ผลวิจัย พริกไทย กำจัดศัตรูพืช


พริกไทย เป็นทั้งอาหารและเครื่องเทศและพืชสมุนไพร ส่วนใหญ่ที่พบตามตลาดจะมี 2 ชนิดคือ พริกไทยดำ และ พริกไทยขาว สารสำคัญที่พบในพริกไทยแก่ สารรสเผ็ด คือ chavicine และสารที่มีกลิ่นฉุนและเผ็ดร้อนคือ piperic acid นอกจากนี้ยังมีกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหย กลิ่นหอมจะพบที่เปลือกผลและรสเผ็ดฉุนพบที่เมล็ด

การนำพริกไทยมาใช้ในการป้องกันแมลงศัตรูพืชนั้น ส่วนมากจะทำโดยการนำเมล็ดไปหมักด้วย เหล้าขาว ให้ท่วมประมาณ 3-4 เซนติเมตร จากนั้นกรองเอาน้ำยา ไปฉีดพ่นยุงและแมลงวัน หลังจากฉีดพ่น 3 ชั่วโมง พบยุงตาย 60% และแมลงวันตาย 80% หรือด้วยการนำเมล็ดพริกไปหมักกับน้ำ ในสัดส่วน พริกไทย 1 ส่วนต่อน้ำ 2 ส่วน หมักไว้ 24 ชั่วโมง จึงกรองเอาส่วนของสารละลายไปฉีดพ่นที่แปลงผัก หลังการฉีดพ่น พบว่ามีหนอนกระทู้ผักตาย 30-40% นอกจากนี้ยังนำเอาเมล็ดพริกไทยแห้งป่นให้ละเอียด 2 ส่วนแล้วคลุกเมล็ดถั่วเขียว สามารถยับยั้งการวางไข่ของด้วงถั่วได้มากถึง 70-80%

นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สำหรับพริกไทยที่กรมวิชาการเกษตรศึกษาอยู่นั้น มีหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์ซาราวัค พันธุ์บราซิล พันธุ์ซีลอน พันธุ์มาเลเซีย พันธุ์จันทบุรี และพันธุ์ปะเหลียน ซึ่งแต่ละพันธุ์จะให้สารสำคัญที่ออกฤทธิ์กับแมลงแตกต่างกัน แหล่งปลูกและอายุการเก็บเกี่ยวก็เป็นปัจจัยที่ทำให้สารสำคัญที่ออกฤทธิ์กับ แมลงแตกต่างกันด้วย ส่วนพันธุ์อื่น ๆ เช่น พันธุ์ซีลอน มาเลเซีย จันทบุรี และปะเหลียน พบ Piperine อยู่ในช่วง 0.19-6.8% พริกไทยพันธุ์ลูกผสมพบปริมาณ Piperine มากกว่าพันธุ์แท้

จากการสกัดเศษพริกไทยดำและขาวออกมาเป็น Alkaloid และน้ำมันหอมระเหย (volatile oils) แล้วนำสารสกัดทั้ง 2 ชนิดมาผสมเป็นสูตรในรูปของเหลว แล้วหยดลงบนกระดาษเซลลูโลสที่ใช้เป็นเหยื่อ หลังจากนั้นใส่ลงไปในขวดปากกว้างให้ด้วงข้าวโพดที่อยู่ในข้าวสารกิน พบว่า สามารถป้องกันกำจัด ด้วงงวงข้าวโพดในข้าวสาร ได้ระดับหนึ่ง และเมื่อทิ้งไว้ 2-3 สัปดาห์ต่อมาจำนวนด้วงงวงไม่ได้เพิ่มปริมาณมากเท่ากับชุดควบคุม แสดงว่าไข่อาจถูกทำลายบางส่วนทำให้ด้วงฟักออกมาเป็นตัวอ่อนไม่ได้ แต่เมื่อทิ้งไว้ต่อมาปริมาณด้วงงวงไม่แตกต่างจากชุดควบคุม เห็นได้ว่าความเป็นพิษของเศษพริกไทยมีน้อยมาก สามารถป้องกันกำจัดได้ระดับหนึ่งภายใน 2-3 สัปดาห์เท่านั้น ไม่เป็นอันตรายเมื่อใช้ป้องกันกำจัดด้วงงวงข้าวโพดในข้าวสาร หลังจากนั้นสามารถนำข้าวสารมาหุงกินได้อย่างปลอดภัย และเป็นการประหยัดเงินในการซื้อหา เพราะเป็นของเหลือใช้ แต่กลับนำมาทำประโยชน์ได้ใหม่

ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรได้แนะนำให้นำสารสกัดจากพริกไทยมาป้องกัน กำจัด มด เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ หนอนผีเสื้อ ด้วงปีกแข็ง หนอนเจาะกะหล่ำปลี ด้วงงวงข้าว ฯลฯ โดยเกษตรกรสามารถทำได้เองดังนี้

1. บดพริกไทย 100 กรัม 2. นำพริกไทยที่บดแล้วมาผสมน้ำ 1 ลิตร คนเป็นครั้งคราว ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง 3. กรองเอาน้ำออก ด้วยผ้าบาง ๆ 4. เติมน้ำลงไปอีก 1 ลิตร

5. ก่อนใช้ให้ผสมสารจับใบ เช่น ผงซักฟอก หรือแชมพูลงไป 1 หยด แล้วเขย่าให้เข้ากัน นำไปฉีดพ่นทุก 7 วัน

ทั้งนี้ จะสามารถลดปริมาณของมด เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ หนอนผีเสื้อ ด้วงปีกแข็ง หนอนเจาะกะหล่ำปลี ด้วงงวงข้าว แต่ต้องไม่ใช่ช่วงที่มีการระบาดรุนแรง สามารถนำไปใช้สลับกับสารเคมีได้

สำหรับแนวทางในการลดปัญหาศัตรูพืชมีหลากหลายวิธี เช่น การใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและเหมาะสม การใช้กฎหมายบังคับ การใช้พันธุ์พืชต้านทานศัตรูพืช การเขตกรรมและระบบปลูกพืชหมุนเวียน การควบคุมโดยวิธีกล (เช่น การใช้กับดักแมลง สีและไฟล่อแมลง) การใช้วิธีการอื่น ๆ (เช่น การทำให้แมลงเป็นหมัน) การควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี เช่น การใช้จุลินทรีย์ควบคุมแมลงศัตรูพืช การใช้ตัวห้ำ และตัวเบียน และการใช้สารสกัดจากพืชตามธรรมชาติ (plant extract) ซึ่งการนำสารสกัดมาควบคุมศัตรูพืชได้รับความสนใจมากขึ้น

เนื่องจากไม่มีฤทธิ์ตกค้างที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตอื่น นอกเป้าหมายและควรใช้สารฆ่าแมลงจากพืช กับแมลงในบ้านเรือน ในเกษตรอินทรีย์ ในแหล่งที่มีแมลงศัตรูพืชต้านทานต่อสารเคมี ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค.

คำสำคัญ (Tags): #พริกไทย
หมายเลขบันทึก: 570985เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2014 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2014 11:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ใช่ครับ....  

การใช้สารเคมี อย่างถูกต้องและเหมาะสม
เป็นประโยคชวนคิดตามเป็นอย่างมาก
เป้นการสร้างความรู้ และสร้างทัศนคติบนฐายคิดของความรับผิดชอบร่วมที่ท้าทายมากเลยทีเดียว ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท