การเมืองเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียปี 2014 ตอน1)


วันพุธที่ 9 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้เป็นวันเลือกตั้งใหญ่ของอินโดนีเซีย เป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีโดยตรงครั้งที่สามของประเทศ ปธน.ยุทธโดโย่เป็นมาสองสมัยลงอีกไม่ได้แล้วตามรัฐธรรมนูญ หรือถ้าเผื่อกฏหมายอนุญาตให้ลงได้ก็คาดว่าจะแพ้มากกว่าชนะ ช่วงหลังๆปัญหาคอรัปชั่นและการบริหารงานไม่เข้าตาประชาชนทำให้คะแนนนิยมวูบเอาวูบเอา

การลงชิงตำแหน่งในครั้งนี้มีแคนดิเดตให้ต่อสู้ในสนามเลือกตั้งแค่สองคนคือ อดีตเจนเดอรัลปราโบโว่ สุเบียนโต้ (Prabowo Subianto) ลูกเขยปธน.ซูฮาร์โต้ และปะโจโก วีโดโด้ (Joko Widodo) ผู้ว่าคนปัจจุบันของกรุงจาการ์ต้า ตามกฎหมายเลือกตั้งพรรคที่ได้คะแนนป๊อบปูล่าโหวต 25% ขึ้นหรือจำนวน สส.20% ขึ้นไปจึงจะมีสิทธิส่งตัวแทนลงชิง ถ้าไม่ถึงต้องหาแนวร่วม และเผอิญในการเลือกตั้ง สส.ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมาจำนวน 560 คนไม่มีพรรคไหนได้ตามเกณฑ์ มีพรรคที่ปริ่มๆคือ PDI-P เท่านั้น

แผ่นป้ายหาเสียงของ Gen. Prabowo & Ir. Hatta  ที่มา: deviantart.com 

พรรคแนวร่วมมุสลิมใหญ่ๆได้แก่ Golka, PPP, PAN และ Gerindra เลยจับมือกันส่งเจนฯปราโบโว่จากพรรค Gindera ลงชิงปธน.คู่กับปะฮัทต้า ราจาซา (Hatta Rajasa) รัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจ ประธานพรรค PAN ในตำแหน่งรองปธน. ปะฮัทต้าเป็นพ่อตาของลูกชายคนเล็กของปะยุทธโดโย่ด้วย

ส่วนพรรค PDI-P จับมือกับพรรค PKB, NasDem, PKPI และ Hanura ส่งผู้ว่าโจโกวีลงชิงปธน.คู่กับปะยุซุฟ กาลล่า (Yusuf Kalla) อดีตรองปธน.จากพรรค Golka ในสมัยแรกของปธน.ยุทธโดโย่ คราวนี้ลงในนามส่วนตัว

แผ่นป้ายหาเสียงของ JokoWi และ Yusuf Kalla ที่มา: pemilu.com

ถ้าดูจำนวน สส.แล้วทางเจนเอรัลปราโบโว่จะมีมากกว่าหลายสิบ แต่ถ้าดูจากคะแนนป๊อบปูล่าโหวตไม่หนีกันมาก สำหรับพรรค PD ของปะยุทธโดโย่ยังวางตัวนิ่งเฉยเป็นกลางแต่ภายในคงต้องมีทิศทาง

โพลล่าสุดคะแนนของผู้ว่าโจโกวีนำอยู่ จนขนาดปะอาเมียน ราอิสผู้ทรงอิทธิพลในพรรค PAN และองค์กรมุสลิมเบอร์สองของประเทศ Muhammadiyah ถึงกับดึงเอาศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยการเสนอเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาให้ทางเจนฯปราโบโว่ใช้แนวทางของการมีชัยในสงครามใหญ่เมื่อเริ่มต้นประกาศศาสนาเพื่อชนะเลือกตั้ง“Amien suggested that Prabowo’s presidential campaign could make good use of the spirit of the Battle of Badr, one of the key battles in the history of Islam, in order to win in the July 9 election.” จากจาการ์ต้าโพสต์ 30May2014 ซึ่งแกคงลืมไปว่าเคยเป็นแกนนำการปฏิรูปและต่อต้านขับไล่ซูฮาร์โต้มาก่อนและยังลืมอีกว่าผู้ว่าโจโกวีก็เป็นมุสลิม ทั้งองค์กรมุสลิมเบอร์หนึ่งของประเทศ NU ก็อยู่เบื้องหลังพรรค PKB

ตอนนี้ทั้งสองฝ่ายต่างระดมสงครามสื่อซัดใส่กันอย่างเต็มที่ เช่นผู้ว่าโจโกวีกำลังโดนถล่มเรื่องความไม่เป็นมุสลิมถึงกับแจกใบปลิวกันว่อนว่า อักษรตัวย่อ H.ที่นำหน้าชื่อมาจากคำว่า Heribertus ไม่ใช่คำย่อของ Haji ซึ่งคำว่า Heribertus มักเป็นชื่อของชาวคริสต์ ส่วน Haji ใช้สำหรับชาวมุสลิมที่ได้ผ่านเมกกะมาแล้ว ในขณะที่ทางฝั่งเจนฯปราโบโว่ก็โดนถล่มอย่างหนักเรื่องการปราบปรามจลาจลใหญ่ปี 1998 เนื่องจากเป็นหัวหน้าหน่วยคุมกองกำลังทหารหน่วยพิเศษและอารักขาปธน.ที่เรียกว่า Kostrad มีกำลังพลในมือถึงสองสามหมื่นคน หลังเหตุการณ์สงบจึงโดนปลดออกจากตำแหน่ง

สื่อโทรทัศน์หลายช่องก็เชียร์ฝั่งที่ตนสนับสนุนอย่างออกหน้า เช่น Metrotv สนับสนุนโจโกวี ในขณะที่ Antv และ Globaltv เอียงไปทางเจนฯปราโบโว่ คืนก่อนทาง Tvone จัดรายการสดตั้งแต่สองทุ่มกว่า ให้ปะกานี พิธีกรช่ำชองเรื่องการเมืองอาวุโสและมีลูกเล่นแพรวพราว เชิญทีม success ของทั้งสองฝั่งมาดีเบตเรื่องกฎหมายและแนวทางการทำงานของแต่ละฝั่ง มีการเชิญนักวิชาการมาให้ความเห็นคั่น และผู้เข้าฟังนั่งแบบโต๊ะจีนเต็มห้อง เปิดให้ซักถาม และโต้เถียงกันลั่นห้อง ยิ่งดึกยิ่งมันส์ มีการตัดบทโดยผู้ดำเนินรายการปะกานีเมื่อเห็นอารมณ์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะระเบิด ไม่มีใครยอมใคร จนห้าทุ่มกว่ายังไม่หยุดถ่ายทอดรายการ

โปรเฟสเซ่อร์ท่านหนึ่งชื่อเท่ ดร.เจ.อี.ซาเฮตาปี้ (Prof.Dr.J.E.Sahetapy) เป็นแขกในฝ่ายนักวิชาการอายุแปดสิบกว่าเกิดตั้งแต่สมัยยังเป็นอาณานิคมของพวกดัชต์ ผ่านสงครามทุกข์ยากมาแล้วหลายครั้งอายุมากกว่าใครทุกคนในห้อง ได้พูดแรงและตรงว่าถ้าพูดถึงเรื่องประชาธิปไตยแกโคตรจะอิ่มกินไม่ลงอีกแล้ว พูดต่อว่าทำไมไม่เห็นมีใครพูดถึงว่าจะทำอะไรให้ประชาชนบ้าง ไม่ใช่โต้เถียงกันแต่เรื่องกฎหมาย และถ้าพูดถึงแต่กฎหมายไม่เห็นมีใครเอ่ยถึงมาตรา 33 ในรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วย rakyat หรือประชาสังคมหรือสาธารณชนก็แล้วแต่ และพูดอีกยืดยาวจำไม่ไหว

ถ้าเจนฯปราโบโว่ชนะการเลือกตั้ง อินโดนีเซียอาจได้ย้อนไปสัมผัสกลิ่นอายของยุคสมัยซูฮาร์โต้กันบ้าง เจนเดอรัลคนนี้มาจากตระกูลทรงอิทธิพลในสมัยนั้น เป็นพี่ชายปะฮาชิมขาใหญ่ในวงการธุรกิจคนหนึ่งแต่งงานกับติเตี๊ยกลูกสาวซูฮาร์โต ปัจจุบันเป็นนักธุรกิจใหญ่ในหลายสาขาหลายสิบบริษัทและออกแนวมาเฟีย ส่วนปะโจโกวีเป็นสายพลเรือนไม่ได้เป็นนักธุรกิจใหญ่โต เคยเป็นนายอำเภอเมืองโซโลและพัฒนาเมืองนี้จนติดอันดับต้นของประเทศก่อนมาลงชิงผู้ว่าจาการ์ต้าได้เพียงสองปี ซึ่งถ้าชนะอินโดนีเซียคงเดินไปอีกทาง คาดว่าในชวาคนคงเลือกปะโจโกวีกันมากกว่าในขณะที่ตามเกาะต่างๆเช่นกะลิมันตันและสุมาตราคงเลือกเจนฯปราโบ่โว่

สุดท้ายหลังจากโปรเฟสเซ่อร์ซาเฮตาปี้ได้หยุดพักและถูกเชิญให้พูดสรุปของฝ่ายวิชาการแกได้พูดปิดท้ายจับความได้ว่า

“สมัย orde baru หรือยุคแนวทางใหม่ของซูฮาร์โต้ คือการคอรัปชั่นใต้โต๊ะ สมัย reformasi หรือยุคปฏิรูปหลังซูฮาร์โต้ คือการคอรัปชั่นบนโต๊ะ สมัย demokrasi หรือยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน คือการคอรัปชั่นทั้งบนโต๊ะ ใต้โต๊ะและยกไปหมดทั้งโต๊ะ คนที่ใหญ่ที่สุดคือคนที่เชื่อถือไม่ได้มากที่สุด”

จันทบุรี 9 มิถุนายน 2557

หมายเลขบันทึก: 570051เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2014 00:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2014 12:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท