สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว


          “คนต่างด้าว” เป็นคำทางการที่ถูกใช้เรียก บุคคลผู้ซึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยที่มิได้มีสัญชาติและความเป็นพลเมืองของรัฐไทย ซึ่งด้วยเหตุที่มิใช่บุคคลของรัฐ การที่คนต่างด้าว ถูกเลือกปฎิบัติในประเทศไทยจึงเกิดขึ้นได้ง่าย ไม่เว้นแต่การกระทำใช้อำนาจทางปกครองของรัฐเอง ก็มิได้ใส่ใจถึงสิทธิของคนต่างด้าว

           ในปัจจุบันสิทธิส่วนใหญ่ที่คนต่างด้าว มักจะถูกลิดรอนอยู่เสมอ ก็คงไม่แพ้สิทธิในชีวิตร่างกาย สิทธิในการเดินทาง สิทธิในการเลือกประกอบอาชีวิต ซึ่งก็ต้องเป็นที่ยอมรับว่าสิทธิเหล่านี้ที่ถูกลิดรอน ส่วนหนึ่งมาจาก การที่รัฐเล็งเห็นที่ถึงความปลอดภัยของพลเมืองรัฐมากกว่า เพื่อมิให้คนที่ไม่ใช่พลเมืองตน กระทำการบางอย่างไปกระทบสิทธิของพลเมืองตนเอง อาทิเช่น การกักตัว ผู้อพยพลี้ภัย เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติที่ ประเทศหลายประเทศรวมถึงไทยยังปฏิบัติอยู่ ซึ่งข้าพเจ้ามองว่ายังมิได้ถึงกับริดรอนความเป็นมนุษย์มากซักเท่าเหตุการณ์ต่อไปนี้


                                     ที่มา: http://www.komchadluek.net/media/img/size_photo_slide/2014/02/08

กรณีคุณสาธิต เซกัล กับ สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

             นายสาธิต เซกัล บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าไทย อินเดีย ผู้ถือสัญชาติอินเดีย แต่พำนักอาศัยและทำงานในไทย มีชื่อเป็นแกนนำ กปปส. และขึ้นเวทีคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อมา ศรส.ได้ออกคำสั่ง เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2557 กล่าวว่า สาธิต เซกัล แกนนำ กปปส. และเป็นบุคคลต่างด้าว ได้ร่วมกระทำผิดในข้อหาต่าง ๆ และถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งข้อไปแล้ว ทาง ศรส. จึงแจ้งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเนรเทศนายสาธิตออกจากประเทศไทยโดยด่วน[1]

            เมื่อพิจารณาจากกรณีดังกล่าว สามารถแบ่งแยกประเด็นออกมาได้ 2 ประเด็น กล่าวคือ อำนาจในการเนรเทศคนต่างด้าว และเนรเทศโดยอาศัยบทกฎหมายใดรองรับ

ประเด็นที่ หนึ่ง อำนาจในการเนรเทศคนต่างด้าว

            เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปจากนักกฎหมายระหว่างประเทศและทางปฎิบัติของรัฐว่า อำนาจ (หรือนักกฎหมายหลายคนใช้คำว่า “สิทธิ”ที่ติดตัวมากับรัฐ หรือ inherent right) ในการเนรเทศคนต่างด้าวออกนอกประเทศตนนั้นเป็นของรัฐกล่าวอีกนัยหนึ่ง การเนรเทศเป็นการแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของรัฐสมัยใหม่ หลักที่ว่า รัฐมีอำนาจเนรเทศคนต่างด้าวได้นั้นมิใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ซึ่งการเนรเทศ เป็นการใช้อำนาจทางบริหาร เท่านั้นมิใช่เป็นอำนาจของ นิติบัญญัติและตุลาการ การเนรเทศจึงทำในรูปแบบ คำสั่งทางปกครอง

            จากหลักการอำนาจของรัฐข้างต้นจะเห็นได้ว่า รัฐ ยังคงมีอำนาจในการเนรเทศบุคคลที่มิใช่พลเมืองของตนออกนอกประเทศได้ ซึ่งในกรณีของคุณสาธิต เซกัลป์ ซึ่งมิใช่พลเมืองของรัฐไทยก็เช่นกันที่รัฐไทยก็ดำรงไว้ซึ่งอำนาจในการเนรเทศคุณสาธิต ออกนอกประเทศได้เช่นกัน แต่ถึงอย่างไรก็ดี การเนรเทศคนต่างด้าวออกจากรัฐมิใช่ว่าจะทำยังไงก็ได้ การเนรเทศจำต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล ไม่สามารถใช้อำนาจเนรเทศตามอำเภอใจโดยปราศจาก เหตุอันเหมาะสม มิได้ ดังนั้นประเด็นที่ว่า รัฐมีอำนาจในการเนรเทศคุณสาธิตหรือไม่นั้น คำตอบคือมีอำนาจสามารถทำได้ จึงจำเป็นต้องไปพิจารณาในประเด็นถัดไป ประเด็นที่สอง เนรเทศโดยอาศัยบทกฎหมายใดรองรับ

            ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กรณีของคุณสาธิต เป็นการเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร เป็นการพิจารณาตามหลักเกณฑ์และกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โดย พรก.ฉุกเฉินบัญญัติให้ใช้กฎหมายคนเข้าเมืองโดยอนุโลม กล่าวคือ ตามความหมายที่แท้จริงของการเพิกถอนการอนุญาตให้ที่พักพิงในราชอาณาจักรก็คือการส่งตัวกลับ มิใช่การเนรเทศ ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติถึงการเนรเทศเป็นเฉพาะอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม แม้เป็นการส่งตัวกลับ ก็ต้องพิจารณาว่า การกระทำของคุณสาธิต เข้าเหตุที่จะต้องถูกส่งตัวกลับหรือไม่ด้วย

            การที่คุณ สาธิต เซกัล ได้มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของตน โดยการเป็นแกนนำ กลุ่ม กปปส. ปราศรัย และ พูดในที่สาธารณะ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล นายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะถือได้ว่าเป็นการทำผิด เข้าข้อกำหนดในการส่งตัวกลับหรือไม่? ซึ่งตาม รัฐธรรมนูญไทย มาตรา 45 ก็ได้วางหลักถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้อย่างชัดเจน


มาตรา 45 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นการจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน[2]

ประกอบกับปฏิญญาสากล ข้อ 18 -20 ก็ด้วางหลักให้เห็นชัดถึง การแสดงความคิดเห็นส่วนตัวที่อยู่เหนือการควบคุมจากผู้ใด แม้ว่าจะมิใช่พลเมืองของรัฐนั้นก็ตาม

         ข้อ 18 บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพแห่งความคิด มโนธรรม และศาสนา สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะเปลี่ยนศาสนา หรือความเชื่อถือ และเสรีภาพ ที่จะแสดงให้ศาสนาหรือความเชื่อถือประจักษ์ในรูปของการสั่งสอน การปฏิบัติกิจความเคารพสักการะบูชา สวดมนต์ และการถือปฏิบัติพิธีกรรม ไม่ว่าโดยลำพังตนเอง หรือร่วมกับผู้อื่นในประชาคมและในที่สาธารณะหรือส่วนตัว

        ข้อ 19 บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะยึดมั่นในความเห็นโดยปราศจากการแทรกสอดและที่จะแสวงหารับ ตลอดจนแจ้งข่าว รวมทั้งความคิดเห็นโดยผ่านสื่อใดๆ และโดยมิต้องคำนึงถึงเขตแดน

        ข้อ20 (1) บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุม และการสมาคมโดยสงบ (2) การบังคับให้บุคคลเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมจะทำมิได้[3]

          ดังนั้นกรณีของคุณสาธิตรัฐไม่อาจใช้อำนาจในการส่งตัวกลับหรือเนรเทศ คุณสาธิตได้เลย เพราะไม่ปรากฏเหตุอันควร จึงเป็นเพียงการพยายามใช้อำนาจ คำสั่งทางปกครองเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าที่จะพิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อสิทธิที่คุณสาธิตมี จนอาจทำให้กลายเป็นบรรทัดฐานในการริดรอนสิทธิของคนต่างด้าวในอนาคตเสียแล้ว

นายภัทรภณ  อุทัย 


[1]ข้อพิจารณาทางกฎหมายระหว่างประเทศกรณีคุณสาธิต เซกัล

http://prachatai.com/journal/2014/03/52267

[2] รัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2550

http://www.ombudsman.go.th/10/documents/law/Consti...

[3] ปฏิญญาสากล

http://www.l3nr.org/posts/367042

หมายเลขบันทึก: 568426เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 04:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 04:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท