สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว


คนต่างด้าว หมายถึง แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย รวมถึงที่ได้ รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ตามประกาศของทางราชการ และคนต่างด้าวที่อพยพมาตั้ง รกรากอยู่ในประเทศไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทยได้คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคน ต่างด้าวไว้ด้วยหลักการเคารพเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของทุกคนโดยปราศ จากการแบ่งแยกทางชาติพันธุ์ และการเลือกปฏิบัติ การครอบงำ การขูดรีดเอารัดเอา เปรียบ การแบ่งแยกชนชั้น และการกีดกันโอกาสของชนชาติอื่นที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย ในการพัฒนาความเป็นอยู่ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้และเพื่อดำรงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของตนไว้ 

โดยทั่วไปคนต่างด้าวสามารถเข้ามาในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวได้โดยจะต้องเข้ามาเพื่อวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง เช่น การปฏิบัติหน้าที่ทางการทูตหรือกงสุล เป็นต้น ส่วนระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตในการพำนักอยู่ในประเทศไทยก็มีแตกต่างกันออกไปตั้งแต่ไม่เกิน 30 วัน จนถึง 2 ปี ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของกิจกรรมแต่ละประเภท นอกจากนี้ในพระราชบัญญัติฯ ได้กำหนดเงื่อนไขที่ห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทย เช่น คนต่างด้าวที่เข้ามาเพื่อมีอาชีพเป็นกรรมกร

สำหรับการอนุญาตให้คนต่างด้าวมีถิ่น ที่อยู่ในไทยนั้น ตามปกติแล้วคนต่างด้าวจะไม่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย เว้นแต่กรณีพิเศษที่บุคคลต่างด้าวอาจได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองและด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีให้มีถิ่นที่อยู่แบบถาวรในประเทศไทยได้ โดยจะต้องคำนึงถึงเงื่อนไขหลายประการ ทั้งนี้จะให้ได้ไม่เกินประเทศละ 100 คนต่อปี หรือหากเป็นคนไร้สัญชาติจะให้ได้ไม่เกิน 50 คนต่อปี หรือในกรณีที่คนต่างด้าวนำเงินเข้ามาลงทุนในราชอาณาจักรไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ก็อาจได้รับการพิจารณาอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้ โดยถึงแม้ว่าจำนวนคนต่างด้าวของประเทศนั้นๆ จะเกินกว่าที่กำหนดไว้ก็ตาม แต่ก็ไม่ให้เกินกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนที่อนุญาตในปีหนึ่งๆ

แม้กฎหมายระหว่างประเทศจะมิได้กำหนดหลักเกณฑ์รายละเอียดเกี่ยวกับการเนรเทศคนต่างด้าวไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า รัฐมีอำนาจที่จะเนรเทศคนต่างด้าวได้ การเนรเทศ หมายความว่า การเคลื่อนย้ายคนต่างด้าวให้ออกจากประเทศ โดยอาศัยมาตรการหรือคำสั่งจากฝ่ายปกครอง ด้วยเหตุผลเพราะว่าการพำนักอาศัยของคนต่างด้าวจะขัดต่อสันติภาพ (หรือความสงบสุข) ความปลอดภัย และสวัสดิการสาธารณะของรัฐ โดยอาศัยกฎหมายเนรเทศ มิใช่กฎหมายคนเข้าเมือง นานาประเทศจะมีกฎหมายสองฉบับนี้เพื่อใช้ควบคุมการเข้าเมืองของคนต่างด้าว การบังคับให้คนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักรได้สิ้นสุดลงเพราะคนต่างด้าวผู้นั้นได้มีพฤติการณ์ที่ขัดต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยของรัฐ แต่การให้คนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักรโดยอาศัยกฎหมายคนเข้าเมืองนั้นเกิดจากกรณีที่คนต่างด้าวผู้นั้นเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายคือเป็นผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองซึ่งทำให้คนต่างด้าวผู้นั้นไม่มีสิทธิอยู่อาศัยในราชอาณาจักรมาตั้งแต่ต้น

พ.ร.บ. การเนรเทศคนต่างด้าว พ.ศ. 2499
มาตรา ๕ เมื่อปรากฏว่ามีความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรมีกำหนดเวลาตามที่จะเห็นสมควร อนึ่งเมื่อพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป รัฐมนตรีจะเพิกถอนคำสั่งเนรเทศเสียก็ได้

ความในวรรคแรกมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ที่เคยได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

การเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรของคุณสาธิต เซกัลนั้น เป็นการพิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โดยพรก. ฉุกเฉินบัญญัติให้ใช้กฎหมายคนเข้าเมืองโดยอนุโลม โดยในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายสาธิต กระทำผิดกฎหมายจริง โดยคณะกรรมการมีมติเห็นควรเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรของนายสาธิต ตามมาตรา 53, 54 ประกอบกับมาตรา 12 (7) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522" ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นการ “ส่งคนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักรไทย” โดยผลของการเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร แต่ไม่ใช่เป็นการเนรเทศคนต่างด้าว (ในความหมายที่แท้จริง) เพราะว่าการเนรเทศนั้นมีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการนี้อยู่แล้วคือพ.ร.บ. การเนรเทศคนต่างด้าว พ.ศ. 2499

พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522
มาตรา 12 ห้ามมิให้คนต่างด้าวซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เข้ามาในราชอาณาจักร
                (7) มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ

กล่าวโดยสรุป ไม่ว่าการเนรเทศนายสาธิต เซกัลตามกฎหมายใดก็ตาม เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายายในของไทยอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้ละเมิดกฎหมายภายในของไทยทั้งสองฉบับที่กล่าวมา รวมทั้งอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีด้วย

กรณ์ชษฐ์ โชติวราธนศักดิ์
17 พฤษภาคม 2557

  1. คนต่างด้าวตามกฎหมายไทย. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : 
    http://www.sanpakornsarn.com/page_article_detail.p... (สืบค้นข้อมูล 17 พฤษภาคม 2557)
  2.  แผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าว. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก :
    http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-4/hu... (สืบค้นข้อมูล 17 พฤษภาคม 2557)
  3. พระราชบัญญัติการเนรเทศ. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก :
    http://www.library.coj.go.th/info/data/A26-01-001-... (สืบค้นข้อมูล 17 พฤษภาคม 2557)
  4. ข้อพิจารณาท่งกฎหมายระหว่างประเทศของนายสาธิต เซกัล (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก :

     http://www.vvoicetv.com/index.php?name=knowledge&f... (สืบค้นข้อมูล 17 พฤษภาคม 2557)

  5. พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก :
    http://www.immigration.go.th/nov2004/doc/act_imm_2522.html. (สืบค้นข้อมูล 17 พฤษภาคม 2557)
หมายเลขบันทึก: 568261เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 10:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท