คิดเรื่องงาน (83) : อิ่มเบื่อ (แต่ไม่สิ้นหวัง) ในเวทีประชุม


ผมรู้สึกเหนื่อยใจกับการต้องนั่งประชุมในเวทีต่างๆ ... ซึ่งมีหลายเรื่อง หลายประเด็น เป็นต้นว่า การพูดคุยในเรื่องเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ราวกับเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งอุบัติขึ้นในองค์กร ทำราวกับไม่มี “ต้นทุน” ใดในตนเองและองค์กร บทเรียนเก่าๆ ไม่ถูกนำมาขยายผลต่อยอดและสะสาง ทุกอย่างดูเหมือนวกวนกลับมาถามซ้ำและทำซ้ำอย่างน่าใจหาย

ระยะหลังๆ ผมเริ่มรู้สึกไม่ค่อยมีความสุขกับการประชุมเท่าใดนัก  
               กระนั้น ผมก็ไม่ปฏิเสธว่าการประชุม เป็นทั้งระบบและกลไกของการพัฒนาองค์กรและพัฒนาคนในองค์กรอย่างน่าสนใจ
             
โดยเนื้อแท้  ผมยังเชื่อและศรัทธาว่า  การประชุมคือการแลกเปลี่ยนทัศนคติความคิดกันและกัน –เป็นการเสริมสร้างสัมพันธภาพของคนในองค์กร เป็นกระบวนการของการหลอมรวมผู้คนสู่เป้าหมายร่วมกันและอื่นๆ อีกจิปาถะ

              ในทุกครั้งของการประชุม เราล้วนคาดหวังเรื่องราวอันเป็น “มติ” หรือ “นโยบาย” ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อนำไปสู่การ “ปฏิบัติ” ที่เป็นหนึ่งเดียว เป็นทีม และมีพลัง  
              หรือในอีกมุมก็คือ ...  การประชุมคือกระบวนการย้ำเน้นให้เกิดความมั่นใจในภารกิจที่กำลังจะลงรงขับเคลื่อน ทั้งโดยการ "ทบทวนอดีต- ปัจจุบัน" ควบคู่ไปกับการวาดหวัง "ภาพฝันในอนาคต"  ที่รออยู่เบื้องหน้า...

             หากแต่ในหลายต่อหลายครั้ง ต้องยอมรับเช่นกันว่าการประชุมก็มิอาจตอบโจทย์ดังกล่าวได้ทั้งหมดเสียทีเดียว บ่อยครั้งเราประชุมกันถี่ยิบ  จนแทบไม่มีเวลาทำงาน 
            หรือบ่อยครั้งก็ประชุมยืดเยื้ออย่างที่สุด   ซึ่งมีทั้งยืดเยื้อด้วยสาระและยืดเยื้อแบบไร้สาระ   พลอยให้ไม่หลงเหลือเวลาทำงาน  จนสุดท้ายหลีกไม่พ้นต้องหอบงานพะรุงพะรุงกลับไปทำที่บ้าน

           นี่คือปรากฏการณ์จริงที่ผมเชื่อว่าหลายที่ หลายองค์กร ประสบพบพานไม่ต่างกัน  จะแตกต่างไปบ้างก็ตรงที่ว่า องค์กรใดตกอยู่ในชะตากรรมนี้มากและน้อยต่างกันเท่านั้นเอง


ครับ-สำหรับผมแล้ว ผมคงจะไม่พูดถึงศาสตร์และศิลป์แห่งการจัดประชุมหรอกนะครับ  เพราะนั่นคือหลักการภาคทฤษฎีที่ใครๆ รับรู้ และมีความรู้อย่างเต็มล้นอยู่แล้ว  ขึ้นอยู่กับว่าใครต่อใครมีทักษะ และใส่ใจที่จะบริหารการประชุมได้แค่ไหน –อย่างไร

แต่ในบันทึกนี้สิ่งที่ผมอยากพูดมากที่สุดคงหนีไม่พ้น “เหตุ” หรือ “ปัจจัย” อันเป็น “บริบท”  ที่ทำให้ผมรู้สึกเหนื่อยใจกับการต้องนั่งประชุมในเวทีต่างๆ ... ซึ่งมีหลายเรื่อง หลายประเด็น เป็นต้นว่า  
           การพูดคุยในเรื่องเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ราวกับเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งอุบัติขึ้นในองค์กร  ทำราวกับไม่มี “ต้นทุน” ใดในตนเองและองค์กร  
           บทเรียนเก่าๆ ไม่ถูกนำมาขยายผลต่อยอดและสะสาง  ทุกอย่างดูเหมือนวกวนกลับมาถามซ้ำและทำซ้ำอย่างน่าใจหาย   หรือกระทั่งไม่สามารถนำเอาประสบการณ์ความรู้เดิม  หรือที่มีอยู่ในองค์กรและตัวเองมา “ประยุกต์”  กับการงานใหม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมด  ล้วนเป็นคนเก่าคนแก่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว (คร่ำหวอดมายาวนาน)  หาใช่  "คนใหม่-มือใหม่" (หัดขับ) เลยสักนิด

            นอกจากนี้ยังไม่รวมถึงวาระ "แจ้งเพื่อทราบ"  ซึ่งดูเหมือนยืดยาวกันมากมาย -  ยืดยาวจนแทบไม่หลงเหลือเวลาในวาระของการ “พิจารณา” ...

            ครั้นประชุมเสร็จ  (เสร็จแล้วเสร็จเลย)  ไม่มีการสรุปบันทึกการประชุมแจ้งเวียน  หรือรับรองรายงานการประชุม ทิ้งค้างไว้อย่างเย็นชา -บูดเน่า

           ซ้ำร้ายในบางเวที  คนที่เข้าร่วมประชุมยังก้มๆ เงยๆ อยู่กับแค่ “มือถือ”  
          
บ้างตั้งหน้าตั้งตาโพสเฟซบุ๊ก เล่นไลน์ เล่นทวิตเตอร์ เล่นเกมอย่างเนียนๆ   
          และที่น่าหยิกที่สุดคือการปล่อยให้สัญญาณเสียงจากเฟซบุ๊กและไลน์ดังขึ้นมาเป็นระยะๆ  พลอยให้อดที่จะรู้สึกรกรำคาญหูและตามากโขเลยทีเดียว

           นี่เป็นเพียงปรากฏการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่ผมเริ่มมองว่าเป็นแรงผลักให้ผมอิ่มเบื่อ (จิตตก) ไปในเวทีการประชุม


ครับ- เป็นความอิ่มเบื่อที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและเริ่มถี่ขึ้นเป็นระยะๆ
           เหนือสิ่งอื่นใด ในมุมกลับกันนี้ ผมยังคงเชื่อและศรัทธา หรือไม่สิ้นหวังต่อการสร้างงานสร้างคนผ่านเวทีการประชุม ด้วยตระหนักว่าการประชุม คือเวทีการจัดการ “ความรู้และความรัก” ไปพร้อมๆ กัน...
           หรืออีกนัยหนึ่ง เวทีการประชุม เป็นเสมือนการนำพาให้โลกหลายๆ ใบของแต่ละคนได้หมุนวนมาปฏิสัมพันธ์กัน  เพื่อนำไปสู่กระบวนการของการหลอมรวมโลกเหล่านั้นเป็นหนึ่งเดียวภายใต้เป้าประสงค์-จุดหมายเดียวกัน (ซึ่งทั้งประธาน-สมาชิกผู้เข้าร่วมประชุม ต้อง “เปิดใจ” ที่จะเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงต้องร่วมกัน “บริหารจัดการการประชุมให้มีประสิทธิภาพ"

           ท่านละครับ มีบริบทอันเป็นความอิ่มเบื่อเฉกเช่นกันผมหรือไม่   
           หรือมีแนวปฏิบัติอันใดที่สร้างสรรค์ก็เรียนเชิญแบ่งปันบอกเล่าได้นะครับ   
            ผมจะได้นำกลับไปเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบรรยากาศการประชุมไม่ให้น่าเบื่อ  อันจะเป็นแนวปฏิบัติที่ดีต่อการพัฒนาองค์กรและคนในองค์กร ต่อไป และต่อไป (อย่างไม่สิ้นหวัง)




หมายเลขบันทึก: 571346เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2014 17:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2014 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

แฮะ แฮะ ครูดุ ๆ อย่างผม คงพูดกันอย่างตรงไปตรงมาเลยครับ ;)...

...ในระบบการบริหารงานภาครัฐ บันทึกการประชุมถือเป็นเอกสารสำคัญของหน่วยงานนะคะ

เป็นกำลังใจให้คำทำงานจ้ะ

ช่วงนี้หลีกเลี่ยงการประชุม เลยไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมในการประชุมเท่าใดนัก

...มาเป็นผู้ปฏิบัติล้วน ๆ ก็มีความสุขดี..

เป็นกำลังใจให้คนทำงานเฉกเช่นเดิมนะคะ..สู้ ๆ ค่ะ ตราบใดที่ยังไม่สิ้นความหวังจ้า...^_^

ผมจะบอกตรงๆ

ตั้งกติกาก่อนการประชุมโดยเฉพาะเรื่องโทรศัพท์

รับไม่ได้ครับ

ถ้ามีการวางแผนดีๆของผู้บริหาร

การประชุมจะมีประโยชน์มากเลยครับ


 .. เป็น ... คิดเช่นเดียวกับ ดร. ขจิต ค่ะ 



อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท