สงครามอินโดจีน :บันทึกการรบในสงครามอินโดจีน พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๘๔ ของกำลังพลคนหนึ่ง(ตอนจบ)


.....รัฐบาลอินโดจีนจะทำสัญญาพักรบกับเราโดยรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้ไกล่เกลี่ย และในเวลาพักรบนี้เราก็ต้องประจำแนวอยู่เสมอ ทุกครั้งที่ฝนตกลงมาเราก็ต้องเปียกกันโชกกันทุกคน........... ระหว่างพักรบเราก็ได้ของขวัญอีก ๒-๓ ครั้ง นับว่าผู้อยู่างหลังยังเป็นห่วงทหารในแนวเป็นอย่างดี....... เรารอแล้วคอยเล่าให้เวลาพักรบหมดไป จะได้ถึงเวลาที่เราจะได้รู้ผลการเจรจาในเรื่องการปักปันเขตร์แดน แต่ก็ต้องยืดเวลาพักรบกันไปเรื่อย ๆมาจนถึงวันที่ ๖ มีนาคม เราจึงรู้แน่นอนว่าฝรั่งได้ยอมรับข้อเสนอและตกลงข้อหญ่ใจความที่เราขอไป จึงเป็นอันว่าเราไม่ต้องรบกันอีก...........ในระหว่างนี้ค่อยสบายขึ้นบ้าง


Posted Image

ภาพสนามรบ

    การลงนามอนุสัญญาสันติภาพไทย-ฝรั่งเศส ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 11มี.ค.2484บันทึกการรบในสงครามอินโดจีน ของพลทหารสุชาติ ตะบูนพงษ์(ต่อ) 

**** ในวันรุ่งขึ้นที่ ๒๙ ตอนเย็นเราเคลื่อนที่ไปอีกขั้นหนึ่ง ขั้นนี้ใกล้กับข้าศึกมาก เราสามารถได้ยินเสียงที่ข้าศึกพูดกันทีเดียว ประมาณว่าคงห่างประมาณ ๗๐๐-๘๐๐ เมตรเท่านั้น ในโอกาสนี้พอจวบกับรัฐบาลอินโดจีนจะทำสัญญาพักรบกับเราโดยรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้ไกล่เกลี่ย และในเวลาพักรบนี้เราก็ต้องประจำแนวอยู่เสมอ ทุกครั้งที่ฝนตกลงมาเราก็ต้องเปียกกันโชกกันทุกคน ฝนในด้านนี้ตกอย่างไม่สามารถสังเกตได้เลยเพราะตกอย่างไม่มีเค้ามีเงื่อนทีเดียว ระหว่างพักรบเราก็ได้ของขวัญอีก ๒-๓ ครั้ง นับว่าผู้อยู่ข้างหลังยังเป็นห่วงทหารในแนวเป็นอย่างดี ของที่เราได้รับก็เป็นผ้าบ้าง ของกินบ้าง ไม่จำเป็นต้องอธิบายให้ละเอียด 

****เรารอแล้วคอยเล่าให้เวลาพักรบหมดไป จะได้ถึงเวลาที่เราจะได้รู้ผลการเจรจาในเรื่องการปักปันเขตร์แดน แต่ก็ต้องยืดเวลาพักรบกันไปเรื่อย ๆมาจนถึงวันที่ ๖ มีนาคม เราจึงรู้แน่นอนว่าฝรั่งได้ยอมรับข้อเสนอและตกลงข้อใหญ่ใจความที่เราขอไป จึงเป็นอันว่าเราไม่ต้องรบกันอีกและรออยู่ในสนามอีกจนถึงวันที่ ๑๖ มีนาคมเราจึงเข้าไปพักอยู่ในบ้าน นาเกื่อม ในระหว่างนี้ค่อยสบายขึ้นบ้างเพราะเรานอนกันบนบ้านเรือนของชาวเขมรซึ่งเจ้าของได้หลบภัยไปอยู่ที่อื่น ตามความสังเกตเห็น บ้านเขมรนี้ปลูกกันอย่างไม่มีขื่อมีแป เราอยู่ที่นี่จนถึงวันที่ ๒๗ (มีนา) เราก็ได้รับคำสั่งให้กลับมาพักที่บ้านปอยเปต การพักอยู่ที่นี่ก็ยังคงไม่มีเหตุที่น่าสนใจ เพราะภูมิประเทศเป็นป่าทึบบ้าง ป่าโปร่งบ้าง ที่นาของชาวเขมรบ้าง ในโอกาสนี้เราได้ไปเที่ยวที่บ้านนิคมปากห้าง นิคมนี้มีราษฎรอาศัยอยู่ประมาณ ๒ พันกว่าเห็นจะได้ 

****วันที่ ๑ เมษายน ผู้บัญชาการสูงสุดได้ไปติดเหรียญชัยสมรภูมิให้แก่นายทหารและนายสิบกับผู้แทนพระองค์ เมื่อเสร็จจากการติดเหรียญแล้วท่านก็ได้ให้โอวาทพอสมควรแล้วท่านก็จากไป ส่วนเราก็ได้รับเหรียญในรุ่งขึ้นเหมือนกัน 

****วันที่ ๓ เมษายน เราเคลื่อนที่กลับโดยถยนต์ลำเลียงมายังอรัญประเทศและขึ้นรถไฟกลับมายังกรุงเทพราว ๑๖.๐๐ น. และพักอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถม แต่ก็ยังมีการฝึกหัดกันอย่างปรกติทุกวัน ทั้งนี้เพราะต้องการซ้อมไว้เดินสวนสนามต่อไป คืนวันที่ ๒๔ นี้ ด้วยความเอื้อเฟื้อของคณะครูโรงเรียนฝึกหัดรูประถมกรุงเทพพระมหานคร ได้ร่วมกันจัดหาลิเกมาแสดงให้ดู ๑ คืน เพื่อเป็นการรื่นเริงสำหรับเราคณะทหารที่ได้มาพักผ่อนอยู่ ณ โรงเรียนแห่งนี้

***วันที่ ๒๕ เราได้ไปดูภาพยนต์ข่าวสงครามยุโรปปัจจุบันและข่าวเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสใน การเซ็นสัญญาสันติภาพชั่วคราว ทั้งนี้โดยความเอื้อเฟื้อของบริษัทภาพยนต์ ณ โรงภาพยนต์ศาลาเฉลิมกรุงในรอบเช้าเสร็จจากการดูราว ๑๐.๐๐น ครึ่งเห็นจะได้ พวกเราได้รับความพอใจกันทุกคน 

****ถึงวันที่ ๒๗ เมษา อันจะเป็นวันเดินสวนสนามกัน ในวันนี้เราตื่นนอนกันตั้งแต่ ๐๒.๐ น กว่า และออกเดินไปรอเวลาที่ข้างสนามมวยสวนเจ้าเชษ(?) เช้า ๐๗.๐ น เครื่องบินชนิดต่าง ๆเริ่มบินสวนสนาม บินผ่านประตูข้างหน้ากระทรวงกลาโหม ต่อมาหน่วยยานยนต์ก็ออกเดิน สิ้นเวลาชั่วโมงเศษจึงหมดขบวน และเหล่าทหารม้าออกเดิน ต่อมาก็เหล่าทหารเดินเท้าขบวนของเราออกเดินเป็นขบวนที่ ๒ ในโอกาสนี้เราได้เดินคู่กับธงชัยเฉลิมพลของเราซึ่งเดินนำอยู่ข้างหน้าอีกครั้ง ขบวนของเรามีอยู่ด้วยกัน ๓ กองพันคือ ร.พัน ๕ ร.พัน ๔ ร.พัน ๔๕ เสร็จพิธีเดินสวนสนามเรามาถึงที่พักกันราว ๑๑.๐๐ น.จึงได้กินข้าวเช้ากันในเวลานี้ ส่วนตอนเช้าเราได้รับขนมปังกับเนื้อเค็มเท่านั้น แต่ก็ยังปะทังหิวได้อย่างดี

****วันที่ ๒ พฤษภา เราเดินทางกลับเพชรบุรีอันเป็นที่ตั้งของเรา และในวันเดียวกันนั้นเราก็มาถึงเพชร์ในตอนบ่าย บ่ายวันนั้นกองทหารของเราได้เดินผ่านสถานที่ต่าง ๆจนรอบจังหวัดและเข้าสู่ที่ตั้งโรงทหาร ในเย็นวันนั้นได้มีการเลี้ยงต้อนรับพวกเรา ทั้งยังมีภาพยนต์ฉายให้ชมอีกด้วย

***ในวันที่ ๑๐ เป็นวันที่เราต้องจากกองทหารของเราไป ฉนั้นตอนเช้าเราก็ต่างได้ล่ำลากันและแยกย้ายกลับภูมิลำเนาของตน ส่วนตัวเราก็มุ่งหน้ากลับยังบ้านของเราทีเดียว เรื่องราวต่าง ๆในคราวไปสงสรามครั้งนี้ สรุปไว้โดยย่อ ๆก็ถึงที่สุดกันเพียงเท่านี้ แต่เหตุการณ์ที่ได้ทราบอย่างอื่นที่จะเป็นที่เชื่อถือได้นั้นเราไม่จำเป็นจะต้องจดจำ เพราะเป็นเรื่องของคนอื่นเขา

ภาพการสวนสนามประกาศชัยชนะที่กรุงเทพ และเหรียญชัยสมรภูมิสงครามอินโดจีน

ภาพถ่ายจากผู้ใช้นามว่าSkyman (Analayo) 22 ก.พ. 49 10:04:13 http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/20...

เรื่องเล่านอกบันทึก

......บันทึกได้จบลงอย่างสมบูรณ์เท่าที่เจ้าของบันทึกต้องการ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า.... แต่เหตุการณ์ที่ได้ทราบอย่างอื่นที่จะเป็นที่เชื่อถือได้นั้นเราไม่จำเป็นจะต้องจดจำ เพราะเป็นเรื่องของคนอื่น......ผู้เขียนในฐานะลูกที่ได้มีโอกาสนำบันทึกนี้มาเผยแพร่รู้สึกภูมิใจที่บิดาของเราก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้...รักษาแผ่นดินไทย ไว้ให้ลูกหลาน..

....  พวกลูก ๆของท่านได้มีโอกาสนั่งฟังเรื่องเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอย่างสนุกสนานอีกในหลาย ๆโอกาสตั้งแต่เล็กจนโต จึงขอเล่าเพิ่มเติม มีอยู่ครั้งหนึ่งผู้เขียนเย้าแหย่ท่านว่าทำไมท่านจึงต้องไปลำบากในเมื่อท่านก็เป็น .’ลูกเถ้าแก่’ เตี่ยของท่านก็มีพรรคพวก ในหมู่บ้านเราก็มี .’เจ้าพ่อ’ ท่านบอกว่าชายไทยทุกคนต้องจับทหารเมื่ออายุถึงเกณฑ์และท่านจับได้ก็ต้องไปซึ่งแม้ว่าขณะนั้นท่านก็มีกิจการหลายอย่างที่จะต้องทำให้ครอบครัว ท่านเต้องทิ้งไปให้คนในครอบครัวที่เหลืออยู่และลูกจ้างดูแล ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายอยู่บ้าง ส่วนคราวที่เป็นทหารกองหนุนถูกระดมเข้ารบในสงครามอินโดจีนถึง 2 ครั้งท่านเล่าว่าทุกคนก็ฮึกเหิมที่จะรับใช้ชาติ รวมเวลาที่ท่านต้องอยู่ในราชการทหารมากกว่า 3 ปี ท่านดูมีความสุขและภาคภูมิใจทีเมื่อเล่าถึงเรื่องเหล่านี้ อย่างไรก็ตามเมื่อถึงคราวลูกชายของท่านต้องเกณฑ์ทหาร ดูท่านเป็นทุกข์อย่างยิ่งเพราะกำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี แต่ในที่สุดเขาก็ไม่ต้องเป็นทหารเกณฑ์ในครั้งนั้น**เรื่องเล่านอกบันทึก

****สิ่งที่ท่านได้รับจากการเป็นกำลังพลในสงครามอินโดจีนเป็นเกียรติยศครั้งนั้นคือ เหรียญชัยสมรภูมิซึ่งรับกันในสนามรบนั่นเอง แต่เรื่องที่ทำให้แม่ของท่านภูมิใจคือท่านได้เดินสวนสนามโดยได้เดินคู่ธงชัยเฉลิมพลอย่างสง่างาม ย่าได้เดินทางเข้ากรุงเทพ ฯเพื่อเข้าชมการสวนสนามครั้งนี้กับเพื่อนบ้านที่เป็นแม่ของเพื่อนอีก 2 คนที่เป็นทหารในครั้งนั้น การเดินทางจากบ้านเข้ากรุงเทพฯสมัยนั้นไม่สะดวกสบายใช้เวลาทั้งวันกว่าจะถึงที่กรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันใช้เวลาเพียงชั่วโมงกว่าก็ถึงแล้ว

**** นอกจากนี้ท่านเล่าว่าทางราชการให้โอกาสที่จะรับราชการทหารต่อไปโดยเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขจะได้ยศเป็นนายสิบ และหลังจากนั้นก็มีโอกาสเป็นนายร้อย แต่ท่านเลือกที่จะกลับบ้านเพื่อมาทำงานให้ครอบครัวต่อไป แต่มีเพื่อนร่วมรุ่นจากหมู่บ้านเรารับราชการทหารต่อไปและลูกหลานของเขาก็มักจะอยู่ในวงการทหาร คนหนึ่งได้เป็นถึง ผบ.ทบ. 

****ทหารผ่านศึกสงครามอินโดจีนครั้งนั้นที่ยังมีชีวิตอยู่คนหนึ่งคือคือ ท่านรัฐบุรุษและประธานองคมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ท่านได้เล่าไว้ในหนังสือเล่มหนึ่ง (http://home.generalprempark.com/content/detail/1/7... ซึ่งให้ความรู้เพิ่มเติม และข้อสังเกตของท่านเกี่ยวกับการทหารว่า

..... “พวกผมไม่มีโอกาสได้เที่ยวเตร่ หรอก เพราะอยู่แต่ในสนามอยู่ในปอยเปต.“ที่แปลกที่สุดก็คือว่า เรานึกว่าทหารทั่วๆ ไปจะมีระเบียบวินัยเหมือนกับนักเรียนนายร้อย แต่ที่จริงทหารกองหนุนเหล่านี้ อายุมากกว่าผมทุกคน ผมจบการศึกษาตอนนั้นอายุแค่ ๒๑ ปี ส่วนทหารกองหนุนก็ราว ๆ ๒๕ – ๒๖ ปีตัวโต ๆ น่ากลัวมาก บางคนเข้ามาก็เมาแล้ว เราก็ไม่ค่อยได้เคยปกครองคนมา ก็รู้สึกเหมือนกันว่ามันจะไหวหรือ แต่พวกเขาก็ดี ให้ความร่วมมือดีแล้วก็อยู่กันได้……

….. สงครามคือความสูญเสียไม่ว่าจะเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะ แต่สงครามอินโดจีนก็ได้ให้บทเรียนที่มีค่าเนื่องจากเป็นสงครามครั้งแรกของ กองทัพไทย นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ปรับปรุงกิจการทหารแบบสากลตะวันตก ทั้งยังได้ประจักษ์ถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทยทั้งชาติ ที่พร้อมเพรียงกันเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส กับซาบซึ้งในน้ำใจองประชาชนที่มีต่อทหาร เห็นได้จากการช่วยเหลือสนับสนุนสิ่งของอุปกรณ์ต่างๆโดยเฉพาะบริจาคเสบียง อาหารให้เป็นจำนวนมากทั้งที่ขณะนั้น กองทัพยังมิได้จัดระบบของกิจการพลเรือน ที่กว้างขวางอย่างทุกวันนี้....... ........ที่น่าจะพูดถึงอีกประการหนึ่งคือ เราไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องการส่งกำลังบำรุงกันมากนัก ... ในเรื่องของ ยุทธการ เราเชี่ยวชาญพอสมควร เพราะได้ศึกษามาจากระบบของฝรั่งเศส แต่ในเรื่องของการส่งกำลังบำรุงก็ดี หรือการทดแทนกำลังพลก็ดี เราไม่ค่อยได้ ทำกันเท่าใดนัก เราจึงได้ประสบการณ์จากสงครามอินโดจีนนี้มากทีเดียว บังเอิญ โชคดีที่ว่าสงครามอินโดจีนนี่ใช้เวลาน้อย ผมคิดว่าเราจึงไม่ค่อยมีปัญหา... ......... เรื่องของระบบการติดต่อสื่อสารเรามีไม่มากไม่เพียงพอ สมัยผมยังใช้ธงสัญญาณกันอยู่ ใช้ไฟสัญญาณกันอยู่ รวมทั้งใช้การเคาะโทรเลขด้วย ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ใช้กันแล้ว เลิกไป แล้ว ก็เป็นเรื่องที่เราได้ปรับกองทัพของเราให้ทันสมัยพอสมควร ........ แต่ขวัญของ คนช่วยกันได้มาก คนที่เราผ่านไปตั้งแต่กรุงเทพถึงอรัญประเทศ เราเคลื่อนย้าย ทางรถไฟ ระหว่างทางราได้รับการต้อนรับอย่างดี เมื่อเราลงรถไฟที่อรัญประเทศก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีเช่นกัน ทำให้พวกเรามีกำลังใจกันมาก เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเรามีขวัญและกำลังใจดี..”…..

<br />
หมายเลขบันทึก: 571894เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2014 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2014 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ขอบคุณมากค่ะอาจารย์ ได้ความรู้มากมายที่ไม่เคยรู้ในบันทึกเล่มนี้ เขียนไว้ละเอียดมากค่ะ

ขอบคุณมากค่ะที่อ่านและเป็นกำลังใจให้เสมอมานะคะ GD เองก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้น จากการพิมพ์บันทึกของท่านรวมทั้งจากการต้องค้นคว้าเพิ่มเติม ส่วนตัวแล้วเห็นว่าเนื้อหาในบันทึกเป็นประวัติศาสตร์จากการบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์จริง สามารถเติมเต็มเรื่องราวที่ทางการบันทึกไว้ได้อย่างดีนะคะ ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

  

ไม่ลืมที่จะตามมาอ่านค่ะ หลังจากไม่ว่างอยู่หลายวัน

อ่านบันทึกของคุณพ่ออาจารย์แล้วรู้สึกเหมือนนั่งฟังผู้ใหญ่ใจดีเล่าเรื่อง  เล่าละเอียดเห็นภาพ เล่าด้วยความภาคภูมิใจที่ได้รับใช้ชาติ

ขอบคุณอาจารย์ค่ะที่นำบันทึกคุณพ่อมาเล่าสู่กันฟัง

ขอบคุณค่ะ หมอ nui ที่เข้ามาอ่านค่ะ GD ก็ตามอ่านของหมอแทบทุกบันทึก ชอบสไตล์การเขียนที่วิเคราะห์อย่างละเอียด ลึก มีแง่คิดและเต็มที่ตามความรู้สึก และรอบรู้ในสิ่งที่เสนอค่ะ

คุณพ่อเป็นผู้ใหญ่ใจดี ใจเย็น สุขุม และรอบรู้ค่ะ  แต่ไม่ฮาร์ดคอร์ ไม่ช่างพูด ไม่เคยด่าเคยตีลูก เพียงเงื้อง่าเล็กน้อย ตอนที่ลูกหลานเหลนยังเล็ก ๆอยู่ ชอบมาปีนป่าย นั่งเล่น แย่งกันนอนตักเสมอ ๆ ท่านก็นั่งถอนหนวดเพลินๆ ปล่อยให้เล่นกันไป ใคร ๆชอบมาคุยมาขอคำแนะนำเรื่องต่าง ๆ พูดแล้วคิดถึงจังค่ะ

ทหารอีกท่านหนึ่ที่ออกสงครามครั้งนี้ที่ยังมีชีวิตอยู่อีกท่านหนึ่งที่ผู้เขียนเพิ่งทราบคือบิดาของ รมว. มหาดไทยคนปัจจุบัน อดีต ผบ.ทบ. (ถ้าเป็นความจริง ) ท่านมีอายุเกิน 100 ปีแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท