สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว


“คนต่างด้าว” เป็นคำทางการที่ถูกใช้เรียก บุคคลผู้ซึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยที่มิได้มีสัญชาติและความเป็นพลเมืองของรัฐไทย ซึ่งด้วยเหตุที่มิใช่บุคคลของรัฐ การที่คนต่างด้าว ถูกเลือกปฎิบัติในประเทศไทยจึงเกิดขึ้นได้ง่าย ไม่เว้นแต่การกระทำใช้อำนาจทางปกครองของรัฐเอง ก็มิได้ใส่ใจถึงสิทธิของคนต่างด้าว

การเนรเทศ หมายความว่า การเคลื่อนย้ายคนต่างด้าวให้ออกจากประเทศ โดยอาศัยมาตรการหรือคำสั่งจากฝ่ายปกครองด้วยเหตุผลเพราะว่าการพำนักอาศัยของคนต่างด้าวจะขัดต่อสันติภาพ (หรือความสงบสุข) ความปลอดภัย และสวัสดิการสาธารณะของรัฐ ซึ่งการจะเนรเทศคนต่างด้าวได้ต้องอาศัยกฎหมายเนรเทศ มิใช่กฎหมายคนเข้าเมือง นานาประเทศจะมีกฎหมายสองฉบับนี้เพื่อใช้ควบคุมการเข้าเมืองของคนต่างด้าว การบังคับให้คนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักรได้สิ้นสุดลงเพราะคนต่างด้าวผู้นั้นได้มีพฤติการณ์ที่ขัดต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยของรัฐ แต่การให้คนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักรโดยอาศัยกฎหมายคนเข้าเมืองนั้นเกิดจากกรณีที่คนต่างด้าวผู้นั้นเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายคือเป็นผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองซึ่งทำให้คนต่างด้าวผู้นั้นไม่มีสิทธิอยู่อาศัยในราชอาณาจักรมาตั้งแต่ต้น[1]

การเนรเทศคนต่างด้าวเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องทั้งกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากเพราะในสังคมไทยปัจจุบันมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของคนต่างด้าวเข้ามาในประเทศมากขึ้น แต่หลายคนอาจมองว่าการเนรเทศคนต่างด้าวไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะการเนรเทศคนต่างด้าวนั้นเป็นอำนาจที่รัฐมีอยู่แล้ว[2]

เมื่อเราได้ทำความเข้าใจถึง คนต่างด้าว และการเนรเทศคนต่างด้าวมาแล้วนั้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกรณีปัญหา เป็นกรณีศึกษาดังนี้

"ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) มีคำสั่งเนรเทศ สาธิต เซกัล ประธานหอการค้าไทย-อินเดีย และประธานกลุ่มนักธุรกิจสีลมออกจากประเทศไทย หลังจากที่ สาธิต เซกัล มีชื่อเป็นแกนนำ กปปส. และขึ้นเวทีคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"[3]

จากกรณีศึกษา คือ กรณีของนายสาธิต เซกัล ที่โดนคำสั่งเนรเทศออกจากประเทศไทย เพราะ มีชื่อเป็นแกนนำกปปส.และได้เข้าร่วมขึ้นปราศรัย แสดงความคิดเห็นบนเวทีของกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล กปปส. คำสั่งดังกล่าวนี้เป็นคำสั่งที่สามารถทำได้หรือไม่ และเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน คือ สิทธิในเสรีภาพของนายสาธิตหรือไม่ มีประเด็นที่ต้องพิจารณาดังต่อไปนี้

ประเด็นแรกที่จะต้องพิจารณาคือ นายสาธิต เซกัล เป็นบุคคลที่รัฐไทยสามารถเนรเทศได้หรือไม่? กล่าวคือตามพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. 2499

มาตรา ๕เมื่อปรากฏว่ามีความจําเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอํานาจออกคําสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรมีกําหนดเวลาตามที่จะเห็นสมควร อนึ่งเมื่อพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป รัฐมนตรีจะเพิกถอนคําสั่งเนรเทศเสียก็ได้

ความในวรรคแรกมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ที่เคยได้สัญชาติไทยโดยการเกิด[4]

จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าบุคคลที่จะถูกเนรเทศได้ต้องเป็นคนต่างด้าว ไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทยหรือเคยได้รับสัญชาติโดยการเกิดมาก่อน ซึ่งในกรณีของนายสาธิต เซกัล จากประวัตินายสาธิตเกิดเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2501 ที่กรุงเดลี ประเทศอินเดีย เป็นชาวไทยเชื้อสายอินเดียจากรัฐปัญจาบ จบการศึกษาจากวิทยาลัย Hansraj มหาวิทยาลัยเดลี ประเทศอินเดีย มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน ทุกคนได้สัญชาติไทยทั้งหมด แต่นายสาธิตยังคงถือสัญชาติอินเดียอยู่ ดังนั้นนายสาธิตจึงเป็นบุคคลต่างด้าวที่รัฐไทยมีอำนาจเนรเทศได้ แต่อย่างไรก็ตามในการเนรเทศบุคคลคนหนึ่งยังต้องพิจารณาในเรื่องอื่นประกอบด้วย

ประเด็นต่อมาที่ต้องพิจารณา คือ การกระทำของนายสาธิต เซกัล นั้นเป็นการกระทำที่เป็นความผิดที่สามารถเป็นเหตุให้ถูกเนรเทศตามตามพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. 2499 ได้หรือไม่?

จากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 19 บัญญัติว่า "ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับและส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใดและโดยไม่คํานึงถึงพรมแดน[5]

จากกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 บัญญัติว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง”[6]

เมื่อพิจารณาการกระทำของนายสาธิต เซกัล คือ การเป็นแกนนำในการชุมนุมและมีการปราศรัยบนเวทีกปปส.เพื่อแสดงความคิดเห็นอันเนื่องมาจากความไม่พอใจในการบริหารงานของรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนั้นการกระทำของคุณสาธิต เซกัล ถือเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนประการหนึ่งที่ไม่ว่าจะเป็นคนชาติหรือคนต่างด้าวย่อมมีสิทธิในเสรีภาพนี้ได้ จึงเป็นการใช้สิทธิที่ตนมีอยู่แล้วไม่ได้ใช้สิทธิเกินหรือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายภายในของประเทศไทยหรือกฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใด

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 45 บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน"[7]

ทั้งนี้การกระทำของนายสาธิต เซกัล ยังมีรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็นไว้อย่างชัดเจน แม้จะมีข้อจำกัดบางประการที่กำหนดให้สามารถจำกัดเสรีภาพดังกล่าวได้ คือ ต้องเป็นการใช้เสรีภาพที่เป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ แต่จากข้อเท็จจริงการใช้สิทธิของนายสาธิต เซกัล ไม่ได้ส่งผลร้ายแรงและมีผลกระทบต่อความมั่นคงถึงขนาดที่รัฐต้องเข้ามาจำกัดสิทธิ และนำมาเป็นเหตุผลในการเนรเทศนายสาธิต เซกัล ออกจากประเทศไทยตามพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. 2499 ได้แต่อย่างใด

ดังนั้นจากประเด็นที่ได้พิจารณามาสองประการข้างต้นจึงสามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่า รัฐไม่สามารถใช้พระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. 2499 เนรเทศนายสาธิต เซกัล ออกจากประเทศไทยได้ แต่อย่างไรก็ตามจากข้อเท็จจริงกรณีของคุณสาธิต เซกัลไม่ใช่การเนรเทศตามพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. 2499 แต่เป็นการเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) ม.11(8) ซึ่งบัญญัติว่า

"ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองมาใช้บังคับโดยอนุโลม”[8]

ตากปกตินั้น การที่จะเนรเทศบุคคลใดบุคคลหนึ่งออกนอกประเทศ ก็จะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องนั้นๆ แต่จากกรณีศึกษาที่ตัวผู้เขียนยกมานั้น เป็นกรณีการใช้กฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาบังคบใช้กับกรณีดังกล่าว มิได้เป็นไปตามบทบัญญัติที่จะใช้ในยามปกติ ซึ่งตัวผู้เขียนเห็นว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และควรได้รับการเยียวยาแก้ไข เพื่อมิให้เกิดเป็นบรรทัดฐาน ในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของบุคคลอื่นๆต่อไปในอนาคต


[1] http://hilight.kapook.com/view/97452

[2] http://prachatai.com/journal/2014/03/52267

[3] http://hilight.kapook.com/view/97452

[4] http://www.library.coj.go.th/info/data/A26-01-001-2499.pdf

[5] http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf

[6] http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/iccprt.pdf

[7] http://www.ombudsman.go.th/10/documents/law/Constitution2550.pdf

[8] http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538973435

หมายเลขบันทึก: 568586เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 00:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 00:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท