เก็บตกวิทยากร (11) สัมมนาสภาห้าเทากับอีกหนึ่งความสำเร็จของมือใหม่หัดขับ


ได้ทีมทำงานเข้ามามากมายก่ายกอง แต่ไม่สอดรับกับกิจกรรมที่จะมีขึ้นในค่ายอย่างที่ควรจะเป็น เพราะไม่ได้กำหนดคุณสมบัติไว้ตั้งแต่ต้น ​จนในที่สุดสถานการณ์จริงหน้างานที่มีคนเยอะๆ จึงกลายสภาพเป็น “ขาดคน” และ “คนล้นงาน” ไปเสียมิได้

ผมมีโอกาสได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนให้กำลังใจทีมทำงาน “สภาห้าเทา” สองครั้งสองครา 
              
ครั้งแรกเป็นการไปร่วมเป็นเกียรติในพิธีปิด สังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม และช่วยทำหน้าที่จับประเด็น กึ่งๆ ถอดบทเรียนไปในตัว พร้อมกับแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้ข้อเสนอแนะอย่างกว้างๆ แบบสดๆ ร้อนๆ ในพื้นที่
             ส่วนครั้งที่สองเป็นการพบปะพูดคุยในเวทีสรุปบทเรียนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งครั้งนี้เป็นการถอดบทเรียนทีมทำงานอย่างตรงไปตรงมา-



ดังที่กล่าวถึงแล้วในบันทึกที่แล้วว่า  การสัมมนาสภาห้าเทาสัมพันธ์ ครั้งที่ ๘  ถือเป็นความท้าทายอันใหญ่หลวงของทีมสภานิสิต “มมส”  เพราะเกือบทั้งหมดไม่ได้สันทัด-มีประสบการณ์ด้านงานค่ายฯ สักเท่าไหร่  แต่กลับหาญกล้าที่จะเรียนรู้ในแบบฉบับ “ทำไปเรียนรู้ไป” 




สำรวจพื้นที่ คัดเลือกพื้นที่ : เรียนรู้บริบทเบื้องต้น

             แรกเริ่มของการทำงานนั้น    แกนนำเล่าให้ฟังว่า  "หนักใจ"  อยู่มากโขสำหรับภารกิจในครั้งนี้ -
             ไม่มีใครจัดเจน สันทัดในแบบฉบับ “คนค่าย” อย่างเท่าที่ควร 
             และอยู่ในช่วงผ่านถ่ายคณะกรรมการตามวาระปีการศึกษา
             แถมยังไม่มีข้อมูลพื้นที่ในการที่จะออกไปทำค่าย  จึงฝากฝังทีมงานและเพื่อนๆ ที่มักคุ้นได้ให้ข้อมูล รวมถึงมอบหมายทีมงานลงสำรวจพื้นที่ โดยมุ่งไปยังพื้นที่ที่สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย ครอบคลุมมิติของ “บวร” ให้ได้มากที่สุด
             และที่สำคัญคือพื้นที่ของการออกค่ายควรมีแหล่งเรียนรู้ในเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอยู่ใกล้ๆ เพื่อให้สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ได้หลากมิติ  
            เบื้องต้นจึงวางหมุดหมายรวมๆ ไปยังพื้นที่อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม อันเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณในยุคนครจำปาศรี  เป็นที่ประดิษฐานขององค์พระธาตุนาดูน  ซึ่งได้รับการเรียกขานว่าเป็น “พุทธมณฑลอีสาน”  
            และนั่นยังรวมถึงเป็นพื้นที่ตั้งของสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช หนึ่งในหน่วยงานของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม




ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจนั้น มีข้อมูลนำกลับมาโสเหล่คัดกรองกัน ๑-๒ พื้นที่ หลักๆ คำนึงถึงโจทย์อันเป็นความต้องการของชุมชน (โรงเรียน)  ว่าเหลือบ่ากว่าแรงที่นิสิตจะไปดำเนินการได้หรือไม่   รวมถึงการชั่งวัดถึงความร่วมมือของชุมชนและโรงเรียนว่าจะ “จริงจัง จริงใจ” แค่ไหน ไม่ใช่เออออห่อหมก (เอาไว้ก่อน) 

ที่สุดแล้วทีมทำงานจึงปลงใจเลือกโรงเรียนบ้านนาฝาย (ต.ดงดวน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม) เป็นพื้นที่หลักในการทำงานค่าย  และเลือกเข้าพักค้างแรมที่สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช   ซึ่งมีระยะห่างจากโรงเรียนฯ ไม่ถึง ๓-๔ กิโลเมตร

               

ภายหลังตัดสินใจเลือกพื้นที่แล้ว   จึงเริ่มมอบหมายภารกิจในการติดต่อประสานงานต่างๆ   รวมถึงการขออนุมัติโครงการ  และที่สำคัญก็คือเริ่มมีการนำเอาข้อมูล “ชุมชน” มาบอกเล่าสู่สมาชิกกันฟังอย่างต่อเนื่อง  
              เป็นการบอกเล่าที่ไม่เป็นทางการ  เป็นการบอกเล่าบนฐานคิดของการทำงานในแบบ “รู้ตัวตนโครงการ”    ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาบริบทชุมชนร่วมกันว่ามีลักษณะทั่วไปอย่างไร  มีทุนทางสังคมอย่างไร   รวมถึงกิจกรรมที่จะจัดขึ้นนั้นมีวัตถุประสงค์อย่างไร ประกอบด้วยกิจกรรมอะไรบ้าง...
              กระบวนการอันง่ายงามข้างต้น  ผมถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด  เพราะทำให้นิสิต  หรือแกนนำค่ายฯ ได้เข้าใจในสิ่งที่ตนเองกำลังจะทำ  เข้าใจในบริบทวัฒนธรรมของชุมชนอันเป็นห้องเรียนที่กำลังจะไปเรียนรู้   มิใช่ไปทำงานแบบไม่ทำการบ้านล่วงหน้า 
             การทำการบ้านล่วงหน้าเช่นนี้  เมื่อเพื่อนต่างสถาบันต่างๆ เดินทางมาถึง   ย่อมง่ายต่อการที่จะสื่อสาร หรือปฐมนิเทศเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นต่อการงานและภารกิจร่วมกัน




เปิดรับทีมงานร่วมสานสร้างพลัง : ได้คน (ล้นงาน)

                 ด้วยความที่ทีมสภานิสิตตระหนักรู้ว่าตนเองยังขาดประสบการณ์ในการทำงานค่าย    กอปรกับเมื่อรวมสมาชิกจากเพื่อนต่างสถาบันแล้วมีจำนวนเกือบๆ จะ ๒๐๐ คน   ยิ่งตระหนักว่าคงยากยิ่งต่อการบริหารจัดการ 

                ด้วยเหตุนี้จึงได้เปิดรับสมัครระดมกำลังคนเข้ามาช่วยงาน  โดยเบื้องต้นไม่ได้กำหนดจำนวนคนอย่างชัดเจน เรียกได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี   รวมถึงไม่มีการกำหนดคุณสมบัติเฉพาะอย่างเป็นรูปธรรม   จะมีเพียงก็แต่ด้านกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์เท่านั้นที่ดูเหมือนว่าถูกกำหนดขึ้นมาอย่างชัดแจ้ง  และโฟกัสไปยังขุมกำลังจากสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์  เพราะถือว่าชัดเจน ฉะฉาน เป็นกระบี่มือหนึ่งในเรื่องนี้


กรณีดังกล่าวเช่นนี้ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีถอดบทเรียน  ค้นพบข้อดีและข้อด้อยไปพร้อมๆ กัน กล่าวคือได้ทีมทำงานเข้ามามากมายก่ายกอง   แต่ไม่สอดรับกับกิจกรรมที่จะมีขึ้นในค่ายอย่างที่ควรจะเป็น   เพราะไม่ได้กำหนดคุณสมบัติไว้ตั้งแต่ต้น 

               จนในที่สุดสถานการณ์จริงหน้างานที่มีคนเยอะๆ  จึงกลายสภาพเป็น “ขาดคน” และ “คนล้นงาน” ไปเสียมิได้ เพราะส่วนใหญ่ล้วนมาในสาย “สันทนาการ” (บันเทิงเริงปัญญา) ล้วนๆ

               ทั้งนี้ทั้งนั้นยังหมายรวมถึงการไม่กำหนดจำนวนทีมงานที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น จึงกระทบต่องบประมาณไปโดยปริยาย โดยเฉพาะในด้านของ “อาหาร” นั้นเห็นได้ชัดเจนว่า “บานปลาย” อย่างไม่ต้องสงสัยเลยทีเดียว
               แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ท่ามวิกฤตเช่นนั้น   ทุกอย่างหาใช่ถดถอยล้มเหลวเสียทั้งหมด   เมื่อแกนนำนิสิตได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการ “เปิดใจ”  ทำทุกอย่างในแบบฉบับ  “ใจนำพาศรัทธานำทาง”   โดยไม่เกี่ยงงอนว่า “เป็น-ไม่เป็น ”  
               
รวมถึงการพยายามทำงานอย่างเป็นทีม   และทำหน้าที่เหล่านั้นให้ดีที่สุด  ทั้งหน้าที่ของการเป็นเจ้าภาพ และเปิดใจให้เพื่อนต่างสถาบันได้เข้ามาเป็นแกนหลักในกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันอย่างไร้พรมแดน




ไม่มีคณะกรรมการค่าย : แต่ใช้ใจขับเคลื่อน 

              เป็นที่น่าสังเกตว่าสัมมนาสภาห้าเทาในครั้งนี้ ถึงแม้จะมีรูปลักษณ์ไปในทาง “ค่ายสภาห้าเทา” เสียมากกว่า แต่กลับไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารค่ายอย่างเป็นทางการ   หรือแม้แต่การกำหนดหัวหน้าฝ่ายกิจกรรมในด้านต่างๆ  อย่างชัดเจนล่วงหน้า  เจ้าภาพขันอาสาทำงานแบบเนียนๆ ไปอย่างเสร็จสรรพ   มีการมอบหมายภายในคร่าวๆ แต่เพียงว่าใครต้องเป็นแกนประสานงานในกิจกรรมอะไร   
             และเมื่อเพื่อนต่างสถาบันเดินทางมาถึง  ก็เปิดรับสมัครเข้าสู่กิจกรรมต่างๆ ตามความสมัครใจ แต่ยึดหลักของการคละสถาบันให้ได้มากที่สุด

              โดยส่วนตัวผมมองว่ากระบวนการเช่นนี้ ถึงแม้จะไม่มีการประสานล่วงหน้าให้แต่ละสถาบันเป็นแกน หรือเจ้าภาพหลักในกิจกรรมต่างๆ แต่ก็ถือเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ท้าทายมิใช่ย่อย
 

          


กรณีดังกล่าวนี้นิสิตยืนยันว่าไม่ได้ตระเตรียมหลักคิดเช่นนี้จริง   เพราะ “มองไม่ออก” ว่า “ต้องมี” หรือไม่ได้ “คิดล่วงหน้า” ว่าต้องให้เพื่อนต่างสถาบันมาเป็นแกนหลัก (จ้าภาพร่วม) ในกิจกรรมบางกิจกรรม เหมือนโครงการ “เทา-งามสัมพันธ์” ที่สถาบันต่างๆ จะได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพกิจกรรมในแต่ละด้านมาตั้งแต่ต้น
             ซึ่งจะว่าไปแล้วก็มิได้เสียหายอะไร   เพราะการงานที่จัดขึ้นในครั้งนี้ก็มิได้หนักหน่วงเฉกเช่นค่าย "เทา-งามสัมพันธ์"  
            ตรงกันข้ามยังมีจุดแข็งในอีกมิติ  
             เรียกได้ว่าเรียนรู้และเติบโตจากสถานการณ์จริงตรงนั้นเลยก็ว่าได้
             ครับ, การเรียนรู้ผมว่าไม่มีอะไรเป็นแบบฉบับตายตัวและสมบูรณ์แบบ
            การกล้าคิด กล้าทำ และการรับผิดชอบต่างหากคือต้นแบบหลักๆ ที่เราล้วนต้องตระหนักให้หนักแน่นในวิถีของการเรียนรู้
            และนั่นก็เป็นหลักคิดที่ผมมักกล่าวย้ำซ้ำๆ ในเวทีต่างๆ



ส่งท้าย


ในเวทีของการโสเหล่ระหว่างนิสิตกับผมนั้น นิสิตได้บอกเล่าถึงกระบวนการสรุปงานในแต่ละวันว่า ก่อนนอนในแต่ละค่ำคืน ทีมงานของ “มมส” จะนั่งประชุมสรุปผลการดำเนินงานประจำวันร่วมกัน รวมถึงการวางแผนที่จะต้องขับเคลื่อนในวันรุ่งขึ้น
                  แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในเวทีดังกล่าวนี้ ไม่ได้เชิญแกนนำจากสถาบันต่างๆ มาร่วมประชุมด้วย ซึ่งประเด็นนี้ผมได้สะท้อนให้นิสิตฟังว่าจริงๆ แล้วคอ “ต้องเชิญ”  (ให้พื้นที่) แกนนำของแต่ละสถาบันมา “ร่วมคิด-ร่วมรับรู้” และ “ร่วมเรียนรู้” ไปด้วยกัน...
                  เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ ที่นิสิตได้สะท้อนออกมาว่ายังไม่บรรลุวัตถุประสงค์อย่างที่วาดหวังไว้ เช่น การมีส่วนร่วมของนักเรียน-ชาวบ้าน ซึ่งเข้ามามีส่วนร่วมค่อนข้างน้อย เนื่องจากอยู่ในห้วงของการปิดภาคเรียน
                 กรณีดังกล่าวนี้ผมเองก็ย้ำเน้นว่าการมีส่วนร่วมของชุมชนถือเป็น “หัวใจหลัก” ที่มองข้ามไม่ได้ เพราะหากไม่เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นน้ำ ย่อมไม่รู้สึกเป็น “เจ้าของร่วม” ในสิ่งที่นิสิตได้ไปจัดสร้างไว้และอาจยากยิ่งต่อการที่นักเรียน ครู ชาวบ้านจะกระหายที่จะดูแลและต่อยอดด้วยตนเองสืบต่อไปในอนาคต



                 

                 ครับ, ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ
                 ทันทีที่ลงมือทำ ย่อมมีทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ
                 สำคัญคือเราเรียนรู้อะไรบ้างจากความสำเร็จ และความล้มเหลวที่ว่านั้น
                 สำหรับการงานในครั้งนี้ มวลสมาชิกสภานิสิต ผู้ซึ่งเป็นมือใหม่หัดขับในเรื่องของการทำค่าย หรือการเป็น คนค่ายนั้น ผมถือว่าทำได้ดี และเดินทางได้ไกลเกินกว่าที่คิด !
               และที่แน่ ๆ เฉพาะนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  กิจกรรมดังกล่าว  ได้ทำหน้าที่เป็นเสมือนการบ่มเพาะโลกทัศน์และชีวทัศน์นิสิตามหลักคิดการมีอัตลักษณ์ "ช่วยเหลือสังคมและชุมชน"  มีจิตสาธารณะเฉกเช่นปรัชญาสถาบันว่า "ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน"  เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  
               ทั้งหลายทั้งปวงนั้น   ขึ้นอยู่กับว่านิสิตจะให้ความสำคัญที่จะ "ทบทวนชีวิต"  
               รวมถึงการ  "ทบทวนผลพวงการเรียนรู้"  ที่ว่านั้นสักกี่มากน้อย แค่ไหน- และอย่างไรเท่านั้นเอง


....

หมายเหตุ ภาพโดย นิสิตจิตอาสาและงานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ กองกิจการนิสิต มมส.

หมายเลขบันทึก: 571640เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2014 22:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2014 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สมัยที่เป็นนักเรียนเป็นนศ.

ผมก็เคยออกงานประเภทนี้มาบ้างเหมือนกัน

แต่ยุคสมัยก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว

มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันเลย

คือได้ประสบการณ์เพิ่มมากมาย

ชอบใจกระบวนการทำงาน

ไม่มีอะไรยากเกินความตั้งใจ

ขอชื่นชมการทำงานครับ

ขอบคุณมากๆครับ

มาเรียนรู้กับอาจารย์ค่ะ

ประทับใจการทำงานของอาจารย์มาก ๆ จ้ะ  เอาใจช่วยคนทำงานจ้าาา

ครับ ลุงชาติ

ยุคสมัย กำหนดวิถีคิด-รูปแบบชีวิตและการงาน
แต่ที่แน่ๆ  การลงมือทำ ย่อมทำให้เราเกิดปัญญา...
ผมชอบงานกิจกรรม  เพราะเป็นการเรียนรู้ในระบบทีม...
ไม่ใช่เรียนคนเดียว
แต่ในห้วงยามหนึ่ง เมื่อวันเวลาผ่านไป เราก็สงบนิ่งคุย ทบทวนกับตัวเอง
เห็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงจากกิจกรรมนั้นๆ
ซึ่งมีทั้งที่สร้างสรรค์ และไม่สร้างสรรค์
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็เติบโตมาจากทั้งสองนั่นอยู่ดี ครับ

ใช่ ครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

ไม่มีอะไรยากยิ่ง เกินความตั้งใจ
ช้าเร็ว ย่อมเห็นผล
ใกล้ใกล้  ล้วนเริ่มต้นจากการลงมือทำ
และจะมีค่ามากๆ หากทำมันด้วยใจ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท