คนต่างด้าวในประเทศไทย


คนต่างด้าว (Alien)” หมายความว่า “คนที่ไม่มีสัญชาติของรัฐ” แต่ด้วยที่บุคคลหนึ่งๆ อาจมีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับหลายรัฐในขณะเดียวกัน โดยพิจารณาจากความมั่นคงของรัฐในแต่ละสถานการณ์ รัฐหนึ่งๆ จึงอาจยอมรับความเป็นคนชาติของบุคคลในสถานการณ์หนึ่ง แต่ปฏิเสธความเป็นคนชาติในอีกสถานการณ์หนึ่ง

ภายใต้กฎหมายไทยก็เช่นกัน คนต่างด้าวหรือคนที่ไม่มีสัญชาติไทยนี้อาจถูกวิเคราะห์หรือจำแนกได้ในหลายลักษณะย่อย ทั้งนี้ เพราะแนวคิดที่อาจใช้ในการวิเคราะห์หรือจำแนกนั้นมีความหลากหลาย หรือวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์หรือจำแนกอาจแตกต่างกันไป แนวคิดและเป้าหมายที่หลากหลายนี้ทำให้กฎหมายและนโยบายของรัฐไทยรับรองสิทธิของคนต่างด้าวในประเทศไทยในลักษณะที่แตกต่างกัน และทำให้คนต่างด้าวต้องประสบปัญหาประสิทธิภาพในการใช้สิทธิตามกฎหมายในลักษณะที่แตกต่างกัน หากคนต่างด้าวนั้นมีรายละเอียดแตกต่างกัน อาทิ คนต่างด้าวที่มีความรู้ในสาขาที่รัฐไทยขาดแคลนย่อมได้รับการอนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทยได้ง่ายกว่าคนต่างด้าวที่มีความรู้ในสาขาที่คนสัญชาติไทยทำมากและอาจแย่งอาชีพคนสัญชาติไทย

กรณีของน้องดวงตา ที่แม้ว่าจะมีบิดา มารดาเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ลี้ภัยสงครามมาจากรัฐยะไข่ประเทศเมียนม่าร์ ที่ในเวลาต่อมาได้รับการบันทึกชื่อเป็นแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียน หมายถึงแรงงานที่จดทะเบียนเพื่อได้สิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราว(ทร. 38/1) และได้รับหมายเลขประจำตัวประชาชน13 หลักจากกระทรวงมหาดไทยโดยเริ่มที่หมายเลข 00 ทำให้พ้นจากการเป็นคนไร้รัฐแต่ก็ยังเป็นคนไร้สัญชาติและต่อมาก็ได้มีการพิสูจน์สัญชาติจนได้รับสัญชาติเมียนม่าร์ ในขณะที่ ดวงตากับตัวน้องชาย ก็ยังมีสถานะเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เช่นเดิมจนกระทั่งในปี 2554 รัฐมีนโยบายขจัดความไร้รัฐในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ทำให้ได้รับบัตรบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ที่รหัสประจำตัวจะขึ้นต้นด้วยเลข "0" นั่นทำให้สถานะความไร้รัฐหายไป กลายเป็นบุคคลที่มีรัฐแต่ยังไม่มีสัญชาติ จากข้อเท็จจริงปรากฏว่าครอบครัวของน้องดวงตา ได้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี 2543 จนกระทั้งในปัจจุบันก็นับเป็นระยะเวลากว่า 14 ปีมาแล้วอันเป็นระยะเวลาที่ยาวนานจนทำให้น้องดวงตาและครอบครัวเกิดความยึดโยงกับประเทศไทยทั้งในทางการดำรงชีวิต วัฒนธรรม รวมถึงการใช้ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่วชัดเจน แต่การที่ต้องเป็นบุคคลไร้สัญชาติก็ยังคงเป็นปัญหาที่ทำให้น้องดวงตาไม่สามารถประกอบอาชีพบางอย่างตามที่มีการกำหนดในพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. ๒๕๒๒ อยู่นั้นเอง

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
ข้อ 23 (1) ทุกมีสิทธิในการงาน ในการเลือกงานโดยอิสระในเงื่อนไขอันยุติธรรม และเป็นประโยชน์แห่งการงาน และการคุ้มครองแห่งการว่างงาน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
มาตรา ๔๓ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

มาตรา ๔๔ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน รวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

เมื่อคนต่างด้าวก็เป็นมนุษย์ ดังนั้น รัฐไทยก็ย่อมจะต้องคุ้มครองคนต่างด้าวอย่างแน่นอน และคุ้มครองในมาตรฐานเดียวกับที่คนสัญชาติไทยได้รับ เพราะความเป็นมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ขึ้นอยู่กับสัญชาติแต่อย่างใด และไม่ขึ้นอยู่กับความชอบด้วยกฎหมายของการเข้าเมือง รัฐไทยได้ยอมรับที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนต่อประชาคมระหว่างประเทศมา ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๑/ค.ศ.๑๙๔๘ โดยการประกาศยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights) ซึ่งต่อมา รัฐไทยก็ยังยืนยันความเชื่อเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยการเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ และที่ชัดเจนที่สุดก็คือ การยอมรับที่จะเคารพในสิทธิในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในหมวดทั่วไปของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงสรุปได้อย่างไม่ต้องสงสัยว่า รัฐไทยมีหน้าที่ต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าวในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวของบทบัญญัติแห่งกฎหมายไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ได้หมายความว่า คนต่างด้าวจะไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เหมือนกันกับในนานาอารยประเทศ ปัญหาประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็เป็นปัญหาอย่างมากในประเทศไทย

กรณ์เชษฐ์ โชติวราธนศักดิ์
17 พฤษภาคม 2557

  1. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยขน. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก :
    http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/bo... (17 พฤษภาคม 2557)
  2. คนต่างด้าวสำหรับประเทศไทย. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก :

    http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t... (17 พฤษภาคม 2557)

หมายเลขบันทึก: 568263เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 10:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท