SEEN มหาสารคาม _๑๑ : ขับเคลื่อน ปศพพ. สู่โรงเรียนนาดูนประชาสรรพ์ (๑)


วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ ทีม CADL เดินทางไปตามนัดหมาย ปลายทางคือโรงเรียนนาดูนประชาสรรพ์ กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริหาร ครูทุกคน นักเรียนแกนนำ และทีมขับเคลื่อนฯ จากโรงเรียนที่กำลังขับเคลื่อนฯ ไปพร้อมๆ กัน คือ โรงเรียนกันทรวิชัย โรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์  และโรงเรียนมัธยมยางสีสุราช รวมกว่า ๒๐๐ คน  ผม AAR กับตนเองว่า ช่วงเช้าไม่ค่อยดีนัก แต่ช่วงบ่ายเราน่าจะบรรลุวัตถุประสงค์เรื่องความเข้าใจว่า "หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา" ก็คือ "หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง" ไม่มากก็ไม่น่าจะน้อย...  ผมอยากใช้บันทึกนี้สรุป "สาระ" ที่ต้องการสื่อเสริมไปยังทุกคนอีกครั้ง

เอกสารประกอบการฝึกอบรมกว่า ๗๐ หน้า ที่แจกในวันฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเป็นผลงานของผู้อำนวยการโรงเรียน แสดงให้เห็นชัดถึง การทำตนเป็นแบบอย่างของนักเรียนรู้ นักทำงาน และความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนฯ ใครอย่างจะได้ไปศึกษาคงต้องปรึกษาหรือหาความรู้จากท่านเองจาก บล็อค gotoknow ของท่านที่นี่ เป็นต้น

ก่อนจะเริ่มเรื่อง ขอแก้ความเข้าใจผิด ที่วิทยากรบอกว่า ผมมีผลงานวิชาการเยอะมาก อันนี้ไม่จริงครับ แต่ที่บอกว่าผมเรียนตรี โท เอก ฟิสิกส์ และทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องฟิล์มสนามแม่เหล็กนั้น เป็นเรื่้องจริง ปัจจุบัน ผมไม่ได้แบ่งเวลาให้ความสำคัญกับงานวิจัยนั้นเลยครับ ผมพบแล้วว่าผมจะทำประโยชน์ให้กับพ่อแม่พี่น้องลูกหลาน ได้อย่างไรที่จะคุ้มค่าและเกิดคุณค่าทั้งต่อผมและต่อพวกเขาเหล่านั้นให้มากที่สุด จึงบอกตัวเองว่า จะขอหยุดส่วนนั้น มาทำส่วนนี้ ส่วนที่ผมยึดมั่นว่าดีและทำได้และเกิดประโยชน์สูงสุด

"นิยาม" ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา

การสร้าง "ภาพฝันร่วมกัน" (Shared vision) ของผู้บริหารและครูในโรงเรียน ในเบื้องต้นควรจะประจักษ์ชัดว่า ทุกคนเห็นความสำคัญอย่างยิ่งยวดของ ปศพพ. ว่าเป็นรากฐานของชีวิต รากฐานของความมั่นคงของแผนดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้ การน้อมนำ ปศพพ. มาใช้ด้านการศึกษา เปรียบเสมือนการตอกเสาเข็มแข่ง "ปัญญา" ให้กับเยาวชน บ่มเพาะ ปลูกฝัง "การมีปัญญารู้คิด มีสติรู้ตัว ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท"  อันเป็นรากฐานของการดำเนินชีวิต รากฐานของการพัฒนาตน พัฒนาคน และพัฒนาชาติ

ผมแลกเปลี่ยนกับทุกคนว่า วิธีที่ดีที่สุดในการทำความเข้าใจและเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือการศึกษาหลักการทรงงาน ประวัติการทรงงาน ผลงานจากโครงการหลวงต่างๆ ที่มีมากกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ เพราะหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง "ตกผลึก" จากประสบการณ์ทรงงานของในหลวงกว่า ๖๖ ปี ไม่ได้เกิดจากการ "คิด" หรือ "จิตนาการ" แต่เป็น "หลักคิด" ที่ออกมาจาก Tacit Knowledge โดยแท้ แม้ว่าจะทรงใช้คำว่า "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ในพระราชดำรัสครั้งแรกในปี ๒๕๔๐

หนังสือชื่อ "วิกฤตเศรษฐกิจ ๒๕๔๐ กับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเีพียง" ที่เรียบเรียงโดย ดร.ปิยนุช ธรรมปิยา เล่าความเป็นมาของ ปศพพ. ไว้ดีมาก มีใจความว่า ..

... พระราชดำรัสวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ที่ว่า "...เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง... ในคราวนั้น เมื่อปีที่แล้วนึกว่าเข้าใจ .. ต้องพูดเข้าเรื่องเลย เพราะหนักใจว่า ไม่เข้าใจ..." เป็นแรงกระตุ้นให้ ศ.ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ประธานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ขณะนั้น เชิญชวนผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ และสาขาอื่นๆ มาร่วมกลั่นกรองพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ใช้เวลา ๖ เดือน แล้วสรุปออกมาเป็นบทความเรื่อง "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ในปี ๒๕๔๒ (ดาวน์โหลดที่นี่)  และได้ทำหนังสือราชการกราบบังคมทูลขอพระราชวินิจฉัยและพระบรมราชานุญาต เพื่ออัญเชิญไปใช้เป็นแนวปฏิบัติ ในหลวงทรงปรับปรุงแก้ไข และโปรดเกล้าพระราชานุญาตตามที่ขอในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ... เป็นอันเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในการขับเคลื่อนฯ ปศพพ. ...

  • ๒๕๔๒ สศช. นำมาใช้กับการบริหารหน่วยงาน นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหัวข้อในการจัดประชุมวิชาการ ประจำปี ฯลฯ หน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมเผยแพร่ สร้างความเข้าใจ
  • ๒๕๔๓ เผยแพร่สู่เวทีระหว่างประเทศ เช่น การประชุมอังค์ถัด (UNCTAD) ครั้งที่ ๑๐ ณ ประเทศไทย ในเดือนกุมภาพันธ์
  • ๒๕๔๔ นำเสนอในที่ประชุมรัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ ๒๒
  • ๒๕๔๕ - ๒๕๕๙ สศช. อัญเชิญมาเป็นปรัชญานำทางในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙ ๑๐ และ ๑๑ ตามลำดับ
  • ๒๕๕๖ - ๒๕๕๙ สศช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง โดยมี รศ.ดร.จิรายุ อิศรากูร ณ อยุธยา เป็นประธานอนุฯ

ประมาณช่วงปี ๒๕๔๔-๒๕๔๖ หลังจากที่ในหลวงพระราชทานหลักปรัชญาฯ ให้แต่เราชาวไทย พบว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

...ในปี ๒๕๔๔ - ๒๕๔๖ มีนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ ซึ่งรวมถึง ดร.ปิยนุช ธรรมปิยา ด้วย พยายามพัฒนากรอบแนวคิดทางทฤษฎีเศรษศาสตร์ของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเริ่มจากการศึกษาคำนิยาม และใช้วิธีการจำแนกวิเคราะห์คำ (Parsing) เพื่อเชื่อมโยงแต่ละข้อความและประโยคที่อธิบายปรัชญาของเศรษบกิจพอเพียงเข้าด้วยกัน ทำให้สรุปได้ว่า "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" มีองค์ประกอบด้านต่างๆ ที่สามารถใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนากรอบทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ได้อย่างสมบูรณ์ โดยจำแนกออกเป็น ๔ ส่วนองค์ประกอบได้แก่ แนวคิดหลัก หลักการ เงื่อนไข และเป้าหมาย

  • แนวคิดหลักมีกรอบคิด ๔ ประการ ได้แก่ 
    • เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตน 
    • ไม่มีกาลเวลา หมายถึง เป็นปรัชญาที่ใช้ได้ตลอดเวลา 
    • เป็นปรัชญาที่มองโลกเชิงระบบที่มีลักษณะพลวัต 
    • เป็นปรัชญาที่มองอย่างองค์รวม เชื่อมโยงกันทั้งโลก
  • คุณลัษณะของแนวคิดหลัก 
    • สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการปฏิบัตนของคนทุกระดับ 
    • มีหัวใจสำคัญคือ "ทางสายกลาง" 
  • หลักการ หรือ คำนิยามของ "ความพอเพียง" มี ๓ ประการได้แก่
    • "ความพอประมาณ" กับ ศักยภาพของตนเอง และสภาวะแวดล้อมตามความเป็นจริง
    • "ความมีเหตุผล" บนพื้นฐานของความถูกต้อง
    • "การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี" คือ ไม่ประมาทในการดำเนิชีวิต ที่ต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลง
  • มีเงื่อนไขพื้นฐาน ๒ ประการ ได้แก่
    • เงื่อนไขความรู้ คือ รอบรู้ รอบคอบ (เชื่อมโยง) และระมัดระวังในการนำความรู้ไปใช้
    • เงื่อนไขคุณธรรม  ที่ต้องสร้างให้เป็นพื้นฐานทางจิตใจของคนในชาติ ... คือ ความขยันหมั่นเพียร อดทน ไม่โลภ ไม่ตระหนี่ รู้จักแบ่งปัน และรับผิดชอบในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม
  •  เป้าหมายและผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
    • การพัฒนาที่สมดุล
    • และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

โดยแสดงกรอบความคิดเป็นภาพด้านล่าง

ในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนฯ อย่างเป็นระบบ (และได้ให้โอกาสผมได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องนี้ ถือเป็นบุญ เป็นพระคุณต่อชีวิตผมอย่างยิ่ง)  และพัฒนา "นิยาม" ของอุปนิสัย "พอเพียง" ที่คาดหวังจะให้เกิด 

สรุปให้สั้นที่สุดคือ การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา คือการพัฒนา บ่มเพาะ ปลูกฝังนักเรียนให้มีอุปนิสัย "พอเพียง" ที่ได้กล่าวถึงนั่นเอง 

บันทึกหน้ามาว่ากันเรื่องว่า "จะเริ่มอย่างไรดี"...................

 

หมายเลขบันทึก: 571067เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2014 17:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มิถุนายน 2014 17:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบพระคุณท่านอาจารย์  ดร.ฤทธิไกร  ไชยงาม  เป็นอย่างสูงครับ  ที่ได้กรุณาให้ความรู้การขับเคลื่อนปศพพ, สู่โรงเรียนนาดูนประชาสรรพ์    ให้ความรู้อย่างเป็นขั้นตอน ที่เข้าใจง่าย  เริ่มต้นด้วยการปูพื้นฐาน  ให้เข้าใจหลักคิด  หลักปฏิบัติตรงกัน  และให้แบ่งกลุ่ม ทำกิจกรรมระดมสมอง  นำเสนอ   ท่านได้ชี้แนะประเด็นต่าง ๆ ที่กลุ่มได้นำเสนอ  ทำให้เกิดภาพชัด ในแง่มุมต่าง ๆ  ที่สำคัญคือครูต้องเป็นผู้คอยจุดประเด็นให้นักเรียนคิด  และถอยออกมากำกับห่าง ๆ  ท่านได้ชื่นชมนักเรียนที่นำเสนอ  ทำให้ทั้งครูและนักเรียนเกิดกำลังใจ ในการค้นหา และพัฒนาให้มีนักเรียนที่กล้าคิด กล้าพูด กล้านำเสนอ  เกิดขึ้นทั้งโรงเรียน

  • การอบรมครั้งนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้และประทับใจถึงการปิดทองหลังพระซึ่งท่านดร.ฤทธิไกรกล่าวถึงทั้งนี้ยังได้ความกระจ่างของการแตกยอดความคิดซึ่งนำไปสู่การออกแบบการสอนแบบปศพพฺสู่การเรียนรผู้ของเด็กสำคัญคือเราไม่ได้เพิ่มภาระงานเเต่เป็นการทำงานที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์สมดุลมีคุณค่าโดยผ่านความสมดุลตามหลักปศพพซึ่งดิฉันเป็นครูวิทยาศาสตร์และสอนวิชาฟิสิกส์ได้เริ่มนำแนวทางมาปรับใช้แล้วดีมากและจะพยายามทำต่อไปให้สำเร็จ
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท