ผู้ทรงสิทธิในการมีสุขภาพดี


มนุษย์ทุกคนเกิดมาบนโลก ก็ย่อมต้องการจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งปัจจัยพื้นฐานที่จะส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ย่อมต้องเริ่มด้วยการมีสุขภาพที่ดีเสียก่อน เช่นนี้เอง กฎหมายจึงได้กำหนดไว้ถึง สิทธิในการมีสุขภาพดี

สิทธิในการมีสุขภาพดีเป็นสิทธิขึ้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี กล่าวคือเป็นสิทธิมนุษยชนด้านสาธารณสุข หมายถึง การที่บุคคลมีสิทธิในการรับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดก็สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ทั้งสิ้น[1]

แต่อย่างไรก็ดี แม้กฎหมายจะกำหนดให้มนุษย์ทุกคน มีสิทธิในการมีสุขภาพดี แต่จากการที่ผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ก็ได้เห็นกรณีปัญหาหลายกรณี เกี่ยวกับสิทธิในการมีสุขภาพดีของมนุษย์

ผู้เขียนขอยกบทความนี้ซ่งเป็นกรณีของ น้องอาป่า หรือ นายอาป่า น้องอาป่าเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2539 เกิดที่หมู่บ้านจะแล หมู่ 11 ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยมีบิดามารดาเป็นอาข่าไร้รัฐ ไร้สัญชาติที่อพยพมาจากประเทศเมียนม่าร์ แต่ต่อมาในปี พ.ศ.2542 ครอบครัวของน้องได้รับการสำรวจและจัดทำ “ทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูงตามแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2” ทำให้ได้รับการรับรองสิทธิอาศัยชั่วคราวตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ได้รับการบันทึกลงใน ทร.13 ให้มีสถานะ “คนที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว” ตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2543 จึงเห็นได้ว่าน้องอาป่าและครอบครัวไม่มีปัญหาเรื่องการไร้รัฐ เพราะมีรัฐไทยให้อยู่อาศัยภายในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวแล้ว แต่อย่างไรก็ตามน้องอาป่ายังคงประสบปัญหาเรื่องสัญชาติอยู่ เนื่องจากน้องมีบัตรประจำตัวประชาชนไทย 13 หลักที่ขึ้นต้นด้วยเลข 6 ซึ่งหมายความว่า เป็นคนที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยแต่ไม่มีสัญชาติไทย[2]

ทั้งที่ในความเป็นจริงน้องอาป่าเกิดในประเทศไทย จึงเป็นผู้มีสิทธิร้องขอสัญชาติไทยต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ แต่ในปัจจุบันน้องอาป่าก็ยังไม่อาจยื่นเรื่องขอสิทธิในสัญชาติไทย เพราะการร้องขอทำหนังสือรับรองการเกิดต่ออำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ยังไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด

ซึ่งต่อมาเมื่อน้องอาป่าประสบอุบัติเหตุรถชนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เนื่องจากน้องได้รับบาดเจ็บต้องผ่ากะโหลกและขาหักทั้ง 2 ข้างต้องใช้เหล็กดามไว้ ซึ่งยังไม่สามารถเดินได้ตามปกติเเละยังไม่แน่ชัดว่าจะสามารถใช้ขาทำงานตามปกติได้อีกหรือไม่ จึงทำให้เกิดปัญหาตามมา คือ แม้น้องจะเป็นผู้ทรงสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2553 เพราะน้องเป็นบุตรของราษฎรไทยที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาก่อน พ.ศ. 2542 ก็ตาม แต่ในทางข้อเท็จจริงเเล้วหากน้องได้รับสัญชาติไทยน้องจะมีสิทธิในการรักษาพยาบาลได้มากกว่าที่เป็นอยู่นี้ โดยจะได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545[3]

มาตรา 3บัญญัติว่า "บริการสาธารณสุข หมายความว่า บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้โดยตรงแก่บุคคลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ทั้งนี้ ให้รวมถึงการบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ"

มาตรา 5 วรรค 1บัญญัติว่า "บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้"

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าน้องอาป่าซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิในการมีสุขภาพดีคนหนึ่งต้องเสียสิทธิที่ตนควรจะมีไป เพราะการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐที่ไม่ได้รับรองสัญชาติไทยให้แก่น้อง ทั้งที่น้องเกิดในประเทศไทยเเละมีสิทธิที่จะได้รับสัญชาติไทยเช่นคนที่เกิดในประเทศไทยคนอื่นๆ[4]


[1] http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-4/human_rights/07.html

[2] http://www.thongkasem.com/knowledge.php?kid=23

[3] http://www.l3nr.org/posts/535559

[4] เอกสารประกอบการเรียนการสอน : กรณีศึกษาเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหาความด้อยโอกาสทางสุขภาพเพราะพิการและป่วยหนัก โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557

หมายเลขบันทึก: 568424เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 04:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 04:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท