หลักการเกี่ยวกับการร้องเรียน การร้องทุกข์ การทะเบียน


หลักการเกี่ยวกับการร้องเรียน การร้องทุกข์ การทะเบียน

๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗

งานทะเบียน หรืองานทางการทะเบียน (ในความหมายรวมทั้ง งานการทะเบียนราษฎร งานการทะเบียนทั่วไป และงานการทะเบียนครอบครัว) เป็นงานบริการประชาชน ที่มักมีปัญหากระทบกระทั่งกันระหว่าง "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ในฐานะผู้ให้บริการ และ "ประชาชน" ในฐานะผู้รับบริการ โดยเฉพาะ "งานการทะเบียนราษฎร" ที่มีเรื่องสำคัญหลัก ๆ อยู่เพียง ๕ เรื่อง ได้แก่ (๑) การแจ้งการเกิด (๒) การแจ้งการตาย (๓) การแจ้งการย้ายที่อยู่ (๔) การรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (๕) การแก้ไขรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน และรายการเกี่ยวกับบ้าน นอกนั้นเป็นเรื่องอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวโยงไปกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ และ เกี่ยวกับคนต่างด้าวด้วย นอกเหนือจาก "งานการทะเบียนครอบครัว" 

ในประการสำคัญประการหนึ่งก็คือ "เรื่องสถานะของบุคคล" ที่หมายถึงเรื่อง การเพิ่มชื่อบุคคลในทะเบียนบ้าน (รวมการแจ้งการเกิด การตาย การย้ายที่อยู่ หรืออื่น ๆ ทำนองเดียวกัน เช่น การดำเนินการ หรือไม่ดำเนินการ การเพิกถอน การจำหน่ายรายการ การระงับการเคลื่อนไหว ฯลฯ ) และเรื่อง พรบ.สัญชาติ รวมทั้ง การทะเบียนครอบครัว แล้วแล้วแต่อยู่ในความหมายของ "สถานะบุคคล" ทั้งสิน หมายความว่า ในกรณีพิพาททางปกครองดังกล่าว ไม่มีกำหนดอายุความในการฟ้องไว้แต่อย่างใด กล่าวคือ ผู้ฟ้องคดีจะฟ้องเมือใดก็ได้ ดู พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๕๒

"มาตรา ๕๒ การฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคลจะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้
การฟ้องคดีปกครองที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว ถ้าศาลปกครองเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเองหรือคู่กรณีมีคำขอ ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาก็ได้"

ดังนั้นการเรียนรู้ ในเรื่องการร้องเรียนไว้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น แม้ในทางคดีปกครองจะไม่ถือว่าเป็นการดำเนินการทางปกครอง แต่เป็นเพียง "กระบวนการภายในของฝ่ายปกครอง" หรือ อาจเป็นเพียง "การพิจารณาทางปกครอง" ที่อาจมีมาตรการเยียวยาเป็นการภายในของฝ่ายปกครองที่ง่ายกว่าการไปดำเนินการทางชั้นศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม หรือ ศาลปกครอง


ความหมายของการร้องเรียน ร้องทุกข์

๑. ราชบัณฑิตยสถาน 

ให้ความหมายของคำว่า ร้องเรียน ร้องทุกข์ ดังนี้
ร้องเรียน หมายถึง เสนอเรื่องราว
ร้องทุกข์ หมายถึง บอกความทุกข์เพื่อขอให้ช่วยเหลือ

๒. ศูนย์ดำรงธรรม สำนักตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ สป.มท. 

ให้ความหมายของคำว่า ร้องทุกข์ ร้องเรียน ดังนี้
- เรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียน ข้าราชการ หมายถึงเรื่องราวที่ข้าราชการเป็นผู้ถูกร้องเรียนเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติงานไม่เหมาะสม

- เรื่องร้องทุกข์ของประชาชน หมายถึง เรื่องราวที่ผู้ร้องเรียนประสงค์ให้ได้รับการปลดเปลื้องความทุกข์ที่ตนได้รับ หรือเป็นเรื่องที่ผู้ร้องเรียนหรือผู้อื่นหรือสาธารณชนได้รับความเสียหาย

๓. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. ๒๕๕๒
ให้ความหมาย “คำร้องทุกข์” หมายถึง คำร้องทุกข์ที่ผู้ร้องทุกข์ได้ยื่น หรือส่งต่อเจ้าหน้าที่ ณ ส่วนราชการ ตามระเบียบนี้

ช่องทางที่ประชาชนใช้ในการร้องเรียนร้องทุกข์
1. ทูลเกล้าถวายฎีกาผ่านสำนักราชเลขาธิการ
2. ร้องผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ GCC 1111 สำนักนายกรัฐมนตรี 

(ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน-สายด่วนของรัฐบาล)

3. ร้องผ่านนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 

("ศูนย์ดำรงธรรม" Call Center 1567)

4. ร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน
5. ร้องผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
6. ร้องผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
7. ร้องผ่าน อปค.
8. ร้องผ่านสื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์
9. ร้องผ่าน Call Center 1548 

(สอบถามปัญหาด้านการทะเบียน กรมการปกครอง)

10. เดินทางมาร้องด้วยตนเองที่ สน.บท.

ลักษณะของเรื่องที่ร้องเรียน/ร้องทุกข์
๑. การขอความช่วยเหลือขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน เช่น ตกสำรวจ บิดามารดาไม่แจ้งการเกิดเป็นบุคคลเร่ร่อนไปจากภูมิลำเนาเดิม
๒. การแจ้งการย้ายที่อยู่ เช่น หนีทหารชื่อและรายการบุคคลถูกย้ายเข้าบ้านกลางขอให้ช่วยแจ้งย้ายออก
๓. การขอความช่วยเหลือขอมีสัญชาติไทย
๔. ขอให้ตรวจสอบการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล (ละเมิด)
๕. การไม่เต็มใจให้บริการ พูดไม่สุภาพ โยนกันไปมา
๖. ขอให้ตรวจสอบการแก้ไขรายการ เช่น เจ้าบ้าน วันเดือนปีเกิด
๗. การเรียกรับผลประโยชน์
๘. การให้บริการโดยเรียกเอกสารหรือพยานบุคคลเกินกว่าระเบียบกฎหมายกำหนด
๙. การเสนอแนะข้อคิดเห็น

กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

มาตรา ๕๙ บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับแจ้งผลการพิจารณา ภายในเวลา อันรวดเร็ว

มาตรา ๖๐ บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล ให้รับผิด เนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานนั้น

มาตรา ๖๒ บุคคลย่อมมีสิทธิติดตามและร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

มาตรา ๗๔ บุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ประชาชนตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

๒. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑
มาตรา ๘๐ ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องรักษาวินัยโดยกระทำการหรือไม่กระทำการตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ
มาตรา ๘๒ ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องกระทำการอันเป็นข้อปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และเที่ยงธรรม
(๒) ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ
(๕) ต้องรักษาความลับของทางราชการ
(๗) ต้องสุภาพเรียบร้อย รักษาความสามัคคีและช่วยเหลือกันในการปฏิบัติราชการระหว่าง ข้าราชการด้วยกันและผู้ร่วมปฏิบัติราชการ
(๘) ต้องต้อนรับ ให้ความสะดวก ให้ความเป็นธรรม และให้การสงเคราะห์แก่ประชาชนผู้มาติดต่อราชการเกี่ยวกับหน้าที่ของตน

มาตรา ๘๓ ข้อราชการพลเรือนสามัญต้องไม่กระทำการใดอันเป็นข้อห้ามดังต่อไปนี้
(๙) ต้องไม่ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ หรือข่มเหงประชาชนผู้ติดต่อราชการ

มาตรา ๘๔ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติตามมาตรา ๘๑ และมาตรา ๘๒ หรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา ๘๓ ผู้นั้นเป็นผู้กระทำผิดวินัย

มาตรา ๘๕ การกระทำผิดวินัยในลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
(๕) ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ ข่มเหง หรือทำร้ายประชาชนผู้มาติดต่อราชการอย่างร้ายแรง

๓. สาระประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ หมวด ๑๓
มาตรา ๒๗๙ มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้น
วรรค ๒
- มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่ง ตามวรรคหนึ่งต้องมีกลไกบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดขั้นตอนการลงโทษ ตามความรุนแรงแห่งการกระทำ
- การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางวินัย

ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ออกตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๕ พ.ย. ๒๕๕๒
แบ่งเป็น ๓ หมวด รวม ๒๔ ข้อ
หมวด ๑ (คำจำกัดความ)
ข้อ ๒ “ข้าราชการ” หมายถึง ข้าราชการพลเรือน พนักงานราชการ และลูกจ้างในสังกัดราชการพลเรือน


คำนิยามหลักของมาตรฐานจริยธรรมสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ๙ ประการ (ตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน)
๑. การยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม
๒. การมีจิตสำนึกที่ดี ซื่อสัตย์ สุจริต และรับผิดชอบ
๓. ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
๔. การยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรมและถูกกฎหมาย
๕. การให้บริการประชาชนด้วยความรวดเร็ว มีอัธยาศัย และไม่เลือกปฏิบัติ
๖. การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วนถูกต้อง และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง
๗. การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน รักษามาตรฐานมีคุณภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้
๘. การยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
๙. การยึดมั่นในหลักจรรยาวิชาชีพขององค์กร

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จรรยาบรรณข้าราชการและผู้ปฏิบัติงานทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๕ (ลง ๒๕ พ.ย. ๒๕๔๕)

๑. จรรยาบรรณผู้ปฏิบัติงานทะเบียน (๙ ข้อ)
๒. จรรยาบรรณผู้บริหารงานทะเบียน (๙ ข้อ)
๓. จรรยาบรรณนายตรวจการทะเบียน (๙ ข้อ)

คำหลักที่มีเกี่ยวกับจรรยาบรรณ
ข้าราชการและผู้ปฏิบัติงานทะเบียน

๑. ซื่อสัตย์สุจริต
๒. รับผิดชอบ รอบคอบระมัดระวัง
๓. ตรวจสอบ ปรับปรุงแก้ไข
๔. สำนึกต่อหน้าที่
๕. ทัศนคติที่ดี วาจาสุภาพ
๖. แจ้งเหตุขัดข้อง
๗. ใส่ใจศึกษา พัฒนาตนเอง
๘. ร่วมมือป้องกันทุจริต
๙. เชิดชูคุณธรรม

คำหลักที่มีเกี่ยวกับจรรยาบรรณผู้บริหารงานทะเบียน

๑. ยึดมั่นประโยชน์แผ่นดิน
๒. ควบคุมดูแล
๓. โปร่งใส แก้ไขปัญหา
๔. มีวิสัยทัศน์ พัฒนา
๕. มาตรฐานวิชาชีพ
๖. ผลสัมฤทธิ์ของงาน
๗. กระตุ้นจิตสำนึก
๘. ร่วมมือป้องกันทุจริต
๙. สำนึกศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ

คำหลักที่มีเกี่ยวกับจรรยาบรรณผู้ตรวจการทะเบียน

๑. ซื่อสัตย์สุจริต มีหลักการ บริสุทธิ์ต่องาน
๒. เที่ยงธรรม
๓. ตรวจสอบ ป้องกัน ปราบปรามจริงจัง
๔. ละเว้นร่วมมือผู้ทุจริต
๕. อิสระ เป็นกลาง
๖. ใช้ความสามารถ มีหลักวิชา
๗. ใส่ใจศึกษา พัฒนาตนเอง รู้จริงในงาน
๘. ตรวจอย่างสร่างสรรค์
๙. เชิดชูคุณธรรม

๔. สาระสำคัญพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖
มาตรา ๔ ในพระราชกฤษฎีกานี้
“ส่วนราชการ” หมายความว่า ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานอื่นของรัฐที่อยู่ในกำกับของราชการฝ่ายบริหาร แต่ไม่รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
“ข้าราชการ” หมายความรวมถึงพนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานในส่วนราชการ

มาตรา ๖ การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ได้แก่ การบริหารราชการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังต่อไปนี้
(๑) เกิดประโยชน์สุขของประชาชน
(๔) ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น
(๖) ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ

มาตรา ๘ ในการบริหารราชการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ส่วนราชการจะต้องดำเนินการโดยถือว่าประชาชนเป็นศูนย์กลางที่จะได้รับการบริการจากรัฐ และจะต้องมีแนวทางการบริหารราชการดังต่อไปนี้
(๒) การปฏิบัติภารกิจของส่วนราชการต้องเป็นไปโดยซื่อสัตย์สุจริต สามารถตรวจสอบได้ และมุ่งให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน ทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น
(๔) ให้เป็นหน้าที่ของข้าราชการที่จะต้องคอยรับฟังความคิดเห็นและความพึงพอใจของสังคมโดยรวมและประชาชนผู้รับบริการ เพื่อปรับปรุงหรือเสนอแนะต่อผู้บังคับบัญชา เพื่อให้มีการปรับปรุงวิธีปฏิบัติราชการให้เหมาะสม

มาตรา ๔๑ ในกรณีที่ส่วนราชการได้รับคำร้องเรียน เสนอแนะ หรือความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติราชการ อุปสรรค ความยุ่งยาก หรือปัญหาอื่นใดจาก บุคคลใด โดยมีข้อมูลและสาระตามสมควร ให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการนั้นที่จะต้องพิจารณาดำเนินการให้ลุล่วงไป และในกรณีที่มีที่อยู่ของบุคคลนั้น ให้แจ้งให้บุคคลนั้นทราบผลการดำเนินการด้วย ทั้งนี้ อาจแจ้งให้ทราบผ่านทางระบบเครือข่ายสารสนเทศของส่วนราชการด้วยก็ได้

มาตรา ๕๒ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีตามแนวทางพระราชกฤษฎีกานี้ โดยอย่างน้อยต้องมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลดขั้นตอนการปฏิบัติงานและการอำนวยความสะดวกและการตอบสนองความต้องการของประชาชนที่สอดคล้องกับบทบัญญัติในหมวด ๕ และหมวด ๗

๕. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา ๓๐ ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน
ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับในกรณีดังต่อไปนี้ เว้นแต่เจ้าหน้าที่จะเห็นสมควรปฏิบัติเป็นอย่างอื่น
(๑) เมื่อมีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ
(๒) เมื่อจะมีผลทำให้ระยะเวลาที่กฎหมายหรือกฎกำหนดไว้ในการทำคำสั่งทางปกครองต้องล่าช้าออกไป
(๓) เมื่อเป็นข้อเท็จจริงที่คู่กรณีนั้นเองได้ให้ไว้ในคำขอ คำให้การหรือคำแถลง
(๔) เมื่อโดยสภาพเห็นได้ชัดในตัวว่าการให้โอกาสดังกล่าวไม่อาจกระทำได้
(๕) เมื่อเป็นมาตรการบังคับทางปกครอง
(๖) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ให้โอกาสตามวรรคหนึ่ง ถ้าจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ

มาตรา ๓๔ คำสั่งทางปกครองอาจทำเป็นหนังสือหรือวาจาหรือโดยการสื่อความหมายในรูปแบบอื่นก็ได้ แต่ต้องมีข้อความหรือความหมายที่ชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้

มาตรา ๓๖ คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสืออย่างน้อยต้องระบุ วัน เดือน และปีที่ทำคำสั่งชื่อและตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่ง พร้อมทั้งมีลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้น

มาตรา ๓๗ คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย และเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(๑) ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ
(๒) ข้อกฎหมายที่อ้างอิง
(๓) ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ

มาตรา ๔๐ คำสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปได้ให้ระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้ง การยื่นอุทธรณ์หรือคำโต้แย้ง และระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้ง ดังกล่าวไว้ด้วย
ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้ระยะเวลาสำหรับ การอุทธรณ์หรือการโต้แย้งเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีการแจ้งใหม่และระยะเวลาดังกล่าวสั้นกว่าหนึ่งปี ให้ขยายเป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งทางปกครอง

มาตรา ๔๔ ภายใต้บังคับมาตรา ๔๘ ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี และไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะให้คู่กรณีอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้น โดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว
คำอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือโดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย

มาตรา ๔๕ ให้เจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๔๔ วรรคหนึ่ง พิจารณาคำอุทธรณ์และแจ้งผู้อุทธรณ์โดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ในกรณีที่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก็ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครองตามความเห็นของตนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวด้วย

๖. กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียน พ.ศ. ๒๕๕๑
ข้อ ๑ ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าการดำเนินการแจ้ง การรับแจ้ง การบันทึก หรือการลงรายการเพื่อจัดทำหลักฐานทะเบียนราษฎรใดดำเนินการไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ หรือโดยอำพรางข้อเท็จจริง หรือมีรายการข้อความผิดจากความเป็นจริง เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วปรากฏหลักฐานเชื่อได้ว่ามีการดำเนินการเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรในลักษณะดังกล่าวจริง ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นสั่งระงับการเคลื่อนไหวรายการทะเบียนราษฎรกรณีนั้นไว้ก่อน

ข้อ ๒ ในกรณีที่นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นมีคำสั่งตาม ข้อ ๑ แล้ว ให้แจ้งคำสั่งให้คู่กรณีทราบภายในสามวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง เพื่อให้คู่กรณี มีโอกาสโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงของตนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
การแจ้งคำสั่งตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นหนังสือ โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(๑) ข้อเท็จจริงหรือเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่ามีการกระทำโดยมิชอบ
(๒) ข้อกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง
(๓) ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ
(๔) สิทธิในการแต่งตั้งบุคคลอื่นให้ดำเนินการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงแทน
(๕) สิทธิในการขอดูเอกสารที่จำเป็นสำหรับการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อป้องกันสิทธิของตน

ข้อ ๕ ในกรณีที่นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อ ๑ แล้ว ปรากฏพยานหลักฐานชัดว่ามีการกระทำความผิดตามกฎหมายหรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนซึ่งเชื่อได้ว่าการมีชื่อและรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรของผู้ใด เป็นการแอบอ้างใช้ชื่อหรือรายการบุคคลของผู้อื่นให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นสั่งไม่รับแจ้ง จำหน่ายรายการทะเบียน หรือเพิกถอนหลักฐานทะเบียนดังกล่าวโดยเร็ว และดำเนินการแก้ไขข้อความหรือปรับปรุงรายการทะเบียนให้ถูกต้อง
ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นแจ้งคำสั่งตามข้อ ๑ หรือคำสั่งตามข้อ ๔ ให้คู่กรณีทราบเป็นหนังสือภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีคำสั่งโดยให้ระบุเหตุผล ซึ่งอย่างน้อยประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง และข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ สิทธิในการอุทธรณ์ การยื่นคำอุทธรณ์ และระยะเวลาการอุทธรณ์ไว้ด้วย
การอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นต้องทำเป็นหนังสือ โดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย

หลักธรรม
ธรรมะ คือ หน้าที่
หน้าที่ คือ ธรรมะ
พุทธทาสภิกขุ

เกิดมาเป็นคน สักว่าเกิดมาก็เป็นคน ไม่มีความรู้เรื่องธรรมะคือหน้าที่;
ต่อมาเมื่อจิตใจสูงขึ้นมาตามลำดับพอสมควร ในระยะหนึ่ง จึงจะรู้ว่าโอ้ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ
การงานการทำงานการปฏิบัติหน้าที่นั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม.
มนุษย์รู้ความจริงข้อนี้; พวกคนทั้งหลาย ไม่รู้ความจริงข้อนี้ พวกคนจึงทำงานไปพลาง ตกนรกไปพลาง, คือ ฝืนใจทำนั่นเอง;
ส่วนมนุษย์มีจิตใจสูงรู้ความจริงข้อนี้ ไม่ต้องฝืนใจทำ พอใจทำเป็นสุขเมื่อกำลังทำงาน, เลยไม่ต้องตกนรกทั้งเป็น เมื่อกำลังทำงาน.

ปริศนาธรรม
“สี่คนหาม สามคนแห่ หนึ่งคนนั่งแคร่ สองคนพาไป”
๑. สี่คนหาม หมายถึง ร่างกายคนเรานั้นประกอบด้วยธาตุ ๔ มี ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อใดธาตุสี่นี้แตกออกจากกันคนเราก็ตาย
๒. สามคนแห่ หมายถึง โลภะ โทสะ โมหะ ที่แห่เชิดจิตของเราไปตามอารมณ์ กิเลส ดีบ้าง ชั่วบ้าง
๓. หนึ่งคนนั่งแคร่ หมายถึง จิตของคนเราที่เป็นเหมือนเจ้านาย ดังคำที่ว่า จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว
๔. สองคนพาไป หมายถึง บุญและบาป ความดีและความชั่ว ทำดีก็จะไปสู่สุคติ ทำชั่วก็จะไปสู่ทุคติ

การบริการทางทะเบียนและบัตรจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ?
๑. บุคลากร (จนท.)
๒. กฎหมาย ระเบียบ และหนังสือสั่งการฯ
๓. ระบบ วัสดุ อุปกรณ์

อ้างอิงระเบียบ กฎหมาย :

(๑) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐
(๒) พรบ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑
(๓) ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จรรยาบรรณข้าราชการและผู้ปฏิบัติงานทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๕
(๔) พรฎ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖
(๕) พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ (ว่าด้วยการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๔๔, มาตรา ๔๕)
(๖) กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียน พ.ศ. ๒๕๕๑
(๗) พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ (ว่าด้วยการเยียวยาก่อนฟ้องคดีปกครอง ตามมาตรา ๔๒)
(๘) พรบ.คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒ ว่าด้วยเรื่องราวร้องทุกข์ มาตรา ๑๙, มาตรา ๒๐, มาตรา ๒๑

อ้างอิง ที่มา : 

(๑) “แนวทางการให้บริการงานทะเบียนเพื่อป้องกันการร้องทุกข์ร้องเรียน” โดย กลุ่มงานให้คำปรึกษาและช่วยเหลือประชาชนด้านการทะเบียนและบัตร (สสท. / สน.บท.), ๒๕๕๗, โทร ๐๒-๗๙๑-๗๐๐๗ โทรสาร ๐๒-๙๐๖-๙๓๕๗

(๒) คู่มือการดำเนินงานร้องเรียน/ร้องทุกข์ ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย, ๒๕๕๔ ดู
(๒.๑) หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท ๐๒๐๕.๓/ว ๑๓๒๒ ลงวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๔ เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์,
(๒.๒) หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท ๐๒๐๕.๓/ว ๘๖๗ ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๓ เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณาฎีกา ขอพระราชทานพระมหากรุณา,

http://www.udonthani.go.th/InfoCenter/download/m9(4)/2.pdf


หมายเลขบันทึก: 568306เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 15:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2018 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มีประโยชน์มากครับ

ทำไมหายไปนานมากๆครับ

ช้วยผมที่คับผมกับน้าตกสำรวจผม2คนไปไหนก็ไม่ได้ทำงานที่ไหนก็ไม่ได้คับแม่ผมอายุมากแล้วต้องทำงานเลี้ยงตัวเองอยู่คนเดียวสอบถามแม่ผมดูได้คับ0631511040

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท