HR-LLB-TU-2556-TPC-ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ


ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ

                        สิทธิมนุษยชน (Human Rights)หมายถึง สิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความเท่าเทียมกันในแง่ศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์และสิทธิ เพื่อดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว เพศ อายุ ภาษาศาสนา และสถานภาพทางกายและสุขภาพรวมทั้งความเชื่อทางการเมือง หรือความเชื่ออื่นๆที่ขึ้นกับพื้นฐานทางสังคม สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถถ่ายทอดหรือโอนให้แก่ผู้อื่นได้[1] สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่ เกิดและการดำเนินธุรกิจก็อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนได้ ดังประเทศก็มีความพยายามที่จะให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึง สิทธิมนุษยชนโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก็ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ รับรองการก่อตั้งมาตรฐานตามความสมัครใจที่ชื่อว่า “UN Guiding Principles on Business and Human Rights”[vi] ซึ่งเป็นการแปลความกรอบนโยบาย “Protect Respect and Remedy Framework” ให้เป็นขั้นตอนวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ภาคธุรกิจและภาครัฐเอาไปใช้

                      เนื้อหาสำคัญของเอกสารทั้งสองฉบับประกอบด้วยแนวคิดที่มองเห็นว่า องค์กรธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อการเคารพ สิทธิมนุษยชน และรัฐบาลมีหน้าที่ต้องป้องกัน การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยบุคคลที่ 3 ซึ่งรวมถึงองค์กรธุรกิจด้วย รวมทั้งควรสนับสนุนให้เหยื่อผู้ถูกละเมิดเข้าถึงช่องทางการเยียวยา ได้ดียิ่งขึ้นทั้งในและนอกกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจริงๆ ก็เป็นการอธิบายอำนาจและหน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศเดิมให้ ชัดเจนขึ้น และชี้ระบุความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับธุรกิจที่ต้องร่วมกันดูแลป้องกันการ ละเมิดสิทธิมนุษยชนให้เด่นชัดออกมา

                       โดยสาระสำคัญที่แท้จริงซึ่งไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงคือ มาตรฐานแนวปฏิบัติข้อที่ 7 (หน้า 9) ซึ่งมีคำอธิบายมาตรฐานอย่างเป็นทางการระบุว่า ในยามสถานการณ์ขัดแย้งที่ “รัฐประเทศเจ้าบ้าน” ของการดำเนินธุรกิจนั้น ไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชนของตัวเองได้ ในกรณีของบรรษัทข้ามชาติ ให้ “รัฐประเทศต้นทาง” มีบทบาทต้องช่วยองค์กรธุรกิจและประเทศเจ้าบ้านดูแลให้บริษัทจากประเทศตนเอง ไม่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในขณะเดียวกันก็ให้ประเทศเพื่อนบ้านสามารถให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมได้ด้วย

                       ถึงแม้จะเป็นก้าวที่ไม่ได้มั่นคงมากนัก คือไม่ใช่เป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติเอาผิดต่อการละเมิดของธุรกิจอย่างชัดเจน แต่ก็เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของคณะมนตรีฯ ที่มองเห็นว่า ผู้ที่มีหน้าที่ต้องเคารพสิทธิมนุษยชนนั้นหมายรวมถึงภาคธุรกิจด้วย และรัฐเป็นประเทศต้นทางก็ไม่ควรจะเพิกเฉยต่อการกระทำของธุรกิจจากประเทศตัว เองในประเทศอื่น ซึ่งธุรกิจจำนวนมากก็ขานรับมาตรฐานนี้ และนำไปประกาศใช้ในองค์กรตัวเอง เช่นเดียวกับรัฐบาลประเทศต่างๆ

เรียกว่าเป็นก้าวเล็กๆ ที่มีความสำคัญสู่แนวทางการสร้างหลักประกันด้านการเคารพสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจต่อไปในอนาคต[2]

                        กรณีศึกษา โครงการเขื่อนไซยบุรี (Xayaburi Dam) เป็นหนึ่งใน 12 โครงการ เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าที่ได้รับการเสนอให้สร้างขึ้นในแม่น้ำโขงตอนล่าง เขื่อนไซยบุรีตั้งอยู่ที่แก่งหลวง แก่งหินใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของแม่น้ำโขง ห่างจากเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง ตามลำน้ำลงมาเพียงราว 100 กิโลเมตรเท่านั้น

                        โครงการเขื่อนไซยบุรี มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ โดยไฟฟ้าส่วนใหญ่ ส่งขายให้แก่ประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไป เมื่อปลายปี 2554 บริษัท ไซยบุรี พาวเวอร์ มีผู้ถือหุ้นหลัก โดยบริษัท ช.การช่าง จากประเทศไทย เงินทุนในการก่อสร้างโครงการซึ่งอยู่ที่ราว 1.1 แสนล้านบาท มาจากธนาคาร ทั้งของรัฐ และเอกชนไทย 6 แห่ง จึงอาจกล่าวได้ว่า เขื่อนไซยบุรี เป็นเขื่อนสัญชาติไทยที่ตั้งอยู่ในดินแดนลาว

                        องค์กร แม่น้ำสากล (International Rivers) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ประชาชนราว 2,100 คน ต้องอพยพโยกย้ายออกจากพื้นที่ก่อสร้างโครงการ และอีกมากกว่า 202,000 คน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง จะได้รับผลกระทบในการดำรงชีวิต แหล่งรายได้ และความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากต้องสูญเสียพื้นที่ทำกิน กิจกรรมการร่อนทองในแม่น้ำโขง จะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ อีกทั้งการหาของป่า จะทำได้ยากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการสร้างเขื่อน จะส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และการประมง ตลอดทั่วทั้งลุ่มน้ำ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้คนอีกนับล้าน

                         องค์กรอนุรักษ์และเครือข่ายภาคประชาชน อาทิ พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong) ได้พยายามรณรงค์ และให้ข้อมูลว่า การสร้างเขื่อนไซยบุรี จะเป็นการทำลายแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ และระบบนิเวศในแม่น้ำโขงอย่างถาวร โดยจะไปกีดขวางเส้นทางอพยพสำคัญของปลา อย่างน้อย 23 สายพันธุ์ ปลาเหล่านี้ จะอพยพขึ้นสู่แม่น้ำโขงตอนบน ที่หลวงพระบางเชียงของ และเชียงแสนในประเทศไทย เขื่อนไซยบุรี จะกลายเป็นอุปสรรคต่อวงจรชีวิตที่จำเป็น สำหรับการดำรงเผ่าพันธุ์ปลาอพยพทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการวางไข่ การผสมพันธุ์ หรือการเจริญเติบโต หนึ่งในปลาอพยพเหล่านั้น คือ ปลาบึก ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของแม่น้ำโขง

                       ขณะ ที่ผู้สนับสนุนเขื่อน กล่าวว่า ประโยชน์ของเขื่อนไซยบุรี คือ ผลิตกระแสไฟฟ้าและสร้างรายได้ แต่ผลการศึกษาระบุว่า แม้จะก่อสร้างเขื่อนทั้ง 12 แห่ง ทางตอนล่างของแม่น้ำโขง ก็จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง ร้อยละ 11.3 ของความต้องการพลังงานในภูมิภาคเท่านั้น

                       รายงานการประเมินสิ่งแวดล้อม เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment) สำหรับ 12 โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ บนแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งว่าจ้างโดย คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือเอ็มอาร์ซี (Mekong River Commission: MRC) สรุปว่า มีความเสี่ยงและยังขาดข้อมูลความรู้ จึงมีข้อเสนอให้“การตัดสินใจกรณี เขื่อนในแม่น้ำโขง ควรชะลอออกไป 10 ปี” [3]

                       จะเห็นได้ว่า การที่จะสร้างโครงการที่มีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนนั้น ควรมีมาตรการในการทำแบบประเมินสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้องก่อนทำโครงการ เพื่อเป็นข้อพิสูจน์ว่าการทำธุรกิจจะไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้าง อีกทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนที่อาศัยร่วมกับสิ่งแวดล้อมนั้นๆ เมื่อการกระทำดังกล่าว มีแนวโน้มสูงว่าจะก่อผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมประชาชน ก็มีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการร้องเรียนต่อรัฐตามมาตรา 67 รัฐธรรมนูญปี2550 อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการธุรกิจยึดมั่นในจรรยาบรรณและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของประชาชนก่อนที่จะทำโครงการใดๆขึ้นมา ก็จะไม่เกิดการละเมิดสิทธิของผู้อื่นจากการทำโครงการ

[1] สิทธิมนุษยชนกับสังคมไทย. oknation. [Website] 2009 Jan www.oknation.net/blog/print.php?id=390434 สืบค้นข้อมูลวันที่16พ.ค.2557

[2] เรื่อง (ไม่) ตลก ของภาคธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน. กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน. http://www.ftawatch.org/all/news/39098.สืบค้นข้อมูลวันที่16พ.ค.2557

[3] เขื่อนไซยบุรี: พันธนาการมหานที.http://www.thairath.co.th/content/382622. สืบค้นข้อมูลวันที่16พ.ค.2557


หมายเลขบันทึก: 568468เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 12:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 12:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท