ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ


สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานนั้น ประกอบไปด้วย สิทธิพลเมือง, สิทธิทางการเมือง, สิทธิทางสังคม, สิทธิทางเศรษฐกิจ และสิทธิทางวัฒนธรรม

สิทธิทางการเมือง ได้แก่ สิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐในการดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์สาธารณะ เสรีภาพในการรวมกลุ่มเป็นพรรคการเมือง เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ สิทธิการเลือกตั้งอย่างเสรี

 

สิทธิทางเศรษฐกิจ ได้แก่ สิทธิการมีงานทำ ได้เลือกงานอย่างอิสระ และได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม สิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เป็นต้น (1)

 

ณ ปัจจุบัน มีข่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการประกอบการหรือที่เรียกว่าการทำธุรกิจอันส่งผลกระทบสิทธิมนุษยชนที่สำคัญคือเรื่อง “เชื่อนไซยะบุรี”

 

เขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนที่มีความจุ 225 ล้านลบ.. โดยจะก่อสร้างในแขวงไซยะบุรี ประเทศลาว และอำเภอที่โดนผลกระทบเป็นอำเภอแรกของประเทศไทยคือ .เชียงคาน .เลย ซึ่งเขื่อนไซยะบุรีถือเป็นเขื่อนแรกในโครงการสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าเหนือแม่น้ำโขงจำนวน 12 เขื่อน

 

แต่เนื่องจากผลกระทบทางระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมนั้นยังไม่ชัดเจน จึงทำให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเทศสมาชิก คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มีมติเลื่อนการสร้างเขื่อนไซยะบุรีออกไปก่อน โดยให้บริษัทจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาศึกษาผลกระทบให้ชัดเจน โดยมีกรอบระยะเวลา 10 ปี

 

เรื่องราวน่าจะจบด้วยดีเพียงเท่านี้ ซึ่งตามข้อตกลง โครงการควรถูกเลื่อนออกไปเพื่อศึกษาผลกระทบ แต่ไม่นานมานี้ บริษัท .การช่าง (ลาว) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท .การช่าง จำกัด (มหาชน) กลับไปเซ็นต์สัญญา มูลค่าสัญญาประมาณ 51,824.64 ล้านบาทกับบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ (ลาว) เมื่อวันที่ 17 เม..55 ที่ผ่านมา และเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนโดยไม่ใส่ใจมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC)

 

โดยผู้ให้สินเชื่อการก่อสร้างดังกล่าวก็คือ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ซึ่งกิจการเหล่านี้ต่างซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น กระแสไฟฟ้าจำนวน 1,260 MW ที่ผลิตได้จากเขื่อนไซยะบุรี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็ได้ทำการเซ็นต์สัญญาซื้อพลังงานราว 95% ที่ผลิตได้จากเขื่อนดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว

 

ในขณะที่ทางประเทศลาว ก็ออกมากล่าวว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือ MRC นั้นมีหน้าที่เพียงให้ข้อมูลในการสร้างเขื่อน แต่การตัดสินใจทั้งหมดนั้น อยู่ที่ประเทศลาวเอง ทั้งๆที่ได้มีการตกลงร่วมกันในความตกลงว่าด้วยการร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงแบบยั่งยืน

 

ความตกลงดังกล่าวกำหนดให้มีระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement: PNPCA) โดยประเทศสมาชิกจะต้องแจ้งต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในกรณีที่ประเทศสมาชิกมีโครงการพัฒนาสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ใดๆ บนแม่น้ำโขงสายหลักหรือแม่น้ำสาขา (2)

 

ดังนี้เราจึงสามารถทราบได้แล้วว่า ผู้ประกอบการ หรือ นักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนไซยะบุรีนั้น ได้แก่   

บริษัท .การช่าง (ลาว) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท .การช่าง จำกัด (มหาชนบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ (ลาวธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารกรุงเทพ (BBL)

 

ผู้ประกอบการทั้ง 6 ในวงเงินการสร้างเขื่อนมูลค่าราว 52000 ล้านบาท ผู้ประกอบการทั้ง 6 นี้ เคยได้รับรู้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่าเคยแม้แต่จะลองศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตคนหลายๆคนจาก การสร้างเขื่อนไซยะบุรีนี้บ้างหรือไม่หรือจำนวนเงินที่คุณเห็นมันบดบังคุณค่าของชีวิตคนไปจนหมด?

 

รายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ระบุไว้ชัดเจนว่า การเปิด-ปิดประตูเขื่อนจะทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนมีความลึกต่างกันประมาณ 3-6 เมตร (ขึ้นอยู่กับระยะห่างจากตัวเขื่อน) นอกจากชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านริมน้ำโขงจะตกอยู่ในอันตรายแล้ว ยังมีเรื่องของปลาในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะเป็นปลาที่อพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาล ชาวประมงรู้ดีว่าในช่วงน้ำกำลังลดซึ่งเป็นช่วงที่จับปลาได้มากที่สุด หากระดับน้ำขึ้น แม้ไม่ถึง 10 เซนติเมตร หรือน้ำขุ่นจนผิดปกติ ชาวบ้านจะจับปลาไม่ได้ทันที เพราะปลาจะหลงน้ำและเปลี่ยนทิศการว่าย หากระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงหลายเมตรทุกๆ วัน หายนะจะมีมากเพียงใด

       

       ในส่วนของ "ลิฟท์ปลา" และ "ทางปลาผ่าน" ซึ่งมีความยาวสูงสุดถึง 3,000 เมตร ซึ่งบริษัทอ้างว่าใช้การได้ดีกับปลาในแม่น้ำโขง จนถึงบัดนี้ยังไม่มีงานศึกษาวิจัยที่มีมาตรฐานรองรับข้ออ้างดังกล่าว ตรงกันข้ามกับรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ และรายงานทางวิชาการอีกหลายฉบับที่ชี้ว่า การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงจะปิดกั้นเส้นทางอพยพ ลดจำนวนและความหลากหลายของพันธุ์ปลา มีเพียงปลาผิวน้ำขนาดเล็กไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่กระโจนขึ้นทางปลาผ่านของเขื่อนได้ในระยะทางสั้นๆ ไม่กี่สิบเมตร

 

แม้แต่นักวิชาการจากกรมประมง นายนฤพล สุขุมาสวิน ก็ได้เคยกล่าวในหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 ว่า ปลาบึกซึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่และมีสถานะใกล้สูญพันธุ์นั้นต้องอาศัยน้ำลึกในการอพยพ และเป็นไปไม่ได้เลยที่ปลาบึกจะใช้ "ทางปลาผ่าน" ส่วน "ลิฟท์ปลา" ก็เหมาะสำหรับขนปลาแซลมอนที่อพยพมาคราวละมาก ในเวลาเดียวกัน

       

       เรื่องการระบายตะกอน แม้ผู้พัฒนาโครงการจะอ้างว่าเขื่อนนี้มีประตูระบายตะกอน 4 ประตู แต่การควบคุมการปล่อยตะกอนให้สัมพันธ์กับการไหลและการขึ้น-ลงของระดับน้ำ และคุณภาพของตะกอนที่ปล่อยนั้น มีคำถามว่าใครเป็นผู้ดูแล

       

       ตะกอนในแม่น้ำโขงเป็นตะกอนที่ไหลตามน้ำเป็นปกติตลอด 24 ชั่วโมง แต่เขื่อนจะปล่อยตะกอนบางช่วงเวลา เพื่อไม่ให้กระทบการผลิตไฟฟ้า และในฤดูร้อนซึ่งมีน้ำน้อย เขื่อนจะไม่สามารถไล่ตะกอนออกได้เป็นระยะเวลาหลายเดือน และจะกลายเป็นตะกอนเน่าเสียและเป็นพิษ เมื่อถูกระบายออกมาในต้นฤดูฝน ตะกอนเน่าเสียเหล่านี้จะทำให้คุณภาพน้ำโขงซึ่งมีออกซิเจนอยู่ในปริมาณที่จำกัดอยู่แล้ว กลายเป็นน้ำเน่าเสีย และมันย่อมกระจายไปตามลำน้ำ ข้ามพรมแดนไทยเข้ามาที่ . เชียงคาน .เลย และแม่น้ำตลอดสายในที่สุด

       

       ในเรื่องความต้องการไฟฟ้าและการจัดการระบบพลังงานของไทย ซึ่งหลายคนเป็นห่วงนั้น ความจริงก็มีงานศึกษา เรื่องข้อเสนอแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า 2555-2573 (แผนพีดีพี 2012) และกรอบเพื่อการพัฒนาความรับผิดตรวจสอบได้ของการวางแผนภาคพลังงานไฟฟ้า โดย ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน และดร. คริส กรีเซน ได้ระบุชัดเจนว่า การคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าของไทยสูงเกินจริง และนำมาซึ่งการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่เกินความต้องการ เอื้อต่อประโยชน์ผู้ลงทุนเป็นหลัก ทั้งที่ไทยมีกำลังไฟฟ้าสำรองถึง 15-20%

 

 

 ที่สำคัญ แผนพีดีพีที่ผ่านมาก็ไม่เคยให้ความสำคัญอย่างจริงจังต่อมาตรการด้านประสิทธิภาพพลังงาน การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน พลังงานความร้อนร่วม การยืดอายุการใช้งานโรงไฟฟ้า และการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโรงไฟฟ้า

       

       แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยควรมีหน้าที่เป็นแผนแม่บทที่กำหนดแนวทางให้มีการลงทุนด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แผนที่มีขึ้นเพื่อสร้างตัวเลขรองรับและความชอบธรรมให้กับการลงทุนที่ล้นเกินอย่างเขื่อนไซยะบุรี

       

       ความไร้มาตรฐานที่สำคัญคือ โครงการนี้ไม่มีรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนในด้านต่างๆ ทั้งๆ ที่แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำของภูมิภาคที่มีผู้คนพึ่งพาอาศัยกว่า 60 ล้านคน ทั้งด้านการประมง การเกษตร การค้าขาย และการท่องเที่ยว ฯลฯ แม้โครงการไซยะบุรีจะเคยจัดทำรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโดย Pöyry Energy AG แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นรายงานที่ไม่มีมาตรฐาน และบริษัทนี้ก็กำลังถูกรัฐบาลประเทศฟินแลนด์ตรวจสอบอย่างหนักในเรื่องการละเมิดหลักความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจของบริษัท กรณีเขื่อนไซยะบุรี

       

       แม้นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท .การช่าง จะได้บอกกล่าวกับนักข่าวทั้งหลายในเครือมติชนที่บริษัทพาลงพื้นที่ว่า "การรับเหมาก่อสร้างงานนี้ ไม่ใช่มุ่งแต่จะทำกำไรสูงสุด แต่ยืนอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย" แต่เจ้าของโครงการกลับไม่เอ่ยถึงรายได้ค่าไฟฟ้าที่บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ .การช่าง ถือหุ้นใหญ่จะได้รับจากโครงการอย่างน้อย 370,000 ล้านบาท โดยยังไม่รวมถึงประโยชน์จากสัญญารับเหมาก่อสร้างเขื่อน และผลประโยชน์จากราคาหุ้นของบริษัทที่เพิ่มขึ้นทวีคูณ

       

       

ในขณะที่ประชาชนผู้พึ่งพาแม่น้ำโขงต่างรู้ดีว่า มันเป็นเพียงผลประโยชน์ของทุกฝ่ายที่ร่วมกันสร้างเขื่อนไซยะบุรีเท่านั้น ผู้ที่จะรับชะตากรรมคือผู้ที่อาศัยพึ่งพิงลำน้ำโขงมาช้านาน พวกเขารู้ดีว่า เขื่อนไซยะบุรีนอกจากจะทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำที่ไม่มีเส้นแบ่งแยกพรมแดนแล้ว ยังจะทำลายเศรษฐกิจชุมชนริมโขงตลอดลำน้ำ และนั่นหมายถึงการทำลายแหล่งความมั่นคงทางอาหารของคนทั้งภูมิภาคด้วย (3)

 

จากข้อเท็จจริงข้างต้น ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรีนั้น ส่งผลกระทบต่อคนในบริเวณดังกล่าวกว่า 60 ล้านคน อีกทั้งยัง ส่งผลกระทบต่อการจับปลาอันเป็นอาชีพหลักอาชีพเดียวที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของคน 60 ล้านคนในบริเวณนั้นเป็นอย่างมาก และที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการทั้ง 6 ราย ไม่มีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อคน 60 ล้านคนในบริเวณนั้น ไม่มีการรายงานผลกระทบจากการสร้างเขื่อนนี้เลย แม้จะทำก็ทำอย่างไร้มาตราฐาน อีกทั้งยังไม่มีการให้ข่าวสาร หรือขอความคิดเห็นจากคนในบริเวณนั้น ซึ่งควรจะเกิดขึ้น เพราะเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จะมีส่วนร่วม

ในการดำเนินการอันเป็นประโยชน์สาธารณะ

 

แต่ ณ ปัจจุบันก็ยังมีข่าวดีให้เราได้ทราบกันเมื่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ทำความเห็นต่อการ ดำเนินการสร้างเขื่อนไซยะบุรีมีเนื้อหาดังนี้

 

ด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อันเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ..๒๕๔๒ มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการกระทำและการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ ว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งดำเนินการก่อสร้างโดยภาคเอกชนของประเทศไทย เพื่อขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้งไม่มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทั้งในประเทศไทยและทั้งการดำเนินการข้ามพรมแดน ทั้งๆ ที่โครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายจังหวัดของประเทศไทยที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยในการตรวจสอบกรณีนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ตามมาตรา ๒๕๗ วรรคหนึ่ง () และพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ..๒๕๔๒ มาตรา ๑๕ ()

 

เนื่องจากในระหว่างตรวจสอบคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ได้รับการร้องเรียนเพิ่มเติมจากราษฎรว่า ขณะนี้มีความพยายามที่จะดำเนินงานก่อสร้างโครงการต่อไป ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการดำเนินการตามกระบวนการตามเงื่อนไขของคณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission – MRC) เกี่ยวกับการดำเนินโครงการก่อสร้างในแม่น้ำโขง อันเป็นข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นสาระสำคัญของกระบวนการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี และทั้งๆ ที่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลของโครงการต่อสาธารณะอย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้มีมติกำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องดำเนินการก่อนลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี โดยความพยายามในการเดินหน้าก่อสร้างโครงการดังกล่าวที่ไม่คำนึงถึงเงื่อนไขข้างต้น น่าจะมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ Xayaburi Power Company Limited ไปแล้ว เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรตรวจสอบพบว่า ทั้งสองประเด็นข้างต้นอาจมีปัญหาดังต่อไปนี้

 

. ปัญหาการละเมิดข้อตกลงตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ กล่าวคือ

 

. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ให้หลักประกันในสัญญาว่า โครงการเขื่อนไซยะบุรีจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ของประชาชนทั้งประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และยังได้ระบุอีกว่า ได้จัดให้มีการศึกษาผลกระทบอย่างเพียงพอแล้ว

 

ซึ่งในประเด็นนี้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนฯ พบจากการตรวจสอบว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานศึกษาผลกระทบทางสังคม (SIA) ที่จัดทำโดยบริษัท TEAM Consulting Engineering and Management Co.Ltd. เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๓ ไม่มีการศึกษาข้อมูลว่าด้วยผลกระทบข้ามพรมแดน โดยผู้ศึกษาได้ขยายพื้นที่การศึกษาผลกระทบออกไปจากพื้นที่เขื่อนเพียงแค่ ๑๐ กิโลเมตรเท่านั้น โดยไม่ได้มีการประเมินผลกระทบด้านการอพยพของปลา การประมง การเกษตรริมน้ำโขง การใช้น้ำอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะในส่วนของประเทศไทยที่ห่างจากจุดสร้างเขื่อนเหนือขึ้นไป คือ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และด้านท้ายเขื่อน คือ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และยังรวมถึงชุมชนต่างๆ ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงในหลายๆ ด้านดังกล่าว ถึง จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี หรืออาจจะส่งผลกระทบไปตลอดลำน้ำจนถึงปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนาม โดยข้อเท็จจริงนี้ปรากฏอยู่ในรายงานการทบทวนโครงการก่อนการปรึกษาหารือของเลขาธิการคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๔ ที่มีการระบุว่า มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของประเทศไทย ซึ่งควรจะต้องมีการประเมินผลกระทบเพิ่มเติม และต่อมาเมื่อวันที่ ธันวาคม ๒๕๕๔ คณะกรรมการแม่น้ำโขงได้มีมติให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีในฝั่งประเทศไทยก่อนที่จะมีการก่อสร้างโครงการ

 

. ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ให้หลักประกันในสัญญาว่า เขื่อนไซยะบุรีจะไม่ตกอยู่ภายใต้การดำเนินการหรือขั้นตอนใดๆ ของคณะกรรมการหรือหน่วยงานตามกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นผลทางกฎหมาย ความสมบูรณ์ หรือการมีผลใช้บังคับของสัญญา ดังปรากฏตามสัญญา ข้อที่ ๑๕.. (e)

 

ซึ่งในประเด็นนี้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนฯ เห็นว่า ข้อสัญญาดังกล่าวอาจขัดแย้งกับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวอาจมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล อันอาจจะส่งผลต่อความเป็นผลทางกฎหมาย ความสมบูรณ์ หรือการมีผลใช้บังคับของสัญญาในท้ายที่สุดได้

. ปัญหาผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชน โดยเฉพาะในฝั่งประเทศไทย

 

ในประเด็นนี้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนฯ เห็นว่า ทั้งๆ ที่โครงการเขื่อนไซยะบุรีจะส่งผลกระทบในหลายด้านดังกล่าว แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และรัฐบาลไทย กลับไม่มีการเปิดเผยสัญญารับซื้อไฟฟ้า และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสัญญารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว ต่อสาธารณชนก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวแต่อย่างใด การกระทำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและรัฐบาลไทยดังกล่าวนี้ จึงอาจไม่เป็นไปตามหลักการในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะหลักการคุ้มครองสิทธิชุมชน ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และอาจขัดต่อข้อกำหนดของมติคณะรัฐมนตรีและมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ รวมทั้งยังอาจขัดต่อหลักการในข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคแม่น้ำโขง ที่ประเทศไทยลงนามในข้อตกลงดังกล่าวเมื่อพ..๒๕๓๘ และหลักธรรมาภิบาลที่ดีอีกด้วย

 

ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้พิจารณาความเห็นของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนชนและฐานทรัพยากรข้างต้นแล้ว มีความเห็นว่า เพื่อป้องกันการกระทำที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในระหว่างที่การพิจารณาตรวจสอบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังไม่แล้วเสร็จ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงเสนอให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ทบทวนการดำเนินงานก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรีให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมแม่น้ำโขง (MRC) เมื่อวันที่ ธันวาคม ๒๕๕๔ และให้มีการระงับการกระทำใดๆ ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าแห่งประเทศไทยไว้จนกว่าการตรวจสอบกรณีนี้จะแล้วเสร็จ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและถูกต้องตามขั้นตอนกระบวนการดำเนินงานโครงการดังกล่าว และเพื่อจะได้ไม่เกิดความเสียหายแก่ประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ

 

 

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

พฤษภาคม ๒๕๕๕ (4)

 

ด้วยความเคารพอย่างสูง ข้าพเจ้ามีความคิดว่า เมื่อทุกคนมีสิทธิมนุษยชน การที่ผู้ประกอบการตัดสินใจสร้างเขื่อนนั้น อันดับแรก ผู้ประกอบการควรจะหาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อคนส่วนมากมิใช่ส่วนน้อย ต่อมาควรลงพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนเพื่อสอบถามบุคคลบริเวณนั้น ว่าคนเหล่านั้นจะได้รับผลกระทบและประโยชน์อย่างไรบ้าง เมื่อได้คำตอบ ก็กลับมาถามตัวเองว่า มันคุ้มค่าหรือไม่ มิใช่ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยไม่ให้คนเหล่านั้นได้มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น อีกทั้งจะยังเป็นการ ตัดช่องทางทำงานอันเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตของคนกว่า 60 ล้านคน  ผู้ประกอบการควรจะคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนมาเป็นอันดับแรก

 

ที่มา

(1)      http://noojennn.wordpress.com/โครงงานสิทธิมนุษยชน/...

(2)      https://th-th.facebook.com/notes/คนอนุรักษ์/ข้อเท็...

(3)      http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9560000028922

(4)      http://transbordernews.in.th/home/?p=930

 ค้นหาเมื่อ 17 พ.ค. 2557

หมายเลขบันทึก: 568238เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 02:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 02:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท