางวิชา เช่น ปรัชญา ความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็ไม่อยากเสียนักเรียนไปให้โรงเรียนอื่น จึงใช้การศึกษาระบบทางไกลในวิชาเหล่านั้นเข้ามาบริการนักเรียนของตนเอง            ที่จริงกลุ่มเป้าหมายของการศึกษาทางไกลครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มที่อยู่นอกระบบโรงเรียนนั่นเอง ซึ่งมีเป็นจำนวนมากทั่วประเทศ ในบรรดากลุ่มเป้าหมายเหล่านี้กลุ่มผู้ดูแลผู้สูงอายุมีความมุ่งมั่นต่อการเรียนมากที่สุด ที่จริงแล้วการศึกษาทางไกลมีคุณค่าเป็นกลาง ความสำเร็จขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ของผู้เรียนเป็นสำคัญ            งานที่สำคัญขององค์กรมีสองส่วนใหญ่ ๆ คือส่วนที่จะต้องเข้าระบบการประกันคุณภาพของรัฐบาล ซึ่งจะมีการควบคุมและตรวจสอบอย่างเคร่งครัด การพัฒนาสื่อและระบบการประเมินผลจึงต้องเป็นตามข้อกำหนดในมาตรฐานคุณภาพของรัฐบาล เพื่อเป็นหลักประกันให้กับผู้เรียนและการยอมรับของรัฐบาล อีกส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษาในลักษณะที่เป็น informal education ซึ่งไม่มีข้อกำหนดเรื่องการประกันคุณภาพ ไม่มีความกังวลต่อการตรวจสอบคุณภาพของรัฐบาล เป็นเรื่องที่ผู้ให้ความรู้และผู้เรียนจัดการกันเองในแต่ละชุมชน องค์กรเข้าไปร่วมมือในลักษณะที่ต่อยอดให้โดยประสานงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่ให้การศึกษาในแต่ละชุมชนนั่นเอง ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้เรียนในท้องถิ่น โดยสภาพสังคมของอังกฤษมีการรวมตัวกันเป็นสมาคมและมีอาสาสมัครเข้ามาร่วมมือกันทำงานเพื่อสังคมอย่างแพร่หลาย การจัดการการศึกษาในลักษณะนี้จึงมีอยู่ทั่วไป             คุณ Alison ให้ความเห็นทั่วไปเกี่ยวกับระบบการศึกษาของอังกฤษว่ากำลังเดินเข้าไปสู่ระบบอเมริกันมากขึ้นทุกที เช่น มีการจัดแบ่งความรู้ออกเป็นส่วน ๆ แล้วจัดการศึกษาเป็นหน่วยย่อย ๆ เก็บสะสมผลการเรียนแต่ละหน่วยไว้ และนำมาใช้สำหรับการประเมินผลเทียบระดับการศึกษาได้ มีการใช้ข้อสอบแบบปรนัยกันแพร่หลาย มีการใช้ ICT และระบบอัตโนมัติในการจัดการศึกษามากขึ้น มีความลุ่มหลงในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ กันจนเป็นแฟชั่น แม้แต่รัฐบาลเองก็กำลังเป็นไปเช่นนี้ สิ่งใดที่เกิดขึ้นใหม่ก็พยายามนำมาใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและทันสมัย ที่จริงยังมีครูจำนวนไม่น้อยไม่ได้เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เนื่องจากเป็นระบบคิดแบบแยกส่วน ขาดการมีส่วนร่วม การพัฒนาความสามารถอย่างต่อเนื่อง (gradual development) และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน             ที่จริงสังคมอังกฤษให้ความสำคัญของการศึกษาตลอดชีวิตเป็นอันมาก อุตสาหกรรมผลิตหนังสือใหญ่โต ทำให้หนังสือมีราคาถูก อัตราผู้ใช้ห้องสมุดก็สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แม้ว่าจะมี ICT เข้ามาในชีวิตมากขึ้น แต่ก็คิดว่าหนังสือและการอ่านหนังสือยังมีความสำคัญอยู่ต่อไป ไม่ได้ลดลง            ทางออกในการยืดหยัดเรื่องที่ค่อย ๆ ขาดหายไปในระบบการศึกษาดังกล่าว ในยุคที่มีการใช้ ICT กันอย่างแพร่หลายคือการเลือกใช้และพัฒนา open sources หรือส่งเสริมให้การเรียนรู้ร่วมกันดังที่ปรากฏตัวอย่างใน Wikipedia เป็นต้น            Tony Hopwood ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าราวร้อยละ ๙๓ ของรายได้ขององค์กรมาจากนักศึกษา จึงต้องให้ความสนใจเรื่องการตลาดเป็นพิเศษ นั่นคือพยายามหาสิ่งที่เหมาะสมมาให้กับคนที่ควรได้รับในเวลาที่เหมาะสมและมีราคาเหมาะสม            เจ้าหน้าที่ทั้งหมดมีเพียง ๖๓ คน รับผิดชอบงานจัดทำสื่อการเรียน ดูแลนักศึกษาและครู (tutors) ทำการตลาด จำหน่ายสื่อการเรียน รับสมัครนักศึกษา ทำแบบทดสอบและระเบียนนักศึกษา            เนื้อหาวิชาแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนใหญ่ ๆ คือ ประเภทแรกเป็นเรื่องทั่วไปและเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่ทำเพื่อความสุขของชีวิต (leisure and general contents) ได้แก่การศึกษาสายสามัญซึ่งจะต้องดำเนินการตามข้อกำหนดเรื่องหลักสูตรและมาตรฐานของรัฐ อาชีพ เช่น บัญชี การเขียนในธุรกิจ การแนะแนว ความคิดสร้างสรรค์และงานศิลปะ เป็นต้น ประเภทที่สองเป็นเรื่องเฉพาะ เช่น การจัดการ สำหรับสนับสนุนเจ้าหน้าที่ระดับบริหารให้สามารถพัฒนาความสามารถได้อย่างต่อเนื่องได้โดยไม่ต้องหยุดพักการทำงานและเป็นที่รับรู้ของคนอื่น ๆ ในองค์กร นอกจากนั้นยังมีเนื้อหาวิชาเกี่ยวกับงานบริการสาธารณสุขและสังคม การเลี้ยงดูเด็ก เป็นต้น            กลุ่มเป้าหมายอาจแบ่งได้เป็น ๕ กลุ่ม คือ ผู้ที่สนใจการเรียนด้วยตนเอง โรงเรียนซึ่งอาจขาดครูบางวิชา วิทยาลัยขาดครูสอนบางวิชา จึงหันมาใช้สื่อเพื่อการเรียนด้วยตนเอง ครอบครัวทหารซึ่งต้องอพยพไปทำงานอยู่เสมอ รวมทั้งผู้ต้องขัง            การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทำหลายวิธี คือ ส่งจดหมายไปถึงโดยตรง ให้ข้อมูลทาง web site จัดนิทรรศการ ส่งเจ้าหน้าที่การตลาดไปพบ ร่วมทำงานกับพันธมิตรต่าง ๆ และที่มีประสิทธิภาพมากคือการบอกกล่าวกันต่อ ๆ ไป             ในส่วนของการตลาดนั้นมีความพยายามวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการในการเรียน โดยใช้ข้อมูลที่ได้มาจากเครือข่ายนักศึกษาและครูโดยตรง และจากนโยบายของรัฐและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เรื่องนี้มีความสำคัญมากเนื่องจากกว่าที่จะจัดทำหลักสูตรและสื่อได้เสร็จก็ต้องใช้เวลาหลายเดือน หลากวิเคราะห์แนวโน้มผิดพลาดก็จะมีผลกระทบต่อองค์กรอย่างใหญ่หลวง จึงผิดพลาดไม่ได้            ครูได้รับค่าจ้างตามที่กำหนด คัดเลือกจากผู้ที่มีความชำนาญการและเข้าใจระบบการสนับสนุนนักศึกษาที่เรียนในระบบ online แต่ไม่ได้พบกับนักศึกษาโดยตรง เมื่อนักศึกษาลงทะเบียนและรับสื่อการเรียนไปแล้วก็ให้ส่งงานตรงไปยังครูที่กำหนดให้ เมื่อครูตรวจงานแล้วก็ส่งกลับไปให้ นักศึกษาสามารถติดต่อขอคำแนะนำในการเรียนได้ผ่านทาง e-mail            วิชาที่ต้องมีการฝึกทักษะนั้นจะไม่เหมาะสมนักกับระบบการศึกษาทางไกล ต้องอาศัยการเรียนแบบพบครูในศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะหรือในสถานที่ทำงานของตนเอง ส่วนวิชาที่ไม่ต้องมีการฝึกปฏิบัติมากนักก็ใช้การศึกษาทางไกลได้ดี            Tim Burton ให้ข้อมูลว่าบุคลากรฝ่ายพัฒนาสื่อการเรียนมีเพียง ๑๒ คนเท่านั้น ครึ่งหนึ่งทำงานบรรณาธิการสื่ออีกครึ่งหนึ่งรับผิดชอบด้านงานบริหารกระบวนการพัฒนาสื่อ จัดพิมพ์สื่อโดยมีโรงพิมพ์ของตนเอง ใช้ Xerox technology สามารถพิมพ์สื่อการเรียนได้อย่างรวดเร็ว            ปัญหาสำคัญคือการปรับปรุงสื่อให้ทันสมัยอยู่เสมอ ปกติจะได้รับข้อมูลจากฝ่ายการตลาดเป็นประจำและใช้เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า จึงต้องทำงานให้รวดเร็วและสามารถปรับให้สอดคล้องกับความต้องการต่าง ๆ อยู่เสมอ             ในการพัฒนาสื่อนั้นจำเป็นต้องแสวงหาผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์มาทำต้นฉบับสื่อการเรียน ซึ่งจะต้องครอบคลุมเนื้อหา กิจกรรมการเรียน ระบบการให้ผลป้อนกลับ และคำแนะนำต่าง ๆ ที่จะต้องให้กับนักศึกษา มากกว่าจะเป็นการนำเสนอเนื้อหาวิชาเท่านั้น ต้องอาศัยความเห็นของครูประกอบในการจัดกิจกรรมบริการนักศึกษา ต้องศึกษาวิธีการเรียนของผู้ใหญ่ ข้อสำคัญคือผู้เขียนสื่อการเรียนจะต้องยินดีรับฟังความเห็นของทีมพัฒนาสื่อ ซึ่งจะต้องฟังเสียงของนักศึกษาเป็นพิเศษ มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถดำเนินธุรกิจเรื่องนี้ต่อไปได้            ระยะเวลาในการพัฒนาสื่อเนื้อหาวิชาหนึ่ง ๆ ประมาณ ๖ เดือนถึง ๑ ปี ต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวนาน ในขั้นลงมือพัฒนาสื่อจะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและใช้เวลาไม่มากนัก ในระยะ ๕ ปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการพัฒนาสื่อที่เป็น interactive materials และให้บริการ online ให้บริการ download เนื้อหาวิชาต่าง ๆ ข้อสอบ การติดต่อสื่อสารระหว่างนักศึกษา การเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลขององค์กร ให้ข้อมูลระบบการเรียน บริการ web links เชื่อมโยงกับผู้ผลิตสื่อแหล่งอื่น ๆ และแนะนำให้นักศึกษาใช้สื่อที่หลากหลายด้วย ปัจจุบันพยายามเพิ่มเนื้อหาที่ให้บริการ online มากขึ้นเป็นลำดับ นอกเหนือที่ทำเป็นสื่อสิ่งพิมพ์เช่นที่ทำมาแต่อดีต พยายามใช้สื่อ online เสริมสื่อสิ่งพิมพ์และส่งเสริมให้นักศึกษาใช้สื่อทั้งสองประเภทร่วมกันไป ทุกปีจะมีการปรับปรุงเนื้อหาของสื่อการเรียนให้ทันสมัยประมาณร้อยละ ๕๐ มีผู้ชำนาญการเข้ามาช่วยตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาและพิจารณาว่านักศึกษาใช้แล้วได้ผลดีหรือไม่ เพียงใด            ปัจจุบันยังไม่มีการวัดผลระบบ online เนื่องจากรัฐบาลมีข้อกำหนดเฉพาะ เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพนักศึกษาจึงต้องเข้าไปสอบในศูนย์การทดสอบที่กำหนดให้ ส่วนที่ให้บริการคือการวัดผลตนเองเพื่อนักศึกษาจะได้ใช้เพื่อวินิจฉัยการเรียนและหาทางปรับปรุงตนเองได้อย่างต่อเนื่อง     นอกจากนั้นยังพยายามส่งเสริมการพัฒนา resource centers ในพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น พัฒนาสื่อให้มีเนื้อหาระดับที่สูงขึ้นเป็นลำดับตามข้อกำหนดเรื่องคุณวุฒิของผู้เรียน            ตอนบ่ายคณะเดินทางกลับเข้ามาในเมือง พบกับ Iffat Shahnaz ซึ่งเป็น e-learning manager และ Brian Mitchell ผู้รับผิดชอบงาน adult and community learning service นำดูงานโครงการ UK online ที่ Camden Town Library              วิทยากรทั้งสองท่านให้ข้อมูลว่าในเขต Camden นี้มีหน่วยงานที่ให้บริการการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่คือวิทยาลัยชุมชน (further education colleges) ๔ แห่ง โดยได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรระดับชาติคือ Learning and Skills Council ผ่านทาง Camden Council มีการทำสัญญากับวิทยาลัยเหล่านี้เพื่อจัดการเรียนให้กับกลุ่มเป้าหมายผู้เรียนในพื้นที่ ซึ่งมีผู้อพยพจากหลายประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากบังคลาเทศ             นอกจากนั้นแล้วยังให้บริการฝึกอบรมในศูนย์ UK online ซึ่งตั้งอยู่ในห้องสมุดชุมชน เป็นบริการของรัฐบาล เพื่อขยายโอกาสในการเรียนและใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตไปสู่ชุมชนที่ขาดโอกาส ไม่อาจจะเรียนในวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ จัดบรรยายการเรียนแบบเป็นกันเอง เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าเข้ามาเรียนในห้องเรียนซึ่งอาจจะเป็นประสบการณ์ที่ขมขื่นสำหรับกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้มาก่อนแล้ว เป็นการนำเอาเนื้อหาวิชาต่าง ๆ เข้าไปถึงชุมชน ถึงกลุ่มเป้าหมาย ในลักษณะที่เป็นการเรียนตามอัธยาศัย ผ่อนคลาย และสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนแต่ละคนโดยตรง             การจัดตั้ง UK online centers ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง มีเป้าหมายเพื่อจัดตั้งในชุมชนที่ขาดโอกาส ๒,๐๐๐ แห่ง ใช้งบประมาณ ๑,๒๒๘,๐๕๖ ปอนด์ซึ่งเป็นเงินรายได้จาก Lottery Fund ในเขต Camden มีการจัดตั้งในศูนย์บริการชุมชน ๒๐ แห่ง และห้องสมุดชุมชน ๖ แห่งแล้ว UK online center ให้บริการพัฒนาทักษะเพื่อชีวิต (skills for life) ได้แก่ การรู้หนังสือ โครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล การเรียนร่วมกันในครอบครัว (family learning) เป็นศูนย์ทดสอบการรู้หนังสือของประเทศ ร่วมทั้งให้บริการการเรียนด้านต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องเฉพาะของชุมชน นับแต่ก่อตั้งศูนย์บริการนี้ขึ้นมามีผู้เข้ามาใช้บริการแล้ว ๘,๖๐๐ คน             เท่าที่เห็นมีการจัดบริเวณส่วนบริการคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตเฉพาะ แต่ไม่เป็นลักษณะชั้นเรียน จัดวางคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์และอุปกรณ์อื่น ๆ โต๊ะประชุม แบบที่สร้างบรรยากาศเป็นกันเอง ทำเป็น open learning environment สำหรับคนทุกวัย มุ่งตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ เข้ามาใช้ได้ตลอดเวลา เป็นประจำทุกวัน โดยไม่ต้องเสียค่าบริการแต่อย่างใด ส่งเสริมให้มีความรู้พื้นฐานพอที่จะนำไปใช้ในการเรียนต่อในวิทยาลัยได้             การบริการครอบคลุมเรื่องการแนะนำการใช้คอมพิวเตอร์ และการพัฒนาทักษะและยกระดับคุณวุฒิเพื่อใช้ในการทำงานและการเรียนต่อ นอกจากนั้นยังให้บริการอินเตอร์เน็ตและการเข้าถึงบริการด้านต่าง ๆ ของรัฐบาลกลางและองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น การหาข้อมูลและสมัครงาน รวมทั้งการจองบริการของหน่วยงานต่าง ๆ ในระบบ online             ผู้ใหญ่ที่เข้ามาเรียนให้เหตุผลว่าต้องการเรียนรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ เนื่องจากเห็นลูก ๆ ใช้คอมพิวเตอร์เป็นกันแล้ว และเมื่อใช้คอมพิวเตอร์ได้แล้วก็จะได้เรียนเรื่องอื่น ๆ ตามมาด้วย อีกทั้งมีความสบายใจที่จะเรียนในแหล่งที่อยู่ในชุมชน ไม่ต้องการเดินทางไกลนัก วิธีการที่ใช้ได้ผลคือเริ่มด้วยการเรียนกับครูก่อน ต่อไปก็ค่อย ๆ ลองติดต่อกับคนอื่น ๆ เช่น ญาติที่อยู่ต่างประเทศ ผ่านทาง e-mail หาข้อมูลต่าง ๆ ใน web site ติดตามมาด้วยการเรียนวิชาต่าง ๆ ในระบบ online จากวิทยาลัยต่าง ๆ นอกจากมาใช้คอมพิวเตอร์แล้วผู้เรียนยังได้โอกาสพบกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือค้นคว้าลงลึกในรายละเอียดในเรื่องที่สนใจร่วมกันต่อไป            เรื่องที่ผู้เรียนส่วนใหญ่สนใจคือการถ่ายภาพโดยใช้กล้องดิจิตอล เทคโนโลยีทางด้านดนตรี การออกแบบ web site และการยกระดับความสามารถและความมั่นใจในตนเองเพื่อประโยชน์ในการหางานทำ รวมทั้งการเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง            เจ้าหน้าที่ห้องสมุดให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่านับแต่มีการจัดตั้ง UK online ขึ้นในห้องสมุดแห่งนี้ทำให้มีผู้สนใจเข้ามาใช้บริการห้องสมุดมากขึ้น เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และที่สำคัญคือได้มอบถุง Bookstart สำหรับกลุ่มเป้าหมายเด็ก ๓ ระดับอายุ คือ ไม่เกิน ๒ ขวบ ๒-๓ ขวบ และ ๓-๕ ขวบ ให้ด้วย พร้อมกับเอกสารแนะนำที่ได้มาจาก http://www.booksforbabies.org.uk/Parents-and-carers/Parents-FAQs            UK online center ที่ห้องสมุดชุมชน Queens Crescent Library ก็มีลักษณะการจัดบริการคล้ายคลึงกัน เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเคยจัด LearnDirect ของ University for Industry มาก่อนแล้ว แต่ดูเหมือนจะเป็นการให้บริการที่ค่อนข้างเป็นทางการมากกว่า ระดับสูงกว่า UK online สำหรับผู้เรียนในระดับเริ่มต้นใช้คอมพิวเตอร์ UK online น่าจะเหมาะสมกว่า             ในเอกสารแนะนำ UK online centers ของเขต Camden มีข้อมูลเพิ่มเติมศูนย์สามารถให้บริการได้ตั้งแต่พื้นฐานการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต การใช้ e-mail การพิมพ์เอกสารต่างๆ และเลือกวิธีการเรียนได้ว่าจะเรียนกับครูในวิชาที่จัดเตรียมไว้ให้ หรือเรียนแบบ online หรือจะแวะเวียนเข้ามาเรียนสิ่งที่ตนเองสนใจโดยเฉพาะก็ได้ เจ้าหน้าที่ให้ความเป็นกันเอง เรียนในบรรยากาศอย่างเป็นมิตร หากต้องการพัฒนาความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษหรือคณิตศาสตร์ก็เข้ามาฝึกได้ที่ศูนย์บางแห่ง ศูนย์บางแห่งช่วยเลี้ยงดูเด็กให้ด้วยในขณะที่ผู้เป็นพ่อแม่เข้ามาเรียน บางแห่งจัดการฝึกอบรมเพื่อมุ่งรับวุฒิบัตรเฉพาะ เช่น Computer Literacy and Information Technology (CLAIT) หรือ European Computer Driving Licence (ECDL) รายละเอียดหาดูได้ที่ http://www.camden.gov.uk/ukonlinecentres             ในส่วนของห้องสมุดชุมชนนั้นดูลักษณะการจัดสถานที่แล้วน่าสนใจทีเดียว การจัดชั้นหนังสือ ที่นั่งอ่านและส่วนบริการคอมพิวเตอร์เป็นสัดส่วน มีบริการถ่ายเอกสารและตู้กาแฟให้ มีห้องมิดชิดสำหรับการสัมภาษณ์และให้คำปรึกษา แต่ดูแล้วยังแออัดเนื่องจากพื้นที่อาคารมีจำกัดโดยเฉพาะการจัดส่วนเฉพาะสำหรับเด็กและพ่อแม่จะได้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน แสดงให้เห็นความเอาใจใส่เรื่องการพัฒนาเด็กเป็นอย่างมาก             ในเขต Camden มีห้องสมุดชุมชน ๑๓ แห่ง ห้องสมุดเคลื่อนที่ ๑ แห่ง หน่วยบริการห้องสมุดถึงบ้าน หน่วยบริการห้องสมุดโรงเรียน และศูนย์ท้องถิ่นศึกษาและเก็บเอกสารสำคัญของชุมชน การสมัครเข้าเป็นสมาชิกไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดสำหรับคนทุกวัย หากต้องการยืมหนังสือเพียงแต่กรอกข้อมูลเพื่อแสดงหลักฐานตัวตนและที่อยู่ปัจจุบัน และรับบัตรสมาชิกของตนเอง สมาชิกที่เป็นผู้ใหญ่สามารถยืมหนังสือได้ครั้งละ ๑๐ เล่ม ยืมหนังสือเสียงได้ ๖ เล่ม ชุดการเรียนภาษา ๒ ชุด CD ๖ แผ่น เป็นเวลา ๓ สัปดาห์ วีดิทัศน์และ DVD ๖ เรื่องเป็นเวลา ๓ วัน และเกมคอมพิวเตอร์ ๑ ชุดเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ สำหรับสมาชิกที่เป็นเด็กสามารถยืมหนังสือได้ ๑๐ เล่ม เทปเสียงเล่านิทานต่าง ๆ ๔ เรื่อง เป็นเวลา ๓ สัปดาห์ วีดิทัศน์ ๖ เรื่อง DVD ๑ เรื่อง เป็นเวลา ๑ สัปดาห์ และเกมคอมพิวเตอร์ ๑ ชุดเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ การยืมต่อเนื่องสามารถทำได้หากไม่มีผู้จองไว้ก่อนแล้ว และสามารถทำได้ต่อเนื่องไม่เกิน ๕ ครั้ง โดยผ่านทางโทรศัพท์ หรือแสดงบัตรยืมที่ห้องสมุดโดยไม่ต้องนำหนังสือมาด้วย รวมทั้งผ่านอินเตอร์เน็ตได้ด้วย การจองหนังสือก็สามารถทำได้ผ่านทางอินเตอร์เน็ตหรือเข้าไปยืนความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่ห้องสมุด             ห้องสมุดสำหรับเด็กจัดไว้เป็นส่วนเฉพาะ มีหนังสือที่หลากหลาย ตุ๊กตา เกม เทปเสียง วีดิทัศน์ ของเล่นต่าง ๆ พ่อแม่สามารถเข้ามาลงทะเบียนให้ตั้งแต่แรกเกิด มีเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะในการทำให้การอ่านหนังสือสนุกคอยให้คำแนะนำกับเด็ก ให้คำแนะนำสำหรับพ่อแม่ที่มีงานยุ่ง แต่ห้องสมุดก็มิใช่เป็นที่รับฝากเลี้ยงดูเด็ก ผู้ใหญ่จึงต้องมาพร้อมกับเด็กเสมอและอยู่ด้วยตลอดเวลา             นอกจากนั้นแล้วบริการ Home Library ยังจัดไว้สำหรับคนทุกวัยในเขต Camden ที่ไม่สามารถเดินทางไปใช้บริการที่ห้องสมุดได้ สามารถยืมสิ่งมีบริการทุกอย่างที่มีอยู่ในห้องสมุดไปใช้ที่บ้านได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยติดต่อทางโทรศัพท์ เจ้าหน้าที่จะนำสิ่งที่ต้องการไปให้และรับกลับคืนในช่วงเวลา ๓ สัปดาห์เช่นเดียวกับการยืมหนังสือปกติ และดำเนินการในวันราชการ             ตอนเย็นคณะประชุมเพื่อสรุปผลประจำวัน เห็นว่าการจัดหน่วยบริการคอมพิวเตอร์ เช่น UK online ในห้องสมุดมีความเหมาะสม และหลายแห่งก็กำลังดำเนินการอยู่แล้ว แต่ควรจะจัดบรรยากาศให้เป็นกันเอง ไม่ใช่เข้ามานั่งเรียนในห้องเรียน และให้มีบริการที่หลากหลาย สื่อหลายอย่างที่ทำไว้แล้วก็สามารถนำมาใช้ได้เลย การจัดอบรมก็ควรจะทำแบบยืดหยุ่นตามความต้องการเฉพาะตัวของผู้เรียนมากขึ้น นอกจากนั้นการจัดห้องสมุดก็เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน            สำหรับเรื่องการศึกษาทางไกลนั้นเห็นว่าผู้เรียนของเรายังขาดโอกาสอยู่มาก แม้ว่าการศึกษาทางไกลจะไม่สามารถจัดบริการเนื้อหาวิชาส่วนที่ต้องการฝึกทักษะได้ดีนัก แต่ก็ควรจะได้มีการค้นคว้าวิจัยหาวิธีการและเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อให้สามารถบริการในระบบทางไกลได้ดีขึ้น หากจะให้ไปฝึกในโรงเรียนหรือวิทยาลัยต่าง ๆ ก็จะเป็นเรื่องยุ่งยาก จึงมีความเห็นว่าเรื่องนี้สถาบันการศึกษาทางไกลไทยคมควรจะได้พิจารณาจัดทำโครงการวิจัย โดยประสานงานกับฝ่ายแผนงานและงบประมาณของสำนักฯ เพื่อให้เกิดผลจริงจังในปีงบประมาณต่อไป การดำเนินงานอาศัยความร่วมมือกับศูนย์ฯ ภาคต่าง ๆ ซึ่งรับผิดชอบการศึกษาทางไกลอยู่แล้วด้วย            การทำโครงการทดลองนำร่องในลักษณะ UK online และการวิจัยการศึกษาทางไกลนั้นสามารถประสานความร่วมมือและงบประมาณจากศูนย์คอมพิวเตอร์ของกลุ่มแผนงานได้ เนื่องจากมีงบประมาณและกำลังวิเคราะห์ระบบส่วนที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว
หมายเลขบันทึก: 57224เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2006 07:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • เยี่ยมเลยครับ
  • แวะมาขอบคุณ
  • ผมอยากบอกว่าผมเป็นลูกศิษย์ อาจารย์ ธงชัย อจนะพงศา ที่ม. บูรพาครับผม
เนื้อหาน่าสนใจมากครับ  ขอบคุณในการนำมาเผยแพร่ให้ได้รับรู้กัน  น่าจะนำไปเผยแพร่ในเวป กศน.ด้วยนะครับ
  • อาจารย์ขจิต ครับ หากมีโอกาสพบอาจารย์ธงชัย ที่ ม.บูรพา จะเรียนให้ท่านทราบนะครับ ขอบคุณครับมาทักทายกัน ขอให้สรรค์สร้างงานการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ กลเม็ดเด็ด ๆ ต่อไปนะครับ จะตามไปเก็บเกี่ยวมาเผยแพร่แก่    ชาวกศน.
  • ขอบคุณอาจารย์รัฐเขต สำหรับข้อเสนอแนะในการนำเผยแพร่เวป กศน.ครับ
บทความนี้น่าสนใจมาก  แต่สงสัยว่าศูนย์  UK online  นี้เป็นศูนย์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับด้านใด  สนใจมากเลยช่วยตอบด้วยค่ะ

ขอบคุณน่ะค่ะที่นำมาเล่าให้ฟัง มีสาระดีมากเลย

  • ขอบคุณ คุณ ammy ที่แวะมาเรียนรู้
  • ขอบคุณ คุณ chansan ที่ให้ความสนใจ UK online center  ครับ การจัดตั้ง UK online center ได้รับสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง มีเป้าหมายเพื่อจัดตั้งในชุมชนที่ขาดโอกาสทั่วทั้งสหราชอาณาจักรประมาณ 2000 แห่ง ใช้งบประมาณ 1,228,056 ปอนด์ ซึ่งเป็นรายได้จาก Lottery Fund ( ไม่ทราบว่าเหมือนหวยบนดินของเราหรือเปล่า)  สำหรับที่ผมไปดูงานอยู่ในเขต Camden ได้มีการจัดตั้งในศูนย์บริการชุมชน 20 แห่ง และในห้องสมุดชุมชน 6 แห่ง ศูนย์แห่งนี้ ให้บริการผ่านระบบคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตบริการครอบคลุมในเรื่องการแนะนำการใช้คอมพิวเตอร์ และการพัฒนาทักษะและยกระดับคุณภาพชีวิตเพื่อใช้ในการทำงานและการเรียนต่อ ให้บริการอินเตอร์เน็ตและการเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐบาลกลางและองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น การหาข้อมูลและสมัครงาน รวมทั้งการจองบริการของหน่วยงานต่าง ๆ ในระบบ online  ครับ
เพิ่มเติมข้อมูลสำหรับคุณ chansan ครับ เกี่ยวกับ UK online นั้น จะตั้งอยู่ในที่ซึ่งมีคนดูแลอยู่แล้ว เช่นห้องสมุดชุมชน ซึ่งผู้สนใจสามารถเรียนรู้ตามอัธยาศัยได้ และคล่องตัวโดยไม่ต้องลงทะเบียนแต่อย่างใด ซึ่งในสหราชอาณาจักรมีระบบการเรียนออนไลน์อีกแบบหนึ่งซึ่งค่อนข้างจะเป็นระบบที่ต้องมีการลงทะเบียนเสียเงินแต่เป็นการศึกษาออนไลน์ที่มีหลักสูตรหลากหลายเพื่อนำไปใช้ในการทำงานได้คือการเรียนแบบLearndirect เรียนด้วยระบบ e - learning ซึ่งจัดโดยองค์กรที่เรียกว่า Ufi หรือ University for Industry  ครับ ต่อไปผมจะเผยแพร่เพิ่มเติมอีกครับ

บ้านแห่งคุณภาพ : โมเดลจากแบบแผนความคิด ของ ดิศกุล

             จากการที่ผมได้เรียนรู้ศาสตร์เกี่ยวกับระบบคุณภาพและเพาะบ่มความคิดมาหลายปี มามีโอกาสที่เหมาะสม เร่มต้นสร้างเป็นโมเดล ที่ ศูนย์ กศน. จังหวัดฉะเชิงเทรา  อันเป็นแบบแผนความคิดของผู้บริหารที่จะถูกนำไปใช้ในการมองกรอบ สร้างงานสู่ปลายฝัน เส้นทางการสร้างระบบคุณภาพ ได้ออกแบบเป็น "โครงสร้างบ้านแห่งคุณภาพ กศน. ฉะเชิงเทรา (House of Quality) ซึ่งมีส่วนประกอบของ้านที่แสดงความหมาย ดังนี้

               1. เสาของบ้านมี 8 เสา เปรียบเสมือนเสาหลักการบริหารคุณภาพ 8 ประการ ที่ผมนำแนวคิดมาจาก 8 Pticiples of Quality Manahenent และได้แปลงเป็นภาษาไทยที่ง่ายในการจดจำเป็นคำกลอนคือ (1) องค์การที่เน้นลูกค้า (2) มีภาวะผู้นำ(3) กระทำอย่างมีส่วนร่วมรับรู้สู่ผู้คน(4) คิดค้นกระบวนการ(5) ทำงานเป็นระบบ(6) เจนจบการปรับปรุงต่อเนื่อง(7) เรื่องการตัดสินใจอาศัยข้อมุ่ง(8) เกื้อกูลประโยชน์ผู้เกี่ยวข้อง

                 2. 

ผมได้ข้อมูลจากที่ อ.ดิศกุล ได้มาเพยแพร่มากเลยครับ
ข้อมูลน่าสนใจเป็นความรู้ดีครับ
เป็นความรู้ดีครับ ขอให้ อ.ดิศกุล มีผลงานดีๆแบบนี้มาให้ความรู้เรื่อยๆนะครับผมจะแวะมาอ่านบ่อยๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท