สรุปบทเรียน "การดูพระแท้" ทางไลน์ 26 มิถุนายน 2557


เมื่อคืนได้ดำเนินการสอนต่อจากวันก่อน เรื่อง พิมพ์พระในภาคเหนือตอนล่าง ที่มีเมืองพิษณุโลก เป็น "ศูนย์กลาง" การปกครองของหัวเมืองฝ่ายเหนือ

ที่กลายเป็นแหล่งกำเนิด และแพร่กระจายพุทธศิลป์ท้องถิ่น มาตั้งแต่ปลายยุคทวาราวดี ลพบุรี อู่ทอง และเชียงแสน จนมาถึงยุคการก่อตั้งสุโขทัยยุคใหม่

ทั้งนี้เพราะสุโขทัยยุคเก่านั้นอยู่ใต้อำนาจอิทธิพลขอมมาเป็นเวลาหลายร้อยปี เมื่อกลุ่ม "ไท" เข้ายึดครองต่อมาก็มิได้สืบสานศิลปะขอม เพียงแต่มีงานฝีมือช่างติดมาบ้างเล็กน้อย และการสร้างพระล้อพิมพ์ลพบุรีนั้น ก็เพิ่งทำในยุคหลังๆ เมื่อกระแส "ปฏิเสธขอม" ได้จางหายไปแล้ว

ดังนั้นหลังจากการฟื้นฟูเมืองสุโขทัย ก็มีการระดม "รากเหง้า" ศิลปะไท จากแหล่งต่างๆเข้ามาแทนที่

อันได้แก่ เชียงแสน อู่ทอง และศิลปะท้องถิ่น กลุ่มเล็กๆ จากเมืองใกล้เคียง เช่น พิษณุโลก ก็ไม่เว้น มาผสมผสาน และพัฒนาขึ้นมาเป็น ศิลปะสุโขทัยในระยะต่อมา

ในเรื่องนี้ได้กล่าวอ้างอิงเพื่อความเข้าใจถึงบริบท และเหตุผลของการพัฒนาพุทธศิลป์ ในเขตภาคเหนือตอนล่าง พอเป็นสังเขป

จากนั้นก็เข้ามาถึงพระที่คนส่วนใหญ่รู้จักและให้ความสำคัญ คือ พระกำแพงซุ้มกอ

โดยคิดว่าจะสอนให้จบในคืนเดียว แต่ด้วยความไม่พร้อมของผู้เรียน ทำให้เนิ่นช้าไปจนสอนได้แค่พิมพ์ยุคต้นๆ เท่านั้น

ก็คือ พิมพ์ใหญ่ไม่มีกนก ที่เป็นศิลปะเรียบง่าย


มี

1. ซุ้มกอ ที่นำมาจากศิลปะพระวัดจุฬามณี

2. เกศ มาจากเชียงแสน

3. พระพักตร์ มาจากลูกผสมระหว่างเชียงแสนกับอู่ทอง เป็นรูปวงรี (เชียงแสนกลม อู่ทองยาว)

4. ลำพระองค์ ก็เชียงแสนกับอู่ทอง ยังไม่พัฒนาไปมากกว่านั้น

5. วงพระกร เป็นส่วนที่ยังคงศิลปะลพบุรีชัดเจน

6. ส่วนฐานล่าง พระชงค์ (ขา) เป็นศิลปะอู่ทอง ที่มีกลั่นอายของลพบุรีนิดหน่อย

ซึ่งได้วิพากษ์ให้เห็นที่ไปที่มาในเรื่องนี้พอสมควร

ต่อจากนั้นก็ได้เปิดประเด็นไปถึงพิมพ์ใหญ่มีกนก (ที่จริงควรเรียก "ซุ้มโพธิ์" จะเหมาะสมกว่า) ที่เป็นการถ่ายทอดความคิดมาจากศิลปะลำพูน ในกลุ่ม พระคง พระเปิม พระรอด ฯลฯ

ที่คาดว่าจะต่อในคืนนี้

พอถึงขั้นนี้ก็สมควรแก่เวลา และมีเนื้อหาที่นักเรียนทุกท่านต้องไปศึกษาค้นคว้าต่อเนื่อง

เพื่อการเรียนที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ประเด็นของการศึกษาพุทธศิลป์ หรือพิมพ์พระนี้ เปนเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับคนที่ถนัดสายวิทยาศาสตร์ แต่จะง่ายสำหรับคนที่ถนัดสายศิลปศาสตร์

แตในช่วงที่เรียนเนื้อ และมวลสารนั้น จะง่ายสำหรับคนที่ถนัดสายวิทยาศาสตร์ แต่อาจจะยากสำหรับคนที่เรียนสายศิลปศาสตร์

ก็มีข้อได้เปรียบ เสียเปรียบกันประมาณนี้

เมื่อเรียนจนครบทั้งสองสายแล้วก็จะง่ายไปเองครับ

ผมก็เริ่มจากสายวิทยาศาสตร์ และเนื้อพระมาก่อน กว่าจะคลำทางมาทางสายศิลปะได้ก็ยากพอสมควร

ขออย่างเดียว ให้มีความตั้งใจจริง และไม่ท้อ สำเร็จแน่นอนทั้งสองด้านครับ

ยินดีต้อนรับนักเรียนทุกท่านครับ

คำสำคัญ (Tags): #การดูพระแท้
หมายเลขบันทึก: 571089เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2014 07:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มิถุนายน 2014 07:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กำลังพยายามแก้ปัญหาตาถั่วครับ พยายาม พยายาม และพยายามเรื่อย

 การหลงทาง ก็เหมือนรถจมโคลน ยิ่งเร่งยิ่งจม ทางแก้คือกลับมาวิ่งบนถนน เร่งนิดเดียวก็ไปไกล

ขอบคุณครับอาจารย์ กับความรู้ที่มอบให้สาธารณชนผู้สนใจกับพระเครื่อง  ติดตามอาจารย์ได้สักพักราว 1-2 เดือน ได้ความรู้ดีและชอบแนวทางการสอนครับ  ผมถือว่าตนเองเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์ครับ พึ่งสมัครสมาชิกได้วันนี้เอง  ขอบคุณครับ 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท